ที่ผ่านมา เรากล่าวถึงงานศิลปะแปลกๆ แหวกขนบด้วยการหยิบฉวยเอาวัตถุสิ่งของที่ปกติไม่ใคร่มีใครหยิบเอามาทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวัน วัสดุสำเร็จรูปจากกระบวนการอุตสาหกรรม ข้าวของเก็บตกเหลือใช้ และสิ่งของต่ำต้อยด้อยค่า ไร้ราคาอย่างขยะ เศษดิน เศษหิน ต้นไม้ใบหญ้า ไปจนถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้อย่างความคิด หรือแม้แต่ร่างกายของศิลปินเองมาทำเป็นงานศิลปะ

แต่มีงานศิลปะอีกประเภทหนึ่งที่ไปไกลยิ่งกว่านั้น ด้วยการหยิบเอาสิ่งของต้องห้ามที่คนส่วนใหญ่ชิงชังจนต้องเบือนหน้าหนีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปฏิกูล เลือด ซากศพ ความตาย ไปจนถึงเรื่องราวส่วนตัวที่คนทั่วไปปกปิดซ่อนเร้น อย่างประเด็นทางเพศอันโจ่งแจ้งล่อแหลม ความลามกอนาจารและความผิดเพี้ยนพิลึกพิลั่น มาทำเป็นงานศิลปะสุดอื้อฉาว

กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ถือได้ว่าเป็นผู้จุดประกายงานศิลปะประเภทนี้ให้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกนั้นมีชื่อว่า YBAs หรือ Young British Artists (กลุ่มศิลปินรุ่นเยาว์ชาวอังกฤษ) ที่เป็นชื่อของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะและกลุ่มศิลปินหน้าใหม่รุ่นเยาว์ของอังกฤษ ในช่วงปลายยุค 1980s ที่เกาะกลุ่มกันหลวมๆ เพื่อแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมกันในลอนดอน

ศิลปิน YBAs ประกอบไปด้วยศิลปินอย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst), เทรซี เอมิน (Tracey Emin), แกรี ฮิวม์ (Gary Hume), ไมเคิล แลนดี (Michael Landy), เจคและ ไดโนส์ แชปแมน (Jake & Dinos chapman), เกวิน เทิร์ก (Gavin Turk), เจนนี ซาวิลล์ (Jenny Saville), ซาราห์ ลูคัส (Sarah Lucas), เรเชล ไวท์รีด (Rachel Whiteread) และ มาร์ก ควินน์ (Marc Quinn) เป็นต้น คนกลุ่มนี้ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อความเคลื่อนไหวในวงการศิลปะร่วมสมัยของอังกฤษและของโลกในช่วงปลายทศวรรษ ’80s ถึงต้นทศวรรษ ’90s

YBAs: ศิลปะผสมผสานแบบโกลด์สมิธส์

ผลงานของศิลปินกลุ่ม YBAs มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นตรงความเปิดกว้าง และการทำงานผ่านกระบวนการและวัสดุอันแตกต่างหลากหลาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างการเรียนการสอนในสถาบันศิลปะโกลด์สมิธส์ (Goldsmiths College) ซึ่งศิลปินหลายคนในกลุ่ม YBAs เรียนศิลปะระดับปริญญาตรีที่นั่น ด้วยหลักสูตรซึ่งละทิ้งแนวทางเก่าๆ ที่แบ่งแยกการเรียนการสอนศิลปะต่างประเภทและสาขา อย่างจิตรกรรม ประติมากรรม วาดเส้น และถ่ายภาพ ออกจากกัน แต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกทดลองทำงานศิลปะแบบผสมผสานในสื่อหลากหลายประเภทและแนวทาง

นักศึกษาโกลด์สมิธส์ ได้รับอิทธิพลจากหัวหน้าหลักสูตรศิลปะ ไมเคิล เครก-มาร์ติน (Michael Craig-Martin) ศิลปินชาวไอริช-อังกฤษผู้อุทิศตนอย่างลึกซึ้งในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเสาะแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ให้กับนักศึกษาหนุ่มสาวของเขา ซึ่งมีส่วนสร้างเสริมความคิดอันก้าวล้ำน้ำสมัย และสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของศิลปินกลุ่มนี้ ซึ่งส่งผลให้เขาประสบความสำเร็จอย่างสูงในโลกศิลปะ

