รถสองคันวิ่งเข้ามาในวัดโคกนาวอย่างช้าๆ คันหนึ่งเป็นรถยนต์คันใหญ่มีหญิงสาวหน้าตาดีแต่งกายทันสมัยเป็นคนขับ มีผู้โดยสารนั่งคู่ด้านหน้าอีกหนึ่งคนคงจะเป็นเพื่อนกัน  อีกคันเป็นรถตุ๊กตุ๊กสีแดงค่อนข้างเก่า บรรจุผู้โดยสารราวหกเจ็ดคนวิ่งตามมาอย่างช้าๆ พอหาที่จอดรถได้ หญิงสาวทั้งสองก็ก้าวออกมาจากรถ  คว้าถุงพลาสติกใบใหญ่บรรจุข้าวกล่องหลายถุงติดมือลงมาด้วย  แล้วเดินตรงไปที่อาคารเย็นศิระที่อยู่ตรงหน้าอย่างมั่นใจเพราะเคยมาทำบุญที่นี่หลายครั้งแล้ว  

ทั้งสองช่วยกันวางถุงลงบนโต๊ะที่มีเจ้าหน้าที่ยืนรออยู่ โดยแจ้งว่า ได้นำอาหารมาบริจาคให้ตามที่มีการติดต่อไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งสองพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ประจำอาคารสักครู่หนึ่ง บริจาคเงินเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง และถ่ายรูปคู่กับเจ้าหน้าที่อีกสองสามรูปด้วยโทรศัพท์มือถือที่พกติดตัวมา  หลังจากที่ได้ทำกุศลเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดเสร็จเรียบร้อย หญิงสาวก็รู้สึกเบิกบานใจเพราะเมื่อมองไปรอบๆ ก็เห็นผู้ป่วยและญาตินั่งอยู่เป็นหย่อมๆ สิ่งที่เธอทำมองเห็นผลบุญทันที  เพราะถึงมือผู้รับโดยไม่ต้องรอ  

ส่วนผู้โดยสารที่มากับรถตุ๊กตุ๊ก ต่างแยกย้ายกันเดินเข้าไปในอาคาร  บางคนเดินลากขาตรงไปที่เตียงนอนอย่างกะปลกกะเปลี้ย บางคนเดินไปที่อ่างล้างหน้า เตรียมล้างหน้าล้างตา เพื่อเตรียมตัวรับประทานอาหารเที่ยง  ชายหญิงเหล่านี้ รวมทั้งคนอื่นๆ ที่อยู่ในอาคาร มีทั้งผู้ป่วยและญาติ บ้างก็สวมฮิญาบบ่งบอกว่าเป็นคนมุสลิม บ้างก็เป็นไทยพุทธที่หน้าตาแสดงอัตลักษณ์ของชาวใต้คือมีผิวเข้มดวงตากลมโตเป็นส่วนใหญ่  

คนไข้ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม สิ่งที่ดูเหมือนๆ กันหมดก็คือ สีหน้าที่อิดโรยจากอาการเจ็บป่วยและความวิตกกังวลของญาติที่ติดตามมาดูแลอย่างใกล้ชิด  และด้วยชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน ทำให้ไทยพุทธและมุสลิมรู้สึกเห็นอกเห็นใจกันได้ง่ายดาย และบางคนกลายมาเป็นเพื่อนปรับทุกข์กันไปโดยปริยาย  เส้นคั่นทางศาสนาก็จางหายไปในกลุ่มคนเหล่านี้    

