เปิดฉากความร้อนระอุของโค้งสุดท้ายในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2016 ทันที เมื่อ เจมส์ บี. โคมี (James B. Comey) ผู้อำนวยการ FBI แจ้งต่อรัฐสภา ถึงการรื้อฟื้นคดีสอบสวนกรณีการใช้อีเมลส่วนตัวของฮิลลารีขึ้นมาอีกรอบ เพราะเจอหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการรื้อคดีก่อนถึงวันเลือกตั้งเพียง 11 วันเท่านั้น

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า หลักฐานที่พบเป็นหลักฐานชุดใหม่เกี่ยวข้องกับรูปคดีหรือไม่? ไปจนถึงจะสามารถนำไปสู่การเอาผิดฮิลลารีได้จริง?

แต่ที่แน่ๆ คดีอีเมลมีผลต่อคะแนนนิยมของฮิลลารีอย่างเห็นได้ชัด จนอาจทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีพลิกโผในช่วงโค้งสุดท้าย

Photo: Brian Snyder , Reuters/profile

คดีอีเมลระอุ!

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรื้อฟื้นคดีดังกล่าวในโค้งสุดท้ายนี้ ได้กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ต่อกระแสความนิยมของฮิลลารีไปเรียบร้อยแล้ว เพราะทรัมป์ได้ออกมาโจมตีและประณามฮิลลารีทันทีในฐานะผู้ก่ออาชญากรรมด้านความมั่นคง สาธารณชนตั้งข้อสังเกตเรื่องการละเมิดกฎหมายการปกป้องความลับทางราชการ ซึ่งควรได้รับโทษบางอย่าง และไม่ควรปล่อยให้เกิดการลอยนวลของคนผิด เพื่อเป็นตัวอย่างให้นักการเมืองคนอื่นๆ

สำคัญที่สุดคือ การตอกย้ำภาพลักษณ์ ‘นักการเมืองที่ไว้ใจไม่ได้ของฮิลลารี’ ซึ่งจะเติมเชื้อเพลิงให้โหมกระหน่ำมากขึ้นไปอีกในเวลาที่เหลือ

เพจแห่งหนึ่งในประเทศไทย รายงานข่าวอีเมลทำนองว่า ‘FBI อาจตัดสินให้ฮิลลารีสิ้นสภาพหมดสิทธิ์ลงเลือกตั้ง’ ไปจนถึง ‘โอบามาจะใช้อำนาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไป’

วิธีการสนทนากับเพจข้างต้นได้ดีที่สุดคือ การทดลองตั้งคำถามดูว่าอะไรคือเหตุการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุด (Worst-Case Scenario) ที่ฮิลลารีต้องเจอต่อกรณีการรื้อฟื้นคดีอีเมล?

นิวยอร์กไทมส์ ตอบคำถามนี้ว่า “ในเดือนกรกฎาคม เจมส์ บี. โคมี ประกาศว่า FBI ไม่พบหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถเอาผิดกับทุกคนที่ก่ออาชญากรรมเกี่ยวกับความผิดพลาดเรื่องการปกป้องข้อมูลชั้นความลับสูงสุด

“ถ้าอีเมลใหม่ที่ FBI พูดถึงบ่งบอกให้เห็นถึงความพยายามของฮิลลารีและทีมงานของเธอในการย้ายข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบความมั่นคงของรัฐที่น่าเชื่อถือได้ หรือถ้าพวกเขาพยายามที่จะกีดขวางหรือทำตัวเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน ก็อาจส่งผลให้ FBI ต้องทำการสอบสวนต่อไปให้มากขึ้นกว่าเดิม

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ FBI เพิ่งเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาอีเมลที่พบ และเจ้าหน้าที่เชื่อว่า อย่างน้อยบางส่วนของอีเมลมีการซ้ำซ้อนกันของข้อความที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว”

ประโยคข้างต้นน่าจะบอกกับเราอย่างน้อย 2 เรื่อง ซึ่งต่างไปจากที่เพจข้างต้นได้บอกไว้

1. ลำพัง 6 วันที่เหลือจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ก็คงไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆ มากนักในกรณีอีเมล เพราะการสอบสวนต้องการ ‘เวลา’ มากกว่านี้ และอาจกินเวลายาวนานไปถึงช่วงการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี หรือกระทั่งยาวไปถึงช่วงที่ประธานาธิบดีเข้าปฏิบัติหน้าที่นี้แล้ว

2. วันเลือกตั้งระดับชาติยังคงเป็นวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ไม่มีเปลี่ยนแปลง

