ในบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้คงไม่มีพรรคการเมืองไหนที่สร้างสีสันและอยู่ในพื้นที่ข่าวรายวันเท่ากับพรรคอนาคตใหม่อีกแล้ว แม้พรรคนี้เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นมาไม่นานเพียงหนึ่งปีกว่า แถมสมาชิกส่วนใหญ่ยังเป็นหน้าใหม่ในเวทีการเมือง แต่ก็ได้สร้างสิ่งที่สั่นสะเทือนต่อการเมืองไทยไว้ไม่น้อย 

และนี่คือ 10 เรื่องสำคัญที่อนาคตใหม่เขย่าการเมืองไทยเอาไว้ในเวลาขวบปีกว่าที่ผ่านมา 

  1. (ผู้)นำกระแสพรรคของคนรุ่นใหม่

ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่คือภาพตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ชัดเจนที่สุด ด้วยนโยบายที่ก้าวหน้า ผสมความคิดและบุคลิกของผู้นำพรรคที่ทันสมัยกล้าพูดถึงปัญหาของประเทศอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงวิธีการหาเสียงที่ดูเหมือนจะเข้าใจโลกออนไลน์มากกว่าพรรคการเมืองอื่น ทำให้พรรคอนาคตใหม่สามารถครองใจคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ซึ่งไม่เคยผ่านเลือกตั้งมากก่อนที่ขณะนั้นมีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 7 ล้านคน การขยับของพรรคอนาคตใหม่ทำให้พรรคการเมืองเก่าทั้งหลายต้องขยับตามด้วยการชูบทบาทคนรุ่นใหม่ในพรรคมากขึ้น เช่น พรรคประชาธิปัตย์มีกลุ่ม NEW DEM หรือพรรคเพื่อไทยมีกลุ่ม เพื่อไทย พลัส นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการเมืองต่างๆ เริ่มตั้งพรรคการเมืองในแบบพรรคอนาคตใหม่

  1. เปิดยุคใหม่การเมืองไทยนำ ส.ส. แรงงาน, LGBT, ชาติพันธุ์, และผู้พิการเข้าสภา 

ก่อนการเลือกตั้งพรรคอนาคตใหม่สร้างความแปลกใหม่ให้กับการเมืองไทยด้วยการจัดสรรลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดย 10 ลำดับแรกซึ่งคาดว่ามีโอกาสจะได้เป็น ส.ส. มีตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่ม LGBT อยู่ด้วย เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาพรรคอนาคตใหม่ได้เก้าอี้ส.ส. ถึง 80 คน เป็นพรรคการเมือลำดับที่ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร เป็นผลให้มี ส.ส. ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน, ส.ส. ตัวแทน LGBT, สส. ตัวแทนชาติพันธุ์, และ ส.ส. ตัวแทนผู้พิการเข้าสู่สภา นี่อาจเป็นครั้งแรกๆ ที่พรรคการเมืองไทยนำตัวแทนกลุ่มคนที่ถูกมองเป็นชายขอบในสังคมเข้าสู่สภาให้เป็นปากเป็นเสียงและให้มีศักดิ์เทียบเท่ากลุ่มคนอื่นในสังคม 

  1. ท้าชนกองทัพ ปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกทหารเกณฑ์

ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะกล้าชนกับกองทัพได้ถึงพริกถึงขิงเทียบเท่าอนาคตใหม่ ข้อเสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนจากบังคับเป็นสมัครใจได้ทิ่มแทงไปยังกล่องดวงใจของกองทัพ จนถูกฝ่ายตรงข้ามปิดป้ายแปะฉลากยัดข้อหา ‘ชังชาติ’ อย่างไรก็ตามพรรคอนาคตใหม่ก็กัดไม่ปล่อยประเด็นปฏิรูปกองทัพด้วยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีอยู่บ่อยครั้ง และเมื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก็ได้ตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ธุรกิจที่อยู่ภายในมือกองทัพโดยเฉพาะเงินนอกงบประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ที่ไม่ได้ถูกส่งกลับเข้าคลัง สุดท้ายพรรคอนาคตใหม่ได้เสนอ ร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจไม่บังคับ และเดินหน้ารณรงค์ประเด็นนี้อย่างเต็มที่

