1.

ในที่สุด มันก็เป็นลาสเวกัสที่เดินเข้าเส้นชัยไปก่อน

ใครจะไปเชื่อล่ะว่า เมืองที่มีภาพลักษณ์เป็นตัวแทนแห่งแสงสี และความสนุกแบบไม่แคร์โลก จะกลายเป็นเมืองใหญ่ที่ปักธง ‘พลังงานทดแทน 100%’ สำหรับอาคารและกิจการสาธารณะทั้งหมด ก่อนเมืองขนาดเดียวกันในสหรัฐอเมริกา

นับตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม ที่เริ่มใช้พลังงานจาก ‘Boulder Solar 1’ โรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 100 เมกะวัตต์ในเมืองโบลเดอร์ของรัฐเนวาดา ควบคู่กับผลลัพธ์จากโครงการความยั่งยืนที่มุ่งลดการใช้พลังงานอย่างจริงจัง ซึ่งเริ่มมาแล้วพักใหญ่

ไม่รวมถึงการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนฮูเวอร์ ซึ่งตามแผนจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2017

ใครที่ได้ติดตามเรื่องราวของลาสเวกัสในช่วงสิบปีมานี้ น่าจะเคยได้ยินถึงวิสัยทัศน์ใหม่ และการดำเนินงานอย่างจริงจังต่อเนื่อง ของทั้งฝ่ายทางการและชุมชนที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนเมืองของพวกเขาเพื่อเข้าสู่อนาคต ส่วนใครที่ไม่ได้ติดตาม นี่คือผลลัพธ์ที่บอกกับเราว่า ไม่ว่าจะต้องการอะไร สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้จากการ ‘เริ่มต้น’ เสมอ

ที่สำคัญ มันควรจะเริ่มต้นโดย ‘คนใน’

ยิ่งเมื่อสหรัฐอเมริกากำลังจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ที่ประกาศชัดว่าไม่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนจึงต้องเปลี่ยนโฟกัสจากระดับชาติมาสู่ระดับรัฐหรือเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย ผ่านจดหมายเปิดผนึกของนายกเทศมนตรี 48 เมืองในอเมริกา ที่จ่าหน้าซองถึงคนที่คุณก็รู้ว่าใคร

พร้อมคำปฏิญาณที่จะ “เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แม้ปราศจากการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง”

2.

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษใหม่ เราเห็นการกลับมาของอะไรหลายอย่าง

หนึ่งในนั้นคือการกลับมาให้ความสำคัญกับ ‘เมือง’ ซึ่งเป็นเรื่องอธิบายได้ไม่ยากนัก

นั่นก็เพราะเมืองที่ที่เราอยู่ และเราในทุกวันนี้ก็ตั้งคำถามมากกว่าเมื่อก่อน อีกทั้งยังพร้อมจะเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ไม่นับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้เราปะทะสังสรรค์กับเมืองได้สะดวกกว่าแต่ก่อน

กับอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะธรรมชาติของศตวรรษที่ 21 นั้นเรียกร้องให้เราต่อสู้กับความท้าทายนานัปการมากกว่าการยึดติดอยู่กับแนวคิดทางการเมืองซึ่งเป็นความคิดจากศตวรรษเก่า และผูกโยงอย่างสูงกับเส้นแบ่งพรมแดนประเทศ

ทั้งๆ ที่พรมแดนประเทศนั้นเอาเข้าจริงก็เพิ่งมาขีดเส้นกันเมื่อไม่นานมานี้ แต่เมืองนั้นอยู่มานานกว่าแบบไม่เห็นฝุ่น (ลองนึกถึงเมืองอย่างโรมเทียบกับประเทศอย่างอิตาลี หรืออิสตันบูลเทียบกับตุรกีก็ได้) ที่สำคัญไม่ว่าเส้นแบ่งพรมแดนจะถูกขีดใหม่กี่ครั้ง เมืองก็จะยังคงอยู่

ดังนั้นเป็นไปได้ไหมว่าเราจะเดินทางมาถึงจุดที่การลงมือทำสำคัญกว่าแนวคิดทางการเมืองเสียที และการย้ายจุดโฟกัสมาสู้กับความท้าทายด้วยกันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไปต่อได้

ว่าแต่เราพร้อมที่จะ ‘เปลี่ยนหัวข้อ’ หรือไม่ TED Talks น่าสนใจครั้งหนึ่งบนเวที TedGlobal ในปี 2013 ชักชวนเราไว้อย่างนั้น

Let’s change the subject!

