หลังจากที่ปิดให้บริการเพื่อบูรณะตัวอาคาร ล่าสุดนี้หอสมุดเนียลสัน เฮส์ (Neilson Hays) กลับมาเปิดให้บริการกับนักอ่านเรียบร้อยแล้ว

สถาปัตยกรรมสวยงามในย่านบางรักแห่งนี้ สร้างขึ้นจากความรักของนายแพทย์โธมัส เฮยวาร์ด เฮส์ (Thomas Heyward Hays) ที่มีต่อภรรยาผู้รักการอ่านอย่าง เจนนี นีลสัน (Jennie Neilson) เพื่อเป็นการส่งต่อวิสัยทัศน์ของภรรยาสู่คนรุ่นหลังต่อไป

หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ออกแบบโดยสถาปนิกมากความสามารถชาวอิตาลี มารีโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) ผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม สถานีรถไฟหัวลำโพง สะพานมัฆวานรังสรรค์ รวมถึงตำหนักปารุสกวัน หรือวังพญาไท สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2464 เพื่อเป็นพื้นที่อ่านหนังสือและพูดคุยสำหรับสมาชิกสมาคมหอสมุด ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของมิชชันนารีอังกฤษและอเมริกัน ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และจากจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจสร้างเป็นเรือนไม้ขนาดเล็ก ได้ขยายไปสู่การสร้างเป็นอาคารคอนกรีตทรงนีโอคลาสสิค

โครงสร้างอาคารที่ถูกออกแบบในสมัยนั้น โดดเด่นที่ความสมมาตร เส้นสายในการออกแบบ ฐานรากใช้ระบบคอนกรีตประเภทแผ่ฐานรับน้ำหนัก เพื่อป้องกันความชื้นและทำให้ระบายลมได้ดีที่สุด แต่เมื่อการเวลาผ่านพ้น นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบันนี้ หอสมุดเนียลสัน เฮส์ก็ผุพังชำรุด ออกอาการผ่านความชื้นสะสมที่ผนัง จนถึงการทรุดโทรมของพื้น นลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหารหอสมุดเนียลสัน เฮส์ จึงตัดสินใจเริ่มต้นซ่อมแซมพื้นและผนังเพื่อแก้ปัญหา

กระบวนการการซ่อมแซมนั้นนำมาสู่การค้นหาข้อมูลในเชิงลึก ด้วยหอสมุดแห่งนี้นั้นไม่มีพิมพ์เขียวให้เป็นแนวทางเพื่อทำงานได้อย่างสะดวกขึ้น ทีมงานทั้งหมดจึงต้องเปิดพื้นเพื่อดูโครงสร้างด้านล่างและพบว่าพื้นนั้นมีความชื้นเนื่องจากด้านล่างมีถังเก็บน้ำล้อมรอบตัวอาคาร แต่ปรากฏว่าระดับน้ำนั้นสูงกว่าที่กำหนดไว้ จนเกิดน้ำสะสมในดินเป็นอ่างเก็บน้ำและความชื้นระเหยขึ้นด้านบนจนเป็นปัญหา จึงเป็นที่มาของการบูรณะซ่อมแซมอาคารทรงคุณค่าหลังนี้ให้พร้อมให้บริการสำหรับนักอ่านทุกคนอีกครั้ง

หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ได้รับการบูรณะโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างคุณวทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบูรณะตึกเก่า และดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ทำการบูรณะอาคารอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มต้นจากการศึกษา เก็บข้อมูล ทำการบันทึกรายการชำรุดส่วนต่างๆ ก่อนจะเริ่มออกแบบว่าจะเริ่มซ่อมแซมอย่างไร

หนึ่งในความน่าสนใจที่เกิดขึ้นระหว่างการบูรณะคือ เมื่อมีการลอกสีผนังออกมาเป็นระดับชั้น ก็พบสีชมพูและสีฟ้าที่เคยเป็นสีเดิมของอาคารแห่งนี้ คุณนลินจึงต้องการแสดงให้เห็นถึงชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์ส่งต่อถึงคนรุ่นหลัง จึงได้มีการเก็บรักษาและทาสีเดิมไว้ในส่วนด้านหลังของห้องสมุด

“เราอยากจะแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนผ่านตามกาลเวลา เราอยากให้คนทราบว่า ณ จุดหนึ่งของประวัติศาสตร์เคยมีสิ่งนี้ เพราะการซ่อมแซมใหญ่ครั้งล่าสุดของอาคารนี้คือช่วงที่เพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ สอง (สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2488) จนถึงตอนนี้ก็กว่า 70  ปีแล้ว” คุณนลินกล่าว

เช่นเดียวกับซุ้มประตูชัยที่อาจเคยถูกทำลายออกไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทีมบูรณะมาศึกษาดูจากรูปภาพเก่า ก็ได้เห็นว่าภายในอาคารหอสมุดนั้นมีประตูชัยอยู่ภายใน การบูรณะในครั้งนี้จึงตัดสินใจนำประตูชัยกลับมาให้มีรูปลักษณ์เหมือนเดิมด้วย

หลังจากการบูรณะเสร็จสิ้น หอสมุดเนียลสัน เฮส์ก็พร้อมเปิดให้บริการอีกครั้ง ด้วยการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างบทสนทนา เป็นศูนย์กลางด้านการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนย่านบางรัก สร้างแรงบันดาลใจในการอ่านให้กับคนรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดทั้งปี เช่น กิจกรรมจำหน่ายหนังสือเพื่อหารายได้เข้าหอสมุด กิจกรรมการบรรยายประวัติศาสตร์ (lecture series) ที่เน้นการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น หรือกิจกรรมการเปิดตัวหนังสือร่วมกับนักเขียน  

บันทึกบทใหม่ของหอสมุดเนียลสัน เฮส์จึงเป็นการเชื่อมต่อกับคนในยุคปัจจุบัน อย่างที่ชีวิตและจิตวิญญาณของอาคารแห่งนี้คือมรดกจากอดีตที่ยังมีลมหายใจ โดยมีบทบาทใหม่คือการเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนบทสนทนา เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างสังคมการอ่านให้กับประเทศไทยต่อไป

Fact Box

  • การบูรณะในครั้งนี้ใช้งบประมาณในการซ่อมแซมรวม 12 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และใช้ระยะเวลาในการซ่อมแซม 18 เดือน
  • หอสมุดเนียลสัน เฮยส์ มีหนังสือกว่า 17,000 เล่ม วรรณกรรมร่วมสมัย มีการซื้อหนังสือใหม่ทุกเดือน นอกจากนี้ยังมีหนังสือสารคดีอื่นๆ เช่น ชีวประวัติ วิทยาศาสตร์ เหตุการณ์สำคัญของโลก รวมถึงหนังสือหายากด้วยเช่นกัน
  • อาคารหอสมุดแห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นในปีพ.ศ. 2525 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตั้งแต่ พ.ศ.2544
  • รูปแบบการดำเนินงานเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ขับเคลื่อนด้วยอาสาสมัคร ดำเนินการหาทุนเพื่อบริหารจัดการหอสมุดโดยการรับสมัครสมาชิก การบริจาค และการจัดกิจกรรมต่างๆ
Tags: , , ,