ปลุกโลกศิลปะในลอนดอนด้วยความห่าม

ผลงานของกลุ่ม YBAs มีความพ้องกันกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวทดลองและหัวก้าวหน้าแบบโพสต์โมเดิร์นในช่วงยุค 1980s และ 1990s ทั้งในยุโรปและอเมริกา กล่าวคือ ศิลปะเหล่านี้ต่างมีเอกลักษณ์ตรงการทำลายกำแพงระหว่างวัฒนธรรมชั้นต่ำและชั้นสูง ความมีรสนิยมและความไร้รสนิยม ความเป็นต้นฉบับและการหยิบฉวยลอกเลียนแบบ และการปฏิเสธสื่อและวัสดุทางศิลปะตามแบบแผน แต่มุ่งนำเสนอความน่าตื่นเต้นตระการตา

ในช่วงยุค 1980s แม้ลอนดอนจะเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมและการเงิน แต่วงการศิลปะวัฒนธรรมก็ยังล้าหลังห่างไกล ลอนดอนมีหอศิลป์ร่วมสมัยน้อย และหอศิลป์ที่แสดงงานแบบโพสต์โมเดิร์นก็ยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ เมื่อเทียบกับนิวยอร์กและเบอร์ลินซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกศิลปะ มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม และมีส่วนในการขับเคลื่อนกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบโพสต์โมเดิร์น ให้ขยายขอบเขตกว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นกระแสเคลื่อนไหวอย่าง เดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น ศิลปะกราฟฟิตี้ (Graffiti art) และกระแสศิลปะ นอย วีเดอร์ (Neue Wilde) หรือ นีโอ-เอ็กเพรสชั่นนิสม์ ของเยอรมนี ซึ่งวงการศิลปะร่วมสมัยของลอนดอนในยุคนั้นยังไม่อาจทาบชั้นได้

กลุ่มศิลปินรุ่นเยาว์ชาวอังกฤษซึ่งเป็นหนุ่มสาวที่อยู่ในช่วงอายุ 20 กลางๆ ในช่วงเวลานั้น ต่างก็มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสภาวะอันถดถอยทางศิลปวัฒนธรรมในอังกฤษยุคนั้นด้วยความท้าทาย พวกเขามองวิกฤตเหล่านั้นเป็นโอกาสในการเติบโต และเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จ ด้วยการสร้างผลงานศิลปะที่เต็มเปี่ยมความขบถ สดใหม่ เต็มไปด้วยพลังของหนุ่มสาว และจัดแสดงในพื้นที่นอกระบบ อย่างโกดังเก่าราคาถูกในเขตอุตสาหกรรมอันรกร้างของลอนดอน

ผลงานศิลปะสุดห่าม แปลก แหวกแนว กล้า ท้าทาย ได้สร้างความช็อกให้กับคนดู ด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์อันจะแจ้ง รุนแรง ไปจนถึงลามกอนาจาร เพื่อผลักดันศิลปะให้ทะลุกรอบกฎเกณฑ์และขีดจำกัด

และแทนที่พวกเขาจะเขียนข้อเขียนแถลงการณ์ประกาศแนวคิดทางศิลปะแบบศิลปินทั่วๆ ไป พวกเขากลับแสดงออกผ่านพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์อันสุดลิ่มทิ่มประตู อย่างการปาร์ตี้หนักหน่วง การเสียดสีสังคมด้วยความเพิกเฉยเย็นชา รวมถึงการสื่อสารความคิดอันแหวกแนวผ่านผลงานศิลปะอย่างตรงไปตรงมาไปจนถึงอุกอาจ อย่างที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อนในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะใดๆ

สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขามักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิจารณ์ศิลปะและสื่อต่างๆ บ้างก็กล่าวหาว่าเป็นพวกไร้ทักษะ ไร้ฝีมือ เป็นศิลปินจอมปลอมที่อยากดังจนน่าอดสู แต่เสียงวิจารณ์ในแง่ลบเหล่านั้น ก็กลับเป็นองค์ประกอบอันสำคัญที่ผลักดันให้ชื่อเสียงของพวกเขาขจรขจาย ผนวกกับทักษะในการบริหารจัดการเก่งฉกาจเกินวัย ทั้งในแง่การแสดงงาน การนำเสนอภาพลักษณ์ และเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงทำให้พวกเขามีชื่อเสียงโด่งดังในท้ายที่สุด

นิทรรศการ Freeze (1988) : หมุดหมายเร่ิมต้นของ YBAs

YBAs ประเดิมชื่อเสียงในวงการศิลปะด้วยสองนิทรรศการที่อื้อฉาวและชวนช็อกที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 อย่าง นิทรรศการ Freeze (1988) ที่จัดขึ้นโดยศิลปินผู้อื้อฉาวที่สุดในกลุ่มอย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ ในช่วงที่เขายังเป็นนักศึกษาปีที่ 2 ที่สถาบันโกลด์สมิธส์ นิทรรศการนี้เป็นเหมือนการประกาศจุดเริ่มต้นของกลุ่มในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการศิลปะของลอนดอน พวกเขาจัดงานแสดงในอาคารท่าเรือร้าง และเชิญเพื่อนร่วมชั้นในเวลานั้นอย่าง ซาราห์ ลูคัส, แมท คอลลิชอว์ (Mat Collishaw), แองกัส แฟร์เฮิร์สต์ (Angus Fairhurst), อันยา กัลลาชิโอ (Anya Gallaccio) และ ไมเคิล แลนดี มาร่วมแสดงงานด้วย ซึ่งตัวนิทรรศการประสบความสำเร็จอย่างย่ิงยวด จนทำให้ชื่อของพวกเขาถูกจับตาในโลกศิลปะนับแต่นั้น

แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความสำเร็จของคนกลุ่มนี้ไม่ได้มาจากความยอดเยี่ยมของผลงาน หากแต่เป็นเพราะการสนับสนุนของ ไมเคิล เครก-มาร์ติน อาจารย์ของพวกเขา ที่เชื้อเชิญบิ๊กเนมในวงการศิลปะโลกหลายคนให้มาชมนิทรรศการนี้ต่างหาก (ซึ่งตัวอาจารย์เป็นคนออกมาเคลมเครดิตเรื่องนี้เองนั่นแหละ!) บ้างก็ว่าชื่อเสียงของพวกเขาเป็นอะไรที่โอเวอร์เรต (overrated) และการสร้างความอื้อฉาวชวนช็อกของพวกเขาก็ไม่มีความเป็นต้นฉบับตั้งแต่แรก ถ้าเทียบกับผลงานของศิลปินหัวก้าวหน้าอย่าง วิโต แอคคอนซี หรือ คริส เบอร์เดน ในยุคก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี นิทรรศการนี้ดึงดูดความสนใจของนักสะสมงานศิลปะและนักโฆษณาผู้ทรงอิทธิพลอย่าง ชาร์ลส์ ซาทชี่ (Charles Saatchi) ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นสปอนเซอร์และผู้อุปถัมภ์หลักของกลุ่มในเวลาต่อมา

