คำถามแสนดาษดื่นอย่าง ‘ออกมาเคลื่อนไหวทำไม?’ หรือออกมาก็เจ็บตัวมีคดีเปล่าๆ ไม่มากก็น้อยล้วนเคยถูกตั้งคำถาม หรือบางทีก็พวกเขานี่แหละที่ตั้งคำถามกับตัวเอง 

ทำไมถึงออกมาเคลื่อนไหว? หรือจริงๆ เราควรตั้งคำถามเสียใหม่ว่าทำไมถึงนิ่งเฉยไม่ออกมาเคลื่อนไหวกันแน่

สถิติจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้บันทึกจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ ‘เยาวชนปลดแอก’ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 พบว่ามีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,864 คน และในจำนวน 1,145 คดี มีกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย

เยาวชนถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 17 ราย ใน 20 คดี และมีคดีที่อัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลแล้ว 10 คดี

The Momentum ได้พบกับคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในเชียงใหม่ ตั้งแต่คนทำงานเบื้องหลัง ไปจนถึงแนวหน้าการต่อสู้ที่หลายคนได้รับหมายศาลเป็นค่าตอบแทน แค่เพียงเพราะอยากเห็นประเทศไทยดีกว่านี้ ก่อนจะพูดคุยเพื่อสะท้อนภาพการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวที่จะไม่ยอมจำนน ไม่ก้มหัวศิโรราบต่ออำนาจอยุติธรรม

“ขอเรียกร้องให้สถาบันฯ มีจิตสำนึกเปลี่ยนแปลง” 

 สุริยา แสงแก้วฝั้น ผู้พิการและนักเคลื่อนไหวการเมือง

“ผมเกิดปี 2531 ที่จังหวัดเชียงราย เป็นลูกชาวไร่ชาวนา ลูกตาสีตาสา ไม่ได้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีเท่าไหร่ ด้วยความโชคร้ายที่ผมเป็นเด็กขนาดตัวใหญ่เลยมีปัญหาเพราะออกจากช่องคลอดของคุณแม่ไม่ได้ คนทำคลอดเลยดึงผมออกมาเลย จนเป็นเหตุให้ขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมอง ทำให้สมองซีกหนึ่งตาย ซึ่งสมองส่วนนั้นเกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อ การพูด การเคลื่อนไหว 

“คนบ้านนอกอย่างเราจะรู้กันดีว่า คนที่อยู่ไกลจากตัวเมืองจะไม่มีคุณภาพชีวิตเหมือนคนที่อยู่ในเมือง ถ้าใครจะคลอดลูกก็ต้องไปทำคลอดที่อนามัยชุมชน เพราะถ้าจะไปในเมืองเชียงรายต้องหาเช่ารถด้วยราคา 600-700 บาท ที่ถ้าย้อนกลับไป 30-40 ปีที่แล้ว ถือว่าแพงมาก ชาวบ้านเลยต้องทำคลอดตามมีตามเกิด อนามัยชุมชนก็ใช่ว่าจะมีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่พร้อม แม้แต่แพทย์จะต้องอาศัยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาช่วยทำคลอด ซึ่งมันก็เป็นข้อผิดพลาดที่พบเจอ 

“พอผมคลอดออกมาแล้ว อนามัยชุมชนของภาครัฐก็ไม่ออกมาชี้แจง ไม่ออกมารับผิดชอบ ไม่ให้คำตอบว่าทำไมถึงทำให้ผมเป็นแบบนี้ ตอนเด็กเลยเอาแต่ถามตัวเองตลอดว่าหรือเพราะว่าเราเป็นคนจน เราไม่มีคุณค่ามากพอ 

“สาเหตุที่ต้องเล่าเรื่องนี้เพราะพออายุได้ 17-18 ปี จากเด็กสู่วัยรุ่นก็ทบทวนย้อนไปว่ามันเกิดอะไรขึ้น จนได้คำตอบว่ามันเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำจากโครงสร้างทางสังคม คนจนไม่มีทางให้เลือก แต่คนรวยทำไมถึงมีทางเลือกให้เลือกเยอะแยะ แล้วปล่อยให้คนจนอยู่ตามยถากรรม ผมเลยเลือกที่จะเรียนนิติศาสตร์ 

“หลังเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้ทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ แม้ผมจะเรียนกฎหมาย แต่ก็ได้ศึกษาทฤษฎีทางการเมือง อ่านหนังสือลัทธิมาร์กซ เพราะสมัยก่อนคณะนิติศาสตร์กับคณะสังคมศาสตร์มันควบคู่ไปด้วยกัน ตึกก็ใช้ตึกเดียวกัน และมีห้องสมุดรวม อันนั้นแหละคลังความรู้ที่ผมได้รับเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมือง ทฤษฎีต่างๆ ที่ใช้วิเคราะห์ทางสังคมการเมือง ทำให้ผมเข้าใจว่ากฎหมายกับการเมืองมันแยกกันไม่ออก เพราะกฎหมายเป็นกติกาทางสังคมเพื่อที่จะให้ภาคการเมืองเข้าไปบริหาร ไปจัดสรรกติกานั้นให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม

“เมื่อโตขึ้นเราเห็นว่าโครงสร้างทางสังคมที่ล้มเหลวยังคงอยู่ ซ้ำร้ายการเมืองตลอดแปดปีที่ผ่านมายิ่งทำผมท้อแท้ หมดหวัง เราเสียโอกาสไปมากมาย การเข้ามาของคณะรัฐประหารในรอบนี้ขยายอำนาจเผด็จการนิยมไปทุกส่วน คณะรัฐประหารนี้ได้ฟื้นอำนาจนิยมขึ้นใหม่ สืบต่อจากรัฐประหารเมื่อปี 2549 จะเห็นได้ว่าคณะต่างๆ ที่มีตำแหน่งแห่งหนในภาคส่วนการเมืองก็เป็นทหารหน้าเดิมๆ เมื่อตอนปี 2549 

“จะอ้างว่าต้องเข้ามาเพราะปราบทุจริตคอร์รัปชัน ล้มล้างระบบทักษิณอะไรก็แล้วแต่ คุณมาโดยไม่ชอบธรรม ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วสร้างกติกาใหม่ แม้แต่สภานิติบัญญัติที่ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2560 ก็เป็นคนเดิมๆ ทั้งนั้น เช่น อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ หรือวิษณุ เครืองาม

“สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงทำให้ประเทศชาติและประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเสียโอกาสหลายอย่าง เสียโอกาสทางด้านความคิด โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาก้าวหน้าไปมากแล้ว เขาแค่อยากอนาคตที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลายเป็นว่าเขาถูกจัดการ ถูกจับ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายทหารมองว่าเยาวชนเป็นภัยความมั่นคง ซึ่งคำว่า ‘ภัยความมั่นคง’ มันใช้ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 ประชาชนถูกเรียกว่าคอมมิวนิสต์ พวกทำลายชาติบ้าง ทำลายศาสนา พวกหนักแผ่นดิน

“เราควรได้มีความคิดที่ปราศจากการครอบงำ ความคิดที่มีเสรีภาพ เราจะมีอินโนเวชัน มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมา แต่ตอนนี้เราเสียโอกาสที่ว่า เสียโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยในทัศนะของผมหมายถึงพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นพับลิกสเปซของคนทุกกลุ่ม ต้องมีเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีความเป็นธรรม แต่ตอนนี้กลุ่มเยาวชน กลุ่มชาวนาชาวไร่ กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มภาคประชาชนสังคม เมื่อออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กลับถูกออกหมายจับหมายเรียก หมายค้น ถูกจับตาจากหน่วยงานภาครัฐอยู่ตลอดเวลา 

“ตลอดแปดปีตั้งแต่ 2557-2565 คุณลองไปดูสถิติการถูกดำเนินคดีกับประชาชนกี่ราย โดยเฉพาะมาตรา 112 และมาตรา 116 และเมื่อรัฐเอาข้อหายัดใส่ประชาชน  ซ้ำยังไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับเขาในกระบวนการพิจารณาคดี เพื่อนเราหลายคนอยู่ในคุกไม่เห็นได้รับการประกันตัว เพียงเพราะความคิดของเขาที่อยากจะเห็นคุณภาพของตัวเขา คุณภาพของสังคมที่ตัวเขาอยู่มีความเจริญงอกงามเทียบเท่าอารยประเทศ 

