ย้อนไปในปี 2013 ทรงยศ สุขมากอนันต์ ได้แนะนำให้คุณรู้จักกับ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซีรีส์วัยรุ่นที่ตีความ ‘วัยรุ่น’ ในสังคมไทยได้สมจริง และหลุดกรอบจากละครไทยเรื่องอื่นๆ

หลังห่างหายจากเก้าอี้ผู้กำกับซีรีส์วัยรุ่นเป็นเวลากว่า 3 ปี นับตั้งแต่ ฮอร์โมนฯ ทรงยศกลับมาเรียกเสียงฮือฮาอีกครั้งในฐานะผู้กำกับ I HATE YOU I LOVE YOU ซีรีส์ที่ฮอตทะลุปรอทแตกในชั่วโมงนี้

The Momentum จึงทำการถอดสูตรการทำงานให้ประสบความสำเร็จในแบบทรงยศ สุขมากอนันต์ ว่าเจ้าตัวมีเบื้องลึกเบื้องหลัง และแนวคิดในการทำงานอย่างไร

1. จำไว้เสมอว่าผลลัพธ์อยู่ที่ ‘ปลายทาง’

จากการเปลี่ยนแพลตฟอร์มบนหน้าจอโทรทัศน์สู่หน้าจอในแอปพลิเคชันบน Line TV หนึ่งในโจทย์หลักที่สำคัญของการทำงานคือ ทำอย่างไรให้ช่องทางในการเข้าถึงที่ยากลำบากไม่กลายเป็นอุปสรรค

“ตอนที่คุยกับ Line TV ผมบอกกับเขาว่าใช้วิธีง่ายๆ ที่สุดเลย คอนเทนต์ที่เราทำต้องหาดูไม่ได้ตามช่องทางปกติ สมมติจะทำซีรีส์วัยรุ่น เราก็ต้องมีวิธีการพูด และประเด็นที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เพราะช่องทางของเราเข้าถึงยาก ถ้าช่องทางเข้าถึงยาก แล้วซีรีส์ไม่ต่างจากละครวัยรุ่นทั่วๆ ไปอีก คนก็ไม่จำเป็นต้องมาดูเรา

“เอาเข้าจริง ผมไม่กลัวเรื่องแพลตฟอร์มนะ เข้าใจแหละว่าช่องทางแมสไปถึงคนดูได้กว้างกว่า แต่รู้สึกว่าเวลาทำคอนเทนต์เราต้องโฟกัสไปที่คอนเทนต์เป็นหลัก อย่าพึ่งกังวลไปก่อนว่าจะมีคนดูไหม สมมติเป้าหมายของเราคือการเล่าประเด็นนี้ ทำให้คนดูสนุก เวลาทำงานก็ต้องตีประเด็นออกมาให้ชัด ทำให้คนดูสนุกกับเรา ที่เหลือมันเป็นผลที่ตามมามากกว่า เพราะบางปัจจัยก็เกินการควบคุม ท้ายที่สุดมันอาจจะไม่ได้ออกมาตามที่เราคิดไปซะทั้งหมด แต่ถ้าเป็นงานที่เรารู้สึกว่าโอเค ผมว่ามันก็โอเคนะ”

ผมรู้สึกว่าเวลาทำคอนเทนต์เราต้องโฟกัสไปที่คอนเทนต์เป็นหลัก
อย่าพึ่งกังวลไปก่อนว่าจะมีคนดูไหม

2. กล้าที่จะเปลี่ยนและปรับตัว

อีกหนึ่งปัญหาที่ตามมาจากการเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการทำงานคือ รายละเอียดปลีกย่อยในกระบวนการถ่ายทำ เพราะแน่นอนว่าองค์ประกอบต่างๆ ในการสร้างภาพยนตร์ ซีรีส์โทรทัศน์ หรือซีรีส์ในมือถือ – แท็บเล็ต ย่อมมีความแตกต่างกัน

“ผมว่าการเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการทำงานมีผลในแง่ที่เราต้องรู้ว่ากำลังจะสื่อสารกับคนดูในแพลตฟอร์มไหน อย่างทำงานแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน เราต้องคิดว่าคนส่วนใหญ่เขาดูผ่านโทรศัพท์กัน ทุกอย่างในจอจะเล็กลงกว่าเดิม เวลาถ่ายอินเซิร์ตอะไร รายละเอียดในจอบางอย่างก็จะเล็กจนคนดูมองไม่เห็น หรือรายละเอียดบางอย่างที่คนทำหนังอย่างเราอยากจะคงมันไว้ ถ้าอยากจะติสต์ อยากจะอาร์ต แต่คนดูสังเกตไม่ออก มันก็เป็นวิธีที่ไม่ฉลาดในการสื่อสารกับเขา เหมือนเวลาเราเปลี่ยนแพลตฟอร์มทำงาน เราก็ต้องปรับตัวเองตามให้ทัน

