อย่างที่หน้าปก บันทึกประจำวันระหว่างการเดินทางของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้ระบุไว้ ว่าเป็นบันทึกส่วนตัวของเขาระหว่างการเดินทางไปตะวันออกไกล ปาเลสไตน์ และสเปน 1922-1923 ตะวันออกไกลที่หมายถึงอินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน
เขาคือนักคิดและนักวิทย์อัจริยะที่ถูกทำให้เป็นไอดอลเพราะทฤษฎีฟิสิกส์ที่ปฏิวัติวิธีคิดของวงการ แต่ช้าก่อนถ้าคุณคิดจะซื้อหนังสือเล่มนี้เพื่อทำความเข้าใจทฤษฎีวิทยาศาสตร์ล้ำๆ ของเขา หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่เน้นไปที่การศึกษาความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่งผ่านทางบันทึกส่วนตัวของเขา
บันทึกที่อาจไม่ต่างจากทวิตเตอร์ ที่บางครั้งคนเราก็ ‘ลั่น’ แสดงความเห็นอะไรบางอย่างที่ถูกนำไป ‘ฉอด’ ต่ออย่างเผ็ดร้อนได้ ไม่ต้องสนว่าคนคนนั้นจะเป็นอัจฉริยะโนเบลสาขาไหนมา
แตกต่างกันตรงที่ว่า ไอน์สไตน์เขียนบันทึกการเดินทางหรือจดหมายเหล่านี้เพื่ออ่านเองและให้คนในครอบครัวอ่าน ไม่ได้คิดว่าจะมีใครเอาไปพิมพ์ขาย หรือความคิดเห็นที่เจืออคติของเขาจะถูกเผยแพร่ไปในวงกว้าง ปะทะเข้ากับอคติชุดอื่นๆ จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราว
ความรื่นรมย์ของบันทึกนี้คือการมองโลกผ่านสายตาของไอน์สไตน์ระหว่างล่องเรือกลไฟ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติระหว่างเดินทาง เช่น การหักเหของแสง ทิศทางลม ความร้อนบนชายฝั่ง การก่อตัวของพายุ บันทึกแต่ละวันเป็นข้อความสรุปสั้นๆ แต่บางครั้งก็มีภาพสเก็ตช์ เช่น ภาพของหมอกไอน้ำบนเกาะภูเขาไฟสตรอมโบลี ที่ไม่ได้เน้นความสมจริง แต่ก็ทำให้เห็นฝีมือศิลปะในแบบของไอน์สไตน์
แต่ประเด็นของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เพียงการอ่านบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นกับไอน์สไตน์ในระหว่างเดินทางบ้าง เซฟ โรเซนแครนซ์ ผู้เรียบเรียงบันทึก ได้ปะติดปะต่อเอาเอกสารทางประวัติศาสตร์อื่นๆ มาเล่าเหตุการณ์แวดล้อมขณะที่ไอน์สไตน์กำลังเขียนบันทึก เพื่อวิพากษ์ความคิดเห็นที่เขาแสดงออกมาในหน้ากระดาษเหล่านั้นอีกที เน้นหนักไปที่อคติทางชาติพันธุ์ที่ไอน์สไตน์มีต่อคนอินเดีย เลแวนต์ (พื้นที่แถบเมดิเตอเรเนียนตะวันออก – บรรณาธิการ) จีน และญี่ปุ่น หรือเรียกง่ายๆ ว่า คนอื่น ที่ไม่ใช่ชาวยุโรป เช่น การเหมารวมว่าคนแต่ละชาติมีลักษณะจำเพาะ อย่างเขลา ขี้เกียจ มีลูกดก ไม่เก่งคณิต ไร้ตรรกะ สกปรก ไร้วินัย ฯลฯ
