ในยุคสมัยของการสื่อสารไร้พรมแดน เราถูกกระหน่ำด้วยกระแสธารของ ‘ภาพ’ นับล้าน จากหน้ากระดาษของสื่อสิ่งพิมพ์ สู่หน้าจอออนไลน์ในอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย มีงานศิลปะประเภทหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากภาพเหล่านั้นในการวิพากษ์วัฒนธรรมทางสายตา (Visual Culture) ไปจนถึงวิจารณ์สังคมที่เราอาศัยอยู่

งานศิลปะที่ว่านั้นมีชื่อว่า เดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น (The Pictures Generation) ซึ่งเป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะของศิลปินอเมริกันที่เป็นที่รู้จักในช่วงปลายยุค 1970s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วและแพร่หลายของสื่อทางภาพในงานสื่อสารมวลชน ศิลปะแขนงนี้ได้แรงบันดาลใจจากคอนเซ็ปชวลอาร์ต และป๊อปอาร์ต ที่หยิบฉวยและตัดต่อภาพจากสื่อต่างๆ เพื่อเปิดเผยธรรมชาติอันแท้จริงของภาพที่ถูกสร้างขึ้นในวัฒนธรรมทางสายตาเหล่านั้น

ด้วยการทดลองในสื่อต่างๆ หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย โฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ และภาพยนตร์ ผลงานของพวกเขาและเธอเผยให้เห็นถึงอุปมาทางวัฒนธรรม และลักษณะอันเหมารวมของภาพสมัยนิยม ด้วยการผลิตซ้ำหรือลอกเลียนภาพยอดนิยมที่เป็นที่รู้จักกันดีในสังคม เพื่อท้าทายความเข้าใจของปัจเจกชน เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในการสร้างสรรค์ ทำให้กระแสความเคลื่อนไหวนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism)

ศิลปินในกระแสเคลื่อนไหวนี้ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่วิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมทางสายตาได้อย่างเปี่ยมปฏิภาณไหวพริบ รวมถึงขยายขอบเขตทางความคิดของศิลปะในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมในยุคสมัยที่เหล่าผู้ชมเกิดความเฟ้อและอิ่มตัวกับสื่อสารมวลชน มันได้รับอิทธิพลจากโฆษณาที่มีอยู่ทุกหนแห่ง และวัฒนธรรมทางภาพอันฟุ้งเฟ้อในสหรัฐอเมริกา

ศิลปินพิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น มักจะสร้างสรรค์ผลงานที่ดูคล้ายคลึงกับงานโฆษณา ทั้งนี้ก็เพื่อท้าทายขนบเดิมๆ ของรูปแบบทางศิลปะที่ไม่ต่างอะไรกับงานฝีมือ พวกเขาและเธอวางตัวเองอยู่ในศูนย์กลางของข้อโต้แย้งแห่งยุคหลังสมัยใหม่ ระหว่างความจริงแท้และความเป็นลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ กับการหยิบฉวย ทำซ้ำ และลอกเลียนแบบ ด้วยกระบวนการทำงานศิลปะที่มีความโฉบเฉี่ยวนำสมัย และมีรูปลักษณ์ของกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม ผลงานของพวกเขาและเธอได้ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะชั้นสูงและภาพสมัยนิยมที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนและงานโฆษณา

ถึงแม้ศิลปินหลายคนในกระแสเคลื่อนไหวนี้จะผ่านการฝึกฝนร่ำเรียนการทำงานศิลปะมาตามแบบแผน อย่างงานจิตรกรรมและงานประติมากรรม แต่พวกเขาและเธอก็เลือกใช้ทักษะของตนอย่างนอกรีตนอกรอย ด้วยการทดลองกับองค์ประกอบทางศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตซ้ำภาพสมัยนิยมขึ้นมาใหม่ ผนวกกับเทคโนโลยีในการสร้างภาพได้อย่างพร้อมสรรพฉับไว อย่างภาพถ่าย ทำให้ศิลปินเหล่านั้นมักจะใช้กล้องถ่ายรูปเป็นสื่อในการสร้างงานศิลปะในกรอบความคิดแบบคอนเซ็ปชวลออกมา

เทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคนั้นอย่างวิดีโอ ก็เป็นสื่ออันสมบูรณ์แบบที่ศิลปินเหล่านั้นใช้ในการสำรวจพรมแดนระหว่างความจริงแท้และการผลิตซ้ำ การปรากฎตัวของกล้องวิดีโอแบบพกพา และงานวิดีโออาร์ต ในช่วงยุค 1960s ส่งอิทธิพลให้กับความคิดของศิลปินพิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น ในการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์สื่อยอดนิยมในยุคนั้นอย่างโทรทัศน์ได้เป็นครั้งแรก

ศิลปินที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกระแสเคลื่อนไหว เดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น ส่วนใหญ่เติบโตมาจากยุค 1960s ที่วัฒนธรรมบริโภคนิยมและสื่อสารมวลชนเริ่มมีผลกระทบต่อสังคมอย่างมหาศาล พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาและเธอเป็นศิลปินยุคแรกๆ ที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยโทรทัศน์นั่นเอง

ในยุค 1970s และ 1980s แนวคิดทางศิลปะแบบคอนเซ็ปชวลอาร์ต เริ่มแพร่หลายไปทั่วโลกผ่านทางอาจารย์ผู้สอนศิลปะ ที่เริ่มดึงเอาสื่อและความคิดทางศิลปะที่ถือว่าแปลกและแหวกขนบในสมัยนั้นเข้ามาอยู่ในหลักสูตรการสอนศิลปะ และสนับสนุนให้นักศึกษามีความคิดที่เป็นอิสระและเปิดโอกาสให้ทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ทำให้นักศึกษาศิลปะหลายคน ละทิ้งรูปแบบแนวทางการศึกษาและการทำงานศิลปะแบบเดิมๆ อย่างงานจิตรกรรมและประติมากรรม และหันมาโอบรับอิทธิพลของงานสื่อสารมวลชนอย่าง โฆษณา, ภาพยนตร์ และวิดีโอ มาเป็นสื่อในการแสดงออกทางศิลปะแบบคอนเซ็ปชวลแทน

นักศึกษาศิลปะเหล่านั้นหลายคนยังก่อตั้งพื้นที่ศิลปะทางเลือกและสตูดิโอศิลปะขึ้นตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ และจัดแสดงผลงานศิลปะอันแหวกแนวล้ำสมัยอย่างงานภาพถ่าย ศิลปะแสดงสด และภาพยนตร์ ด้วยการใช้ทุนสำหรับกิจกรรมการศึกษา โดยไม่พึ่งพาองค์กรใดๆ

ในยุคนั้นมีโปรแกรมของสถาบันการศึกษาศิลปะต่างๆ อย่าง Whitney Independent Study Program ในนิวยอร์ก ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1968 และ โปรแกรมทัศนศิลป์ของสถาบัน Buffalo State College ในเมืองบัฟฟาโล กรุงนิวยอร์ก และ California Institute of the Arts (CalArts) ในเมืองลอสแอนเจลิส ซึ่งศิลปิน เดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น หลายคนก็ศึกษาศิลปะในสถาบันเหล่านี้

เดิมที กระแสเคลื่อนไหวเดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น เริ่มต้นขึ้นในสหรัฐอเมริกาในสองกลุ่มจากสองฟากฝั่ง หนึ่งคือฝั่งตะวันออก หรือ อีสต์โคสต์ ที่มีศิลปินอย่าง โรเบิร์ต ลองโก (Robert Longo) และ ซินดี้ เชอร์แมน (Cindy Sherman) รวมถึงศิลปินที่ทำงานในนิวยอร์กในช่วงกลางยุค 1970s อย่าง บาร์บารา ครูเกอร์ (Barbara Kruger) และ ริชาร์ด พรินซ์ (Richard Prince) เป็นต้น ขณะที่ฝั่งตะวันตก หรือ เวสต์โคสต์ มีศิลปินอย่าง จอห์น บัลเดสซารี่ (John Baldessari) ที่เริ่มต้นสอนวิชาทัศนศิลป์ที่สถาบัน CalArts ในปี 1970 และในปีเดียวกันนั้น เขาก็ได้เผาผลงานจิตรกรรมที่เคยทำมาในช่วงก่อนหน้าทิ้งจนหมด และหันมาทำงานในรูปแบบใหม่แทน