“ตอนที่ผมยังทำ บันทึกกรรม ให้ช่อง 3 เรื่องแรกๆ จำได้เลยว่าเคยชวน เต๋อ นวพล มาทำบันทึกกรรม เพราะรู้สึกว่าเขามีประเด็นที่แมส แต่วิธีการอาจจะยังไม่ เลยบอกเขาว่าต้องปรับวิธีการทำงาน ไม่งั้นมันจะเสียเวลาชีวิตตัวเอง ตัวเลือกก็มี 2 ข้อคือ ปรับจูน หรือไม่ทำมันซะเลย ซึ่งเต๋อเลือกข้อแรก ผมรู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีกับการไม่อยู่ในที่เดิมนานๆ แล้วพูดอะไรกับกลุ่มคนที่เรารู้อยู่แล้วว่าผลลัพธ์จะออกมายังไง”

ถ้าอยากจะติสต์ อยากจะอาร์ตแต่คนดูสังเกตไม่ออก
มันก็เป็นวิธีที่ไม่ฉลาดในการสื่อสารกับเขา

3. เก็บกระแสมาคิดต่อ

‘ก็ปากมันว่าง เลยต้องโทร…มาบอกคิดถึงกัน ถ้าเธอก็คิดถึงฉัน ช่วยขยับให้รู้บ้างเหอะ’ อีกหนึ่งเพลงที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังจากที่ ‘ต้า’ และ ‘ขนมปัง’ นั่งร้องเพลงนี้ด้วยกันในฉากหนึ่งจาก ฮอร์โมนฯ ซีซัน 2 ถือเป็นการสร้างกระแสให้กับทั้งตัวซีรีส์และเพลงให้อยู่ในความสนใจอีกครั้ง

“วัฒนธรรมฮอร์โมนที่ตอนจบแต่ละตอนมักจะมี MV เพลงที่ใช้ในแต่ละตอนปล่อยออกมา จริงๆ เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน สมมติเราฉายตอนที่ต้าและปังร้องเพลงด้วยกัน พอเราไม่ทำเป็น MV ออกมาก็จะมีคนแคปมาปล่อยเองอยู่ดี มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า งั้นกูทำเองเลยละกัน หลังจากนั้นก็กลายเป็นว่าพอ EP ไหนมีเพลงที่เรารู้สึกว่าคนน่าจะอินกับมันได้ เราก็จะทำ MV ออกมาเลย เป็นการตอบสนองแบบสดๆ ที่เกิดขึ้น เพราะถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ต้องทำอยู่ดี”

4. เรื่องแรงๆ ยังไงก็ขายได้ กับดักที่อาจทำให้งานของคุณดูไม่มีราคา!

หนึ่งในจุดเด่นของซีรีส์วัยรุ่นในแบบฉบับทรงยศ และนาดาวคือ ‘ความแรง และความเรียล’ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งสำคัญที่ทำให้คนดูติดซีรีส์อย่างฮอร์โมนฯ จนถอนตัวไม่ขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามความแรงในแบบฮอร์โมนฯหรือ HATELOVE ก็อาจจะกลายเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน หากคุณไม่มีคู่มือเหมือนที่ทรงยศมี

“สารภาพตามตรงว่า เวลาคิดอะไรเร็วๆ ง่ายๆ ความแรงเป็นสิ่งที่ง่ายมาก ทั้งการคิดสตอรีบอร์ด หรือการทำบท เวลาพูดเรื่องวัยรุ่น หรืออะไรที่มีความซับซ้อนมากมันก็มักจะมีความแรง เพราะวัยรุ่นไม่เหมือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะมีความซับซ้อนที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และวุฒิภาวะ เป็นความแรงในเชิงทัศนคติซึ่งต่างจากวัยรุ่นที่มีความรุนแรงในด้านการกระทำ

“อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องยอมรับเลยคือความแรงมันหลอกให้คนมาสนใจได้ง่าย แต่ยิ่งแรง คนให้ความสนใจมาก มันก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้เรามาก ยิ่งวันที่งานของเราถูกเผยแพร่ เรายิ่งต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่างานของเราไม่ได้มีแค่ความแรง