Photo: Brian Snyder , Reuters/profile

วิกิลีกส์จัดหนักรายวัน ชี้มีโกงดีเบต

ไม่เพียงแค่เจอมรสุมลูกใหญ่จาก FBI เท่านั้น แต่ขณะนี้วิกิลีกส์ยังจัดหนักกับตระกูลคลินตันชนิดรายวัน ด้วยการเปิดเนื้อในอีเมลที่แฮ็กมาได้จากอีเมลของ จอห์น โปเดสตา (John Podesta) ประธานแคมเปญหาเสียงของฮิลลารีกว่า 10,000 ฉบับ ในจำนวนนี้มีการปล่อยบทสุนทรพจน์ของฮิลลารี 3 ชิ้น ที่ไปพูดให้กับธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ 3 แห่ง ซึ่งเป็นจุดที่เธอโดนโจมตีเรื่อยมา นับตั้งแต่ต่อสู้กับ เบอร์นี แซนเดอร์ส ในสนามการเลือกตั้งขั้นต้น

อย่างไรก็ตาม ทีมงานของเธอก็แถให้เป็นปัญหาความมั่นคงในระดับชาติว่าเป็นความจงใจของรัสเซียที่จะแฮ็กอีเมลและทำลายระบบความมั่นคงในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ในบรรดาอีเมลที่หลุดออกมา มีหนึ่งเรื่องสำคัญที่กลายเป็นประเด็นใหญ่มากในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ คือ การโกงดีเบตของฮิลลารี เหตุเกิดจากพบว่า ก่อนหน้าวันดีเบตในรอบการเลือกตั้งขั้นต้นที่เมืองฟลินต์ รัฐมิชิแกน ทีมหาเสียงของฮิลลารีได้รับโพยคำถามในเวทีดีเบตล่วงหน้าผ่านอีเมลจาก ดอนนา บราซิล (Donna Brazile) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมยุทธศาสตร์ของพรรคเดโมแครต และยังนั่งในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคด้วย

โพยคำถามที่ส่งมาในอีเมลระบุว่า ‘ครอบครัวของเธอได้รับผลกระทบจาก มลพิษที่เกิดขึ้นในฟลินต์ และเธอก็จะถามว่า ฮิลลารีในฐานะประธานาธิบดีจะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร?’

การแก้ตัวคงง่ายหน่อย ถ้าคำถามไม่ถูกถาม แต่ปรากฏว่าในคืนดีเบตจริง มีผู้หญิงถึงสองคนถามคำถามเหมือนกันกับผู้สมัครทั้งสองคนคือ ฮิลลารี และแซนเดอร์ส อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าแซนเดอร์สได้รับคำถามล่วงหน้าอย่างที่ฮิลลารีได้รับ

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ฮิลลารีถูกตีตราความไม่น่าไว้วางใจประทับเพิ่มทันทีว่า โกงดีเบต!

Photo: Brian Snyder , Reuters/profile

โอกาสชนะของฮิลลารียังสูง แต่… ลดลงทุกวัน

นิวยอร์กไทมส์ ยังมีการคาดคะเนถึงโอกาสที่ผู้สมัครทั้งสองคนจะได้รับชัยชนะอยู่ทุกวัน โดยการคาดคะเนดังกล่าววางอยู่บนฐานสถิติ จากผลสำรวจคะแนนความนิยมในระดับรัฐ และระดับประเทศ ชุดล่าสุด โดยการคาดคะเนประจำวันนี้ (วันที่ 3 พ.ย. 2559) ผลปรากฏว่า ฮิลลารีมีโอกาสชนะทรัมป์สูงถึงร้อยละ 87 ต่อร้อยละ 13 ผู้สนใจสามารถเข้าชมการคาดคะเนในเชิงสถิติแบบรายวันได้ที่ (http://www.nytimes.com/interactive/2016/upshot/presidential-polls-forecast.html#trend)

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า กรณีการรื้อฟื้นคดีอีเมลขึ้นมาอีกรอบส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อโอกาสชนะของฮิลลารีอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากตัวเลขโอกาสชนะที่เคยสูงกว่านี้ และต่ำลงมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่การประกาศรื้อฟื้นคดีอีเมลของ FBI

โดยผลการคาดคะเนโอกาสชนะของฮิลลารีก่อนหน้านี้เคยสูงกว่าทรัมป์แบบชนิดที่ยากจะตามได้ทัน เช่น

12 ต.ค. – ฮิลลารีมีโอกาสชนะทรัมป์ที่ ร้อยละ 89 ต่อร้อยละ 11

25 ต.ค. – ฮิลลารีมีโอกาสชนะทรัมป์ที่ ร้อยละ 93 ต่อร้อยละ 7

28 ต.ค. – ฮิลลารีมีโอกาสชนะทรัมป์ที่ ร้อยละ 92 ต่อร้อยละ 8

หลังการรื้อคดีอีเมล โอกาสชนะของฮิลลารีลดต่ำลงทุกวัน อย่างน้อยวันละหนึ่งจุด เช่น

30 ต.ค. – ฮิลลารีมีโอกาสชนะทรัมป์ที่ ร้อยละ 90 ต่อร้อยละ 10

1 พ.ย. – ฮิลลารีมีโอกาสชนะทรัมป์ที่ ร้อยละ 88 ต่อร้อยละ 12

2 พ.ย. – ฮิลลารีมีโอกาสชนะทรัมป์ที่ ร้อยละ 87 ต่อร้อยละ 13

ขณะที่ในผลสำรวจความนิยมระดับชาติล่าสุด พบว่าเป็นโค้งสุดท้ายที่คะแนนความนิยมของผู้สมัครทั้งสองขยับเข้ามาสูสีกันมากขึ้น จากที่ฮิลลารีเคยนำทรัมป์สูงสุดอยู่ในระดับ 2 เท่าตัว และโพลของ ABC ที่ทรัมป์เคยนำอยู่ 1 จุด ก็กลับมาเสมอกันแล้ว