ร่างกายของป้าเล็ก

ที่โต๊ะหินใต้ร่มไม้ใหญ่ วันนี้ ใจของป้าเล็ก อินทรสุวรรณ หญิงชราวัย 72 ปี จากอำเภอทุ่งสง  ที่เคยหนักอึ้งเหมือนถูกถ่วงด้วยหินก้อนใหญ่เบ้อเริ่ม  เริ่มบรรเทาเบาบางลง  ป้าได้ทำสิ่งที่คนยากจนที่สุดคนหนึ่งสามารถจะทำได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพ่อหลวงของปวงชน  ด้วยการตัดสินใจไปติดต่อเจ้าหน้าที่  เพื่อแสดงความจำนงบริจาคร่างกายของตนเอง ให้เป็นครูใหญ่ให้กับนักเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ใช้ร่ำเรียนต่อไป นางคิดว่าเมื่อไม่มีอะไรจะให้ได้  ก็ขอมอบร่างกายให้ก็แล้วกัน  

คนจนอย่างป้า ไม่รู้อีเอาไหรมาให้โรงบาลได้ ตอบแทนบุญคุณได้ก็แค่ตัวเรานี่แหละ พอตายแล้วบอกลุงว่าไม่ต้องพาหลบบ้าน ทิ้งศพไว้ให้หมอได้เรียน  ให้หมอจัดการทั้งเหม็ดเลย หลบไปหลบมา ไม่รู้อีมีปัญญาพาศพหลบมาได้ไหม” 

อีกสองสามวันก็จะถึงวันพ่อแห่งชาติแล้ว  ชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งรายนี้อยู่รอดได้ทุกวันนี้  ด้วยพระเมตตาของพ่อหลวง ที่ทรงสร้างอาคารเย็นศิระไว้ให้คนไข้จนๆ อย่างนางได้ใช้สอย แม้ภาวะเจ็บป่วยของนางจะไม่ดีขึ้น และนางอาจจะเสียชีวิตลงเมื่อไรก็ได้ แต่นางก็ตั้งใจทดแทนพระคุณของพระองค์ท่านให้ได้  ก่อนวันพ่อที่จะมาถึง 

ป้าเล็กเป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลทุ่งสง (ควนไม้แดง) มารักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์  ด้วยโรคมะเร็งที่กระดูกสันหลังและปอดรั่ว  เข้าข่ายผู้ป่วยเป็นโรคยากและซับซ้อน หลังจากที่แพทย์ได้ทำการฉายแสงและให้คีโมบำบัดแล้ว ก็ได้ให้คำแนะนำให้ป้าเล็กเปลี่ยนกระดูกสามข้อเป็นโลหะแทน เพราะกระดูกเสื่อมจนใช้การไม่ได้อีกต่อไป ค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ออกค่าใช้จ่ายให้แทบทั้งหมด และยังอำนวยความสะดวกให้เข้าพักที่อาคารเย็นศิระทุกครั้งที่มารับการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายๆ วัน  

แต่การเปลี่ยนกระดูกนี้ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์การบริการฟรีทางการแพทย์  ป้าเล็กจึงจะต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้นสามหมื่นบาท เพราะต้องเปลี่ยนถึงสามข้อ  ค่าวัสดุข้อละหนึ่งหมื่นบาท โดยค่าผ่าตัดก็ยังคงได้รับการยกเว้นเช่นที่ผ่านมา  แต่ป้าเล็กก็ยังไม่มีเงินที่จะมาจ่ายวัสดุส่วนนี้ อย่าว่าแต่เงินสามหมื่นเลย ค่าโดยสารไปกลับทุ่งสงหาดใหญ่แค่ไม่กี่ร้อยในแต่ละครั้งที่แพทย์นัด  หรือค่าผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็ไม่พอ เพราะนางไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ดั่งเช่นคนปกติ และทางมูลนิธิมีงบแจกเพียงคนละสิบผืนต่อรอบ  