  1. เสนอกฎหมายสุราก้าวหน้า ทลายทุนผูกขาด

มีนักวิเคราะห์กล่าวกันว่าปัญหาของพรรคอนาคตใหม่ คือการชนกับคู่ชกที่ใหญ่ๆ พร้อมกันไม่ว่าจะเป็น ‘กองทัพ’ และ ‘นายทุนผูกขาด’ ซึ่งเ็นเรื่องที่ทางพรรคได้หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง โดยเฉพาะการปลดล็อกทุนผูกขาด โดยพรรคอนาคตใหม่ได้เริ่มรณรงค์ปลดล็อกธุรกิจสุราเป็นก้าวแรก ด้วยการเสนอร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า และใช้สโลแกนในการณรงค์ว่า ‘ปลดล็อกทุนผูกขาด ปลดปล่อยสุราคนไทย เพื่อปากท้องประชาชน’ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เชื่อว่าถ้าร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าผ่านสภาได้ จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กให้เข้ามาอยู่ในธุรกิจสุราซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสและสร้างศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจนี้ จะช่วยทำให้เกิดการใช้สินค้าเกษตรในประเทศมากขึ้น และจะสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย  

  1. ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ สะเทือนรัฐบาลประยุทธ์

พรรคอนาคตใหม่ได้ใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรขย่มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงานดี เมื่อปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เปิดประเด็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ นำมาสู่ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของ ครม. ซึ่งอาจทำให้การกระทำต่างๆ ของรัฐบาลเป็นโมฆะ กรณีนี้ทำให้รัฐบาลกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแม้จะแก้ตัวก็ยังดูอ้ำๆ อึ้งๆ ฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามถึงสองครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลี่ยงตอบ และเมื่อเรื่องนี้เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้อง กลายเป็นปัญหาคาราซังจนฝ่ายค้านต้องขอเปิดญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อ ครม. โดย ปิยบุตร อภิปรายประเด็นการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนฯ และไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องว่า สะท้อนให้เห็นว่านายกฯ เป็นโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และมองรัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองตามระบอบที่ต้องการ ถ้าเรื่องใดอ้างแล้วได้ประโยชน์ก็อ้างรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องใดถูกตีกรอบก็ไม่อ้าง 

  1. ไม่เห็นด้วย พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณฯ 

การโหวตครั้งสำคัญของพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลประยุทธ์ประกาศใช้ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการย้ายหน่วยทหารบางส่วนของกองทัพไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ก่อนโหวตเป็นที่คาดกันว่าพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่ติดใจ พ.ร.ก. นี้ เตรียมพร้อมอนุมัติให้เป็น พ.ร.บ. สำหรับความง่ายในการโหวตอนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับนี้คือเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องผ่าน แต่ความยากคือการโหวตไม่อนุมัติที่อาจตามมาด้วยเสียงสาบแช่งถึงความไม่จงรักภักดี ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เลือกอย่างหลัง โดยผลโหวตครั้งนี้มีเพียงแค่ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ 70 คน ที่มีมติไม่อนุมัติ 

อย่างไรก็ตามเหตุที่ต้องเลือกโหวตไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ไม่ใช่เหตุผลไม่จงรักภักดี แต่เป็นเหตุผลที่ต้องการรักษาหลักการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เพราะการออก พ.ร.ก. เป็นอำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหารที่กระทำได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเร่งด่วน แต่ ครม. ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้มีความเร่งด่วนอย่างไร ถ้าไม่ตราจะเกิดผลร้ายอย่างไร โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า หากเราปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป เท่ากับเรากำลังสนับสนุนการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ อยากได้กฎหมายอะไรก็ออกเป็น พ.ร.ก. ไม่ต้องมาชี้แจ้งสภา ต่อไป พ.ร.ก. ก็จะกลายเป็นมาตรา 44 จำแลง  