3.

มันคือทอล์กที่ใช้ชื่อว่า ‘Why Mayors Should Rule the World’ โดยเบนจามิน บาร์เบอร์ นักทฤษฎีการเมือง ผู้เขียนหนังสือชื่อ If Mayors Ruled the World

แน่นอนว่าประเด็นของบาร์เบอร์ก็คือ แทนที่จะให้ความสนใจกับ ‘ประเทศ’ และ ‘นักการเมือง’ เราควรจะตั้งความหวังกับ ‘เมือง’ และ ‘พ่อเมือง’ ดีกว่าไหม หมายเหตุว่าพ่อเมืองในที่นี้คือนายกเทศมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

โดยเขาให้เหตุผลว่าระบบการเมืองแบบรัฐชาติที่ถูกออกแบบมาให้ใช้เมื่อหลายร้อยปีก่อนนั้นมันใช้กับศตวรรษที่ 21 ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว และหากมันจริงอย่างที่ใครๆ ชอบพูดว่าเมืองคือที่ที่ปัญหาจะได้รับการแก้ไข คนที่เราต้องสนใจก็คือพ่อเมือง ไม่ใช่นักเลือกตั้งระดับประเทศ

มองมาที่ตัวเราเองแล้วก็เข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ยาก ในวันที่น้ำท่วม เราคงไม่ต้องการแนวคิดทางการเมืองมากไปกว่าคนที่จะทำให้ถนนกลับมาแห้งโดยไม่ต้องรอการระบาย

เราต้องการถนนหนทางที่สัญจรได้ เด็กต้องไปโรงเรียน คนป่วยต้องถึงมือแพทย์ ไฟไหม้ต้องมีใครมาดับ เมืองต้องสะอาด และมีอากาศดีพอให้เราหายใจ

ทั้งหมดนี้เราจะฝากความหวังไว้กับใคร คงไม่ใช่นักการเมืองที่นั่งอยู่ในสภาฯ หรือคณะรัฐมนตรีในทำเนียบ

มองออกจากตัวเราไปยังสังคมโลกที่เข้าสู่ภาวะเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน (Interdependence) มากขึ้นทุกวัน ณ ที่นั่นมีความจริงอันเจ็บปวดรออยู่ ไม่ว่าโลกกำลังเผชิญปัญหาอะไร พรมแดนประเทศก็สร้างให้เกิดกับดักที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

เพราะวิธีคิดของรัฐชาติที่ต่างคนต่างดูแลพรมแดนและเขตอำนาจของใครของมันนั้นกลายเป็นตรรกะไร้น้ำยา เมื่อปัญหาหลากหลายมันกลายเป็นปัญหา ‘ข้ามพรมแดน’

ที่ประชุมโลกร้อนคือตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจน เมื่อความร่วมมือในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า เพราะติดธรรมชาติของการเจรจาระหว่างประเทศที่มักเป็นเรื่องของการต่อรอง

แต่กับเมืองมันไม่เป็นอย่างนั้น เมืองต่างๆ ในโลกพร้อมจะแบ่งปันข้อมูล เชื่อมโยง และร่วมมือกันในแบบวิน-วิน

ไม่นับรวมความจริงที่ว่า ในภาวะที่การเมืองของชาติต่างๆ อยู่ในภาวะชะงักงัน เมืองต่างหากที่ยังพัฒนาต่อไปได้ เพราะโดยปกติแล้วการบริหารเมืองซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นหลัก จะไม่ค่อยถูกกระทบโดยแนวคิดทางการเมือง หรือนโยบายระดับชาติที่ตัดสินใจยาก หรือติดกับดักนโยบายการค้าการลงทุนที่ซับซ้อนสับสน

สรุปว่าไม่ว่าจะเป็นปัญหาระดับเมืองหรือระดับโลก บาร์เบอร์ก็ยังเห็นว่าเราควร ‘เปลี่ยนหัวข้อ’ ไปฝากความหวังไว้ที่พ่อเมืองอยู่ดี

ในวันที่ความเป็นธรรม การเข้าถึง และเสรีภาพส่วนบุคคล ควรเป็นเรื่องสากลของทุกสังคมโดยไม่ต้องแบ่งแยกแนวคิดทางการเมืองอะไรอีก เพราะ “There isn’t a left or right way of doing.”