ในผลงาน Blasted Allegories (1978) บัลเดสซารี่จัดวางภาพถ่ายวัตุหลากชนิด อย่างภาพนิ่งจากภาพยนตร์และโทรทัศน์ และของสะสมอายุสั้นจากวัฒนธรรมป๊อปอย่างใบปลิว โบรชัวร์โฆษณาต่างๆ บนกระดาน โดยใส่ถ้อยคำที่ขัดแย้งกับภาพ เพื่อเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างภาพและภาษา ผลงานที่โดดเด่นอีกชุดของเขาคือการนำภาพถ่ายบุคคลเก่าๆ หรือภาพโฆษณามาดัดแปลงด้วยการวาดทับ ปะติด ใส่ตัวหนังสือ ปิดหน้าด้วยจุดสี เพื่อยั่วล้อ บิดเบือน และสร้างความหมายใหม่ให้กับภาพเหล่านั้น ผลงานของเขาเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ด้วยการจับคู่เปรียบภาพตลกๆ เข้ากับถ้อยคำง่ายๆ เพื่อบิดเบือนความหมาย และตั้งคำถามกับความเป็นลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์

จอห์น บัลเดสซารี่: Blasted Allegories (1978) ภาพจาก http://www.cavetocanvas.com/post/4651037895/blasted-allegories-john-baldessari-1978-click

จอห์น บัลเดสซารี่: Fissures (Orange) and Ribbons (Orange, Blue): With Multiple Figures (Red, Green, Yellow), Plus Single Figure (Yellow) in Harness (Violet) and Balloons (Violet, Red, Yellow, Grey) (2004) ภาพจาก https://eastofborneo.org/articles/john-baldessari-cut-to-the-chase/

 

บัลเดสซารี่จัดตั้งคลาสศิลปะขึ้นใน CalArts โดยนำเอาสื่อสมัยใหม่อย่าง ภาพยนตร์ วิดีโอ ภาพถ่าย และงานโฆษณา มาสอนในชั้นเรียน ซึ่งการสอนของเขาส่งอิทธิพลทางความคิดต่อลูกศิษย์หลายคน ที่กลายมาเป็นศิลปินในกระแสเคลื่อนไหวนี้ในเวลาต่อมา เช่น เดวิด แซลล์ (David Salle) บาร์บารา บลูม (Barbara Bloom) เจมส์ เวลลิง (James Welling) แจ็ค โกลด์สตีน (Jack Goldstein) และ ทรอย บรันทัช (Troy Brauntuch) เป็นต้น

บุคคลสำคัญที่นำสองกลุ่มนี้มาจอยกันก็คือ เฮเลนน์ ไวเนอร์ (Helene Winer) ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Pomona College ในเมืองแคลร์มอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในช่วงปี 1970 ถึง 1972 ในช่วงนั้นเธอจัดนิทรรศการศิลปะของ จอห์น บัลเดสซารี่ และศิลปินจาก CalArts และในปี 1975 เธอมาเป็นผู้อำนวยการของหอศิลป์ Artists Space ในนิวยอร์ก ที่จัดนิทรรศการของ ซินดี้ เชอร์แมน ทำให้ศิลปินจากนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนีย รวมถึงนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดังในยุคนั้นอย่าง ดักลาส คริมป์ (Douglas Crimp) มีโอกาสได้พบปะกันในปาร์ตี้และงานเปิดศิลปะจนมีความสัมพันธ์สนิทชิดเชื้อ และรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนในที่สุด

นอกจากนั้น ไวเนอร์ ยังผลักดันให้คริมป์เป็นผู้จัดนิทรรศการศิลปะ Pictures ขึ้นที่หอศิลป์ Artists Space ในปี 1977 ซึ่งเป็นที่มาของชื่อกลุ่ม ‘เดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น’ อย่างเป็นทางการ โดยนิทรรศการนี้เดินทางไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Allen ที่ Oberlin College ในโอไฮโอ และสถาบันศิลปะร่วมสมัยลองแอนเจลิส (Los Angeles Institute of Contemporary Art) รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด ในเมืองโบลเดอร์ด้วย

ถึงนิทรรศการจะไม่โด่งดังเปรี้ยงปร้างนัก แต่ในปี 1979 คริมป์ก็ตีพิมพ์บทความประกอบนิทรรศการซ้ำในวารสารศิลปะชื่อ October ซึ่งเขาอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับ ‘ความเป็นภาพ’ (Pictures) ของกลุ่มอย่างละเอียดละออ และเอ่ยถึงศิลปินในกลุ่มทั้งที่แสดงและไม่ได้แสดงร่วมในนิทรรศการนั้นด้วย ชื่อเสียงของศิลปินกลุ่ม เดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น จึงขจรขจายด้วยการลงตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ทางศิลปะและนิตยสารสมัยนิยมมากมายหลายเล่ม