ป้าเกรงใจคนเตียงข้างๆ จังหู” ป้ากระซิบบอกเราเบาเบา  

ป้าบอกเขาว่า ถ้าเหม็นฉองเยี่ยว ก็ป้าเองแหละ” สีหน้าแสดงความละอาย  

ค่าใช้จ่ายในการมาหาหมอทุกครั้ง ก็เจียดมาจากค่าจ้างที่นายดลละห์ (สามีได้รับเพียงวันละสองร้อยบาท กว่าจะเก็บหอมรอมริบได้ครบในแต่ละครั้ง  ก็เลือดตาแทบกระเด็น ลูกๆ ที่มีอยู่ถึงสี่คนก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้  เพราะล้วนยากจนทั้งสิ้น  แถมมีคนหนึ่งเพิ่งป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน และต้องเลี้ยงดูลูกอีกสองคนตามลำพังเพราะภรรยาทอดทิ้งไป ป้าเล็กคิดว่าเมื่อมาถึงขั้นนี้ก็ต้องสู้ต่อไป จะเจ็บจะปวดก็ต้องทนอยู่กับมันให้ได้  ด้วยมอร์ฟีนที่คุณหมอจ่ายมาให้ นางก็ได้แต่หวังว่าปาฏิหารย์จะมีจริง ให้ได้เปลี่ยนกระดูกสามข้อในไม่ช้านี้ เพราะรู้สึกทุกข์ทรมานและอ่อนล้าเต็มทีแล้ว

ผมอยากกลับไปเตะบอลกับเพื่อนๆ 

อีกฟากหนึ่งของอาคาร นายสิทธิชัย บุญธรรมรัตน์ คุณพ่อวัย 36 ปีจากกระบี่  นั่งมองลูกชายวัย 9 ปีที่กำลังนั่งอยู่บนเตียงผู้ป่วยในอาคารเย็นศิระ 2 ด้วยความห่วงใย สายตาที่เปี่ยมล้นไปด้วยความรักของผู้เป็นพ่อ จับจ้องอยู่เป็นเวลานานพอสมควร สักพัก เด็กน้อยก็เดินตรงมาหาผู้เป็นพ่อด้วยรอยยิ้มอย่างไร้เดียงสา ทั้งๆ ที่บนศีรษะมีรอยเย็บของแผลยาวบ่งบอกว่า เพิ่งจะผ่านการผ่าตัดใหญ่ไม่นานมานี้เอง 

พ่อป้าเค้ามาทำไหรผู้เป็นพ่อตอบลูกชายด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “ป้าเค้ามาคุยเรื่องน้อง” 

ผู้เป็นพ่อเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ลูกชายป่วยเป็นโรคมะเร็งที่แกนสมองระยะที่สาม ที่รู้ก็เพราะลูกบ่นปวดหัว อาเจียนถี่ๆ สายตาพร่ามัวและเห็นภาพซ้อน ตอนแรกที่เกิดอาการผิดปกติ ก็รีบพาไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ แต่แพทย์ที่นั่นก็รักษาไม่ได้ จึงถูกส่งตัวต่อมาที่โรงพยาบาลกระบี่ อันเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด สุดท้ายแพทย์ก็ได้ตัดสินใจส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง 

เพียงชั่วระยะเวลาสามสี่เดือน ก้อนเนื้อก็โตขึ้นถึง 4 เซนติเมตร ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นเพียงคนงานรับจ้างตัดปาล์ม เล่าเพิ่มเติมว่า  

ผมมีลูกสามคน น้องเอฟ (..กิตติศักดิ์ บุญธรรมรัตน์) นี้เป็นคนโต คนเล็กเพิ่งจะอายุได้หกเดือนเท่านั้นเอง แม่เค้าทุ่ม (ทิ้ง) ลูกคนเล็กไม่ได้ เพราะยังต้องดูดนม ผมเลยต้องมาเฝ้าเอฟเอง”   

โดยที่สิทธิชัยจะต้องหยุดพักงานทุกอย่าง เพื่อมาจัดการดำเนินการติดต่อเรื่องการรักษาพยาบาล  และคอยดูแลลูกแทน

 เอฟมาอยู่ที่อาคารเย็นศิระได้เกือบหนึ่งเดือนแล้ว และได้รับการฉายแสงถึง 13 ครั้งติดต่อกัน แต่ยังไม่ครบคอร์ส และยังไม่ได้รับการให้สารกระตุ้นและคีโม  ก้อนเนื้อที่ผ่าตัดออกไปยังคงเหลืออยู่ราว 20% และจะต้องรักษาต่อไปด้วยการฉายแสง  การรักษาพยาบาลที่อยู่ในโครงการไม่ต้องจ่าย แต่สิทธิชัยบอกว่า  