สมัยนี้ หากใครเห็นการแสดงความเห็นแบบนี้ ก็คงต้องเรียกว่าเป็นการเหยียดชาติ การตีความด่วนสรุปว่าคนพวกนี้เป็นแบบนี้เพราะสิ่งนี้หรือสิ่งนั้น เช่น พฤติกรรมและชะตากรรมของมนุษย์ในภูมิภาคนั้นถูกกำหนดมาแล้วโดยภูมิประเทศ ภูมิอากาศ หรือกรรมพันธุ์ กล่าวคือมนุษย์ที่เป็นอื่นเหล่านั้นคือผลผลิตของสภาพแวดล้อม ทั้งทางสังคมและทางธรรมชาติ ราวกับเป็นได้อย่างมากแค่เพียงผู้ถูกกระทำของโลกหรือมนุษย์ชาติที่เจริญกว่า
โรเซนแครนซ์ยึดประเด็นนี้เป็นแกนหลักของการเล่าเรื่องใน ‘คำนำเชิงประวัติศาสตร์’ ของเขา ก่อนที่จะปล่อยให้เราได้ไปอ่านบันทึกของจริง ในคำนำที่ยาวเหยียดนี้ เขาเพ่งความสนใจไปที่ลักษณะคำศัพท์ที่ไอน์สไตน์ใช้อธิบายสิ่งต่างๆ และผู้คนต่างชาติเหล่านั้น ว่าเป็นคำศัพท์เชิงลบ แฝงนัยดูถูก เช่น การใช้คำกริยา ‘คลาน’ กับสตรีชาวญี่ปุ่นบนเรือ หรือการสรุปง่ายๆ ว่าที่ชนชาติอินเดียหรือจีนไม่เจริญ เป็นเพราะกับดักพฤติกรรมของพวกเขาเอง อย่างเช่นการคิดไม่เป็นหรือมีลูกดก โดยละเลยมุมมองประวัติศาสตร์โลกที่ชนชาติตะวันตกเข้าไปกดขี่ วางยา หรือสร้างกับดักให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม โรเซนแครนซ์ไม่ใช่คนใจร้ายที่รีบปรักปรำว่าไอน์สไตน์เป็นเพียงชายคนขาวที่คลั่งชาติ เขาตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นมาเพราะความฉงน เนื่องจากในชีวประวัติด้านอื่นๆ ของชีวิต ไอน์สไตน์นั้นมีทั้งมุมที่ชื่นชมชาติอื่น (เช่น เขาเขียนบันทึกว่าคนญี่ปุ่นนั้นเป็นชาติที่สุภาพเรียบร้อย) หรือแสดงออกในสื่อว่าไม่สนับสนุนแนวคิดคลั่งชาติ แต่กลับมาผสมปนเปกับอคติทางลบในบันทึกส่วนตัวของเขาเอง เมื่อต้องเจอกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือมีภาพเหมารวมบันทึกในสมองมาก่อนแล้ว
หรือไอน์สไตน์ก็เหมือนเราๆ ท่านๆ ที่ไปเที่ยว แล้วต้องรีบอธิบายว่าอะไรดี สวย ไม่สวย อร่อย ไม่อร่อย เมื่อเทียบกับบ้านตัวเอง และเมื่อยิ่งได้แสดงความเห็นในที่ปิดลับอย่างสมุดบันทึกตัวเองแล้ว จะมาไตร่ตรองคิดซับซ้อนก็คงไม่ทันได้เขียนความรู้สึกในขณะนั้น
สิ่งที่โรเซนแครนซ์พยายามชวนเราตั้งคำถามก็คือ ทั้งที่ไอน์สไตน์ซึ่งเป็นชาวยิว กลุ่มชาติพันธุ์ที่เผชิญวิบากกรรมน่าสะเทือนขวัญจากการเหยียดชาติพันธุ์ครั้งใหญ่ กลับเป็นคนที่เหยียดชาติพันธุ์เสียเอง และการที่เขาได้รับเสียงแซ่ซ้องเป็นอัจริยบุคคลของโลก ยิ่งทำให้ต้องขมวดคิ้วคิดหนักว่าเราคาดหวังจากไอน์สไตน์ในมุมมองโลกด้านอื่นๆ ได้แค่ไหน และเรื่องนี้ผู้อ่านคิดอย่างไร?