“ดังนั้นพรสามข้อที่ผมจะขอ ถึงแม้สิ่งนี้จะเป็นเพียงจินตนาการ แต่ก็ขอเรียกร้องให้สถาบันฯ มีจิตสำนึกในทุกการเปลี่ยนแปลง เพราะต้องไม่ลืมว่าผลประโยชน์ของเครือข่ายทั้งหมดมีต้นทุนสูงในการที่จะเปลี่ยนแปลงอำนาจทางวัฒนธรรม อิทธิพลทางวัฒนธรรม อิทธิพลในด้านการเมือง อิทธิพลในการสร้างเครือข่าย 

“อยากขอให้สถาบันฯ อยู่กับหลักนิติรัฐและนิติธรรมอย่างแท้จริงได้ไหม แล้วเราก็ใช้ชีวิตกันไป ต่างคนต่างทำหน้าที่ เราในฐานะพลเมือง เราก็ทำหน้าที่พลเมือง มีสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรม สถาบันฯ ก็ทำหน้าที่ของท่านไปโดยที่ไม่มาก้าวก่ายซึ่งกันและกัน 

“แต่หากสถาบันฯ เข้ามาก้าวก่ายอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ เราคงต่อสู้กันเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุดจนชั่วลูกชั่วหลาน ฉะนั้นจึงขอให้มีจิตสำนึกในการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงบริวาร การเปลี่ยนแปลงเครือข่ายของตัวเอง มอบอำนาจให้กับประชาชน และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง 

“พรข้อที่สอง ผมอยากจะให้ผู้พิพากษาคืนสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองทั้งหมด เพื่อให้พวกเขาได้ออกมาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล และข้อสุดท้าย อยากเห็นนักการเมืองที่รวมตัวกันตั้งพรรคการเมือง ทำประโยชน์เพื่อประชาชนจริงๆ โดยไม่มีวาระซ่อนเร้นที่จะแสดงหาอำนาจให้กับตัวเอง

“เราเป็นปัจเจกชน เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าสังคมได้ผลประโยชน์มันก็จะตกมาอยู่กับเราที่เป็นปัจเจกชนเช่นกัน แม้มันจะเป็นจินตนาการสามข้อ แต่นี่คือสิ่งที่ผมขอ”

สุริยา แสงแก้วฝั้น หรือ ‘เยล’ จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ร่วมงานกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อผู้พิการ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมทีที่ออกมาพูดเรื่องการเมืองจนถูกแจ้งความในคดีอาญามาตรา 116 

“เวลาคนที่โดนคดี ม.112 เหมือนกับเรามีหมายเรียก ติดคุก หรือไม่ให้ประกันตัว มันจะรู้สึกว่า เฮ้ย! เริ่มมาแล้วว่ะ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เมื่อไรจะถึงคิวเราวะ มันเป็นกลไกที่เล่นกับความประสาทแดกของคน เล่นกับความรู้สึก ความเครียด ตรงนี้มันทำร้ายเราเยอะเหมือนกัน”

ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษา-นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

“ไม่รู้มันคุ้มไหมกับการที่ออกมาต่อสู้โดนสารพัดคดี แต่อย่างน้อยก็ได้ทำอะไรสักอย่าง เราดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็คงจะทำอยู่ดีเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด

“สำหรับเราครั้งแรกของการเคลื่อนไหวมันเต็มไปด้วยความ ‘ลน’ เพราะมันไม่รู้เลยว่าจะเจอกับอะไรบ้าง เช่นตอนนั้นแสดง Performance Art จำลองตัวเองนอนอยู่บนไม้กิโยติน มีตำรวจมาตามถ่ายรูปก็รู้สึกว่าเออกูแม่งจะโดนอะไรไหมวะ โดนคดีอะไรหรือเปล่า

“แน่นอนว่าการที่โดนคดีหลายคดีมันส่งผลกระทบต่อชีวิต กระทบต่อการตัดสินใจหลายอย่าง เช่น วันนี้ต้องไปศาล ชีวิตมันจะรุงรัง คดียังไม่สิ้นสุด คดียังไม่ตัดสิน เราอาจจะต้องดรอปเรียนเพื่อคงสภาพนักศึกษาไว้ก่อน และมีความประสาทแดกอื่นเช่น การตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตดี ชีวิตเราจะถูกศาลตัดสินแบบไหน

“จุดที่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้วต้องทำอะไรสักอย่าง คือฝั่งที่มีอำนาจตอนนี้ คุณจะเรียกว่าพวกรักเจ้า พวกสลิ่ม พวกอวยหรือสนับสนุนรัฐประหารอะไรก็แล้วแต่ พวกเขาเหล่านี้ยังใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย ซึ่งมันเป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย หากคุณอยากใช้ชีวิตที่เจริญก้าวหน้าคุณต้องศิโรราบกับอำนาจที่เขาสร้างไว้ เวลาเรารับรู้ได้ถึงอะไรพวกนี้มันบั่นทอนชีวิตจริงๆ มองไปทางไหนก็เจอ เราอยากเห็นสังคมที่มีความเท่าเทียมมากกว่านี้

“8 ปี ของการรัฐประหาร แม้จะเริ่มตั้งแต่เรายังเด็กไร้เดียงสาไม่รู้เรื่องรู้ราวจนมาถึงช่วงเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เราได้เห็นความเหี้ยของการรัฐประหาร เราเลือกชีวิตในแบบที่อยากเป็นไม่ได้ ทุกคนรู้ว่ามันเหี้ย มันเหมือนเป็นเวลาที่นานนะ แต่พอมารู้ตัวอีกทีชีวิตเราก็ Fucked up อยู่ตรงนี้แล้ว

“ถ้าขอพรอะไรได้ 3 ข้อดังปรารถนาตอนนี้เลย อืม… อย่างแรกเอาพวกปริสิตออกไปก่อน ไอ้พวกที่มันสูบเลือดสูบเนื้อทั้งหมดแล้วมานั่งคุยกันว่าจะเอาอย่างไรต่อกับประเทศนี้ดี ข้อที่สองขอให้ชีวิตตัวเองสะดวกสบายขึ้นสักหน่อย จะได้มีแรงในการเผชิญและใช้ชีวิตในประเทศเหี้ยนี่มากขึ้น ช่วงนี้หมดแรงเราไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวแบบ Aggressive action มาสักพักแล้ว ทำงานเย็นๆ เชิงคอนเทนต์มากขึ้น หรือจัด Exhibition ส่วนหนึ่งเราอยากหาเลี้ยงตัวเองด้วย และสุดท้ายขอให้ประเทศนี้มีเสรีภาพเยอะๆ เมื่อมีเสรีภาพทุกสิ่งทุกอย่างจะเฟื่องฟูตามมาเอง

ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ หรือ ‘เท็น’ นักศึกษาชั้นปีที่ 6 สาขา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t โดนดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายหมายอาญามาตรา 112 , พ.ร.บ.ธงชาติ จากการแสดงผลงานศิลปะคล้ายธงชาติแต่ไม่มีสีน้ำเงิน และมีข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าสื่อถึงการละเมิด ม.112 เช่น “FUCK 112 IF YOU USE 112 FUCK YOU TOO” “สุนัขทรงเลี้ยงออกไป” และ “พอทีภาษีกูเลี้ยงหอย” รวมถึงคดีบุกรุกเข้าไปอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นฯ ในคดีตัดโซ่ บุกรุกหอนิทรรศการศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ฯ มช.)

“ทำไมการเข้าถึงศิลปะในประเทศนี้ถึงเป็นเรื่องยากเย็น?”