  1. กมธ. ศึกษาผลกระทบ ม.44 ทำรัฐบาลแพ้โหวตกลางสภา

ญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 ถูกเสนอโดยพรรคอนาคตใหม่ หากดูผ่านๆ แล้วญัตตินี้ไม่น่าจะผ่านสภาเพราะเป็นญัตติที่เสนอโดยฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตามผลการลงมติกลับผิดคาดเมื่อที่ประชุมมติให้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 ด้วยคะแนนเสียงปริ่มน้ำ 234 ต่อ 230 นั้นทำให้ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตกลางสภา แต่ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้ช่องโหว่งของข้อบังคับการประชุมด้วยการเสนอให้นับคะแนนใหม่ท่ามกลางการคัดค้านของฝ่ายค้าน สุดท้ายก็หาข้อยุติไม่ได้ ส.ส. ฝ่ายค้านจึงวอล์กเอาต์เป็นผลให้สภาล่มเป็นครั้งแรก และการประชุมในวันถัดมาสภาก็ล่มเป็นครั้งที่สอง จนการประชุมครั้งที่สามถึงมีองค์ประชุมครบและรัฐบาลโหวตไม่เห็นชอบญัตตินี้ได้สำเร็จ ความน่าสนใจของญัตตินี้คือมี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 6 คน สวนมติวิปรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงความพยายามอย่างหนักของฝ่ายรัฐบาลที่จะขัดขวางญัตตินี้ โดยในการโหวตครั้งสุดท้าย ส.ส. ฝ่ายค้านจากสี่พรรคเข้าไปเป็นองค์ประชุมช่วยรัฐบาล

  1. นัดแฟลชม็อบครั้งใหญ่

กล่าวกันว่าเมื่อ 14 ธันวาคม 2562 แฟลชม็อบที่นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นการรวมตัวเพื่อแสดงออกทางการเมืองที่ใหญ่สุดหลังรัฐประหารปี 2557 ตัวเลขผู้ชุมชมจะร้อยคน พันคน หรือหมื่นคนยังเป็นสิ่งถกเถียงกันไม่จบ แต่ที่แน่นอน 1 ชั่วโมงกว่า บริเวณบนสกายวอร์ก แยกปทุมวัน ล้นลงมาบริเวณหน้าหอศิลปฯ กทม. ในวันนั้นแน่นไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่ร่วมกันตะโกนโห่ร้องพร้อมกับชูสัญลักษณ์สามนิ้วให้กำลังใจธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ สลับกับการตะโกนขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัดเจนว่ากลุ่มคนที่มาแสดงออกวันนั้นไม่ได้มีแต่กลุ่มคนหน้าเดิมแต่ยังมีคนหน้าใหม่ที่มาจากหลายช่วงวัย และนี้อาจเป็นการบอกกับผู้มีอำนาจว่าผู้สนับสนุนอนาคตใหม่ไม่ได้อยู่แต่ในโลกออนไลน์

  1. เขย่าท้องถิ่น 

แม้จะเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ไม่มีหัวคะแนน แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ได้ ส.ส. แบ่งเขตถึง 30 คน และในหลายจังหวัดแม้จะไม่ได้ ส.ส. แต่ก็ได้คะแนนนิยมค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้พรรคอนาคตใหม่จึงตดสินใจ ‘เขย่าท้องถิ่น’ ด้วยการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง อบจ. กล่าวคือส่งเลือกตั้งท้องถิ่นสนามใหญ่ของแต่ละจังหวัดเพื่อเปลี่ยนภูมิทัศน์การเลือกตั้งท้องถิ่นใหม่ด้วยการใช้นโยบายพัฒนาท้องถิ่นลงไปแข่งขันในการเลือกตั้ง และลดการผูกขาดของนักการเมืองเจ้าเดิม อย่างไรก็ตามแม้การประกาศลงสนามท้องถิ่นของพรรคอนาคตใหม่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในพรรค แต่ภายนอกพรรคการตัดสินใจขยับท้องถิ่นก็ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นเดิมนั่งไม่ติดเก้าอี้ต้องเร่งสร้างผลงานเพื่อไม่ให้ประชาชนลืม  

  1. มาตรฐานศาลรัฐธรรมนูญ และกกต. ถึงเวลาปฏิรูปองค์กรอิสระ 

พรรคอนาคตใหม่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคที่น่าจะได้ถึง 88 คน แต่ กกต. ใช้สูตรคำนวณอีกแบบทำให้มีพรรคเล็กได้เข้าสภาถึง 11 พรรค จนอนาคตใหม่เหลือ ส.ส. แค่ 80 คน หรือการที่หัวหน้าพรรคอดีตว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งของพรรค ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามเข้าสภาและสุดท้ายถูกให้พ้นจากสภาพ ส.ส. ซึ่งแตกต่างจาก ส.ส. พรรคอื่นที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน และยังมีคดีต่างๆ ที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่เสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคตลอดเวลา อย่างไรก็ตามสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่กำลังเผชิญได้สะท้อนมาตรฐานการทำงานขององค์กรอิสระที่ถูกกล่าวหาว่ามีที่มาจากผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน นั้นทำให้สังคมเกิดตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องปฏิรูปองค์อิสระให้ทำหน้าที่อย่างอิสระและมีมาตรฐาน 

Tags: , ,