‘มนุษย์เป็นสัตว์สังคม’ คือวลียอดนิยมที่นักจิตวิทยามักจะหยิบยกมาประกอบเหตุผลว่าทำไมเราจึงประสบความสำเร็จมากกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ทั้งความสามารถในการมีชีวิตอยู่ การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคม ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนดำรงอยู่ได้
อย่างไรก็ตาม มิตรภาพ และการอยู่ร่วมกันอาจกลายเป็นภัยต่อคนเราโดยไม่รู้ตัว หากพบเจอกับสังคมที่คนคนหนึ่งจะรับไม่ได้ ไม่ไว้ใจกัน ตีตัวออกห่าง จนนำไปสู่ความเหงา ถึงขั้นเหงาเรื้อรัง

และแม้จะมีคำกล่าวที่ว่า ‘ความเหงาไม่เคยฆ่าใคร’ แต่ทำไมบางคนถึงคิดว่าความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาร้ายกาจกับตนจนเจียนตายได้

วิทยาศาสตร์อาจมีคำตอบสำหรับเรื่องนี้

เมื่อความเหงาคุกคามชีวิต เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง

ปัจจุบัน นักวิจัยกำลังพยายามหาคำตอบที่แน่ชัดว่าความเหงาก่อให้เกิดโรคในระดับของเซลล์ได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ พวกเขาพบว่าความเหงาเป็นมากกว่าความเจ็บปวดทางจิตใจ

จากการศึกษาวิเคราะห์อภิมาน (meta-analytic) ‘Loneliness and Social Isolation as Risk Factors for Mortality’ โดยคณะวิจัยมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวนั้นมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 20 (เมื่อเทียบกับภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตร้อยละ 21) ทั้งยังเกี่ยวโยงกับโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ขณะที่บุคคลที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมนั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิตร้อยละ 26

สอดคล้องกับที่ สตีฟ โคล (Steve Cole) นักวิจัยด้านพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส หรือยูซีแอลเอกล่าวว่า “การถูกทอดทิ้งทางสังคมเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสังคมที่รุนแรงมากที่สุด” ขณะที่ จอห์น คาซีออปโพ (John Cacioppo) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ผู้ร่วมวิจัยเห็นว่า “ระดับของภัยที่มาจากความเหงาเป็นอะไรที่น่าตกใจ”

ความเหงาส่งผลอะไรต่อระบบร่างกายเราบ้าง

ในปี 2007 สตีฟ โคล และทีมวิจัยมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอพบว่า จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 14 ราย แสดงให้เห็นว่า แม้คนในแต่ละช่วงวัยจะต้องเจอกับ ‘ภาวะความเหงา’ ที่ไม่เหมือนกัน แต่คนทุกวัยล้วนมีโอกาสเป็นโรคร้ายเหมือนกัน

โดยปกติระบบภูมิต้านทานของคนทั่วไปจะค่อนข้างเข้มแข็งกว่าคนที่มีอาการเหงา ที่นอกจากระบบภูมิต้านทานจะมีเรื่องสภาพจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มแล้วนั้น คนเหล่านี้มักจะมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยมากกว่า บางครั้งก็อาจนำไปสู่อาการเจ็บไข้เรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เส้นเลือดแดงอุดตัน สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ฯลฯ พูดง่ายๆ คือมีแนวโน้มจะอายุสั้นกว่าคนปกติทั่วไป

โคลค้นพบการตอบสนองเพื่อกำจัดความเหงาเรื้อรังไม่ได้แตกต่างไปจากที่มาของความเครียดเรื้อรังจนถึงขั้นเป็นอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งการอยู่อาศัย สถานะทางสังคม หรือเรื่องของเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้เช่นกัน

เมื่อเรากำลังเครียด ร่างกายของเราจะหลั่งสารอะดรีนาลีน (ในขณะที่โกรธ ตกใจ หรือตื่นเต้นอย่างรุนแรง) และฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งหากปล่อยไว้นานเข้า อาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายของเรา จนก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาภายหลัง

นอกจากนี้ จอห์น คาซีออปโพ เผยข้อมูลงานวิจัยว่า ความเหงาสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับยีนและสารเคมีในสมองให้หลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังลดความสามารถของสมองด้านกระบวนการรับรู้ ในส่วนภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดอีกเช่นกัน ซึ่งคนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวแบบเหงาๆ มานาน อาจเพิ่มโอกาสการทำร้ายตัวเอง หรือหนักถึงขั้นมีสิทธิฆ่าตัวตายได้

เรายังไม่มีวิธีการที่ดีเพื่อหลีกเลี่ยงความเหงาจริงหรือ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ตอนนี้ยังไม่มีวิธีการที่ดีเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความเหงา ซึ่ง สตีฟ โคล และบรรดานักวิจัยร่วม เผยว่าอารมณ์เหงาอาจส่งผลต่ออาการของโรคที่เกี่ยวกับเซลล์ (cellular symptoms) และยังศึกษาเกี่ยวกับการลดช่องว่างของความเหงาเบื้องต้นว่าแท้จริงแล้วช่วยลดอาการนี้หรือไม่

ในชีวิตประจำวันของเราย่อมมีเรื่องจำเป็นต้องเครียด จำเป็นต้องมีความเหงา ทั้งนี้ความเจ็บปวดจากความเหงาจะช่วยเตือนให้เราต้องมีผู้คนอยู่รอบๆ ตัว และมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าความเหงาเป็นเรื่องธรรมชาติและมีการเพิ่มขึ้นและลดลงตลอดช่วงชีวิตของเรา

โคลบอกว่าช่วงแรกที่เขาเริ่มศึกษาความเหงา เขาไม่คิดว่ามันจะมีอำนาจการทำลายล้างมากนัก แต่ตอนนี้เขาเชื่อแล้วว่ามันคือ ‘โรคระบาดเงียบ’ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากต่อการเกิดโรครุนแรงและควรมีความกังวลกับมันไม่ต่างกับโรคอื่นๆ

ความเหงาสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีหลากหลายวิธีที่พร้อมจะช่วยให้คนเราไม่เหงา หรือช่วยลดความเจ็บปวดของอารมณ์เหงา การอยู่กับเพื่อน ครอบครัว อาจช่วยให้เราลดอาการดังกล่าวได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ชีวิตเราปกติสุขแล้ว ยังลดสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคภัยต่างๆ กับตัวเองอีกด้วย

อ้างอิง:

http://www.vox.com/science-and-health/2017/1/30/14219498/loneliness-hurts

https://www.verywell.com/loneliness-causes-effects-and-treatments-2795749

http://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/1745691614568352

Tags: , ,