ประภัสสร คอนเมือง ศิลปินจาก ‘ลานยิ้มการละคร’

“มีงานชิ้นหนึ่งที่มองว่าหากทำในสังคมนี้ก็ถือว่าแรงอยู่ เรายืนอยู่ตรงประตูท่าแพ ถอดเสื้อท่อนบนออกจนร่างเปลือย แล้วให้คนเข้ามาแปะแผ่นทองบนตัว ตอนนั้นเราเห็นมิติหลายอย่างมาก คนดูหลายคนช็อก ไม่คิดว่าเราจะกล้าทำสิ่งนี้ ซึ่งพอเราถอดเสื้อ สังคมจะเกิดการจัดการขึ้นโดยอัตโนมัติ ผู้ชายเดินเบี่ยงมาแปะข้างหลัง ผู้หญิงถูกดันไปข้างหน้า ป้าคนหนึ่งบอกว่า ‘เดี๋ยวป้าแปะหัวนมให้นะลูก’

“คนดูคนหนึ่งพยายามพูดตลอดเวลา ตะโกนบอกทุกคนว่า ‘นี่คืองานศิลปะนะคะ งานศิลปะค่ะ งานศิลป์นะ ไม่ใช่งานโป๊’ เหมือนกำลังบอกคนอื่นและตัวเองเธอด้วย เราคิดไปเองว่าสิ่งที่เราทำคงสั่นสะเทือนเข้าไปในใจ เธอถึงพยายามเคลมมันอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่เราทำคืออาร์ต เพราะถ้าไม่สั่นสะเทือนก็คงเดินมาบอกว่า ‘มึงทำอย่างนี้ทำไม โป๊ อุบาทว์’ คงตัดสินแล้วด่าเลย อันนี้เธอพยายามพูดว่าเป็นศิลปะ เหมือนโทรโข่งที่อัดเสียงไว้แล้วเปิดซ้ำๆ 

“มีคนดูอีกคนหนึ่งเป็นชายแก่ เขาถามเราว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังจะสื่ออะไร เราเลยถามกลับว่า ‘ดูแล้วรู้สึกอย่างไรคะ แล้วคิดว่าหนูพูดเรื่องอะไรอยู่’ แล้วเขาพูดว่ารู้สึกเหมือนมันเป็นอะไรที่อยู่สูง ที่ไม่ใช่ระดับเดียวกับเรา หรืองานที่เหมือนอยู่ในวัง เขารู้สึกอย่างนั้น

“คนที่เข้ามาแปะทองบนตัวเรา ก็จะมีมุมมองแบบหนึ่งเพราะเขาใกล้เรามาก ในขณะเดียวกัน มีคนดูอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เข้ามาแปะแล้วยืนดูอยู่ไกลๆ ก็มีความคิดอีกแบบหนึ่ง การแสดงเดียวแต่ส่งให้มิติความคิดของคนที่เราพบวันนั้นแตกต่างกันมาก มุมมองของคนดูหลากหลายทั้งจากระยะใกล้ ระยะไกล ผู้หญิง ผู้ชาย วัยรุ่น ผู้สูงอายุ แค่นี้ก็คิดไม่เหมือนกันแล้ว

“มิติพวกนี้แหละที่เราอยากทำให้ได้ งานศิลปะที่เข้าไปทำงานกับจิตใจคน เราไม่มีความสามารถในการปราศรัย เราไม่สามารถรวมคนกลุ่มใหญ่ได้ด้วยการพูด แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำเล็กๆ น้อยๆ อย่างน้อยมันไปดันใจบางคน ทำให้ผู้ชมตรงนั้นรู้สึกบางอย่างหรือตกตะกอนเบาๆ กลับบ้านไปด้วย 

“การแสดงของเราไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจ เรื่องนี้ต้องพูดตั้งแต่จุดเริ่มต้นของปัญหาการเสพอาร์ตในไทยที่ไม่มีคนดู ไม่ใช่ว่าไม่มีคนเสพขนาดนั้น แต่พวกเราไม่ได้ถูกปลูกฝังให้ดูงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก งานศิลปะที่มีในประเทศนี้มันค่อนข้างที่จะมีจำกัด ไม่ค่อยมีแบบทางเลือก ถ้ามีคุณก็ต้องมีเงินไปแกลเลอรี ต้องมีเวลาไปดูงานศิลป์

“แล้วทำอย่างไรคนถึงจะมีเงินและมีเวลา ในเมื่อต้องหาเช้ากินค่ำ ทำงานตั้งแต่แปดโมงครึ่งเลิกงานห้าโมงเย็น แค่นี้ก็หมดแรงแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปดูงานอาร์ต พอถึงเสาร์-อาทิตย์ ก็ซักผ้า เก็บบ้าน นอนพัก บางบริษัทหยุดแค่วันเดียว เมื่อไหร่ก็ตามที่สวัสดิการและสภาพสังคมของคนทำงาน หรือสวัสดิการของประชาชนในประเทศนี้ไม่ได้เพียงพอ ไม่ได้สนับสนุนหรือส่งเสริมให้อยู่อย่างสุขสบาย ที่จะทำให้ชีวิตนี้เราสามารถเลือกไปดูงานศิลปะได้ งานศิลปะจึงถูกถีบออกมาจากวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะศิลปะต้องใช้เงินเยอะ กลายเป็นว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีสิทธิได้เสพอาร์ต และเรื่องพวกนี้แม่งเป็นการเมืองหมดเลย

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าคนหาเช้ากินค่ำ คนทำงานแบบร้านค้าที่เปิดละครทิ้งไว้ หลายเรื่องไม่ต้องนั่งดูเลย แค่ทำโน่นทำนี่แล้วฟังว่าเกิดอะไรขึ้น อาจยืนผัดกะเพราอยู่แต่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นในละครทั้งหมด เพราะได้ยินเสียงดนตรีเร้าก็จะรู้แล้วว่าแม่งกำลังจะเกิดเรื่องแน่นอน ตัวร้ายจะตบนางเอกแล้ว หรือคนนี้จะโดนลักพาตัวแล้ว มันเสพง่ายขนาดนั้นเลยจริงๆ อาร์ตในละครหลังข่าวจะมีฟังก์ชันเอนเตอร์เทนเมนต์สูงมาก ส่วนงานอาร์ตประเภทอื่นที่จะทำให้คนดูงานศิลปะแล้วเกิด Critical Thinking เอาจริงๆ ชีวิตอย่างพวกเราไม่มีเวลาไป Critical หรอก

“ทีนี้พอไม่มีคนเสพ ไม่มีคนดู และคนทำล่ะ ทำให้ใคร ทำไปทำไม เพราะงานศิลปะในประเทศนี้ที่คนยังดูอยู่ เป็นศิลปะแบบที่คนทำคิดแล้วกลั่นกรองออกมาให้ย่อยง่าย ดูแล้วจบ ขณะเดียวกันใครจะมานั่งดูงานที่เราทำ ต้องมานั่งตีความ คิดเยอะ ทั้งที่งานแต่ละวันของทุกคนก็หนักจะแย่แล้ว งานพวกแบบซีรีส์วายบางเรื่อง งานละครหลังข่าว จึงได้รับความนิยมมาก 

“ศิลปะบางประเภทกลายเป็นเรื่องเข้าถึงยาก มีแค่ในเมืองหลวง หรือตามอำเภอเมืองที่เจริญขึ้นมาหน่อย ศิลปะในประเทศนี้สื่อถึงหลายอย่างทั้งชีวิต ความจน การทำงาน และการกระจุกอำนาจ ตอนที่เราเรียนยังมีรถไฟฟรีอยู่ เราต้องเก็บเงินที่พ่อแม่ให้รายสัปดาห์ นั่งรถไฟฟรีไปดูละครในกรุงเทพฯ แบบสัปดาห์เว้นสัปดาห์ คืนวันศุกร์เราจะต้องไปขึ้นรถไฟเพื่อที่จะไปให้ถึงเช้าวันเสาร์ที่กรุงเทพฯ ดูละครวันเสาร์ตอนเย็นประมาณ 2 รอบ 2 เรื่อง แล้วนั่งรถไฟกลับต่างจังหวัด

“ระหว่างเดินทางก็นอนบนรถไฟ แม่งโคตรเพลียเลย ตอนนั้นก็นึกว่ามันสนุก เหนื่อยแต่ก็สนุก พอมานึกย้อนหลังก็ถามตัวเองทุกครั้งว่าทำไมเราถึงต้องลำบาก การที่เด็กคนหนึ่งอยากดูงานศิลปะ มีทางเดียวคือต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพราะที่อื่นไม่มีให้ดู 

“พอเปลี่ยนจากคนดูมาเป็นคนทำละคร ก็ไม่มีเงินต้นทุน ทั้งสนุกและเครียดสนุก เพราะแม่งเป็นงานที่ได้เงินน้อยมากในประเทศเส็งเคร็งแห่งนี้ เราอยู่ได้ด้วยการทำอย่างอื่นไปด้วย ถอดเทปการประชุมเราก็ทำ งานที่จะได้เงินเยอะหน่อยคืองานสอนเต้น ปีนี้เรากำลังจะทำละครเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผู้หญิงในภาคอีสาน การถูกกดขี่ทางวัฒนธรรมในอีสาน แม่งอยากพูดฉิบหาย แต่ทำยากมากเพราะเราไม่มีเงินทุน คือการจะทำละครจำเป็นต้องมีเงิน ซึ่งเราไม่มีเงินต้น แล้วถ้ารอจากการขายบัตรอย่างเดียว เราจะกินอยู่อย่างไร ฉะนั้นเราจึงต้องทำงานอื่นเสริมไปด้วย มันก็การเมืองอีกแล้ว การเมืองไหมล่ะ 

