หลังจากการกลับมาเปิดตัวอีกครั้งของหอสมุด เนียลสัน เฮส์ เมื่อปลายปีก่อน เราค้นพบขั้นตอนที่เต็มไปด้วยความละเอียดในทุกมุมของการฟื้นฟูอาคารให้กลับมามีชีวิตใหม่ เป็นที่มาของความสนใจที่จะรู้ในเชิงลึกให้มากขึ้นเกี่ยวกับการบูรณะอาคารเก่าที่มีอายุกว่าร้อยปี เราตัดสินใจคุยกับสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์อาคารเก่าที่เป็นหนึ่งในทีมที่เข้ามาช่วยบูรณะหอสมุดเนียลสัน เฮส์ อย่าง ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน ผู้เริ่มต้นจากการให้คำปรึกษาสู่การเดินหน้าเต็มตัวเพื่อสำรวจอาคารและบูรณะจนเสร็จสิ้น 

บทสนทนาที่เกิดขึ้นทำให้เราตระหนักถึงการให้ความสำคัญของผู้อยู่เบื้องหลัง และยิ่งทำให้รู้สึกอิ่มทุกทีที่ก้าวเข้าสู่ตัวอาคารเก่าแก่ย่านบางรักแห่งนี้

การบูรณะอาคารหอสมุดมีจุดเริ่มต้นอย่างไร และใช้กระบวนการไหนในการทำงานบ้าง

เริ่มจากการที่เราเป็นอาจารย์พิเศษวิชาอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พอได้โจทย์จากเนียลสัน เฮส์ เลยเป็นโอกาสดีที่ได้นำนิสิตที่ฝึกงาน มาช่วยสำรวจ ขั้นตอนการสำรวจนี้ ในขั้นแรกเป็นไปเพื่อให้ได้แบบสถาปัตย์และขอบเขตพื้นที่ ขั้นสองคือเพื่อสำรวจว่าส่วนไหนเสื่อมสภาพ ทรุดตัว โดยเจอปัญหาหลากหลายทั้งผนังร่อน พื้นยุบ จุดเริ่มต้นของการได้ข้อมูลคือรูปแบบอาคารและสาเหตุของการเกิดปัญหา แต่ตอนตัดสินใจว่าซ่อมอย่างไรนั้นเป็นเรื่องยากกว่า เพราะอาคารเปลี่ยนแปลงไปเยอะ 

โชคดีที่หอสมุดนำแฟ้มเอกสารเก่ามาให้ ซึ่งเป็นสำเนาแบบของมารีโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) ผู้ออกแบบ ประกอบไปด้วย ผังสถาปัตย์ ผังโครงสร้าง รูปด้าน รูปตัด และรายละเอียดต่างๆ เลยเข้าใจว่าโครงสร้างที่เขาคิดขึ้นมาคือเพื่อรับน้ำหนักหนังสือ โดยมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมด้านบนคือรางรวมน้ำฝนจากบนหลังคาเข้ามาเก็บที่ใต้ดิน แล้วค่อยระบายเมื่อล้น มีช่องอากาศเพื่อช่วยระบายความชื้นไม่ให้เข้ามาในห้องสมุด มีช่องทางเดินด้านหลังเป็นเหมือนฉนวนอากาศเพื่อไม่ให้หนังสือชื้น 

กับข้อมูลอีกส่วนคือ แฟ้มจดหมายเก่า ใบเสร็จเก่า แบบก่อสร้างต่อเติมเก่าของห้องสมุด รวมทั้งการค้นพบเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จนรู้ว่ามีการขอเงินชดเชยความเสียหายหลังสงคราม ซ่อมพัดลมไปจำนวนกี่ตัว ซื้อหนังสือไปกี่เล่ม ทำให้รู้ว่าห้องสมุดเคยถูกกั้นเป็นห้องเล็กมาก่อน และยังค้นพบจดหมายเบิกเงินของช่าง ทำให้รู้ว่าปัญหาเดิมเกิดซ้ำ เรื่องการระบายน้ำใต้ถุนตึก ทำให้เห็นภาพอดีตมากขึ้นว่าซ่อมแซมส่วนไหนไปบ้าง เมื่อประกอบข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกันจึงเริ่มต้นดำเนินงานได้ 

ภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังการปรับปรุงห้องสมุด

 พอได้แผนแล้ว เมื่อจะเริ่มดำเนินการ ก่อนอื่นคือต้องดูว่าขึ้นทะเบียนโบราณสถานหรือยัง ซึ่งที่นี่ขึ้นแล้ว นั่นหมายถึงต้องส่งเอกสารแจ้งไปยังกรมศิลปากร เพื่อให้กรมส่งผู้เชี่ยวชาญมา โดยทีมทำงานร่วมกับสถาปนิกอีกคนคือ คุณวทัญญู เทพหัตถี บริษัท กุฎาคาร จำกัด ทั้งยังมีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มาร่วมซ่อมแซมเพื่อให้อาคารคงอยู่ต่อไป

สิ่งสำคัญคือการต้องรู้ให้ได้ว่าห้องสมุดในอนาคตจะใช้งานอย่างไร มีข้อมูลว่าห้องสมุดมีสมาชิกส่วนมากเป็นครอบครัวชาวต่างชาติ และมีกรรมการทั้งหมดเป็นผู้หญิง รวมถึงสมาชิกที่เป็นเด็กเล็กและผู้สูงวัย เราต้องเพิ่มความสะดวกสบายเข้าไป ต้องใช้งานและดูแลรักษาได้ง่าย เสริมสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบวิศวกรรมต่างๆ ที่ควบคุมได้ง่าย สร้างห้องน้ำสำหรับวีลแชร์ และเพิ่มทางลาด ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยภายในและสวนภายนอกเพื่อให้มีสมาชิกเข้ามาใช้งานห้องสมุดมากขึ้นอีกด้วย

บทบาทของหอสมุดที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้ใช้งานก็อาจเปลี่ยนตามเวลา ทั้งหอสมุดยังต้องได้รับการใช้งานไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า สิ่งเหล่านี้มีผลต่อวิธีคิดในการบูรณะอาคารแห่งนี้อย่างไร

สิ่งสำคัญคือเราต้องฟังเสียงของสมาชิกรุ่นเก่า คนที่ผูกพันกับตัวพื้นที่ เขารักอะไร อยากเก็บอะไร แล้วยังฟังเสียงของเด็กรุ่นใหม่ ที่อยากนั่งอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมในที่โล่งและเป็นอิสระมากขึ้น เราต้องประเมินว่าทำอย่างไร เพราะนี่คืออาคารที่ยังมีชีวิต เพิ่มฟังก์ชั่นใหม่เข้าไป ใช้พื้นที่ในช่วงกลางคืนได้บ้าง จากเดิมต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา แต่ค่าสมาชิกก็ยังไม่คุ้มทุนกับค่าใช้จ่าย ดังนั้นที่ตรงนี้ยังสามารถทำอะไรได้อีก จัดคอนเสิร์ตได้ เป็นแกลเลอรี่ได้ ทำห้องเก็บของเก็บหนังสือได้ เพราะว่ามีอีเวนท์ขายหนังสือ ซึ่งเป็นรายได้หลัก จัดระเบียบพื้นที่ด้วยการเสริมกิจกรรม เพิ่มพื้นที่สวนมากขึ้น หรือเพิ่มกิจกรรมของเด็กด้วยไหม เพราะเรามั่นใจว่าคอลเล็กชั่นหนังสือเด็กที่นี่คือดี ดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาใช้งานที่ตึกได้มากขึ้น

เรามองไปถึงเรื่องเหล่านั้นด้วย เพราะหน้าที่ของสถาปนิกอนุรักษ์ คือสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวกับอาคารในทุกด้าน ทั้งรูปแบบอาคาร สภาพของอาคาร การใช้งานในปัจจุบัน และแผนการพัฒนาในอนาคต รวบรวมข้อมูลเพื่อแชร์กับทีมที่ทำงานด้วยกัน เราทำวิจัย ค้นคว้า เก็บข้อมูล แล้วกรองข้อมูลเพื่อไปปรึกษากับแต่ละทีม เพื่อสามารถกำหนดเป็นแผนการทำงานที่สถาปนิกต้องประเมินการใช้งานอาคารในอนาคตออกมาเป็นแบบในการบูรณะ สถาปนิกทั่วไปคือการออกแบบอาคารเพื่อรองรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ แต่สถาปนิกอนุรักษ์คือการมีอาคารเดิมอยู่แล้ว ต้องดูว่าใช้งานต่อได้ในทางไหนบ้าง เป็นการตีกรอบซ้อนกรอบ แต่มันคือความสนุกที่สุด 

จากทั้งโครงสร้างอาคารและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ การบูรณะในครั้งนี้ได้เจอข้อค้นพบใหม่ๆ อะไรบ้าง ที่มีการบันทึกไว้เป็นชุดความรู้ต่อไป