4.

ถึงตอนนี้เราคงไม่สงสัยแล้วว่า ทำไมการรวมกลุ่มการเมืองในระดับที่ใหญ่กว่าประเทศอีกนั้นจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ และในขณะที่ประชาคมเศรษฐกิจอย่างประชาคมยุโรปเริ่มเห็นทางลำบาก กลายเป็นเมืองต่างหากที่ฉายแววขึ้นมาอย่างโดดเด่น

เด่นทั้งในเรื่องการก้าวเข้าสู่ความเป็นเมือง เด่นทั้งในเรื่องการแบรนดิ้งเมืองตัวเอง

แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า เมืองมีอำนาจเป็นของเมืองเองมากเพียงใด แน่นอนว่าภายใต้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน สังคมที่ยังติดอยู่กับการปกครองแบบรวมศูนย์จัดหนักจะเสียเปรียบทันที

อย่าว่าแต่ในภาวะปกติก็มีปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่แบ่งกันอย่างไม่ค่อยสมดุลระหว่างเมืองหลวง เมืองใหญ่ เมืองเล็ก ในภาวะยากลำบาก เมืองซึ่งจัดการตัวเองได้มากกว่า (เก็บและใช้ภาษีได้ด้วยตัวเอง) ก็จะเดินหน้าได้ง่ายกว่า

เมืองต้องมีแรงขับดันให้เกิดการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คน มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะลงทุนในด้านการศึกษา ใช้ความคิดริเริ่มในการใช้พลังงานสะอาด จัดการขยะ ปรับภูมิทัศน์ ฯลฯ รวมไปถึงการแบ่งปันความรู้กับเมืองอื่นๆ ไม่มีเหตุผลเลยที่จะรอให้ส่วนกลางสั่งการลงมา เมื่อปัญหาในเมืองนั้นเห็นๆ กันอยู่ตรงหน้าทุกวัน

เมืองในอนาคตจะเสียเปรียบอย่างใหญ่หลวงหากคอยแต่ทำตัวเป็นผู้ตามที่ดี และใช้ชีวิตห่างไกลจากการเป็นต้นแบบให้คนอื่น คำถามก็คือ ในโลกที่เทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์เปิดโอกาสในการแบ่งปันความรู้และวิสัยทัศน์ เมืองจะรออะไร เมืองไม่ใช่ผู้ตาม เมืองควรเป็นนักลงทุนผู้มีวิสัยทัศน์ต่างหาก

ไม่ใช่แค่การลงทุนในสาธารณูปโภคหนัก แต่ต้องมีความปรารถนาอันแรงกล้าในการสร้างการศึกษาและดึงดูดผู้คน ไปจนถึงการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของเมืองเอง

หันมามองเมืองในบ้านเรา ในขณะที่เรายังคงตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณ เราก็มีศาลากลางจังหวัดที่หน้าตาคล้ายกันหมดทั้งประเทศด้วย

ไม่ว่าจะมาจากความตั้งใจที่จะรวมศูนย์อำนาจ หรือจากความคุ้มทุนด้านการออกแบบ มันก็น่าจะถูกตั้งคำถามถึงผลกระทบที่อาจทำให้ท้องถิ่นเสียเซลฟ์ (Self) ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็น Self-Identity (อัตลักษณ์ท้องถิ่น) หรือเลยไปถึง Self-Organization (การจัดการตนเอง) ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีกับจังหวัดไหนที่มันไปตั้งอยู่เลย

ไม่รวมถึงความจริงว่าความสัมพันธ์ที่หลวมและเท่าเทียมกว่า หมายถึงโอกาสที่จะอยู่ร่วมกันได้บนความขัดแย้งที่น้อยกว่า

นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกเลย

 

ภาพประกอบ: Thomthongc

Tags: , , ,