“ถึงสิ่งที่ทำอยู่จะไม่ได้เงินมาพอเลี้ยงชีพ แต่เราก็ยังอยากทำ ยังคิดภาพตัวเองไปทำอย่างอื่นไม่ออก เคยลองคิดว่าเราไปขายของ ไปทำงานประจำ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เห็นภาพตัวเองชัดเจนขนาดนั้น อีกสองสามปีเราอาจจะเปลี่ยนก็ได้ เรายังรู้สึกเชื่อในสิ่งที่เราทำ แล้วเชื่อด้วยว่ามันขับเคลื่อนบางอย่าง อย่างน้อยวันนี้เราก็ทำให้คนเชียงใหม่เข้าใจว่างานแบบนี้มันมีอยู่บนโลกใบนี้ มันยังมีอยู่ในประเทศนี้ งานศิลปะแบบนี้ยังมีอยู่นะ”

“ถ้าขอพรอะไรก็ได้สามข้อตอนนี้เลย เราจะขอแบบไร้สาระไม่มีตรรกะ สามารถย้อนแย้งหลักการห่าเหวอะไรก็ได้เลยใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นข้อแรกเราอยากมีเงินเยอะๆ ให้มากพอที่จะช่วยซัปพอร์ตเพื่อนที่ทำงานศิลปะ ให้ชีวิตแม่งไม่รันทดเกินไป ไม่ต้องไปทำงานอย่างอื่นเพื่อเจียดชีวิตมาทำงานศิลปะ เรามีเพื่อนศิลปินหลากหลายแขนงมากที่อยากทำงาน แต่ไม่มีเงิน ถ้าเพื่อนอยากทำหนังเราก็อยากถามว่า ‘มึงเอาเท่าไหร่’ เพราะเรารู้ดีว่าเรื่องพวกนี้ต้องใช้เงิน พอมีเงินก็จะฟีลแบบ ‘ตรีนุชเป็นนักเขียนใช่ไหม อยากเขียนบทความสักคอลัมน์ไหม อยากได้เท่าไหร่ ทุนลงพื้นที่เท่าไหร่ บิลมาเลย’ แบบนี้แหละที่เราต้องการ 

“ข้อสองเราอยากให้การศึกษาในไทยดีกว่านี้ เหมือนที่เราไม่ต้องนั่งรถมาดูงานศิลปะที่กรุงเทพฯ ทั้งการศึกษาและโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษา โอกาสที่เด็กคนหนึ่งจะได้ทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองสนใจ มีทุกอย่างซัปพอร์ตเขาตั้งแต่เด็กในทุกพื้นที่

“ส่วนข้อสาม เราอยากได้คนบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เราไม่รู้ว่าที่ดีที่สุดคืออะไร แค่ต้องการคนที่ฟังก์ชันและคนที่ซัปพอร์ตประชาชนได้มากที่สุด แล้วสามารถรวมทุกคนไม่ได้เตะใครให้ไปอยู่ชายขอบ รวมทุกคนเข้ามาอยู่ในสังคมเดียวกันให้ได้”

ประภัสสร คอนเมือง หรือ ‘อาย ลานยิ้มการละคร’ ศิลปิน นักแสดงละครผู้หลงใหลการเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านการแสดง ศิลปะ และการเต้น ผู้เป็นส่วนหนึ่งของ ลานยิ้มการละครที่มักเรียกการทำงานของตัวเองว่าเป็น ‘แกงโฮะ’ เพราะไม่ได้พูดเพียงแค่การเมือง แต่ยังทำละครเด็ก ทำหุ่นมือ เล่าเรื่องความรัก พูดเรื่องความใคร่ อุมดมการณ์ และความหวัง

“ถ้าวันนั้นผมไม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง วันนี้ผมคงตายไปแล้ว” 

นาวินธิติ จารุประทัย นักศึกษา-นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

“ย้อนกลับไปก่อนการตัดสินใจเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง ตอนนั้นผมมีปัญหาด้าน Mental health จนต้องหยุดเรียนเพื่อหาคำตอบให้ชีวิต ปัญหามันลากยาวมาตั้งแต่การเป็นนักศึกษาคณะแพทย์ เคยเป็นนักวิจัยที่ได้รับทุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งตอนนั้นเรายึดเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นสรณะ จนกลายเป็นว่าเราดูถูกทุกศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นสังคม ปรัชญา แต่พอปัญหาหลายๆ อย่าง มันผุดขึ้นในช่วงโควิด-19 มันทำให้เห็นปัญหาหลายด้านมาก แต่เรากลับหาคำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ไม่ได้

“แต่กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่ให้คำตอบเราได้อย่างชัดเจน เช่นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ได้ฟังคำปราศรัยของ ทนายอานนท์ นำภา และได้รู้จัก ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ซึ่งเราเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังจากประสิทธิ์ ออกมาปราศรัยและถูกจับ จนต่อมาผมเข้าทำงานสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ถามว่ากลัวไหมเพราะยังไม่โดนดำเนินคดีมันก็กลัว เมื่อก่อนกลัว กลัวมากแต่ตอนนี้คิดว่าประเมินตัวเองได้ว่าแต่ละรอบมีความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยแค่ไหน แต่เวลาที่เราตัดสินใจทำอะไรมันแปลว่าผ่านการทบทวนเรียบร้อยแล้ว 

“แต่อีกสิ่งที่ต้องมาคุยกันคือมันคุ้มค่าหรือเปล่า หลายคนออกมาเคลื่อนไหวมักเจอปัญหาทางด้านสุขภาพจิต มีแรงกดดัน มีอะไรหลายอย่างที่ถาโถม คนส่วนใหญ่จึงค่อนข้างป่วยไข้จากการเข้าร่วมขบวน แต่ขณะเดียวกันเรากลับรู้สึกว่าการออกมาต่อสู้มันทำให้เรารู้สึกดีมากขึ้น หรือเพราะการเคลื่อนไหวทำให้เราเห็นปัญหาจริงๆ สามารถวิเคราะห์และตั้งคำถามได้ว่าโครงสร้างสังคมที่กดทับเราอยู่ตอนนี้ทำให้ป่วยหรือเปล่า?

“การที่เราเป็นนักศึกษาแพทย์มันทำให้รู้สึกว่าปัญหาเรื่องสุขภาพจิตมันถูกผลักให้เป็นปัญหาของปักเจก ปัญหาของนักจิตวิทยา ปัญหาของนักจิตแพทย์ คำถามคือเราต้องแก้หรือจัดการความรู้สึกตัวเองอย่างไร แต่กลับไม่มีการตั้งคำถามต่อนโยบายว่าทำอย่างไรให้สังคมไม่มีคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 

“จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมมีความคิดเข้ามาเรียนแพทย์เพื่อจะได้รวยๆ มีเกียรติยศไปโม้คนข้างบ้าน แต่เอาเข้าจริงๆ เราคิดว่าหนึ่งปีที่ดรอปเรียนไปจนถึงปัจจุบันที่เข้ามาอยู่ในขบวนการต่อสู้ มันทำให้ความหมายในชีวิตเปลี่ยนไปเลย เช่นความฝันไม่ได้อยู่แบบที่รัฐ หรือโรงเรียนปลูกฝังอีกต่อไป ความฝันเรามันไม่ใช่การดำรงอาชีพอะไรแล้ว แต่กลายเป็นความฝันที่อยากเห็นสังคมที่อยากเห็นเป็นจริง

“ก่อนหน้านี้เคยคิดจะลาออกจากคณะแพทย์ เพราะรู้สึกว่าเราแปลกแยกไม่เห็นหนทางอะไร แต่พอได้เจออาจารย์ เจอเพื่อนในขบวนการหลายคน พวกเขาพูดประมาณว่า เราจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญในวงการแพทย์นะ มันหายากเขาคาดหวังว่าการที่เราอยู่ในวงการสาธารณสุขโดยตรงมันทำให้มีความเชื่อว่าอนาคตจะสามารถใช้งานตรงนี้และทำงานเชิงนโยบายหรือว่าขยับเขยื้อนอะไรไปได้บ้าง