วันก่อน มีค่าใช้จ่ายนอกรายการแปดพันบาท เบี้ย (เงิน) ผมมีไม่พอ ผมขอให้คุณหมอช่วย เลยได้ลดไปครึ่งนึง ไม่งั้นคงแย่แน่แน่”   

เงินจำนวนที่จ่ายไป ก็ได้มาจากเพื่อนๆ และญาติพี่น้องที่สงสารเห็นใจ  รวบรวมมอบให้มาเมื่อรู้ว่าต้องพาลูกมารักษาตัวถึงหาดใหญ่ ลำพังตัวเขาเองซึ่งได้ค่าจ้างเพียงวันละสองสามร้อย คงจะไม่มีปัญญาจะพาลูกมาได้ เพราะค่ารถไปกลับแต่ละเที่ยวต้องจ่ายเป็นหลักพัน แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็จะฮึดสู้ต่อไป  ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายเพียงไร จะทำทุกวิถีทางให้ลูกได้รับการรักษาจนกลับมาเป็นปกติ  

 น้องเอฟเล่าว่า “น้องเรียนอยู่ชั้นป.สามที่โรงเรียนบกเก้าห้อง (จังหวัดกระบี่อยากหลบ(กลับ)บ้าน  อีได้ไปโรงเรียน ไปเตะบอลกับเพื่อนๆ คิดถึงเพื่อนจังหู้ ไม่เจอกันหลายวัน วันนี้ ดีใจจัง ไม่เจ็บหัวอีกแล้ว น้องอยากอีขอบคุณหมอใจดีที่ผ่าตัดให้”  

ผู้เป็นพ่อเสริมว่า ตอนนี้ลูกบอกว่า ลูกไม่เห็นภาพซ้อนแล้ว และเดินได้ตรงทางมากขึ้น แต่ก็ต้องสังเกตอาการไปอีกระยะหนึ่ง เพราะยังไม่มีอะไรแน่นอน  เมื่อฉายแสงครบแล้วลูกอยากจะกลับบ้านเร็วๆ เพราะคิดถึงแม่และน้องคนเล็กมาก  สิทธิชัยจบบทสนทนาด้วยคำพูดซื่อแบบชาวบ้านว่า 

ผมดีใจจังที่ในหลวงสร้างตึกนี้ให้คนจนๆ แบบผมกับลูกได้ใช้  ไม่มีท่านพวกผมคงแย่แน่แน่ เพราะค่ารถไปมาก็หลายตังค์ ถ้าไม่มีที่ให้อยู่ ก็คงไม่มีเบี้ยไปไปมา บางทีลูกอยากกินหนมก็ต้องซื้อให้บ้าง เห็น (สงสาร) ลูก  เบี้ยที่พามาจ่ายเที่ยวนี้เพื่อนๆ ก็ช่วยมาเพ(ทั้งนั้นผมแหลงอะไรไม่ถูก(พูดไม่ออกคิดถึงท่านจริงจริง” 

การเกิดขึ้นของอาคารเย็นศิระ

เมื่อปีพ.. 2510 คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ได้มีจิตศรัทธาอยากจะสร้างสถาบันการศึกษาสักแห่งหนึ่ง จึงได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่เพื่อถวายที่ดินจำนวน 690 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวาในเขตอำเภอหาดใหญ่แด่พระองค์ท่าน จึงเป็นที่มาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  

