แม้จะสร้างผลงานหนังยาวออกมาเพียงสี่เรื่อง แต่ลินน์ แรมซีย์ (Lynne Ramsay) ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กำกับคนสำคัญคนหนึ่งของโลกภาพยนตร์ในปัจจุบัน หนังอย่าง Ratcatcher (1999), Morvern Callar (2002) และ We Need to Talk About Kevin (2011) ล้วนมีการเล่าเรื่องที่แข็งแรง การใช้ภาพและเสียงที่โดดเด่น ทั้งยังสำรวจความซับซ้อนเปราะบางของจิตใจตัวละครได้อย่างหม่นหมอง ลุ่มลึก และชาญฉลาด ซึ่งผลงานล่าสุดของเธออย่าง You Were Never Really Here เองก็ไม่ต่างกัน

You Were Never Really Here เข้าฉายในสายประกวดหลักในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 2017 ส่งให้ วาคีน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) ได้รับรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม และตัวแรมซีย์เองได้รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ควบกับ The Killing of a Sacred Deer) ซึ่งเป็นบทที่เธอดัดแปลงมาจากนิยายทริลเลอร์ปี 2013 ของโจนาธาน เอมส์ (Jonathan Ames)

หนังพาคนดูเข้าสู่โลกหม่นมืดของโจ ทหารผ่านศึกและอดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอผู้ผ่านประสบการณ์โชกโชน เขาอาศัยอยู่กับแม่ผู้แก่เฒ่าในนครนิวยอร์ก ทำงานเป็นมือปืนรับจ้างที่ออกช่วยเหลือเด็กหญิงที่ถูกลักลอบไปค้าประเวณี จนในวันหนึ่ง เขาได้รับภารกิจให้ไปช่วย ‘นีน่า’ ลูกสาวนักการเมืองที่ถูกลักพาตัวไป แน่นอนว่าโจบุกเข้าไปนำตัวเธอออกมาได้อย่างง่ายดายไร้ปัญหา แถมยังจัดการกับผู้เกี่ยวข้องจนเลือดตกยางออกไปตามๆ กัน

แต่แล้วภารกิจของเขาก็กลับตาลปัตรไม่เป็นท่า เมื่อมันไปเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจระดับสูง ชีวิตของเขาและทุกคนที่เขาห่วงใยจำต้องตกอยู่ในอันตราย

ว่ากันตามตรง You Were Never Really Here ไม่ได้เล่าเรื่องราวที่แปลกใหม่หรือหวือหวาอะไร การที่ใครต่อใครเปรียบเทียบมันเข้ากับหนังอย่าง Taxi Driver (1976), Taken (2008) หรือ Drive (2011) จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเรื่องราวที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน ว่าด้วยบุรุษผู้แปลกแยกเปลี่ยวเหงาที่ต้องทำภารกิจกอบกู้หรือปกป้องบางสิ่งบางอย่างในโลกแห่งความรุนแรง กระนั้น สิ่งที่ทำให้ผลงานเรื่องนี้ของแรมซีย์โดดเด่นออกมาจากเรื่องอื่น คือวิธีที่เขาจัดการกับความรุนแรงในหนัง และเน้นหนักไปที่บรรยากาศกับอารมณ์หม่นทะมึน

ตลอดทั้งเรื่อง เราเห็นภาพแฟลชแบ็กสั้นๆ สอดแทรกขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพประสบการณ์ของโจในสงครามและปฏิบัติการต่างๆ ไปจนถึงภาพที่พ่อของเขาเคยทำร้ายแม่และตัวเขาในวัยเด็ก ภาพเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาเพียงชั่วขณะสั้นๆ จนไม่อาจทำความเข้าใจถึงตัวเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน มันจึงไม่ได้ทำหน้าที่เล่าประสบการณ์ในอดีตของตัวละครเท่ากับสะท้อนสภาวะทางจิตใจของเขาที่ถูกหลอกหลอนโดยความรุนแรง

ในแง่นี้ โจไม่ต่างจากทหารผ่านศึกอีกหลายรายในชีวิตจริงที่ต้องเผชิญกับโรค PTSD (สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง) หลังกลับมาจากสงคราม สำหรับเขา ความรุนแรงเป็นทั้งอดีตที่คอยหลอกหลอนและปัจจุบันที่ไม่อาจหลุดพ้น นั่นทำให้โจดิ้นรนหาทางตายอยู่เสมอ เขาจินตนาการภาพตัวเองฆ่าตัวตาย บางครั้งพยายามรัดคอ ไม่ก็เอามีดมาจ่อหน้าตัวเองด้วยหวังว่าวันหนึ่งจะพลั้งพลาดและได้ตายสมใจอยาก ปัญหาคือต่อให้เขาใช้ชีวิตเสี่ยงตายเพียงไร เขาก็มักจะเก่งเกินไปที่จะถูกฆ่าตายเสมอ โจจึงเป็นเหมือนคนตายซากที่ไม่เพียงจมดิ่งอยู่ในโลกสิ้นไร้ความหวัง หากยังไม่อาจพบทางออกไปสู่ความตายได้เสียที

