สัปดาห์นี้ (26-30 พ.ย.) เป็นช่วงเวลาที่กำลังเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในโควต้า “คัดกันเอง-ตามกลุ่มวิชาชีพ” ซึ่งเราอาจลืมไปแล้วว่า ‘วุฒิสภา’ คืออะไร เพราะการเมืองไทยเริ่มคุ้นเคยอยู่กับสภาเดียว ภายใต้ชื่อ ‘สภานิติบัญญัติแห่งชาติ’ ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งมาตั้งแต่ปี 2557
ระบบรัฐสภาของไทยในสภาวะปกติมักจะมีสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยวุฒิสภามีหน้าที่หลักคือถ่วงดุลอำนาจกับสภาผู้แทนราษฏรและกลั่นกรองกฎหมายจากสภาผู้แทนฯ อีกชั้นหนึ่ง สำหรับสมาชิกวุฒิสภาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ออกโดย คสช.นี้ ยังมีอำนาจเพิ่มเติมคือ จะได้เลือกนายกรัฐมนตรีด้วย นั่นจึงทำให้ตำแหน่งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ
สำหรับสมาชิกวุฒิสภา ‘ตามรัฐธรรมนูญ’ ออกแบบไว้ให้มีจำนวนทั้งหมด 200 คน แต่ในช่วง 5 ปีแรกคณะรัฐประหารได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่าในบทเฉพาะกาล ให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน และจะอยู่ในวาระ 5 ปี ทำให้ตำแหน่งนี้มีความสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะจะได้เลือกนายกรัฐมนตรีถึงอย่างน้อย 2 ครั้ง
จำนวน 250 คนนี้ แบ่งเป็น
1) ส.ว. 6 คน ที่มาโดยอัตโนมัติจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2) ส.ว. 194 คน มาจาก ‘คณะกรรมการสรรหา’ ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้นเอง โดยคณะกรรมการฯ ต้องคัดเลือกมาเพื่อให้ คสช. คัดเลือกอีกที
3) ส.ว. อีก 50 คน มาจากการ ‘คัดกันเอง’ ตามกลุ่มอาชีพ ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปมาสมัคร แล้วจะให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ สู่ระดับจังหวัด และสู่ระดับประเทศ ซึ่งเมื่อเลือกกันเองถึงระดับประเทศจะเหลือผู้สมัคร 200 คน แล้วจะส่งรายชื่อให้ คสช. เป็นผู้คัดเลือกในด่านสุดท้ายจนเหลือ 50 คน
ส.ว. แบบคัดกันเอง 50 คน ตอนนี้กำลังเปิดให้คนทั่วไปสมัครได้ในช่วงวันที่ 26-30 พ.ย. นี้
คนที่จะสมัครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และเชี่ยวชาญตามกลุ่มอาชีพที่กำหนดไว้ มีเงินค่าสมัคร 2,500 บาท นี่อาจจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจ เพราะแม้สุดท้ายจะไม่ได้รับเลือก แต่อย่างน้อย ถ้าเป็นผู้สมัครก็จะได้สิทธิในการ ‘คัดกันเอง’
สำหรับกลุ่มอาชีพต่างๆ ตามที่ คสช.ระบุ มีสิบกลุ่ม คือ
- กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดิน และความมั่นคง
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
- กลุ่มศึกษาและการสาธารณสุข
- กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
- กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลาง และขนาดย่อมตามกฎหมาย
- กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์การสาธารณประโยชน์
- กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม
- กลุ่มอื่นๆ
โดยรอบแรกๆ ผู้สมัครที่อยู่ภายในกลุ่มอาชีพเดียวกันจะเป็นคนลงคะแนนเลือก ส.ว. ในกลุ่มตัวเอง ในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ เมื่อได้ 200 รายชื่อก็จะส่งให้ คสช. เลือกอีกทีให้เหลือ 50 ชื่อ โดย กกต.จะใช้งบประมาณ 1,303 ล้านบาทในขั้นตอนนี้
อ้างอิง: https://www.ect.go.th/ect_th/news_page.php?nid=28&filename=