ใบหน้าของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์น่าจะเป็นหนึ่งในใบหน้าที่เป็นมิตรต่อคนทั้งโลก แต่ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นมิตรน้อยลงเสียแล้วหรือเปล่าสำหรับชาวเอเชีย เมื่อไดอารี่สมัยเดินทางท่องโลกตะวันออกของเขาถูกเผยแพร่ขึ้นในปีนี้

          ไดอารี่เล่มนี้ถูกบันทึกขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมปี 1922 จนถึงเดือนมีนาคม 1923 ระหว่างการเดินทางไปยังสเปน ปาเลสไตน์ และเอเชีย ของไอน์สไตน์และภรรยา ซึ่งข้อความแสนจริงใจในไดอารี่ก็ชวนให้หลายคนยกมือทาบอก

          ตลอดมา นอกจากเป็นไอคอนทางวิทยาศาสตร์และการมองโลกบวกแล้ว ไอน์สไตน์ยังถูกจดจำในฐานะผู้ต่อต้านการเหยียดสีผิวในอเมริกา โดยเขาเป็นชาวยิวที่เติบโตในเยอรมันช่วงนาซีเรืองอำนาจ ทำให้องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่าง UNHCR ทำแคมเปญเกี่ยวกับผู้อพยพว่า “ไม่ใช่แค่ข้าวของเครื่องใช้หรอก ที่ผู้อพยพนำไปสู่ประเทศใหม่ ไอน์สไตน์เองก็เป็นผู้อพยพ” และมีหนังสือ Einstein on Race and Racism ที่เขียนขึ้นเพื่อสรรเสริญไอน์สไตน์ในข้อนี้โดยเฉพาะ

          โควตหนึ่งที่น่าประทับใจของไอน์สไตน์ก็คือ “การแบ่งแยกสีผิวไม่ใช่โรคร้ายของเหล่าคนผิวสี แต่มันคือโรคร้ายของคนขาวเอง และผมก็จะไม่เงียบเกี่ยวกับเรื่องนี้” เขาพูดเอาไว้ในปี 1946 ขณะบรรยายที่มหาวิทยาลัยลินคอล์น เพนซิลวาเนีย

          แต่สำหรับข้อความในไดอารี่ที่มีความส่วนตัวกว่านั้น นักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบลผู้นี้พูดถึงคนจีนว่า “เป็นคนทำงานหนัก โสโครก และโง่” (industrious, filthy and obtuse people) เขาเล่าว่าคนจีนทำงานหนักเหมือนม้า แต่ก็ไม่มีท่าทีจะเหน็ดเหนื่อย ‘ฝูง’ คนเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเครื่องจักรมากกว่าเป็นคน แม้แต่เด็กๆ ก็ดูไร้จิตวิญญาณและดูโง่ เขายังบันทึกอีกว่าคนจีนลูกดกเหลือเกิน “ผมไม่เข้าใจว่าผู้หญิงจีนมีแรงดึงดูดแบบไหนกัน ที่พาพวกผู้ชายไปยังสุดขอบของการไม่อาจยั้งตัวเองให้ผลิตลูกได้”

          ยิ่งกว่านั้น จำนวนประชากรจีนก็ดูเหมือนจะกวนใจเขาไม่น้อย “มันคงน่าอนาถใจหากคนจีนพวกนี้จะเข้ามาแทนที่เชื้อชาติอื่นๆ บนโลก และสำหรับคนอย่างพวกเรา ความคิดอันแท้จริงอย่างนี้ เป็นเพียงความเศร้าใจที่ไม่สามารถพูดออกมาได้”

          และคงไม่ใช่แค่คนจีนเท่านั้นที่อยากเท้าสะเอวมองไอน์สไตน์ ชาวศรีลังกาก็ด้วย เพราะเขาเล่าถึงชาวเมืองโคลอมโบในศรีลังกา (ซึ่งขณะนั้นยังเป็นประเทศซีลอนในเครือจักรภพ) ว่า “พวกเขาใช้ชีวิตตามพื้นดิน ซึ่งเต็มไปด้วยความโสโครกและกลิ่นเหม็น พวกเขาทำอะไรน้อยมาก แต่ก็ต้องการน้อยมาก เป็นเศรษฐศาสตร์ชีวิตที่เรียบง่ายอย่างยิ่ง” ขณะที่ความเห็นของเขาต่อประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นไปในทางบวก “ชาวญี่ปุ่นมีจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์อย่างที่หาไม่ได้จากที่อื่น ใครๆ (ที่ได้มาเยือน) จะต้องรักประเทศนี้” แต่ก็ไม่วายตบท้ายว่า “สำหรับประเทศนี้ ดูเหมือนคนฉลาดๆ จะไม่ได้เป็นที่ต้องการมากเท่าคนที่มีหัวทางศิลปะ” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าควรดีใจหรือเสียใจดี

