เป็นระยะเวลากว่า 24 ปีมาแล้วที่รายการ The Shock (2535) ถูกสถาปนาเป็นรายการเล่าเรื่องผีอันดับหนึ่งบนคลื่นหน้าปัดวิทยุเมืองไทยโดยมี ป๋อง-กพล ทองพลับ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

จากเด็กที่เรียนจบมัธยมฯ ด้วยเกรดเฉลี่ย 1.21 และไม่มีใบปริญญาการันตีความสามารถ ก้าวสู่การเป็นผู้จัด เจ้าของ และพิธีกรรายการผีบนหน้าปัดวิทยุและทีวี ก่อนขยายธุรกิจสู่ผลงานภาพยนตร์ ร้านอาหาร ละครเวที แชนเเนล The Shockventure ทาง LINE TV ฯลฯ จนกลายเป็นไอคอนผีของเมืองไทย

วันนี้เมื่อมองย้อนกลับไป ป๋องแทบไม่เชื่อสายตัวตัวเองว่าจะพาตัวเองและรายการ The Shock มาไกลถึงเพียงนี้

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุและผล The Momentum จึงถอดรหัสความสำเร็จเพื่อตอบคำถามคาใจว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ป๋องมายืนอยู่ตรงนี้

 

1. ทำทุกอย่างด้วยความสนุก

ป๋องบอกกับเราว่า ตัวเขาเป็นคนยึดความสนุกเป็นหลัก ดังนั้นเวลาจะขยับตัวทำอะไรแต่ละที ความสนุกต้องมาเป็นอันดับแรก

“พื้นเพผมเป็นคนชอบเรื่องผี เลยมีความรู้สึกว่าถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ เราก็จะสนุกกับการทำงานในทุกๆ วัน โปรเจกต์ต่างๆ ของ The Shock ในทุกวันนี้ที่นอกเหนือจากรายการวิทยุ เช่น กิจกรรมประกวดเพลงผี การประกวดเล่าเรื่องผี ‘Stand up Shock Story’ หรือแม้แต่ละครเวที ทุกๆ อย่างที่ผมทำ ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากความสนุก”

“ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ
เราก็จะสนุกกับการทำงานในทุกๆ วัน”

2. ไม่คาดหวังความสำเร็จจนเกินไป

หลายคนมุ่งมองแต่เส้นชัย และคาดหวังเหรียญตราที่จะได้รับ จนลืมสาระของการลงมือทำและความสนุกที่เกิดขึ้นระหว่างทาง

“ผมมักจะเปรียบเทียบการใช้ชีวิตเป็นเหมือนการลงแข่งฟุตบอล บางแมตช์ลงไปเล่นก็สนุก บางแมตช์ก็น่าเบื่อ เสมอบ้าง แพ้บ้าง ชนะบ้าง สลับกันไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นอย่างเราจะเข้าใจและยอมรับผลที่เกิดขึ้นได้หรือเปล่า

“อย่างกิจกรรมที่ The Shock ทำ บางครั้งก็ประสบความสำเร็จ บางครั้งก็ล้มเหลว ผมจึงไม่คาดหวังว่าทุกอย่างที่ทำจะต้องประสบความสำเร็จ ขอแค่มีความคิดเริ่มต้นที่อยากจะทำ อยากสนุกไปกับมัน เราก็จะมีความสุขในการได้ลงมือทำ สิ่งนี้ต่างหากคือความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ว่าแมตช์นั้นจะแพ้ เสมอ หรือชนะก็ตาม”

“ผมมักจะเปรียบเทียบการใช้ชีวิตเป็นเหมือนการลงแข่งฟุตบอล
บางแมตช์ลงไปเล่นก็สนุก บางแมตช์ก็น่าเบื่อ
เสมอบ้าง แพ้บ้าง ชนะบ้าง สลับกันไป
ขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นอย่างเราจะเข้าใจ
และยอมรับผลที่เกิดขึ้นได้หรือเปล่า”

3. ยืนหยัดในความเป็นตัวของตัวเอง

เมื่อรายการที่ทำกลายเป็นจุดสนใจ สปอนเซอร์รายใหญ่จะเดินมาเคาะประตู พร้อม ‘เงิน’ ก้อนโตและข้อเสนอบางอย่างที่อาจกระทบจุดยืนของรายการ นี่คือวินาทีสำคัญที่คนทำรายการจะต้องเลือกและตัดสินใจอนาคตของตัวเอง