ด้วยอิทธิพลจากศิลปะนีโอดาดา และป๊อปอาร์ต ศิลปินเดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น ผลิตซ้ำภาพโฆษณาและสื่อสารมวลชนขึ้นมาใหม่และดัดแปลงมันให้ตอบสนองแนวคิดดั้งเดิมของพวกเขาและเธอ

ขณะที่ศิลปินป๊อปอาร์ต สำรวจและเย้าแหย่ภาพสมัยนิยมอย่างสนุกสนานและเปี่ยมอารมณ์ขัน ศิลปินเดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่นหยิบฉวยภาพเหล่านั้นมาใช้ด้วยท่าทีเรียบเฉยไปจนถึงเย็นชา เพื่อตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างอำนาจของภาพที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านั้นอย่างถึงแก่น ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ ผนวกกับการปฏิเสธขนบและลำดับชั้นทางศิลปะ ทำให้ เดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น กลายเป็นกระแสเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดในยุคหลังสมัยใหม่

อาทิเช่นผลงานของ ซินดี้ เชอร์แมน ศิลปินคนสำคัญของกลุ่ม ที่ใช้ภาพถ่ายเพื่อสำรวจขอบเขตอันกว้างขวางของบทบาททางสังคมทั่วๆ ไปของสตรีเพศ หรือแม้แต่ตัวเธอเอง เชอร์แมนเสาะหาหนทางในการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเย้ายวนและอิทธิพลอันกดขี่ของสื่อมวลชนที่มีต่อปัจเจกชนและสังคมโดยรวม

ในผลงานชุด ‘Untitled Film Still’ ภาพถ่ายขาวดำที่เธอสวมบทบาทเป็นนักแสดงสาวไร้ชื่อ ทำให้นึกไปถึงหนังฮอลลีวูด หนังเกรดบี และหนังฟิล์มนัวร์ เชอร์แมนมักใช้ข้าวของส่วนตัวของตัวเองเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก หรือบางครั้งก็หยิบยืมมา และมักจะถ่ายทำในอพาร์ตเมนต์ของเธอเอง อย่างผลงาน Untitled Film Still #13 (1978) ที่เธอรับบทสาวน้อยปัญญาชนผู้กำลังค้นหาความหมายของการเป็นผู้หญิงที่แท้จริง หรือผลงาน Untitled Film Still #21 (1978) ที่เธอรับบทเป็นสาวน้อยจากชนบทผู้จับพลัดจับผลูเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่

เชอร์แมนมองทะลุความซ้ำซากจำเจของวัฒนธรรมสื่อสารมวลชน และเลียนแบบมันด้วยท่าทีเย้ยหยันเสียดสี ที่กระตุ้นเร้าให้ผู้ชมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความแสแสร้งจอมปลอมในการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นสุภาพสตรีของผู้หญิงในสังคม เธอสำรวจบทบาทของสื่อสารมวลชน ที่มีส่วนในการสร้างบุคลิกและความเป็นตัวตนของคนเราขึ้นมาด้วย

ซินดี้ เชอร์แมน: Untitled Film Still #13 (1978) ภาพจาก https://www.thebroad.org/art/cindy-sherman/untitled-film-still-13

ซินดี้ เชอร์แมน: Untitled Film Still #21 (1978) ภาพจาก https://www.metmuseum.org/toah/works-of-art/1992.5147/

หรือผลงานชุด Men in the Cities (1979) ของศิลปินคนสำคัญในกลุ่มอีกคนอย่าง โรเบิร์ต ลองโก ซึ่งเป็นภาพวาดของชายหญิงในชุดสูทสีดำเรียบหรู คล้ายนักธุรกิจ กำลังยืนบิดตัวอยู่ในท่วงท่าบิดเบี้ยวหมุนคว้างคล้ายกับกำลังเต้นรำและหยุดนิ่งงันในท่วงท่านั้นเอาไว้เหมือนถูกสะกดอยู่บนฉากหลังว่างเปล่าขาวสะอาดราวกับถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก

กระบวนการทำงานชุดนี้ของลองโกก็คือ เขาให้เพื่อนๆ แต่งตัวในสูทหรูเหมือนนักธุรกิจ และทำท่าทางเซเสียหลัก หรือถลาล้มมาข้างหน้าหรือทำท่าทางเหมือนกับกำลังนอนแผ่หราเหยียดแขนขาอยู่กลางอากาศ และถ่ายภาพเอาไว้ แล้วนำภาพเหล่านั้นมาขยายผ่านโปรเจ็กเตอร์ลงกระดาษและเขากับผู้ช่วยก็วาดภาพลายเส้นเหมือนจริงขนาดใหญ่กว่าตัวจริงขึ้นมา

ลองโกได้ไอเดียของงานชุดนี้มาจากภาพในหนังเยอรมัน The American Soldier (1975) ของผู้กำกับฯ ไรเนอร์ เวียเนอร์ ฟาสบินเดอร์ (Rainer Werner Fassbinder) โดยเป็นภาพในซีนสุดท้ายของหนัง ในวินาทีที่ตัวละครเอกถูกคู่อริยิงจนหมุนคว้าง ก่อนที่จะล้มลงไปนอนแน่นิ่งกับพื้น เพื่อแสดงออกถึงความรุนแรงที่แฝงอยู่ในสื่อสมัยนิยมนั่นเอง

ผลงานในชุดนี้ของเขายังถูกยกไปเปรียบเทียบกับภาพถ่ายเหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อปี 2016 ที่เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำตุรกี ถูกคนร้ายลอบยิงจนเสียชีวิตขณะกำลังกล่าวสุนทรพจน์เปิดนิทรรศการศิลปะในหอศิลป์แห่งหนึ่ง ในกรุงอังการา ประเทศตุรกี อีกด้วย

โรเบิร์ต ลองโก: ผลงานในชุด Men in the Cities (1979) ภาพจาก https://www.failedarchitecture.com/the-tragedy-of-de-certeaus-godlike-voyeur-ft-jamie-foxx/

โรเบิร์ต ลองโก: Untitled (1981-87) ผลงานในชุด Men in the Cities ภาพจากเว็บไซต์ www.robertlongo.com

ภาพมือสังหารที่ยิงเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำตุรกี ภาพโดย Burhan Ozbilici/AP ภาพจากเว็บไซต์ http://www.vulture.com/2016/12/those-harrowing-ankara-assassination-photos.html?mid=facebook_nymag

ด้วยการหยิบฉวยภาพลักษณ์จากสื่อสมัยนิยม และงานโฆษณา ผลงานของศิลปินเดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น ยังได้ท้าทายและตั้งคำถามต่อแนวคิดของลิขสิทธิ์การเป็นเจ้าของ อย่างงานของ เชอรี ลาวีน (Sherrie Levine) ที่ลอกเลียนและผลิตซ้ำผลงานภาพถ่ายของศิลปินคนอื่น เพื่อตั้งคำถามกับความแท้เทียมของงานศิลปะ ผลงานของศิลปินเดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่นหลายคนพึ่งพาผู้ชมในการสร้างความหมายให้กับงานของพวกเขาและเธอ ดังเช่นผลงานของ บาร์บารา ครูเกอร์ ที่มักจะใช้สรรพนาม ‘ฉัน’ และ ‘คุณ’ ที่สื่อสารถึงผู้ชมโดยตรง เพื่อท้าทายพวกเขาให้ครุ่นคิดว่าชีวิตของพวกเขาได้รับผลกระทบจากสื่อต่างๆ อย่างไรบ้าง

บาร์บารา ครูเกอร์ เป็นที่รู้จักจากการทำงานศิลปะที่ใช้สโลแกนสั้นๆ แรงๆ กระแทกใจคนอ่าน ซึ่งเขียนเป็นข้อความโดดเด่นเตะตาพาดทับบนภาพขาวดำที่เธอหยิบฉวยมาจากนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์จนดูคล้ายป้ายโฆษณา