ที่สำคัญ การแสดงนิทรรศการศิลปะของศิลปิน YBAs ในครั้งนั้น ก็เป็นการปฏิวัติแนวทางเดิมๆ ของวิชาชีพศิลปินในอังกฤษ ที่โดยปกติจะเริ่มต้นจากการเป็นนักศึกษา จบมาเป็นศิลปินอาชีพ แล้วค่อยๆ สั่งสมชื่อเสียง มุ่งมั่นทำงานเป็นปีๆ ร่วมแสดงงานในนิทรรศการแสดงกลุ่มเล็กๆ ก่อนที่จะไต่เต้าไปแสดงงานในนิทรรศการเดี่ยวจนประสบความสำเร็จ และมีพิพิธภัณฑ์ชั้นนำซื้องานไปสะสมตามครรลอง ในทางกลับกัน ผลงานของศิลปิน YBAs กลับถูกนักสะสมชั้นนำซื้อไปในราคาสูงลิบลิ่ว ตั้งแต่ตอนที่พวกเขายังเรียนไม่จบเลยด้วยซ้ำไป จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคนในวงการศิลปะยุคนั้นจะหมั่นไส้พวกเขาเอามากๆ

นิทรรศการสุดฉาวในสถาบันอันทรงเกียรติ

ความโด่งดังของนิทรรศการแรกเปรียบเสมือนใบเบิกทางให้พวกเขาได้เข้าไปแสดงงานในสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติอย่าง รอยัล อะคาเดมี ออฟ อาตส์ (Royal Academy of Art) ในลอนดอน ในเวลาต่อมา โดยได้จัดแสดงนิทรรศการสุดอื้อฉาวอย่าง Sensation (1997) รวบรวมผลงานของศิลปิน YBAs จากคอลเล็คชั่นส่วนตัวที่ชาร์ลส์ ซาทชี่ สะสมเอาไว้

นิทรรศการ Sensation (1997) ภาพจาก en.wikipedia.org

นอกจากจะนำผลงานของศิลปินในกลุ่มโกลด์สมิธส์ อย่างเฮิร์สต์และลูคัส มาแสดงแล้ว ยังมีผลงานของศิลปินนอกสถาบันเข้ามาร่วมแสดงด้วย อาทิ ผลงาน Myra (1995) ของ มาร์คัส ฮาร์วีย์ (Marcus Harvey) ภาพวาดของ ไมรา ฮินด์ลีย์ (Myra Hindley) ฆาตกรต่อเนื่องหญิงผู้สังหารเด็กๆ ไปหลายราย วาดขึ้นจากรอยประทับมือจำนวนนับไม่ถ้วนของเด็กๆ ซึ่งช็อกความรู้สึกของผู้ชม

มาร์คัส ฮาร์วีย์: Myra (1995) ภาพจาก prezi.com

หรือผลงาน The Holy Virgin Mary (1996) ของศิลปินคาทอลิค คริส โอฟิลี (Chris Ofili) ภาพวาดพระแม่มารีผิวดำในสไตล์ศิลปะแอฟริกัน ประดับด้วยภาพคอลลาจของร่องโยนีและรูทวารของสตรี และขี้ช้างจริงๆ ผลงานอันสุดแสนจะท้าทายอย่างบ้าบิ่นชิ้นนี้ ก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวและการต่อต้านจากเหล่าบรรดาคริสตศาสนิกชนและองค์กรคริสตศาสนาทั่วโลกอย่างรุนแรง

คริส โอฟิลี: The Holy Virgin Mary (1996) ภาพจาก www.christies.com

ในนิทรรศการนี้ มีผลงานศิลปะหลากสื่อหลายแขนงที่ทดลองกับรูปแบบทางศิลปะ พวกเขาขยายขอบเขตของศิลปะคอนเซ็ปชวลด้วยผลงานศิลปะที่ทั้งชวนช็อก รบกวนจิตใจ แต่ก็ดึงดูดอย่างคาดไม่ถึง ผลงานเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการท้าทายนิยามเดิมๆ ของศิลปะอย่างรุนแรง

ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ เดเมียน เฮิร์สต์ สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มผู้มีบทบาทโดดเด่น เขาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แถมยังเป็นศิลปินที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลก งานของเขามักจะพูดถึงความตาย และใช้ซากศพจริงๆ ของสัตว์มาทำงาน