“เมื่อก่อนเคยมีสปอนเซอร์มาขอซื้อช่วงเวลาในรายการให้เล่นเกมช่วงเล่าเรื่องผี หรือเปิดโหวตให้คนฟังเลือกเรื่องที่น่ากลัวที่สุดในแต่ละคืน แต่ผมมองว่าทำแบบนั้นมัน ‘ไม่เวิร์ก’ หรอก ก็เลยปฏิเสธเขาไป ไม่ใช่ว่ายึดติด ห้ามเปลี่ยนแปลงอะไรนะ แต่เราแค่อยากยึดโครงหลักของรายการเรื่องเล่าผีให้คงเดิมไว้   ส่วนสปอนเซอร์ก็สอดแทรกเล็กๆ น้อยๆ และสปอนเซอร์ที่เข้ามาก็สนุกไปกับเรา เช่น ทำจิงเกิลโฆษณาที่เข้ากับธีมผีของรายการ หรือถ้าเป็นกิจกรรมใหญ่ ก็จะแยกออกจากรายการไปเลย เพราะผมอยากรักษาแกนหลักของรายการ และไม่อยากให้ใครมาเปลี่ยนแปลงตัวตนของเรา”

 

4. เปิดรับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

ทักษะ ชั้นเชิง ชื่อเสียง และชั่วโมงบินที่สั่งสมมากกว่า 20 ปี จนกลายเป็น ‘รุ่นใหญ่’ ในวงการ อาจเป็นหลุมพรางให้ไม่สนใจเสียงของคนที่เด็กกว่า แต่ป๋องมองว่าเสียงเหล่านั้นคือการเปิดโลกและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

“ผมค่อนข้างโชคดีนะ ทุกวันนี้เพื่อนร่วมงานของผมส่วนใหญ่เป็นคนที่อายุน้อยกว่า ถ้าทำงานกับคนรุ่นเดียวกัน ความคิดผมอาจจะแก่ไปเลยก็ได้ ผมเลยกลายเป็นคนอายุเยอะที่ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากคนรุ่นใหม่ ซึ่งทำให้ผมได้แนวคิดใหม่ๆ ที่หลากหลาย”

“ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เพื่อนร่วมงานของผม
จะเป็นคนที่อายุน้อยกว่า
ถ้าทำงานกับคนรุ่นเดียวกัน ความคิดผมก็อาจจะแก่ไปเลยก็ได้
ผมเลยกลายเป็นคนอายุเยอะที่ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ
จากคนรุ่นใหม่
ซึ่งทำให้ผมได้แนวคิดใหม่ๆ ที่หลากหลาย”

5. ทำทุกวันให้เหมือนเป็นวันแรกและวันสุดท้าย

การจัดรายการวิทยุมากกว่า 24 ปี ติดต่อกัน เจอหูฟังตัวเดิม หน้าปัดคอนโทรลแผงเดิม ผนังห้องจัดรายการสีเดิม บรรยากาศเดิมๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยน และเรื่องผีจำนวนหลายหมื่นเรื่องที่คนเล่าให้ฟัง แต่ป๋องยังคงรู้สึกสดใหม่และมีไฟเสมอทุกครั้งที่จัดรายการ

“ทุกวันนี้ผมจัดรายการผีมานานกว่า 20 ปี อยู่กับรายการนี้มาเกือบครึ่งชีวิต เรื่องเล่าก็ฟังมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว คงไม่ตอแหลหรอกว่าฟังเรื่องเล่าทุกเรื่องแล้วจะต้องเจอเรื่องน่ากลัวทุกเรื่อง แต่ทุกครั้งที่ผมจัดรายการ ผมจะยกก้อนแห่งการคาดเดาออกไปก่อน แล้วสนุกไปกับเรื่องที่ผู้เล่ากำลังถ่ายทอด ผมจะพยายามไม่คาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า ผู้เล่าพาผมเลี้ยวซ้าย ผมก็เลี้ยวซ้าย ผู้เล่าพาผมเลี้ยวขวา ผมก็เลี้ยวขวา แล้วเราจะสนุก ตื่นเต้นไปกับเรื่องที่เขาถ่ายทอดโดยปริยาย เมื่อไรก็ตามที่เราไปทำตัวเก๋า รู้แล้วว่าเขาจะพาเราไปทางไหน ทุกอย่างก็จะหมดสนุกทันที

“ถ้าเปรียบเทียบงานของผมเป็นเกมฟุตบอล ผมจะคิดเสมอว่าทุกๆ วันที่ได้ทำงานมันคือแมตช์แรกและแมตช์สุดท้ายของเรา แล้วผมก็จะมีความสุขและท้าทายทุกครั้งที่จัดรายการ”

Tags: , , , , , , , ,