          เซ-อีฟ โรเซนกรานซ์ (Ze’ev Rosenkranz) บรรณาธิการอาวุโสและผู้ช่วยผู้กำกับ ในโปรเจคต์ Einstein Papers แห่งสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า “หลายๆ ความคิดเห็น (ของไอน์สไตน์) ตอกหน้าเราอย่างแรง —โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เขาพูดถึงชาวจีน นั่นมันขัดแย้งกับภาพลักษณ์ไอคอนทางมนุษยชนของเขา มันช็อกไม่เบาที่ต้องอ่านเรื่องเหล่านี้แล้วคอยนึกเปรียบเทียบกับข้อความที่เขาพูดในที่สาธารณะ ซึ่งข้อความในไดอารี่มันผ่านการกรองน้อยกว่ามาก เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจจะเผยแพร่มัน ”

          เซ-อีฟ คือบรรณาธิการของหนังสือ The Travel Diaries of Albert Einstein: The Far East, Palestine, and Spain 1922-1923 ซึ่งเป็นการนำข้อความในไดอารี่ของไอน์สไตน์มาเผยแพร่ โดยมีระบุในคำโปรยว่า “มีสำบัดสำนวน สั้นกระชับ และบางครั้งก็ไม่เคารพผู้อื่น” กับ “บางบทตอนก็เปิดเผยมุมมองสเตอริโอไทป์ที่เขามีต่อผู้คนบางประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับทัศนคติของเขาในเรื่องเชื้อชาติ”

          และในฐานะบรรณาธิการ เซ-อีฟก็ยอมรับว่ามุมมองในไดอารี่นั้น คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการเหยียดเชื้อชาติ แต่เขาก็บอกเพิ่มเติมกับเว็บไซต์ The Guardian ว่า “ข้อความในไดอารี่เป็นรีแอคชั่นต่อสิ่งที่เขาพบเห็น เราต้องเข้าใจว่านั่นเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกของเขา ณ เวลานั้นๆ ซึ่งการเผยแพร่ข้อความในไดอารี่มันก็สัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกทุกวันนี้ ที่ความเกลียดชังเชื้อชาติอื่นกำลังลุกลามในหลายพื้นที่ทั่วโลก มันเหมือนกับว่า แม้แต่ไอน์สไตน์ บางครั้งก็มีเวลาที่ยากลำบากในการเตือนตัวเองให้ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา”

          นับว่าเซ-อีฟทำหน้าที่ของเขาได้อย่างงดงาม ขอปรบมือ

          ไม่รู้ว่าบันทึกของไอน์สไตน์ชิ้นนี้จะทำให้เราย้อนมองตัวเองหรือมองใครได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรเสียเราจะไม่ลืมว่าบันทึกนี้เป็นข้อความส่วนตัวที่ไม่ได้ต้องการจะสื่อสารกับใคร ทั้งยังเป็นความคิดของเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ที่ซึ่งการตื่นตัวเรื่องเหยียดเชื้อชาติยังไม่เข้มข้นเท่าทุกวันนี้ (แม้ว่าการเลิกทาสในอเมริกาจะมีตั้งแต่ปี 1862 แล้วและนี่คือ ‘ไอน์สไตน์’ เชียวนะ ก็เถอะ)

          อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้สถานการณ์การเหยียดคนเอเชียก็ไม่ได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากนัก เพียงแต่มันเกิดขึ้นเงียบๆ ไม่ได้เห็นภาพชัดเท่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนแอฟริกันผิวดำที่แม้จะผ่านยุคค้าทาสมาแล้วก็ยังมีการยิงและเหยียดกันอยู่เรื่อยๆ ขณะที่สำหรับชาวเอเชีย มันมาในรูปแบบของการมองเหมารวมหรือดูถูกดูแคลน หากลองถามคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในโลกตะวันตกประสบการณ์ของแต่ละคนก็คงไม่ได้น่าอภิรมย์เท่าไหร่ และไม่ใช่แค่โดยคนผิวขาวหลายครั้งชาวเอเชียก็ถูกเหยียดโดยคนผิวดำ เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนเองเคยถูกชายผิวดำในอเมริการุมทำร้ายหลังจากโต้กลับเมื่อโดนแซวเรื่องความเป็นเอเชียนอยู่บ่อยๆ หรือแม้แต่คนที่ยิ้มๆ ให้กัน หากให้พวกเขาจดไดอารี่ ข้อความก็อาจจะจริงใจพอๆ กับที่ไอน์สไตน์บันทึกก็เป็นได้   

          ท้ายที่สุด สำหรับไอน์สไตน์ก็คงต้องกลับมาคิดว่า เราสามารถตัดสินใครจากไดอารี่ของเขาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าจะว่าไปแล้วมันก็เป็นเพียง ‘มโนกรรม’ ที่ดันถูกเผยแพร่ออกมา คงคล้ายเวลาเราตั้งสเตตัสแบบ only me ที่อาจจะ— 1) เป็นเพียงความคิดที่ยังไม่ตกตะกอน หรือไม่ก็ 2) เป็นความคิดชั่วร้ายเบื้องลึกที่ไม่อาจเปิดเผยกับใครได้ และถามว่านั่นเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราไหม ก็คงจะเป็น

ที่มา:

https://www.theguardian.com/books/2018/jun/12/einsteins-travel-diaries-reveal-shocking-xenophobia

https://www.smithsonianmag.com/science-nature/how-celebrity-scientist-albert-einstein-used-fame-denounce-american-racism-180962356/

https://www.snopes.com/fact-check/einstein-at-lincoln/

 

Tags: , , ,