“ถ้าขอพรได้สามข้อ ข้อแรกเลย อยากจะขอให้ทุกคนมองคนเท่ากัน ข้อสองอยากให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ และข้อสุดท้ายอยากขอให้เราได้คำตอบกับตัวเองเสียทีว่าสังคมที่อยากเห็นเป็นสังคมแบบไหน

นาวินธิติ จารุประทัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในสมาชิกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมขับเคลื่อน คลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีความหวังอยากเห็นทุกคนเข้าถึงระบบสาธารณะสุขได้อย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียม

“เราไม่อยากหนี เพราะต่างประเทศไม่มีทั้งลาบ ไม่มีทั้งรัก”

สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวการเมือง

“ชีวิตในรั้วโรงเรียนและรั้วมหาวิทยาลัยว่าแปลกแล้ว พอออกมาเจอรัฐบาลไทยก็แปลกเข้าไปอีก ผมมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเก่งนะ หลายคนบอกว่ารัฐบาลนี้โง่ แต่ผมว่ามันก็แจ๋วอยู่

“อีกเรื่องหนึ่ง ผมว่าชนชั้นกลางเป็นพวกที่โลกแคบที่สุด อย่างพวกอีลีทอาจจะไม่โดนเลยหรือพอโดนก็โดนตรงๆ ส่วนคนข้างล่างก็จะโดนมาตลอดเสมอ จะตายวันตายพรุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่พวกที่อยู่กลางๆ มักเอาแต่ท่องว่า ‘กูไม่ยุ่งการเมือง ตอนนี้กูก็อยู่ได้ ไม่ได้เดือดร้อนมาก’ หรือ ‘ถึงแม้สังคมจะเหี้ยขึ้น แต่เราก็ยังพออยู่ได้’ ผมว่าชนชั้นกลางอดทนเก่งดี ทั้งในแง่การอดทนในรั้วโรงเรียน และอดทนในสังคมที่เรียกว่าประเทศไทย

“ตอนเป็นนักเรียนเราเห็นเรื่องโซตัสอยู่ตลอด เห็นพี่ ม.5 ว้ากเด็ก ม.1 ซึ่งผมขอใช้คำว่า ‘เห่อหมอย’ ได้ไหม อย่างเคสโรงเรียนสาธิตที่ผมเรียน มันอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะข้างๆ ก็เป็นวิศวกรรมศาสตร์กับศึกษาศาสตร์ สองคณะนี้โซตัสแน่น พวกเด็กมัธยมปลายก็ก็อปพวกพี่เหล่านี้มา เป็นพวกเบียวที่อยากทำตัวกร่าง อาจเรียกได้ว่าเป็นพวกโง่ในมหาวิทยาลัย กับพวกโง่ในโรงเรียนมัธยม ส่วนคนที่โดนก็อดทนเก่ง

“มองมุมหนึ่งมันอาจเป็นการจัดกิจกรรมให้คนมารวมกัน ให้ได้รู้จักกัน แต่ผมคิดว่ามนุษย์มีศักยภาพ มีกระบวนการคิดหากิจกรรมที่ประเทืองปัญญากว่าการให้คนที่โตกว่าแค่ไม่กี่ปี มาตะโกนตะคอกใส่คนที่เด็กกว่า 

“เราอาจจะมีวิธีรู้จักกันที่ดีกว่านี้ไหม พี่ที่ผมสนิทก็คือพี่ที่เล่นดนตรีด้วย ทำไมเราไม่เอาทรัพยากรที่มีมาปรับใช้ แต่ดันเลือกเอาไปลงกับการว๊าก พวกเราควรมีทางเลือกอื่น เช่น จัดกิจกรรมให้กับคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน เป็นชมรมหรืออะไรก็ว่าไป แล้วความชอบความสนใจของแต่ละคนมันก็จะคัดกรองสังคมกันเอง การมาทำอะไรร่วมกันที่มันผ่านความสนใจ สร้างสรรค์อะไรสักอย่างออกมาเป็นผลงาน อันนี้ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้คนมากมายได้รู้จักกัน น่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกว่าตัวเลขท้ายรหัสที่เหมือนกันในแต่ละรุ่น หรือแม้กระทั่งการว๊าก

“พูดเรื่องนอกรั้วโรงเรียนกันบ้าง ย้อนกลับไปรัฐประหาร 2557 ยังจำเพลงที่ร้องว่า ‘สู้เข้าไปอย่าได้ถอย’ ได้แม่น ผมไม่คุยเรื่องนี้กับพ่อแม่เลยเพราะคุยไม่รู้เรื่อง ตอนแรกมันก็ไม่ได้มีอะไร เราอยู่ในครอบครัวชนชั้นกลางที่คิดอย่างไรก็ไม่อดตาย แต่สิ่งที่เห็นค่อนข้างชัดเริ่มเกิดขึ้นหลังสมัยยิ่งลักษณ์เป็นต้นมา บ้านผมที่อยู่ต่างจังหวัด พ่อผมเป็นเจ๊กเปิดร้านขายของ ช่วงหลังลูกค้าลดฮวบเลย ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่มองจากครอบครัวผมค่อนข้างชัด แต่พ่อก็ยังชอบอยู่ พ่อคิดว่าบ้านเรายังอยู่ได้ ก็เอาที่สบายใจ

“พอโตขึ้นเราก็รู้ว่าสิ่งนี้มันไม่ใช่แค่เรา ไม่ใช่แค่ว่าเราอยู่ได้แล้วคนอื่นเขาจะอยู่ได้เหมือนเรา อันนี้พูดแค่ในเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องเสรีภาพสื่อก็รู้ๆ กันอยู่ว่าไม่มีอยู่แล้ว พูดแล้วจะโดนอะไร อย่างน้อยถ้าหลังจากนี้มันเป็นพรรคส้มๆ แดงๆ ก็คงพอโอเคมั้ง แต่อย่างไรมันก็ยังมีเรื่องที่คาราคาซังอยู่ มีเรื่องสถาบันฯ ที่ต้องพูดกันต่อ แล้วประชาชนก็ยังคงจำเป็นต้องกดดันพรรคการเมืองหนักต่อไป แต่เราคาดหวังว่าหลายอย่างจะดีขึ้นจากการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

“ถ้าขอพรได้ 3 ข้อ ผมจะขอ ‘รัก’ ขอความรักจากปัจเจกชน ดูเป็นเรื่องส่วนตัวไหม ส่วนข้อสองขอ ‘เริ่มใหม่หมด’ ล้มทุกอย่างแล้วมาเริ่มกันใหม่ จะเวิร์คไม่เวิร์คไม่รู้ แต่ขอพังทุกอย่างให้ล้ม จริงๆ แค่โละกระดานได้ก็พอใจมากแล้ว แต่ข้อสุดท้าย โละเสร็จแล้วมันก็จะวุ่นวาย เลยอยากขอพรให้เห็นการสร้างใหม่ที่ทุกคนออกแบบร่วมกัน ที่มันดีกว่านี้ ดีกว่าหรือเปล่าไม่รู้แต่ขอลองสักครั้ง

“ที่ขอแบบภาพรวมเพราะเราไม่อยากหนี ถ้าไปอยู่ต่างประเทศก็ไม่มีลาบให้กิน เราพอใจกับชีวิตที่อยู่ทุกวันนี้ เราไม่อยากหนีไปไหน ถ้าไปก็แค่ไปเที่ยว ไปเรียน เราอยู่เชียงใหม่ เรามีคนที่เรารัก มีคนที่เราแคร์ และไม่ใช่ทุกคนที่จะหนีไปกับเราได้ เราก็เลยอยากอยู่ อยากทำให้มันดีขึ้นมากกว่า”

สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล หรือ ‘เจ๋ง’ นักศึกษาปี 1 คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยรวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่อต่อต้านการโซตัสในรั้วโรงเรียนและรั้วมหาวิทยาลัย และร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองในเชียงใหม่ ด้วยหวังว่าจะเห็นความยุติธรรมทางการเมือง และมีส่วนผลักดันให้ผู้มีอำนาจจัดการปัญหาโครงสร้างทางสังคมให้ดีขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย

“ต้องถามว่าพวกคุณจะสร้างชาติขึ้นมาแบบไหน ใครไม่เห็นด้วยเอาไปฆ่า ใครเห็นต่างจับเข้าคุกเพื่อให้ชาติมั่นคง พวกคุณต้องการสร้างชาติแบบนี้หรือ?” 

ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ นักศึกษา-นักเคลื่อนไหวทางการเมือง 

“เคยได้ยินประโยคนี้ไหม แรงงานคือผู้สร้างชาติ ไม่ใช่มหาราชองค์ใด ถ้าพูดถึงแรงงานเราทุกคนคือแรงงาน สลิ่มก็คือแรงงานคือคนสร้างชาติ แต่ชาติของสลิ่มกับของเราอาจไม่ใช่ชาติเดียวกัน ทีนี้ต้องถามต่อว่าพวกคุณจะสร้างชาติขึ้นมาแบบไหน ใครไม่เห็นด้วยเอาไปฆ่า ใครเห็นต่างจับเข้าคุกเพื่อให้ชาติมั่นคง พวกคุณต้องการสร้างชาติแบบนี้หรือ แล้วประชาธิปไตยของพวกคุณคืออะไร

“ถ้าคุณตอบกลับมาว่า พวกที่ชุมนุมก็ใช้ความรุนแรงเหมือนกัน แต่ถามก่อนว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธเหมือนกับรัฐมีไหม? ความพร้อมด้านอาวุธเหล่านี้ของรัฐมีไว้สำหรับจัดการกับประชาชนงั้นหรือ หรือคุณอยากสร้างชาติด้วยความหวาดกลัว?

“ไม่เคยถามตัวเองเลยว่าทำไมต้องเป็นเราที่ต้องออกไปทำอะไรแบบนี้ ออกมาเคลื่อนไหว แสดง Performance Art ไปกินนอนกางเต็นท์ แต่เราจะคิดเสมอว่าถ้าไม่ใช่กูแล้วมันจะเป็นใครวะ ไม่ได้บอกว่าต้องแม่งเป็นกูเท่านั้น แต่หมายถึงเราจะคาดหวังกับคนอื่นไปทำไม ถ้ายังคาดหวังกับตัวเองไม่ได้ มันทนสภาพรับความด็อกด๋อยของตัวเองไม่ไหว มันเลยต้องออกไป

 “งาน Performance Art เมื่อวันที่ 6-4 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาเป็นการใช้ชีวิตกินนอนบนพื้นที่สาธารณะ บริเวณลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา 24 ชั่วโมงนาน 8 วัน ในพื้นที่การแสดงจะมีเก้าอี้ว่าง 1 ตัว วางอยู่ตรงนั้น โดยไม่บังคับให้คนต้องมานั่งแลกเปลี่ยนบทสนทนา มันตั้งอยู่ตรงนั้นแต่หากใครไม่นั่งบนเก้าอี้ บทสนทนาระหว่างเราจะไม่เกิดขึ้น 

“ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร หรือจะมีสเปกตรัมทางการเมืองแบบไหน หากไม่นั่งบนเก้าอี้ตัวนั้นเราจะไม่ตอบเด็ดขาด เพราะการที่คุณแปรเปลี่ยนบริบทจากคนมายืนดูไอ้โง่คนหนึ่งนั่งตากแดด สู่การนั่งคุยกันมันกลายเป็นว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง

“มีบทสนทนาหนึ่งเราชอบมากเขาเป็นพวกนิยมเจ้า เขามานั่งเก้าอี้ มาแลกเปลี่ยนพูดคุยหักล้างด้วยเหตุและผล ผมจำรายละเอียดไม่ค่อยได้ ที่จำได้คือเขาพูดประมาณว่า ประธานาธิบดีมันไม่เหมือนกษัตริย์นะ ไม่มีบารมี เราตอบกลับไปว่า เราสามารถเปลี่ยนบารมีได้ไหม? ให้บารมีมาจากการเลือกของคนทั้งหมด ของประชาชน มันเลยเป็นการแลกเปลี่ยนบทสนทนาที่สนุกมาก

“เรามีความคาดหวังกับสังคมนะ มันเป็นไปไม่ได้ที่ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแล้วไม่คาดหวังห่าเหวอะไรกับสังคม หลายครั้งเรารู้สึกว่าการที่ออกไปทำอะไรบางอย่างมันคุ้มค่า บางทีเราก็ต้องลดความต้องการของตัวเราลงเพื่อให้แนวร่วมมันไปได้ เช่นตอนแรกที่ทำ Performance Art จุดไฟเป็นช่วงที่คนพูดถึงการปฏิรูป แต่จริงๆ เราไม่ต้องการปฏิรูปอยู่แล้ว เราต้องการปฏิวัติ 

“มันจะมีจุดหนึ่ง พอชีวิตเรามีเงื่อนไขมันก็จะตั้งคำถามพื้นฐานกับตัวเองว่าจะทำต่อไหม เนื่องจากมันกระทบชีวิตทั่วไปของเราจริงๆ ชีวิตสำมะเลเทเมา เวลาโดนคดีก็ต้องไปๆ มาๆ โรงพักขึ้นโรงขึ้นศาล 

“แน่นอนเรากลัวแหละ ความรู้สึกอื่นมันมี แต่ก็รับสภาพเพราะมันเกิดจากการตัดสินใจของเรา เงื่อนไขเหล่านี้มันเข้ามาตั้งแต่เราเดินออกไปทำอะไรพวกนี้แล้ว

“โดนคดีแรกๆ ที่บ้านก็ค่อนข้างกังวล ตอนที่ข่าวนำเสนอว่าเราโดนคดี ม.112 ก็ตัดสินใจโทรไปบอกแม่ แม่ก็ตอบมาว่าอ้าวโดนแล้วหรอ (หัวเราะ) เหมือนเขาคงทำใจไว้ก่อนหน้านี่แล้ว เพราะช่วงที่เราเริ่มเคลื่อนไหวครั้งแรก แม่ก็โทรมาบอกว่า ด่ารัฐบาลได้ไม่เป็นอะไรหรอก แต่อย่าไปยุ่งกับเขาเลย เราก็ถามว่าเขาไหน โอ้ยก็คนธรรมดากันหมดจะไปด่าฟ้าด่าดินได้อย่างไร ก็แซวๆ แม่ไป

“ถ้าให้ขอพร ตอนนี้ได้เลย 3 ข้อ ก็คงตอบว่า หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน เพราะเราไม่ถูกอนุญาติให้ฝันในประเทศแห่งนี้

ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ ‘รามิล ’ นักศึกษาภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t  ถูกแจ้งความข้อหา ม.116 พรก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อจากการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน, ถูกแจ้งความ ม.112 จากการนำกระดาษทิชชู่สกรีนลายหมายเรียกมาตรา 112 ไปติดตามจุดต่างๆ ทั่วจังหวัดเชียงใหม่, ถูกแจ้งข้อหา ม.112  จากการแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติแต่งานศิลปะไม่มีสีน้ำเงิน และมีข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าสื่อถึงการละเมิด ม.112 เช่น FUCK 112 IF YOU USE 112 FUCK YOU TOO, สุนัขทรงเลี้ยงออกไป และพอทีภาษีกูเลี้ยงหอย , ถูกแจ้ง 5 ข้อหา เนื่องจากร่วมจัดคาร์ม็อบนราธิวาส , ถูกแจ้งข้อหาม.112 กรณีแสดง Performance Art บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อานนท์ เชิดชูตระกูลทองแจ้งความว่า เท้ารามิลชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10

“กองทัพจำเป็นต้องถูกปลูกฝังเรื่องมนุษยธรรม”

ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักเคลื่อนไหวผู้โดนคดี ม.112 และ ม.116 

“ตอนนี้เรามีคดีหลายคดีจากม็อบ มาตรา 112, มาตรา 116, พรก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.การชุมนุม ซึ่งตอนนี้เราก็ยังไม่แน่ใจว่าโดน มาตรา 116 มาจากอะไร คดีที่ติดตัวเรามันก็สร้างความเครียดให้ครอบครัวพอสมควร แต่ส่วนตัวผมเอง คิดมากเรื่องเรียนต่อมากกว่า ว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน 

“ผมรู้สึกรำคาญใจเพราะเราจะวางแผนชีวิตระยะยาวไม่ได้เท่าไหร่ ตอนที่โดนคดีแล้วต้องรายงานตัวบ่อยๆ ช่วงเรียนอยู่ปีสองปีสามก็ต้องไปรายงานตัว ตอนนั้นเราเรียนออนไลน์อยู่ หลายครั้งก็เรียนไม่รู้เรื่องเพราะต้องปั๊มเอกสาร ปั๊มลายนิ้วมือแล้วก็เรียนไปด้วย แต่ช่วงปีสามเทอมสองจนถึงปีสี่เทอมหนึ่ง มหาวิทยาลัยเริ่มให้กลับมาเรียนในห้อง อันนี้เห็นเลยว่ากระทบหนัก เพราะเราไปเรียนที่ห้องไม่ได้ หลายๆ ครั้งต้องขาดเรียน 