ต่อมา เมื่อได้มีการเปิดสอนวิชาแพทย์ ก็ได้สร้างโรงพยาบาลในปีพ..2525 ภายใต้ชื่อเดียวกับมหาวิทยาลัยคือ ‘โรงพยาบาลสงขลานครินทร์’ เป้าหมายของโรงพยาบาลที่เปิดขึ้น ก็เพื่อผลิตแพทย์ที่มีความชำนาญการรักษาคนไข้หนักต่างๆ ที่เรียกว่าโรคตติยภูมิ  เช่น โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับหัวใจ และโรคซับซ้อนอื่นๆ ที่โรงพยาบาลอื่นไม่สามารถรักษาได้ เพราะข้อจำกัดเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือขาดความชำนาญการ และจะต้องดูแลประชากรครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นงานที่หนักมากและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  

ดังนั้น เมื่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เปิดทำการเต็มรูปแบบ จึงมีผู้ป่วยหลั่งไหลมาขอรับการรักษาไม่ขาดสายจากหลายๆ จังหวัดทั่วภาคใต้ จนแน่นโรงพยาบาลแทบจะไม่มีทางเดิน โดยเฉพาะคนไข้อาการหนักที่ถูกส่งตัวต่อมาจากที่ห่างไกล มักจะมีฐานะยากจน เมื่อมารับการรักษาแต่ละครั้ง ก็ต้องอยู่กันนานนาน  บางคนอยู่ถึงสองสามเดือน ทั้งคนไข้และญาติที่ตามมาดูแล เตียงในโรงพยาบาลมีจำนวนไม่เพียงพอแก่ความต้องการ 

คนไข้เหล่านี้หรือญาติที่ติดตามมาดูแล มักจะขาดแคลนเงินทองที่จะไปเช่าที่พักนอกโรงพยาบาล จึงบากหน้าเข้าไปขออาศัยที่วัดโคกนาว ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาล สร้างความเดือดร้อนให้กับพระภิกษุสงฆ์และทางวัดมากพอสมควร ทางโรงพยาบาลจึงแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยร่วมกับสโมสรโรตารีหาดใหญ่ ขอให้ทางวัดกันที่ส่วนหนึ่งสร้างอาคารเล็กๆ ขึ้นมา ที่สามารถบรรจุผู้เข้าพักได้ 48 คน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าไปก่อน

ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 18 กันยายน 2529 ทรงรับรู้ถึงปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 300,000 บาท เป็นทุนประเดิมในการก่อสร้างอาคารที่พักให้กับผู้ป่วยและญาติในวัดโคกนาวขึ้นอีกหนึ่งหลัง และด้วยสายธารแห่งศรัทธาของพสกนิกรที่อยากทำความดีตามรอยพ่อ ‘อาคารเย็นศิระ’ จึงสร้างได้สำเร็จในปีพ..2531 เปิดให้ผู้ป่วยและญาติเข้าพักได้ถึงวันละ 250 คน  โดยจัดบริการที่หลับที่นอน และอาหารบริการให้แก่ญาติและคนไข้วันละสองมื้อ  โดยคิดค่าบริการเพียง 5 บาทต่อคนต่อวัน 

โดยได้รับอาหารและเวชภัณฑ์บางส่วนจากผู้มีจิตศรัทธา บริจาคให้อย่างไม่ขาดสาย เมื่ออาคารหลังแรกใช้งานมายาวนานก็เกิดการชำรุด จึงต้องสร้าง ‘อาคารเย็นศิระ 2’ ขึ้นในปี 2553 โดยยังคงเปิดขึ้นในบริเวณวัดโคกนาวดังเดิม  แม้ว่าในปีพ.. 2562 ทั้งสองอาคารจะสามารถรองรับญาติและผู้ป่วยได้มากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มทบทวีคูณทุกทุกปี