แม้โลกของโจจะเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยมรุนแรง (ซึ่งบ่อยครั้งตัวเขาเองก็เป็นผู้กระทำ) แต่หนังกลับเลือกวิธีนำเสนอที่แตกต่างจากหนังคนเดือดไล่ล่าเรื่องอื่นๆ ด้วยการจัดวางองค์ประกอบภาพอย่างเฉียบคม ทำให้ความรุนแรงที่แรมซีย์นำมาฉายให้เห็นไม่ใช่ภาพของการกระทำรุนแรงที่ตรงไปตรงมา แต่มักเป็นผลพวงอันเนื่องจากความรุนแรงหรือเหตุการณ์หลังความรุนแรงเสียมากกว่า เช่น ให้ความรุนแรงดำเนินอยู่นอกกรอบภาพ เบี่ยงสายตาคนดูไปที่ภาพอื่น หรือพาคนดูไปยังสถานที่เกิดเหตุหลังเกิดการฆ่าฟันกันไปแล้ว ฉากที่เป็นไฮไลท์สำคัญของหนังหนีไม่พ้นฉากที่โจบุกเข้าซ่องไฮโซไปช่วยนีน่าออกมาซึ่งเล่าผ่านกล้องวงจรปิด ทำให้คนดูยังรู้สึกได้ถึงความหนักหน่วงสมจริงของความรุนแรง แม้จะไม่ทำให้เราเห็นมันแบบจะจะก็ตาม

อีกองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยย้ำความรุนแรงในหนังคือดนตรีประกอบของ จอนนี กรีนวูด (Jonny Greenwood) มือกีตาร์แห่งวง Radiohead ที่เพิ่งได้เข้าชิงออสการ์จากการทำดนตรีประกอบให้ Phantom Thread (2017) ถ้าโลกที่เราเห็นในหนังคือโลกแห่งความดิบเถื่อนรุนแรง เสียงดนตรีบิดเบี้ยวสั่นประสาทของกรีนวูดก็คงเป็นเสียงของความรุนแรง หรือเสียงของโลกใบนั้นที่กรีดร้องดังกลบเสียงอื่นๆ

นอกจากดนตรีประกอบของกรีนวูด เราได้ยินเสียงเพลงหวานชื่นต่างๆ ดังขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ อย่างเพลง I’ve Never Been To Me, If I Knew You Were Comin หรือ The Air That I Breathe โดยบางครั้งตัวละครก็ร้องคลอไปด้วยราวกับมันคือความเบิกบานที่พวกเขาคุ้นเคย และบางครั้งมันก็ถูกเล่นอยู่เบื้องหลังฉากรุนแรงต่างๆ บทเพลงเหล่านี้จึงเป็นเสมือนเสียงของการปลอบประโลมชั่วครู่ชั่วคราว เสียงที่หันเหเบี่ยงเบนตัวละครออกจากความหม่นมืดของโลก เสียงที่พยายามขีดแบ่งอาณาเขตของความปลอดภัยให้กับพวกเขาได้อยู่ไม่นานก็หวนคืนสู่เสียงแห่งความรุนแรงอีกครั้งอยู่ร่ำไป

ความรุนแรงใน You Were Never Really Here จึงเป็นความรุนแรงที่ไม่อาจปลอบประโลม ไร้ซึ่งประโยชน์โพดผล และทำได้เพียงกัดกร่อนผลาญทำลาย เมื่อประกอบกับการจัดวางความรุนแรงไว้ให้อยู่ห่างจากสายตาคนดู ความรุนแรงจึงไม่อาจถูกใช้เพื่อปลดปล่อยอารมณ์คนดูได้เหมือนในหนังเรื่องอื่น ไม่ว่าความรุนแรงที่ว่าจะชอบธรรมเพียงใดก็ตาม คนดูจึงไม่อาจรู้สึกสะใจเมื่อโจออกฆ่าล้างบางคนชั่วที่จับเด็กมาค้าประเวณี แต่กลับรู้สึกได้เพียงความหนักหนาสาหัสของบาดแผลในใจของตัวละครเสียเอง

เมื่อชั่วขณะของการปลดปล่อยทางอารมณ์ไม่อาจพบได้ในฉากรุนแรง มันจึงไปอยู่หลังเกิดเหตุ หรือในช่วงเวลาของความเปราะบางเท่านั้น เช่นในตอนที่ตำรวจใกล้ตายฮัมเพลงในลำคอพร้อมยื่นมือมากุมมือของโจ หรือตอนที่โจพรั่งพรูน้ำตาหลังเดินเข้ามาพบศพคนร้ายถูกฆ่าปาดคอในห้อง ด้วยการทำเช่นนี้ You Were Never Really Here จึงไม่ใช่หนังไล่ล่าล้างแค้นที่ใช้ความรุนแรงตอบสนองความกระหายใคร่อยากความยุติธรรมของคนดู แต่สำรวจถึงราคาค่างวดของความรุนแรง และชวนให้เราตั้งคำถามถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบตัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

Tags: , , , , ,