ผลงานที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ Untitled (I Shop Therefore I Am) (1987) ที่ใช้ภาพขาวดำของมือที่ทำท่าเหมือนถือป้ายพิมพ์ประโยคโดดเด่นเตะตาอย่าง I shop therefore I am (ฉันช็อป ฉันจึงมีตัวตน) ซึ่งดัดแปลงมาจากประโยคอมตะของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เรอเน เดการ์ต (René Descartes) อย่าง “I think, therefore i am” (ฉันคิด ฉันจึงมีตัวตน) ด้วยการใช้สีแดง ขาว และดำ บวกการวางตัวอักษรขนาดใหญ่ให้อ่านชัดถนัดตา เธอยังมักเลือกใช้แบบตัวอักษรตระกูล Futura Bold Oblique หรือ Helvetica Extra Bold ที่มักเป็นแบบตัวอักษรตระกูลที่พบเห็นได้บ่อยในงานโฆษณาและสื่อสิ่งพิมพ์

บาร์บารา ครูเกอร์: Untitled (I Shop Therefore I Am) (1987) ภาพจาก https://acca.melbourne/program/icons-barbara-kruger-i-shop-therefore-i-am/

การใช้ภาพและถ้อยคำในงานศิลปะของบาร์บารา ครูเกอร์ เป็นการสื่อสารโดยตรงกับผู้ชม ด้วยการผสมผสานรูปลักษณ์อันโฉบเฉี่ยวของงานกราฟิกเข้ากับวลีติดหู หรือน่าประหลาดใจ เพื่อจับความสนใจของผู้ชม อันเป็นภาษาภาพและถ้อยคำแบบเดียวกับสื่อสิ่งพิมพ์ กราฟิกดีไซน์ หรือแมกกาซีน ซึ่งปกติมักถูกใช้เพื่อดึงดูดผู้บริโภคเพื่อขายสินค้า ในการกระตุ้นให้ผู้ชมทบทวนเรื่องราวต่างๆ ด้วยถ้อยคำที่สั้น กระชับ เตะตา และโดนใจ เพื่อสำรวจและวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยม, ความปรารถนาในสังคมสมัยใหม่ และชำแหละโครงสร้างทางวัฒนธรรมของอำนาจ อัตลักษณ์ของบุคคล สถานภาพ และความเหลื่อมล้ำทางเพศ

ผลงานศิลปะของครูเกอร์มักปรากฏอยู่บนพื้นที่สาธารณะหรือบนสื่อต่างๆ ที่เห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นป้ายบิลบอร์ด บัตรรถประจำทาง โปสเตอร์ สวนสาธารณะ หรือชานชาลาสถานีรถไฟ นอกจากนั้นเธอยังทำงานศิลปะจัดวางเฉพาะที่ (Site-specific Installation Art) ทั้งในรูปแบบของวิดีโอและภาพยนตร์

หรือผลงาน ของ ริชาร์ด พรินซ์ อย่าง Untitled (Cowboy) (1989) ที่หยิบฉวยภาพโฆษณาของบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโรมาใช้ ด้วยการครอปจากภาพโฆษณาในนิตยสารมาโดยตัดโลโก้และตัวหนังสือของโฆษณาออก และทำภาพให้เบลอเพื่อสื่อความหมายใหม่ เพื่อย้ำเตือนผู้ชมให้ตั้งคำถามถึงค่านิยมในการบริโภคที่พวกเขามีส่วนร่วมสร้างขึ้นมา

ริชาร์ด พรินซ์: (ซ้าย) โฆษณาบุหรี่มาร์ลโบโรจากนิตยสาร (ขวา) ผลงาน Untitled (Cowboy) (1989) ภาพจาก https://barryjewell.wordpress.com/reasearch/task-6-post-modernism-simulation-photography-richard-prince/

ช่วงหลังๆ พรินซ์ ไปไกลกว่าเดิม ในการเล่นกับวัฒนธรรมโซเชียลมีเดีย ด้วยการหยิบฉวยเอาภาพจากเว็บไซต์อินสตาแกรม คู่ถ้อยคำประกอบภาพ (ที่ดูไม่ค่อยฉลาด) ของคนทั่วไป ที่เขาพบในอินเตอร์เน็ต มาตีพิมพ์และแสดงเป็นผลงานศิลปะของเขา โดยที่เจ้าของภาพไม่รู้เห็นและไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งบางคนพอรู้เข้าก็ฟ้องร้องเขาเสียเลย

ศิลปินเดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น หลายคนทำงานที่ตีแผ่ความไม่เที่ยงตรงอันเป็นเนื้อแท้ในสื่อโฆษณาและภาพสมัยนิยมทั้งหลาย ศิลปินอย่าง บาร์บารา ครูเกอร์ และ ริชาร์ด พรินซ์ ที่ต่างก็มีพื้นเพจากวงการโฆษณา ใช้ประโยชน์จากภาพต่างๆ ในการแสดงให้เห็นว่ากลไกทางการตลาดได้สร้างความคาดหวังและความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยแก่ผู้บริโภคด้วยโฆษณาอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขาและเธอยังสำรวจว่ามนุษย์สรรสร้างและดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์หรือสัมผัสแห่งความเป็นจริงผ่านจิตใต้สำนึกได้อย่างไรบ้าง

ศิลปินเดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น หลายคนยังทำงานเกี่ยวกับประเด็นของความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ปรากฏในสื่อสมัยนิยมและประวัติศาสตร์ศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการถือครองอำนาจของเพศชาย สิทธิและเสรีภาพที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศดังที่ปรากฏในงานของครูเกอร์และเชอร์แมน ซึ่งส่งอิทธิพลต่อศิลปินในยุคหลังอย่าง Guerrilla Girls กลุ่มศิลปินเฟมินิสต์อเมริกันที่ทำงานในช่วงปลายยุค 1980s และต้นยุค 1990s ที่ใช้กลวิธีที่เด่นชัด ขบถ เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันเสียดสีและตลกร้ายยิ่งกว่า ด้วยการใช้ป้ายบิลบอร์ดโฆษณาขนาดยักษ์ เพื่อดึงดูดความสนใจสาธารณชนให้มองเห็นความเหลื่อมล้ำทางเพศในโลกศิลปะ

Guerrilla Girls: Do Women Have To Be Naked To Get Into the Met. Museum? (1989) ภาพจาก http://www.tate.org.uk/art/artists/guerrilla-girls-6858

 

ทั้งยังมีศิลปินเดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการเหยียดผิวในสื่อรวมถึงสถาบันศิลปะต่างๆ ในกลุ่มมีศิลปินเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันที่ทำงานศิลปะที่สำรวจความเป็นคนผิวดำและความเป็นเพศหญิง ผ่านการใช้ภาพถ่ายและถ้อยคำ ศิลปินบางคนทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แอฟริกัน-อเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์การถูกกดขี่ล่วงละเมิดในฐานะทาสที่ถูกกลบเกลื่อนและเพิกเฉยโดยแวดวงศิลปะและพิพิธภัณฑ์มาอย่างยาวนาน

ในปี 2009 ศิลปินหลายคนในกลุ่มถูกนำมารวมตัวกันอีกครั้งในนิทรรศการชื่อ ‘Pictures Generation, 1974-1984.’ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (the Met) ในนิวยอร์ก ที่ตอกย้ำความเชื่อมโยงอันสำคัญของกลุ่มกับแนวคิดแบบคอนเซ็ปชวลในยุคหลังสมัยใหม่อย่างมากมาย

ในโลกอินเตอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยมีมและศิลปะเจ็บๆ ซึ่งถูกสร้างใหม่ให้เราเห็นจนเกลื่อนตา หลายครั้งต้นขั้วของมันก็อาจจะมาจากกระแสเคลื่อนไหวเดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น ที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปะร่วมสมัยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจวบจนถึงปัจจุบันนี่เอง

 

ข้อมูลจาก

http://www.theartstory.org/movement-the-pictures-generation-artworks.htm#pnt_2

https://en.wikipedia.org/wiki/The_Pictures_Generation

http://www.vulture.com/2016/12/those-harrowing-ankara-assassination-photos.html?mid=facebook_nymag

http://www.theartstory.org/artist-kruger-barbara.htm  

https://artofericwayne.com/2017/01/06/good-artists-copy-great-artists-steal-not-so-fast/

http://www.tate.org.uk/art/artists/guerrilla-girls-6858

Fact Box

วิดีโออาร์ต (Video art) เป็นรูปแบบทางศิลปะที่ใช้เทคโนโลยีวิดีโอ ในฐานะสื่อทางภาพและเสียง มันถือกำเนิดขึ้นระหว่างปลายทศวรรษที่ 1960s พร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคนั้น อย่างเครื่องบันทึกเทปวิดีโอ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแพร่ภาพและเสียงขององค์กรต่างๆ อย่างแพร่หลาย

 

Tags: , , ,