พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ในระดับอำเภอเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า มีผู้ได้รับเลือกตั้งระดับอำเภอทั้งหมด 5,899 คน โดยแบ่งเป็นเป็นชาย 4,389 คน และหญิง 1,510 คน สมัครด้วยตนเอง 5,410 คน และสมัครพร้อมหนังสือแนะนำจากองค์กร 489 คน

ผู้ที่ได้รับการรับเลือกจากอำเภอต้องไปรายงานตัวและเลือกตั้งส.ว.ระดับจังหวัดในวันที่ 22 ธันวาคม นี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งระดับประเทศ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันที่ 27 ธันวาคม โดยรองเลขาธิการกกต.นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ได้อธิบายกระบวนการเลือกส.ว.ในระดับประเทศเอาไว้ว่า ผู้สมัครแต่ละคนจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ สำหรับเลือกผู้แทนในสาขาอาชีพในกลุ่มของตัวเอง 2 คน ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฏหมายที่วางไว้คือ ให้ลงคะแนนให้ตัวเอง 1 คะแนน และเลือกผู้สมัครคนอื่นอีก 1 คะแนน ก่อนที่กกต.จะสรุปผลการเลือกตั้ง และส่งให้คสช.ในวันที่ 2 มกราคม 2562 ตามเวลาคาดการณ์

ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 กำหนดให้กลุ่มวิชาชีพ 10 สาขาเลือกกันเองในระดับอำเภอ ก่อนที่จะเลือกขึ้นไปสู่ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เป็นการเลือกแบบไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะคัดให้เหลือ 200 รายชื่อ เพื่อส่งให้กกต.พิจารณาก่อนยื่นให้คณะคสช.เฉือนครั้งสุดท้ายเหลือ 50 รายชื่อ

โดยส.ว.ที่เป็นตัวแทนวิชาชีพ 50 คน จะแปะมือร่วมกับคณะบุคคลที่คสช.แต่งตั้งผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์เป็นกลางทางการเมืองอีก 194 คน และอีก 6 คน ซึ่งถูกวางไว้แล้วประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมเป็นสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งจะมีสิทธิ์ลงคะแนนร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรอีก 500 คน เพื่อร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งต้นปี 2562 ที่จะถึงนี้

นี่เป็นระบบใหม่ของการคัดเลือกส.ว. และเป็นครั้งแรกของการเมืองไทยที่ตำแหน่งส.ว.จะมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเมื่อวันอังคารที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอของนายวันชัย สอนศิริ ที่พูดกลางงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง ถึงที่มาของส.ว.250 คน และอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างผิดแปลกของสมาชิกวุฒิสภาว่า “ผมเป็นคนเขียนในรัฐธรรมนูญ ปกติ ส.ว. ไม่มีน้ำหนักเท่าไหร ไม่มีสิทธิไปโหวตใครเป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นคนเขียนในรัฐธรรมนูญ เสนอในสมัยที่ผมยังเป็น สปท. ให้ ส.ว. 250 คนนี้ มีสิทธิร่วมในการโหวตคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี พวกเราจำคำถามพ่วงได้หรือไม่ ที่โหวตทั่วประเทศได้ 15 ล้านเสียง ว่าเห็นด้วยว่าให้ ส.ว. ที่ คสช. ตั้งมามีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี”

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งนี้ใช้งบทั้งสิ้น 1,303 ล้านบาท คิดเฉลี่ยตกคนละ 26.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในปี 2554 ซึ่งใช้งบไป 2,500 ล้านบาท ก็ดูน่าคิดถึงความสำคัญของสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ ซึ่งคสช.ได้วางหมากไว้เป็นหนึ่งในเหล่าขุนพลหลักเพื่อให้การสืบทอดอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น และมั่นคงมากที่สุด

ข้อครหาของสังคมยังคงคุกรุ่นอยู่ที่ประเด็นความยึดโยงระหว่างสมาชิกวุฒิสภาและประชาชน อีกทั้งอำนาจหน้าที่ในสภาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างการโหวตเลือกนายกฯ รวมถึงวาระการดำรงตำแหน่งถึง 5 ปี หมายความว่าสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้จะเป็นยักษ์หินคู่รัฐสภาอยู่ถึง 2 วาระการเลือกตั้ง คือในการเลือกตั้งปี 2562 ครั้งนี้ และการเลือกตั้งในอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าหากมีขึ้น

 

อ้างอิง:

 

บรรยายภาพ: หน้าตาของบัตรเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อ 30 มีนาคม 2557 ในครั้งนั้น ประชาชนมีโอกาสได้เลือกตั้งส.ว. จังหวัดละ 1 คนรวมเป็น 77 คน และมีส.ว.สรรหาอีก 73 คน รวมเป็น 150 คน ภาพโดย PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

Tags: , , , , , ,