ผลงานที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดของเขาที่แสดงในนิทรรศการ Sensation ด้วยก็คือ The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living (1991) ที่นำซากศพของฉลามเสือขนาดยักษ์มาลอยคอแยกเขี้ยวอยู่ในแทงก์กระจกใสใส่ฟอร์มาร์ลีน จนเป็นที่ตื่นตะลึง อึ้ง ทึ่ง เสียวจากผู้ชมงานและเขย่าวงการศิลปะ ส่งให้เขากลายเป็นซุป’ตาร์ของวงการศิลปะอังกฤษและโด่งดังไปทั่วโลก

หรือผลงาน A Thousand Years (1990) ศิลปะจัดวางในรูปแบบของตู้กระจกใส ภายในบรรจุซากหัววัวที่ถูกตัดขาดวางจมกองเลือดนองบนพื้น ในตู้มีฝูงแมลงวันจํานวนนับไม่ถ้วนบินว่อน พวกมันไต่ตอมซาก วางไข่ ฟักตัวเป็นหนอนชอนไชหัววัวและเติบโตกลายเป็นแมลงวันรุ่นใหม่มาบินว่อนอยู่ในตู้กระจกแทนตัวเก่าที่ตายไปตามอายุขัย (ยกเว้นตัวที่ตายเพราะเครื่องดักแมลงที่แขวนอยู่ในตู้) เป็นวัฎจักรซ้ำแล้วซ้ำเล่าในตู้ใบนั้นไปจนจบนิทรรศการ

เดเมียน เฮิร์สต์: A Thousand Years (1990)

เดเมียน เฮิร์สต์: A Thousand Years (1990)

ผลงานอีกชิ้นคือ Some Comfort Gained from the Acceptance of the Inherent Lies in Everything (1996) ที่ประกอบด้วยตู้กระจกใส 12 ใบ แยกกันบรรจุชิ้นส่วนซากศพของวัวตัวหนึ่งที่ถูกหั่นขวางในแนวดิ่ง

เดเมียน เฮิร์สต์: Some Comfort Gained from the Acceptance of the Inherent Lies in Everything (1996) (ภาพ 5 – 8 โดย Prudence Cuming Associates © Damien Hirst and Science Ltd. All rights reserved, DACS 2012 จากเว็บไซต์ http://damienhirst.com)

หรือผลงานของ มาร์ค ควินน์ สมาชิกของกลุ่มอีกคนที่มีผลงานก่อแรงสั่นสะเทือน เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ (ทั้งในแง่ชื่นชมและสาปส่ง) อย่างกว้างขวางไม่แพ้สมาชิกคนอื่นๆ และมักจะแสดงออกถึงเรื่องเพศ ความหมกมุ่นในความวิปริตผิดปรกติขององคาพยพร่างกาย

ควินน์มักจะใช้วัสดุอันหลากหลาย ล่อแหลม และไร้การประนีประนอมในการสร้างงานศิลปะ อย่างการใช้เลือดของเขาเอง ในผลงานชื่อ Self (1991) อันสุดอื้อฉาว แสดงในนิทรรศการ Sensation

มาร์ค ควินน์: Self (1991) ภาพจาก marcquinn.com

‘Self’ คือประติมากรรมรูปหัวสีแดงสดของควินน์ที่ใช้เลือดของเขาเองหล่อขึ้นมา โดยใช้เวลาห้าเดือนค่อยๆ รีดเลือดออกมาทีละนิดทุกวัน เอามารวมกันจนมีปริมาณ 4.5 ลิตร นำมาหล่อในแบบพิมพ์ที่ถอดแบบจากศีรษะของเขา แล้วนำไปแช่ในตู้เย็นที่ทำขึ้นพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้มันละลาย งานศิลปะชิ้นนี้ของเขาจะถูกทำขึ้นใหม่ในทุกๆ ห้าปี (ทำบ่อยเดี๋ยวเลือดก็แห้งตายกันพอดี) ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปินชั้นครูในอดีตอย่าง เรมบรันด์ (Rembrandt) ที่เขียนภาพเหมือนของตัวเองในทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิต

เล่าเรื่องเพศผ่านศิลปะ

ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงาน Two Fried Eggs and A Kebab (1992) ของ ซาราห์ ลูคัส ศิลปินหญิงสุดแสบอีกคนของกลุ่ม ซึ่งได้นำเสนองานเป็นศิลปะจัดวางในรูปของโต๊ะไม้ มีไข่ดาวสองฟองกับเคบับหนึ่งอัน และรูปถ่ายของพวกมันวางอยู่บนโต๊ะ ไข่ดาวและเคบับซึ่งเป็นตัวแทนของอาหารบ้านๆ ดาษดื่นของอังกฤษ ถูกวางในตำแหน่งที่ดูเหมือนกับหน้าอกหน้าใจและอวัยวะเพศหญิง และใบหน้าที่แสดงอารมณ์ฉงนสนเท่ห์ ผลงานชิ้นนี้จงใจสร้างความตลกโปกฮารวมถึงนัยยะทางเพศอย่างโจ้งแจ้ง อ้อ ไข่ดาวกับเคบับเขาทำมาเปลี่ยนใหม่ทุกวันไปจนจบการแสดงน่ะนะ

ซาราห์ ลูคัส: Two Fried Eggs and a Kebab (1992). © Copyright Sarah Lucas, courtesy Sadie Coles HQ, London ภาพจาก www.artfund.org

ผลงานที่โดดเด่นอีกชิ้นของเธอคือ Au Naturel (1994) ที่เป็นฟูกนอนเก่าๆ วางพับพิงผนัง ประดับด้วยอาหารและของใช้ในครัวเรือนอย่าง ถังน้ำหนึ่งใบและผลเมลอนสองผล จัดวางในตำแหน่งที่ดูคล้ายกับหน้าอกและอวัยวะเพศหญิง เคียงข้างด้วย แตงกวาหนึ่งลูกและผลส้มสองผล ที่จัดวางในตำแหน่งที่ดูคล้ายกับอัณฑะและองคชาติชูชันของเพศชาย ดูคล้ายกับภาพของคู่รักที่เพิ่งเสร็จสมจากกิจกรรมเข้าจังหวะมานอนพักเคียงข้างกันอยู่

ซาราห์ ลูคัส: Au Naturel (1994) © Copyright Sarah Lucas, courtesy Sadie Coles HQ, London ภาพจาก www.ultravie.co.uk

หรือภาพวาดของ เจนนี ซาวิลล์ ที่เปิดเปลือยเนื้อหนังมังสาองคาพยพอันหลามล้นหยำเหยอะหยาบกระด้างของมนุษย์เพศหญิง (และชาย) อย่างจะแจ้งตรงไปตรงมา จนได้รับฉายาว่าเป็น ลูเซียน ฟรอยด์ แห่งยุคโพสต์โมเดิร์น

เจนนี ซาวิลล์: Strategy (South face/Front Face/North Face) (1993-94) ภาพจาก imageobjecttext.com

หรือผลงานของเจคและ ไดโนส์ แชปแมน ที่นำเสนอประเด็นอันล่อแหลมเรื่องเพศ ความลามกอนาจาร ความพิกลพิการวิปริตผิดเพี้ยนของร่างกายมนุษย์ ความเลวร้ายน่ารังเกียจของสงคราม ความตาย และการเสียดสีวัฒนธรรมบริโภคนิยมอเมริกันอันล้นเกิน ผ่านงานศิลปะอันสุดพิสดารไปจนถึงวิตถารจนคนดูต้องเบือนหน้าหนี

เจคและ ไดโนส์ แชปแมน: Zygotic acceleratin, Biogenetic de-sublimated libidinal model, (1995) ภาพจาก theredlist.com

หรือผลงานของ เทรซี เอมิน สมาชิกคนสำคัญอีกคนของกลุ่ม ผู้เคยถูกเรียกขานว่าเป็น “สาวแสบแห่งวงการศิลปะอังกฤษ” (Bad girl of British art) จากพฤติกรรมห้าวหาญ แสบซ่า ก๋ากั่นต่อหน้าสาธารณชน และผลงานศิลปะที่แสดงออกถึงตัวตนของเธอและความรู้สึกนึกคิดของเพศหญิงอย่างตรงไปตรงมาไปจนเลยเถิด จนเกินกว่าที่สังคมอนุรักษ์นิยมของอังกฤษจะทานทนรับไหว