“ตอนแรกไม่คิดอะไรมาก คิดว่าไม่กระทบมาก แต่พอใกล้เรียนจบผมคิดเรื่องเรียนต่อ สมมติเราอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็ไปไม่ได้แล้ว หรือในระหว่างที่เราเรียนจบแล้วคดีตัดสินให้จำคุกเราจะทำอย่างไร จะไม่ได้เรียนต่อแล้วใช่ไหม หรือถ้าได้เรียนแล้วระหว่างเรียนปริญญาโท เราจะถูกดำเนินคดีหรือตัดสินคดีไหม เราคิดทุกอย่างเลย นั่นคือสิ่งที่กระทบพอสมควรกับการวางแผนชีวิตในระยะยาว

“พูดตรงๆ เลยว่าไม่คุ้ม ทุกวันนี้ผมยังพยายามขวนขวายอยากจะเรียนให้จบ และไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร เราต้องทำด้วยตัวเอง มิหนำซ้ำยังหนักขึ้นด้วยเพราะต้องเรียนไปควบคู่กับการไปรายงานตัว มันไม่มีคำว่าคุ้มแน่นอน แต่ประเด็นคือในสังคมนี้ ขณะที่เรากำลังล่มจมกันไปทั้งประเทศ เราไม่คิดจะขัดขืนหน่อยเหรอ มันคือพันธะของคนที่อยู่ในสังคม คุณจะยอมให้สังคมมันพังจนสุดท้ายแล้วคุณจะเอาแต่ตัวคุณสบาย แล้วไม่คิดถึงคนอื่นในสังคมเลยเหรอ 

“ดังนั้นถ้าย้อนกลับไป ผมคิดว่าแนวทางการต่อสู้ของผมจะยังคงพูดเรื่องหลักการเต็มที่อยู่เหมือนเดิม เพราะเราไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้อยู่คนเดียวขนาดนั้น คนที่คิดถึงมนุษยธรรมและหลักการไม่โดดเดี่ยวหรอก เพราะหลักการมันเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน ผมได้รู้จักและได้รับโอกาสในการได้เจอคนอื่นที่มีอุดมการณ์ต่างๆ ที่ถึงแม้จะไม่ได้ตรงกันเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยก็มีหลักการคล้ายกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราได้เจอประสบการณ์ใหม่ นี่เป็นอีกอย่างที่เป็นข้อดี ทำให้เราได้เรียนรู้ 

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมและอีกหลายคนไม่ใช่แค่เพราะรัฐบาล แต่เป็นในระดับโครงสร้าง เพราะไอเดียและระบบการปกครองต่างๆ ตอนนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก การที่ประเทศไทยเกิดรัฐประหารซ้ำหลายรอบจนถึงครั้งล่าสุด เป็นตัวชี้วัดอย่างดีว่าความจริงเราต้องเพิ่มความตระหนักรู้ในเรื่องหลักการสิทธิ หลักมนุษยธรรมมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนที่ควรโดนถูกปลูกฝังเรื่องนี้มากที่สุดคือกองทัพที่ทำรัฐประหารบ่อย อาจจะไม่ใช่ทุกคนในกองทัพ แต่คนที่ทำรัฐประหารต้องมีมนุษยธรรม เพราะการทำรัฐประหารแต่ละทีมันส่งผลกระทบ ปัจจุบันมีการแจ้งคดีมาตรา 112 เยอะขึ้น มันทำลายชีวิตและโอกาสของคนไปเยอะมากๆ 

“ถ้ามองในตัวระบบการปกครอง จะเห็นได้ชัดเจนว่าที่ไทยจะมีการเน้นและบังคับใช้กฎหมายนี้หนักมาก ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยไม่ดูบริบท ไม่สามารถเข้าใจบริบทของประชาชนได้ว่าเราประท้วงไปเพื่ออะไร มีแต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว ถ้าว่าตามกฎหมาย ในความเห็นผมมันก็ตรง ตีความยังไงก็ได้ให้ตรง จับได้เลย แต่ประเด็นคือการทำแบบนี้มันแก้ปัญหาได้จริงไหม 

“ผมขออ้างอิงจากแนวคิดขงจื๊อสมัยก่อน ชนชั้นปกครองมีส่วนอย่างมากในการออกแบบสังคม สร้างธรรมเนียมต่างๆ ที่จะมาคอยขัดเกลาให้คนมีคุณภาพ ซึ่งถ้าใช้คำแบบฝ่ายขวาจะเรียกว่า ‘เป็นคนดีมากขึ้น’ แต่ประเด็นคือในระบบการปกครองและระบบสังคมแบบที่ขงจื๊อเสนอ มันไม่ได้เสนอให้ใช้กฎหมาย หรือต่อให้เป็นระบบที่ใช้กฎหมายแบบนิติรัฐ หรือระบบฟาเจีย (นิตินิยม) ของจีน ก็ไม่ได้เสนอให้ใช้กฎหมายบีบคนเห็นต่างอย่างเดียว แต่ใช้กฎหมายในการขัดเกลาคนมากกว่า แต่ในที่นี้ผมไม่เห็นเลย จุดมุ่งหมายหรือกฎหมายประกาศใช้ในปัจจุบันนี้จะขัดเกลาให้คนเป็นคนดีขึ้นได้อย่างไร มีแต่อะไรที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีแก่นหลักแก่นสารมากพอ ที่จะสื่อถึงเจตนาดีให้กับประชาชนได้รับรู้ 

“รัฐบาลตอนนี้อยู่มาแปดปี กำลังจะมีเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆ นี้ มันแก้ปัญหาอะไรได้จริงหรือเปล่า ตราบใดที่ยังมีการใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้าใจถึงคนในสังคม การที่ยังปกครองสังคมแบบนี้ต่อไป ผมว่ามันจะค่อยๆ พาประเทศไทยไปสู่วิกฤตการณ์ทางคุณธรรมและสังคมครั้งใหญ่ สุดท้ายแล้วจะเกิดการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าระบบการปลูกฝังทางวัฒนธรรมเรื่องคอร์รัปชันมันหายไปหมดแล้ว มันกลายเป็นความพยายามเอาตัวรอดครั้งใหญ่ ที่คนจะต้องคอร์รัปชัน ต้องแก่งแย่งกัน คนไม่ได้สนว่าชีวิตฉันจะต้องเป็นคนดีเพื่อสังคม แต่กลายเป็นว่า ฉันจะทำยังไงก็ได้ให้ฉันหลบเลี่ยงกฎหมายเพื่อเอาตัวรอด 

“ปัญหาเหล่านี้มันเกิดจากการที่รัฐไม่ได้สนใจปัญหาปากท้องจริงๆ ถ้าคนท้องอิ่มใครจะมาสนประเด็นนี้มากมาย ยิ่งรัฐบาลสร้างความไม่มั่นคงปลอดภัยในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งในปัจุบันนี้เราจะเห็นข่าวแปลกๆ เยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหลบเลี่ยงกฎหมาย ใช้เส้นสายในการทำให้ตัวเองหลุดจากคดี ผมขอใช้คำว่ามีคนบ้าในสังคมเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำอะไรแปลกๆ เพื่อให้ตัวเองมีคุณค่าเด่นดังขึ้นในสังคมนี้ 

“ส่วนการพูดถึงพรสามข้อก็น่าตื่นเต้นอยู่นะ ผมจะเรียงเป็นช่วงเวลา ข้อแรกขอเกี่ยวกับอดีตโดยจะขอให้ตัวเองซื้อคริปโต ตอนนี้คงมีทุนในการเรียนต่อง่ายขึ้น ไม่ต้องมาเครียด เราต้องทำให้ตัวเองมั่นคงด้วย แต่ต้องไม่ใช่จากบนผลประโยชน์ของคนอื่น ดังนั้นเลยถ้าย้อนเวลากลับไปจะซื้อคริปโต 

“ข้อสอง ขอให้คดีทางการเมืองถูกรีเซตใหม่ทั้งหมด เปิดทางให้สังคมสามารถพัฒนาระบบสังคมไปได้พร้อมกัน ผมคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้แบ่งฝ่ายชัดเจนว่าใครเป็นฝั่งดี ใครเป็นฝั่งเลว จากมุมมองทั้งสองฝั่ง มันทำให้เราลืมมองความเป็นแนวคิดของแต่ละกลุ่มที่มันมีข้อเสนอต่างกัน ตามหลักประชาธิปไตยที่ทุกคนสามารถมีข้อเสนอที่แตกต่างกันได้ ผมเลยอยากให้สังคมมีกลไกที่สามารถทำให้คนรู้สึกว่าทุกคนมีส่วนร่วมได้ 