แต่การมองของไอน์สไตน์ไม่ใช่แค่ “การมองของผู้ชาย [ผิวขาว] ซึ่งเป็นเจ้าของดวงตาแห่งผู้ล่าอาณานิคมที่มองไปและลุ่มหลง” แม้ว่าลักษณะเช่นนั้นจะเป็นส่วนสำคัญในการมองของเขาก็ตาม ในฐานะชาวยิวสัญชาติเยอรมัน ผู้ซึ่งเป็นทั้งคนในและคนนอก การมองของเขาจึงเป็นแบบ “รู้ตัวแบบสองระดับ” นั่นก็คือ “ความรู้สึกว่ามองตัวเองผ่านสายตาของคนอื่นเสมอ” ดังนั้นไอน์สไตน์จึงมองตัวเองด้วยในขณะที่ถูกคนอื่นมอง ระหว่างการเดินทาง ไอน์สไตน์ติดอยู่ระหว่าง “การมองแบบผู้ล่าอาณานิคม” ซึ่งตัวเขาคือผู้มองและการมองแบบชาวยิวแบบคนที่ไม่ใช่ยิวซึ่งตัวเขาคือสิ่งที่ถูกมอง
หนังสือเล่มนี้สนทนากับบันทึกของไอน์สไตน์ อัจฉริยบุคคลที่ไม่อาจตอบโต้กลับมาได้อีกแล้ว อาจเพราะไม่อยากให้เสียงของเขา (ที่เจืออคติทางเชื้อชาติ) ดังเกินไปในโลกยุคปัจจุบัน เพราะการเขียนคือการสนทนาปะทะกันและกันทางมิติสถานที่และเวลา สิ่งที่ออกจากปลายปากกาของไอน์สไตน์ไม่ได้ผูกขาดความจริง แต่ยังต้องการเสียงของคนอื่นๆ มาช่วยกันเล่าหรือช่วยแย้งในบางครั้ง
ความงามของหนังสืออยู่ตรงที่ แม้โรเซนแครนซ์เริ่มด้วยการตั้งธงชี้แจงว่าไอน์สไตน์แสดงความเห็นที่เหยียดชนชาติหรือเหยียดเพศไว้อย่างไรบ้าง หากแต่น้ำเสียงไม่ได้ปรักปรำหรือทำให้เขาน่าหัวร่อ เป็นแค่เพียงการศึกษาอีกแง่มุมของมนุษย์คนหนึ่ง ที่อาจเขลาหรือด่วนตัดสินในบางเรื่อง แม้เขาจะล้ำลึกเรื่องฟิสิกส์หรือจักรวาลแค่ไหนก็ตาม
ถ้ามองว่าเหยียด ไอน์สไตน์อาจเป็นคนน่ายี้ แต่ถ้ามองว่าการเขียนบันทึกการเดินทางส่วนตัวคือการพูดคุยกับตัวเอง เพื่อจะกลับมาอ่านในวันหน้า มีโอกาสได้มานั่งทบทวนตัวเองว่าความคิดนี้เข้าท่าหรือควรปรับเปลี่ยน เขาก็มีสิทธิจะทำได้ ถ้าหากเขาใจกว้างพอ
ที่สำคัญคือต้องรู้ทัน แล้วไม่อ้างความเชี่ยวชาญหรือคุณวุฒิเฉพาะด้าน มาแปะป้ายว่าความคิดเหยียดล้าหลังนั้นกลายเป็นความคิดที่เข้าท่าและเชื่อถือได้
Fact Box
- บันทึกประจำวันระหว่างการเดินทางของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
- เรียบเรียงโดย เซฟ โรเซนแครนซ์
- แปลโดย ไอริสา ชั้นศิริ
- สำนักพิมพ์ยิปซี กรุ๊ป