เธอเป็นที่รู้จักจากจากการทำงานที่ตีแผ่ชีวิตและความสัมพันธ์ส่วนตัวของตนเองต่อสาธารณชนผ่านสื่อสมัยนิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลและความทรงจำอันเลวร้ายของตัวเธอเองอย่าง การถูกข่มขืน ความอับอายขายหน้าต่อหน้าสาธารณะ การถูกเอาเปรียบและกีดกันทางเพศ การทำแท้งเถื่อน การติดสุราเรื้อรัง และความสำส่อนทางเพศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะเป็นหัวข้อในการทำงานของเธออยู่เสมอ

ผลงานที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักของเธอก็คือ Everyone I Have Ever Slept With 1963–1995 (1995) ศิลปะจัดวางในรูปแบบของเต็นท์หลังหนึ่ง ที่เย็บปะเศษผ้าเป็นชื่อของคนที่เธอเคยนอนร่วมเตียงด้วยทุกคน (ทั้งชายหญิง) และเนื่องจากผลงานชิ้นนี้จัดแสดงในรอยัลอะคาเดมีออฟอาตส์อันทรงเกียรติ มันจึงช็อกผู้ชมงานจนกระเจิดกระเจิง

เทรซี เอมิน: Everyone I Have Ever Slept With 1963-1995 (1995) ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Tracey_Emin

เทรซี เอมิน: Everyone I Have Ever Slept With 1963-1995 (1995), ภายในเต็นท์, ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Tracey_Emin

หรือผลงาน My Bed (1998) ศิลปะจัดวางแบบ readymade ที่ยกเอาเตียงนอนสกปรกยับยู่ยี่ที่เธอใช้เวลาอยู่บนนั้นนานหลายอาทิตย์ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหาร หลับนอน และมีเพศสัมพันธ์ ในระหว่างที่เธอกำลังมีประจำเดือนอยู่ (คงไม่ต้องบอกว่าผ้าปูที่นอนจะเปรอะเลอะเทอะขนาดไหน) มาวางไว้ในหอศิลป์ บนพื้นพรมและโต๊ะข้างเตียง นอกจากจะเกลื่อนไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างขวดเหล้า ซองบุหรี่ และรองเท้าแตะแล้ว ยังมีหลอดเจลหล่อลื่น ถุงยางใช้แล้ว และชุดชั้นในเปื้อนเลือดประจำเดือนวางทิ้งระเกะระกะอยู่อีกด้วย!

เทรซี เอมิน: My Bed (1998), ภาพจาก www.communicationinterne.net

อันที่จริงยังมีผลงานเจ็บๆ ของศิลปินในกลุ่มอีกหลายคน แต่ถ้ากล่าวถึงหมด ก็คงอ่านกันไม่หวาดไม่ไหว เอาแค่พอหอมปากหอมคอก็แล้วกัน

 

ถึงแม้ในปัจจุบัน ศิลปินในกลุ่ม YBAs หลายคนจะคลายความแสบซ่าก๋ากั่นลงไปมากโข แถมบางคนก็ได้ดิบได้ดี มีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในสถาบันทรงเกียรติ บางคนกลายเป็นศิลปินผู้ทรงอิทธิพลในวงการศิลปะ บ้างก็กลายเป็นศิลปินที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่ผลงานศิลปะอันอื้อฉาวของพวกเขาก็ยังคงท้าทายและส่งแรงบันดาลใจให้จิตวิญญาณแห่งความขบถต่อศิลปินรุ่นหลัง รวมถึงคนทำงานสร้างสรรค์ในแขนงต่างๆ และโลกก็ยังจดจำวีรกรรมและความแสบซ่าท้าทายขนบธรรมเนียมอันคร่ำครึของโลกศิลปะอย่างห้าวหาญนี้ไม่เสื่อมคลาย

 

ข้อมูล

Tags: , , , ,