“ผมไม่เชื่อว่าการที่ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเดียวขึ้นมาคุมทุกอย่างมันจะสำเร็จ ต้องมีพื้นที่ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เขายังต้องการสถาบันฯ หรือฝ่ายเอาทหาร ควรจะเปิดให้มีการเรียนรู้ร่พัฒนาร่วมกัน เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีการตรวจสอบกันเอง เราจะเอาแต่คิดว่าสิ่งที่เราเชื่อเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ได้จากการทำกิจกรรมแล้วตอนหลังมาค่อยๆ ผ่อนลงบ้าง คือเรารู้สึกว่าพอกลับมาย้อนดูตัวเอง เราก็มีหลายสิ่งที่ต้องแก้ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ขอรีเซตคดี เซตซีโร่ทางการเมือง เริ่มกันใหม่ที่ดีกว่าเดิมดีกว่า ซึ่งทางฝั่งรัฐบาลตอนนี้ก็เห็นว่าการปราบม็อบส่งผลต่อเศรษฐกิจมากแค่ไหน เสถียรภาพของรัฐบาลก็แย่กว่าเดิม เขาน่าจะเรียนรู้ได้ เพราะเขาก็ได้รับผลกระทบ 

“ส่วนข้อที่สามเก็บไว้ยามฉุกเฉิน เผื่อในอนาคตที่เราต้องใช้”

ธนาธร วิทยเบญจางค์ หรือ ‘ฮ่องเต้’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มักออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการขึ้นปราศรัย วิพากษ์วิจารณ์การเมืองการปกครองไทยในยุคเผด็จการ ปัจจุบันมีคดีติดตัวหลายข้อหาทั้ง มาตรา 112 มาตรา 116 การฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.การชุมนุม

“8 ปีของรัฐประหารเราเห็นความฝันตัวเองกำลังพังทลาย มันเป็นการทำลายความฝันของเด็กคนหนึ่ง”

อนันตญา ชาญเลิศไพศาล กลุ่ม Dude Movie 

“8 ปีของรัฐประหารเราเห็นความฝันตัวเองกำลังพังทลาย เราถูกทำให้เชื่อในระบบ ถูกทำให้เชื่อว่าความฝันเราเป็นจริงได้ ตั้งแต่เริ่มเรียนศิลปะ ทุกคนพยายามให้เราประกวดทำงานศิลปะหรือทำอะไรก็ตามที่ได้รางวัล พอเรียนจบคุณจะได้ทำงานในแวดวงศิลปะที่ระบบดีมาก แต่ความเป็นจริงคือ แม่งถูกสร้าง ถูกหล่อมหลอม 8 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นการทำลายความฝันของเด็กคนหนึ่ง

“ถามว่าเราอยู่ส่วนไหนของขบวน คงเป็นฝ่ายหนุนอยู่ข้างหลัง เราคิดว่าการที่คอยดันหลังซึ่งกันและกันมันสำคัญเหมือนกัน ตอนเราเริ่มเคลื่อนไหวทำงานศิลปะใน มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) มีรุ่นพี่ที่รู้จักกันในวงการมากระซิบว่า ระวังนะ ระวังโดน ม. 112 ตอนนั้นก็คิดว่าขนาดคนกันเองยังบอกเราแบบนี้ มันเลยยิ่งทำให้รู้สึกกลัวมากขึ้น

“แต่ยิ่งกลัวเรายิ่งต้องทำต่อ เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือทำให้เรากลัว ความกลัวมันเท่ากับเราตกเป็นเหยื่อ ดังนั้นจึงเดินหน้าทำงานต่อ เพราะคิดว่าเมื่อระบบโครงสร้างต่างๆ มันพังไปแล้ว เราต้องมีส่วนสร้างสังคม ชุมชน โลกที่อยากเห็นขึ้นมา เริ่มจากโมเดลเล็กๆ คุณฝันแบบไหน คุณก็ลองทำมันอาจดูเหมือนอุดมคติ แต่อย่างน้อยมันช่วยเปิดประตูประเทศที่มันปิดตายได้

“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็ยังจะเคลื่อนไหวสนับสนุน ถ้าสิ่งที่เราทำแลกมากับอนาคตและระบบที่ดีขึ้น เราว่ามันคุ้มค่า ตอนนี้ทำกลุ่มฉายหนังกับเพื่อนชื่อว่า Dude Movie เราพยายามสร้างบทสนทนาให้คนกับเมือง หรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว จุดเริ่มต้นโปรเจ็กต์นี้มาจากการที่เราเรียนจบด้านศิลปะ และ Lost กับระบบมาก เลยมานั่งคิดกันว่าอะไรที่สามารถพูดถึงปัญหาได้ทุกแง่มุมไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ การเมือง หรือปัญหาชีวิต เราเลยสร้างกลุ่มฉายหนังนี้ขึ้นมาเพื่อนำบทสนทนาในภาพยนตร์มาพูดคุยต่อยอด ซึ่งมันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งการฉายหนัง Performance Art และกิจกรรมทอล์ค 

“เรามองว่าโลกของภาพยนตร์เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง คนส่วนใหญ่เข้าใจเป็นแค่สิ่งบันเทิง ซึ่งหนังมันสะท้อนอีกหลายด้านที่เรามองไม่เห็น คนดูแต่ละคนจะมีมุมมองหรือความรู้สึกต่อหนังที่แตกต่างกันออกไป 

“2 ปี ที่เราเริ่มเคลื่อนไหว แม้จะทำในส่วนเบื้องหลังแต่มันกระทบเราเยอะมาก เนื่องจากไม่เอาระบบที่มันไม่เป็นธรรม ไม่เอาการทำงานที่กดขี่ค่าแรง ซึ่งเชียงใหม่ค่อนข้างกดขี่ค่าแรงเป็นอย่างมาก ทำให้เพื่อนที่ทำงานด้านศิลปะส่วนใหญ่ต้องย้ายไปทำงานที่กรุงเทพฯ แต่เราเลือกจะอยู่เชียงใหม่เพราะเมืองมันน่าอยู่ ปัญหาคือเพื่อนเราหลายคนไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ และไม่พยายามหาคำตอบแต่กลับค่อยๆ ถอยตัวออกห่าง จึงทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นเอเลี่ยน มันคอยถามตัวเองอยู่ตลอดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และงานที่ทำตอนนี้ก็ไม่ได้เงินอะไร 

“วันหนึ่งเราโทรหาเพื่อนที่เคลื่อนไหวเหมือนกัน พูดว่าช่วงนี้รู้สึกเหมือนกันหรือเปล่ามันโดดเดี่ยวมาก เพื่อนตอบมาว่าเป็นเหมือนกัน ตื่นมาทุกๆ วันจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งครอบครัวหรือคนอื่นก็มองอยู่ว่าเราจะเติบโตในทิศทางไหน มันเลยรู้สึกว่าโคตรลำบากเลย หากเอาตัวเองกลับไปอยู่ใต้ระบบมันก็เหมือนเราต้องใช้ชีวิตในกรง แม้มันจะมองไม่เห็นแต่มันก็เป็นอะไรบางอย่างที่กักขังเราอยู่ เราเลยเลือกที่จะไม่ใช้ชีวิตตรงนั้น

“ถ้าขอพรได้ 3 ข้อตอนนี้ ข้อแรกไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่อยากให้คนที่ออกมาต่อสู้ถูกมองแปลกแยกหรือแตกต่าง ข้อที่สองไม่อยากให้สังคมสิ้นหวัง ไม่ว่าจะเป็นคนในรุ่นไหนก็ตาม และข้อที่สามเราอยากมีโอกาสอยากมีพื้นที่ให้คนที่ต้องการทำงานศิลปะ

อนันตญา ชาญเลิศไพศาล หรือ ‘ไอซ์’ เด็กศิลปะที่ขับเคลื่อนประเด็นสังคม และสร้างบทสนทนาระหว่างเมืองกับผู้คน ผ่านงานศิลปะและกลุ่มฉายหนังชื่อ Dude, Movie นอกจากนี้ยังร่วมรณรงค์ขับเคลื่อนเรียกร้องพื้นที่สาธารณะให้คนรุ่นใหม่ ผ่านกลุ่ม SYNC SPACE 

Tags: , , , , , , , , ,