“ผมไม่อยากเป็นคนทำคอนเทนต์ที่เหนื่อยเปล่า โดยไม่ได้พูดถึงทัศนคติของตัวเอง หรือปราศจากความเป็นตัวตนของเรา ถ้าเราแฮปปี้ที่มันดังเพราะมันแรง มันจะเป็นทัศนคติที่ cheap หรือดูไม่มีราคา ผมพยายามเตือนตัวเองอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ทำงานที่มีค่าแค่เนื้อหาแรงๆ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เป็นเช่นนั้น ผมจะกระจอกมากเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าผมอาจจะทำได้แค่นั้นก็ได้นะ” (หัวเราะ)

พยายามเตือนตัวเองอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ทำงานที่มีค่าแค่เนื้อหาแรงๆ
เพราะเมื่อไรก็ตามที่เป็นเช่นนั้น ผมจะกระจอกมากเลย

5. Energy ทำให้คุณดูอ่อนกว่าวัย ไม่ใช่ Collagen

สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นจากสไตล์การทำงานของทรงยศ นับตั้งแต่ ด.เด็ก ช.ช้างแฟนฉัน, เด็กหอปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่นTop Secret วัยรุ่นพันล้านฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น กระทั่ง HATELOVE ส่วนใหญ่โทนเรื่อง ประเด็น และนักแสดงของเขามักจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือเด็กเป็นหลัก

“ผมว่าช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความกล้า และไร้ความกลัว อยากทำอะไรก็ทำ ไร้ข้อจำกัดที่ถูกตีกรอบด้วยประสบการณ์ อย่างในปิดเทอมใหญ่ฯ จะมีตัวละครวัยรุ่นตัวหนึ่งที่ซื้อแฮกึ๊นไปฝากสาว เพราะรู้สึกว่ามันอร่อยก็เลยอยากให้คนที่เขาชอบ ถ้าเป็นผู้ใหญ่เขาก็คงบอกว่าจีบผู้หญิงก็ต้องให้ดอกไม้สิ แล้วใครเป็นคนบอกว่าครั้งแรกที่จีบผู้หญิงต้องให้ดอกไม้วะ ตอนเราเป็นเด็กเราจะไม่มีกติกา ไม่มีประสบการณ์ชีวิต ผมว่าสิ่งนี้มันคือเสน่ห์เฉพาะตัวของช่วงวัยที่เวลาเราถ่ายทอดออกมา หรือคิดสถานการณ์ให้มัน มันจะไปได้ไกล

“ส่วนตัวที่ชอบทำงานกับเด็ก หรือคลุกคลีกับเด็ก เพราะผมรู้สึกถึง energy ที่ได้รับจากเขา เวลาใครมาชวนให้ไปพูดที่โรงเรียนเรื่องแรงบันดาลใจผมจะชอบมาก เช่นกันเวลาทำงานกับปันปัน หรือนักแสดงวัยรุ่นคนอื่นๆ ผมจะรู้สึกได้เลยว่าพวกเขามีพลัง มีความกระตือรือร้น บางครั้งเวลาที่เหนื่อยๆ ล้าๆ การได้ดูพวกเขาทำงานก็พลอยทำให้ผมรู้สึกกระฉับกระเฉงตามไปด้วย”

 

ว่ากันว่า HATELOVE อาจจะเป็นอีกหนึ่งงานซีรีส์ทิ้งทวนของทรงยศ ก่อนที่เขาจะหวนกลับไปทำภาพยนตร์อีกครั้ง หลังห่างหายจากการทำหนังโรงฯ มามากกว่า 5 ปี (เรื่องล่าสุด: Top Secret วัยรุ่นพันล้าน  2011) ทรงยศบอกเพียงว่าเขาอยากจะเอาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เรียนรู้จากการทำซีรีส์กลับไปใช้กับการสร้างหนัง ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่กับหนังได้กี่ปี หรือจะได้กลับมาทำซีรีส์อีกครั้งหรือเปล่า

เช่นเดียวกันกับผู้ชมอย่างเราที่ไม่รู้ว่าผลงานชิ้นต่อไปของทรงยศจะยังคงบอกเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นอยู่อีกหรือไม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือทุกๆ ครั้งที่ทรงยศขยับตัวรังสรรค์ผลงานครั้งใด สปอตไลต์ทุกดวงต่างก็พร้อมใจกันหันไปที่เขา

Tags: , ,