เมื่อผ่านช่วงเวลาแห่งความปลาบปลื้มในรัชสมัยใหม่ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรได้ไม่นาน หัวขบวนทางการเมืองของแต่ละฟากฝ่ายเริ่มกลับมาเดินเครื่องกันต่ออีกครั้ง

ตามที่ กกต. ได้ประกาศไว้ว่า วันที่ 9 พฤษภาคมจะเป็นวันสุดท้ายของการประกาศผลการเลือกตั้ง รวมไปถึงการแจกใบเหลือง-แดง ในกรณีที่พบการทุจริต ซึ่งนั่นหมายความว่า เรากำลังจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี

แม้พรรคเพื่อไทย และฝ่ายไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. จะประกาศกร้าวว่าพวกเขาสามารถรวมเสียง ส.ส. ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา และพร้อมจัดตั้งรัฐบาลโดยมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

แต่คล้ายหมากเกมนี้ ไม่ต้องดูก็รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร เมื่อฝ่าย คสช. วางสนุ๊กรอไว้อยู่แล้ว ในกรณีที่ตนไม่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ไว้ได้เกินกึ่งหนึ่ง พวกเขายังมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีก 250 คน ที่ผ่านการคัด ตัด เคาะ ด้วยมือของตนเองอย่างปราณีต โดยทั้ง 250 คนนี้ล้วนมี 1 เสียง ในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีเท่าเทียมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในช่วงห้าปีแรก

ที่กล่าวว่า ส.ว. ทั้ง 250 คน เป็นหนึ่งในแขนขาที่สำคัญของ คสช. และพลังประชารัฐ เพื่อผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งตำแหน่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไปนั้น ก็เพราะความยึดโยงระหว่างการได้มาของ ส.ว. และ คสช. ก็เป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธได้เต็มปากเต็มคำว่า ไม่มีอยู่

ทั้งนี้ การเดินทางสู่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 ตำแหน่ง ถูกแบ่งออกเป็น 3 เส้นทาง ดังนี้

  1. การเลือกกันเองภายในของสาขาอาชีพ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ คัดเลือกเบื้องต้นให้เหลือ 200 รายชื่อ ก่อนส่งชื่อให้ คสช. เคาะให้เหลือ 50 คนสุดท้าย

  2. การสรรหาโดยคณะกรรมการ “ที่มีความเป็นกลางทางการเมือง” ซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. อีกจำนวน 194 คน โดยคณะกรรมการสรรหาชุดนี้มีประธานชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. และรมต. กลาโหม

  3. เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด,  ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการทหารเรือ,  ผู้บัญชาการตำรวจ และ ปลัดกระทรวงกลาโหม

ความแนบแน่นระหว่าง คสช. และ ส.ว. ในอนาคตเริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขุนศึกฝ่าย คสช. หลายคนต่างทยอยกันลาออกจากตำแหน่งที่เคยนั่งอยู่ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และรมว.ยุติธรรม, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ รวมไปถึง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่ยังมีหน้าที่สำคัญในการจัดงานประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 22 และ 23 มิถุนายนรออยู่

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ส.ว. จากทั้งสามเส้นทาง มีความแตกต่างทางด้านรายละเอียดของคุณสมบัติเล็กน้อยแต่มีนัยสำคัญ นั่นคือ ส.ว. ที่มาจากการสรรหาจากสาขาอาชีพทั้ง 50 คน ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 108 อาทิ ห้ามเป็นข้าราชการ ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ห้ามเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภา หรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และห้ามเป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาไม่น้อยกว่า 5 ปี

ในขณะที่ ส.ว. 194 คน ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง จากการสรรหาของทีมงาน คสช. รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ต้องมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับ ส.ว. ที่มาจากสาขาอาชีพ แต่ตัดข้อห้ามเรื่องต้องไม่เป็นหรือเคยเป็น รมต.เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาไม่น้อยกว่า 5 ปีออกไป

ส่วนผู้ที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่งทั้ง 6 คน รัฐธรรมนูญระบุให้สามารถดำรงตำแหน่ง ส.ว. ควบคู่ไปกับตำแหน่งข้าราชการที่ถือครองอยู่ได้ และสามารถใช้อำนาจที่มีตามตำแหน่งต่อไปได้

รายชื่อด้านล่าง คือ รายชื่อรัฐมนตรีในยุครัฐบาล คสช. ที่กำลังจ่อยื่นซองขาวพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อมารับตำแหน่ง ส.ว.

  1. พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว. ยุติธรรม

  2. พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายรัฐมนตรี

  3. พล.ต.อ. อดุล แสงสิงแก้ว รมว. แรงงาน

  4. นายธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว. ศึกษาธิการ

  5. พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช. ศึกษาธิการ

  6. ศ. คลินิกนายแพทย์ อุดม คชินทร รมช. ศึกษาธิการ

  7. พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รมต. พัฒนาสังคม

  8. พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต. ทรัพยากร

  9. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. ต่างประเทศ

  10. นายวีรศักดิ์ ฟูตระกูล รมช. ต่างประเทศ

  11. พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม

  12. นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

  13. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์

  14. นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

  15. นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม

  16. นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์

  17. นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรฯ

นอกจากนี้ยังมีรายชื่อเพิ่มเติม ทั้งจาก สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงกรรมการกฤษฎีกา ที่ต่างกำลังกดบัตรคิวต่อแถวรับตำแหน่งใหม่ ที่จะมีการประกาศในวันที่ 10 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้

คล้ายว่าการหันกลับให้กับทำเนียบของขุนศึก คสช. ทั้งหลาย เป็นเพียงการชุบล้างตัว เพื่อเตรียมสวมหัวโขนในตำแหน่งใหม่เท่านั้น

แม้สังคมไทยจะห่างหายจากประชาธิปไตยมาเกือบ 5 ปี แต่หลักการประการหนึ่งของประชาธิปไตยสากล คือ การแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพื่อให้ต่างถ่วงดุล ป้องกันการใช้อำนาจมิชอบ และเพื่อให้ผลประโยชน์ตกเป็นของประชาชนโดยแท้จริง

แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบโดย สนช. กลไกตรวจสอบถ่วงดุลกลับถูกผูกให้พัวพันกันไปมา ตั้งแต่ที่มา จนกระทั่งบทบาท ที่นอกจากจะร่วมออกเสียงเลือกนายกฯ กับ ส.ส. แล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมอบอำนาจให้ ส.ว. อาทิ ตรวจสอบและเร่งรัดให้รัฐบาลทำตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีสิทธิยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่ารัฐบาลไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ทั้งยังมีอำนาจในการอนุมัติเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้โหวตรับรองคณะกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ป.ป.ช., กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังจากผ่านการสรรหาแล้วด้วย

 

อ้างอิง:

https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2560/hi2560-071.pdf

https://www.posttoday.com/politic/news/588319?fbclid=IwAR3uHHV8ulLmAaL61NgI33fbx04ZEEXb8N9ySz_8kfT_hCp1MBxaC4uZzi8

https://th.wikisource.org/wiki/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_2560/หมวด_9

 

Tags: , , ,