อย่างแรกที่เราเก็บข้อมูลคือเอกสารและการสัมภาษณ์ แบบสำรวจอาคารและผังของการใช้สอยในแต่ละยุค ดูว่าการใช้งานเปลี่ยนไปอย่างไรจากแบบของตามัญโญในปี 1922 มีการวางตู้อย่างไรในช่วงก่อนซ่อม เราวางตู้ใหม่อย่างไรหลังซ่อมแซม เก็บไว้ทุกยุค การตกแต่งภายใน ฝ้า หัวเสา ฐานเสา การทาสีที่มีการเก็บสีที่ตามัญโญเลือกทาไว้คือสีชมพูและสีฟ้า แต่ทั้งอาคารเราเลือกทาสีเขียวอ่อนเพราะว่าเป็นสีที่มีการรักษาไว้นานที่สุดจนเกิดเป็นภาพจำที่คนมีต่อหอสมุด 

รวมถึงบันทึกข้อค้นพบอื่นๆ คือวิธีการซ่อมแซม รายการสิ่งของที่เจอ เช่น ตู้เก่าหรือตู้ใหม่ที่เราคัดแยกได้ด้วยการดูเดือยไม้ กันสาดด้านหน้าตึกที่เป็นเหล็กหล่อซึ่งสั่งซื้อมาจากเมืองนอก ในยุคเดียวกับสะพานในเกาะรัตนโกสินทร์ โดยการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดถูกบันทึกเป็นภาพถ่ายก่อนซ่อมและหลังซ่อมในมุมเดียวกันเพื่อเก็บหรือทำเป็นนิทรรศการต่อไปในอนาคต เพราะสิ่งที่น่าเรียนรู้คือความเป็นเอกลักษณ์ของอาคารนี้ สำหรับการสร้างตึกใหม่ สามารถนำความรู้จากอาคารนี้ไปปรับใช้ได้

แบบจำลองการทาสีภายในของห้องสมุดดั้งเดิม

แบบจำลองการทาสีภายนอกของห้องสมุดหลังจากการปรับปรุง

การบูรณะและดูแลรักษาอาคารเก่านั้น สำคัญต่อคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

อาคารเก่าไม่ใช่ของที่ตายแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีความสนุกในการเข้าไปรับรู้เรื่องราว การก่อสร้างเพิ่มเติมในแต่ละยุค ทำให้เราเรียนรู้ว่าเราไม่ต้องกลัวที่จะใช้มันให้เต็มที่ เพราะการอนุรักษ์อาคารที่ง่ายที่สุดคือการใช้งานและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง 

ตัวอย่างง่ายๆ ในไทยคือการบูรณะห้องแถวเก่า เราไม่ต้องกลัวที่จะแตะของเก่าเหล่านี้ โดยเฉพาะอาคารเก่าที่สนุกมากคือ บ้านในย่านสุขุมวิทและพหลโยธินซึ่งอายุไม่เก่ามากนัก ยังมีรูปแบบที่ร่วมสมัยและกำลังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สามารถนำคนที่เป็นวัยรุ่นหรือเด็กที่เข้ามาใช้งานต่อมามีส่วนร่วมในการออกแบบ เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ใหม่ สร้างสรรค์และเกิดรายได้ 

ในปัจจุบันนี้ก็มีสื่อที่ให้ความสนใจ หรือมีทริปนำชมตึกเก่าทำให้เกิดเป็นกระแสมากขึ้น แต่ในสถาบันการศึกษา การบูรณะอาคารและดูแลรักษาอาคารเก่ายังเป็นวิชาเลือก ดูสวยและสนุกก็จริงที่ได้เข้ามาเรียนรู้ แต่มีปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น ระยะเวลากว่าจะสร้างหรือจะซ่อมได้ มีฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งนักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร คนรุ่นใหม่บางคนก็มีแพสชั่นจริง แต่ยังต้องพึ่งพาความสามารถของช่างฝีมือมากประสบการณ์ เพราะคนที่จะเข้ามาบูรณะตึกเก่าได้จะต้องเป็นช่างฝีมือที่ต้องเข้าใจตึกแต่ละยุคอย่างแท้จริงเท่านั้น เราก็หวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะยังไม่ท้อกับมัน เพราะยังมีตึกเก่าอีกมากที่ไม่ควรจะต้องแค่ถูกทุบทิ้งแล้วก็หายไป 

Tags: , , ,