‘แต้มต่อ’ ที่ยังเหลือของฮิลลารี

นักวิเคราะห์ชี้ว่า กรณีอีเมลอาจส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ Voter Turnout หรือประชาชนออกไปเลือกตั้งในวันจริงมากหรือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากประชาชนที่ตั้งใจจะไปเลือกฮิลลารีเปลี่ยนใจไม่ออกจากบ้านมาเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้มีโอกาสพ่ายแพ้ต่อทรัมป์ได้

สังเกตได้จากการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วในหลายรัฐที่ทั้งคนผิวสี (African-Americans) และคนอายุน้อย (College Students) ออกมาเลือกตั้งกันน้อยมาก โดยเฉพาะในรัฐสนามรบ (Battleground States)

Photo: Jonathan Ernst, Reuters/profile

วันนี้ ประธานาธิบดีโอบามาได้ออกโรงหาเสียงเองที่นอร์ทแคโรไลนา เพื่อสื่อสารกับบรรดาผู้เลือกตั้งว่า มีเพียงฮิลลารีเท่านั้นที่จะพิทักษ์มรดกทางการเมืองของเขาไว้ได้

ทำไมเป็นนอร์ทแคโรไลนา?

เพราะเมื่อพิจารณาดูผลสำรวจความนิยมในบรรดารัฐสนามรบทั้งหลายที่กำลังสู้กันอยู่ดุเดือดในขณะนี้ พบว่าทรัมป์ทำคะแนนได้ดีในฟลอริดาและโอไฮโอ

หนทางในการแก้เกมนี้ก็คือ ฮิลลารีต้องชนะนอร์ทแคโรไลนาและเวอร์จิเนียให้ได้ ซึ่งผลสำรวจคะแนนนิยมในสองรัฐนี้ของเธอค่อนข้างดีมาก และถ้าหากชนะสองรัฐนี้ได้ ก็มีโอกาสอย่างมาก ที่เธอจะคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดี

ในคำกล่าวหาเสียงของประธานาธิบดีโอบามา มีตอนหนึ่งเขาโน้มน้าวทั้งคนผิวสีและคนอายุน้อยว่า

“ความก้าวหน้าทั้งหลายที่เราได้สร้างตลอด 8 ปีที่ผ่านมา จะพังทลายลงทันที ถ้าเราไม่สามารถชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ถ้าเราไม่สามารถคว้าชัยชนะในนอร์ทแคโรไลนาได้

“ผมไม่ชอบเลยที่จะต้องกดดันพวกคุณสักเล็กน้อย แต่ชะตากรรมประเทศของเราได้วางอยู่บนบ่าของพวกคุณแล้ว ชะตากรรมของโลกใบนี้จะเกิดความไม่แน่นอนอย่างที่เคยเป็นมาก่อน และพวกคุณในนอร์ทแคโรไลนาร่วมกันออกไปเลือกตั้งเถอะ เพื่อจะผลักดันสิ่งต่างๆ ไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง”

การปราศรัยครั้งนี้ไม่เพียงมุ่งหวังให้ฮิลลารีชนะ แต่ยังเป็นการเรียกคืนความนิยมของตัวเขาเองในรัฐนี้ด้วย เพราะในปี 2008 โอบามาชนะที่นอร์ทแคโรไลนา แต่ในปี 2012 เขาพ่ายแพ้ในรัฐนี้แก่ มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) และแม้ว่าคะแนนนิยมจะบอกว่า ฮิลลารีเป็นต่อทรัมป์ในรัฐนี้อยู่ที่ ร้อยละ 46 ต่อร้อยละ 42 (CNN) แต่ถ้าถึงวันเลือกตั้ง คนไม่ออกจากบ้านไปคูหา ความพ่ายแพ้อาจมาถึงพรรคเดโมแครตได้ รวมถึงมรดกทางการเมืองที่โอบามาหวังให้ฮิลลารีมาสานต่อ ก็จะพังทลายลงทันที

แม้วันนี้มรสุมจะหนักหนา ถาโถม ฮิลลารีแค่ไหน แต่ในเกมนี้เธอยังเป็นต่อในความหมายที่ว่า โอกาสชนะบนฐานสถิติยังแข็งแรง แถมมีนักปราศรัยแห่งยุคสมัย ชื่อ ‘โอบามา’ เป็นอาวุธลับในยามวิกฤต

และโชคดีที่คู่ต่อสู้ของเธอชื่อ ‘ทรัมป์’