อาคารเย็นศิระ

งานดูแล อาคารเย็นศิระ อาคารเย็นศิระ 2  และครงการก่อสร้างอาคารเย็นศิระ 3 อยู่ภายใต้หน่วยงานที่เรียกว่า ‘งานสิทธิประโยชน์เพื่อผู้ป่วย (ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้)’ ซึ่งแยกย่อยออกมาจากมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์อีกหน่วยหนึ่ง มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์รับผิดชอบดูแลในภาพรวมทั้งหมด แม้จะเป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ มีเจ้าหน้าที่ทำงานทั้งหมดเพียงไม่กี่คน  และห้องทำงานชั่วคราวก็ออกจะคับแคบ แต่งานของที่นี่ไม่ได้เล็กตามภาพที่ปรากฏเลย เจ้าหน้าที่ในแผนกทำงานกันหัวปักหัวปำ ภายใต้ความกดดันของเวลา เพราะทุกอย่างดูจะเร่งด่วนไปแทบทั้งหมด เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน  

คุณสุกุญญา ปฐมระวี หัวหน้างานสิทธิประโยชน์เพื่อผู้ป่วย (ช่วยเหลือผู้ยากไร้) เล่าว่า  

งานที่แผนกที่พวกเราช่วยกันทำคือ คอยดูแลเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยแทบจะทุกเรื่อง ทั้งเรื่องสวัสดิการของแต่ละราย เรื่องหยูกยา มีพยาบาลคอยทำแผลให้ ปัญหาที่คนไข้ต้องเจอก็ช่วยๆ กันไป เราช่วยทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ทั้งเรื่องอาหารการกินของทั้งคนไข้กับญาติๆ แม้แต่เรื่องการข้ามฝั่งจากวัดมาหาหมอ  ทางแผนกก็ได้ช่วยเราจัดรถตุ๊กตุ๊กรับส่งคนป่วยด้วยนะคะ เพราะถ้าให้เดินข้ามฟากมา ญาตินะไหว แต่คนไข้น่ะสิ”  

อีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่มากคือการดูแลความเรียบร้อยของอาคารเย็นศิระ  เมื่อมีการใช้งานมาก ปัญหาต่างๆ ก็ตามมาเป็นเงาตามตัว 

ทางแผนกต้องคอยดูแลให้อาคารอยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อยพร้อมใช้งาน และมีที่พักเพียงพอแก่ความต้องการของคนไข้นะคะ ซึ่งปัญหาคนไข้ล้นที่พักเป็นมานานแล้ว ทางมูลนิธิฯ จึงมีโครงการจะสร้างอาคารเพิ่มอีกหนึ่งหลังค่ะ เพิ่งจะมาได้ที่ดินจากทายาทตระกูลอรรถกระวีสุนทรอีกหนึ่งแปลงค่ะ เนื้อที่ประมาณไร่ครึ่งค่ะ ที่ดินผืนนี้อยู่ใกล้ๆ กับวัดโคกนาว ลึกเข้าไปในซอยเล็กน้อย แต่ก็สะดวกมากค่ะ เพราะยังอยู่ใกล้ๆ กับโรงพยาาบาล

      แม้ว่างบประมาณการก่อสร้าง อาคารเย็นศิระ 3 จะสูงถึง 125 ล้านบาทก็ตาม แต่เมื่อนึกถึงประโยชน์ใช้สอยแล้ว นับว่าเป็นการลงทุนและใช้งบประมาณที่คุ้มค่ามาก เพราะสามารถบรรเทาทุกข์ให้กับคนยากคนจนได้เพิ่มขึ้นถึงปีละนับแสนคน ทั้งผู้ป่วยและญาติซึ่งไร้ที่พึ่งพิง ปีหนึ่งๆ อาคารเย็นศิระได้ต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย หลายคนกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้งหนึ่ง แม้จะไม่สมบูรณ์ดังเดิม ก็ยังมีชีวิตยืนยาวมาได้อีกเป็นเวลานาน 

ทั้งนี้ การก่อสร้างอาคารเย็นศิระยังขาดแคลนงบประมาณอยู่ราวๆ 40 ล้านบาท จึงต้องมีการระดมทุนขอรับการบริจาคจากสาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง แม้งานนี้จะเป็นงานหนัก นอกเหนือไปจากงานประจำที่มีมากมายล้นมือของทางแผนกแล้วคุณสุกุญญา ปฐมระวี ได้กล่าวเสริมขึ้นอย่างหนักแน่นว่า  

เราทุกคนในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ต้องช่วยๆ กันหาทุนค่ะ ถ้าตึกสร้างเสร็จ เราช่วยคนไข้ได้เพิ่มขึ้นอีกปีละมากมาย แม้งานนี้จะยากและหนักมากแต่เราทุกคนท้อไม่ได้ เพราะเรามีปณิธานประจำโรงพยาบาลของเราว่า ‘เราจะมุ่งมั่นทำความดี เพื่อสานต่อความดีของพ่อหลวงค่ะ’ แม้ว่าวันนี้พระองค์ท่านจะไม่อยู่กับเราแล้วก็ตาม แต่พระเมตตาของพระองค์ท่านยังคงอยู่ในใจพวกเราเสมอ

ผู้ป่วยที่โชคดี ได้รับการสงเคราะห์ส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์  ด้วยงบประมาณช่วยเหลือของทางมูลนิธิฯ นั้นไม่ได้มีเพียงป้าเล็ก อินทรสุวรรณ หรือเด็กชายกิตติศักดิ์ บุญธรรมรัตน์ ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ถูกส่งตัวมาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคใต้ ทั้งที่เป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม โดยไม่ได้เลือกเชื้อชาติ เพศ หรือศาสนา พวกเขาเหล่านั้นได้รับการรักษาพยาบาลเต็มกำลังความสามารถของแพทย์ และอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย หลายๆ คนเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ แต่กระนั้น ก็ยังมีผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้โชคดีอย่างกลุ่มคนไข้เหล่านี้ มีผู้คนอีกมากมายที่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงการสงเคราะห์ทางการแพทย์ได้ด้วยอุปสรรคนานัปการ ด้วยเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ภาครัฐต้องจัดสรรมาให้ในแต่ละปี และข้อจำกัดของสถานที่ที่จะรองรับได้  

หากาคารเย็นศิระ สร้างได้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ อย่างน้อยๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ช่วยต่อลมหายใจให้คนไข้จนๆ เพิ่มขึ้นได้อีกนับแสนรายต่อปี ปัดเป่าภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารและที่พัก ดับทุกข์ในใจของพวกเขาได้เกือบทั้งหมด ดั่งที่พ่อหลวงทรงโอบอุ้มราษฎรจนๆ ทั่วแผ่นดินมาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์  ทรงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องดับทุกข์ร้อนให้แก่พวกเขา ไม่ว่าจะเรื่องการทำมาหากิน  การเป็นอยู่ หรือกระทั่งเรื่องของการเจ็บป่วย ภาพคุ้นตาของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่คอยตามเสด็จทุกครั้งที่ทรงออกเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารยังคงติดตาตรึงใจเราอยู่เสมอ  ดังวลีหนึ่งในบทเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ว่า 

เย็นศิระ เพราะพระบริบาลย่อมมาจากพระเมตตาที่สุดจะประมาณของพ่อหลวงในใจของคนไทยทั้งปวง

อ้างอิง : ข้อมูลและภาพบางส่วนจากงานสิทธิประโยชน์เพื่อผู้ป่วย (ช่วยเหลือผู้ยากไร้) มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และเฟซบุ๊กเย็นศิระ 

Fact Box

ผลงานเรื่อง “เย็นศิระ : อาคารที่สร้างความร่มเย็นแก่ผู้ป่วยยากไร้และญาติ ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์” โดย ก้อนดิน คือ 1 ใน 5 บทความที่ชนะการประกวดและได้รับคัดเลือกเป็นบทความไลฟ์สไตล์ที่มีความโดดเด่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานอบรม ID Creator Workshop ที่ทาง TrueID In-Trend ร่วมมือกับสื่อพันธมิตรได้แก่ Wongnai และ The Momentum อ่านบทความนี้ใน TrueID ได้ทาง https://cities.trueid.net/article/id-creator-workshop-เย็นศิระ-เพราะพระบริบาล-21814

Tags: , ,