“ณ ที่แห่งนี้ ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้”
เส้นแบ่งของศิลปะที่ชัดเจนเริ่มเลือนรางไปตามการก้าวเดินของยุคสมัย แม้หลายคนจะยังต้องการให้ศาสตร์และศิลป์สาขาต่าง ๆ แบ่งประเภทชัดเจน แต่การผสานศาสตร์ศิลป์ทุกแขนงเข้าด้วยกันก็กลับได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และในเดือนนี้ ประเทศไทยก็จะมีนิทรรศการศิลปะที่คล้ายกับเป็นประตูเปิดสู่เส้นทางใหม่ของพรมแดนแห่งการสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัดกับ ‘XSPACE: Multiple Possibilities of Space’
แรกเริ่มเดิมที XSPACE เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ สิริมาดา, ปิยศักดิ์, และสุทธิลักษณ์ ศุภองค์ประภา สามผู้บริหารแห่งแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ WURKON ที่ตอบสนองวิถีชีวิตและการทำงานของคนยุคใหม่ พวกเขามองเห็นช่องทางและความเป็นไปได้ในโลกธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ จนทำให้เกิดการออกแบบพื้นที่แสดงศิลปะ แสดงงานเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ และงานสร้างสรรค์ในแขนงต่าง ๆ แบบไม่ปิดกั้น เพราะประโยชน์ใช้สอยไม่จำเป็นต้องแยกออกจากสุนทรียะความงาม แต่หากอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
นอกจากศิลปะที่ WURKON เน้นย้ำ ยังมีอีกหลายสิ่งที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ อีเวนต์อาร์ตหลายแขนงที่รวมตัวกันอยู่ใน XSPACE The XHIBITION เพื่อจัดแสดงงานศิลปะและงานดีไซน์จากศิลปินมืออาชีพ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ Rough, Human Relativity และ Bangkok Journey Readymade
‘ROUGH’ นิทรรศการภาพถ่ายของ ศุภชัย เกศการุณกุล ช่างภาพและศิลปินผู้โดดเด่นเรื่องผลงานแนว Old School นำเสนอสีสันอันเป็นเอกลักษณ์แบบไม่ครอปเฟรม หวนนึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่ถูกบันทึกผ่านฟิล์มด้วยกล้องมีเดียมฟอร์แมท 135 มิลลิเมตร ภาพถ่ายมากมายเผยให้เห็นร่องรอยของพื้นผิวตึกรามบ้านช่อง ที่เดินทางผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน ในรูปแบบ ‘สัจจะวัสดุ’ แนวคิดทางสถาปัตยกรรมและศิลปะจากยุคโมเดิร์น ที่ชูความเรียบง่าย มีระเบียบ และเป็นตัวของตัวเอง
เพราะทุกอย่างคือศิลปะ ศุภชัยเป็นอีกคนหนึ่งที่เดินทางไปยังหลายสถานที่ บางที่เดินผ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน จนเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของตึกรามบ้านช่องทีละน้อย ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นจากการกล่อมเกลาของธรรมชาติ สายฝน แสงแดด อากาศ และห้วงเวลา วัสดุหรืออาคารบ้านเรือนจึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายสไตล์ Abstract แปลกตา ชวนให้ค้นหาถึงความหมายของแต่ละสถานที่ว่าผ่านเรื่องราวมากมายอะไรมาบ้างแล้ว จนพานให้หลงลืมไปว่าภาพถ่ายตรงหน้านั้นคือตึกธรรมดา ๆ ที่เราอาจเดินผ่านอยู่ทุกวี่วัน
“เหตุผลที่ทำให้ผมถ่ายภาพ เพราะเวลาที่หวนกลับไปดูภาพถ่าย
ผมจะจดจำบรรยากาศหรือสถานที่นั้น ๆ ได้ชัดเจน
จำได้ว่าถ่ายภาพนี้จากที่ไหน เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนกลับไปยังตรงนั้นอีกครั้ง”
‘HUMAN RELATIVITY’ คือโซนถัดมาที่เผยให้เห็นศิลปะที่สอดแทรกเข้ามาอยู่ในทุกย่างก้าวของมนุษย์ ความแตกต่างหลากหลายของผู้คนย่อมผสานกับศิลปะในรูปแบบที่ต่างกันไป แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนมากขึ้น หรือความคลาสสิกที่หลายคนเคยสัมผัสอาจจางหาย แต่สุดท้ายเราก็ยังคงหนีไม่พ้น ‘สัมพันธภาพ’ ที่มีความหมายว่า ความผูกพันหรือความเกี่ยวข้อง กับคำว่า ‘สัมพัทธภาพ’ ที่เล่าถึงการเปรียบเทียบกันหรือสภาวะที่ต่างกันในเชิงเปรียบเทียบ ได้อยู่ดี และการเกิดขึ้นของนิทรรศการนี้ก็ยิ่งทำให้เราได้เห็นภาพและความหมายของทั้งสองสิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น
มนุษย์ทุกคนย่อมมีรูปแบบความสัมพันธ์อยู่ด้วยกัน 3 มิติ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ ทั้งหมดเกิดขึ้นตลอดเวลาในรูปแบบที่เรียบง่ายไปจนถึงซับซ้อนเกินพรรณนา โดยนิทรรศการ HUMAN RELATIVITY เกิดขึ้นโดยกลุ่มศิลปินและนักออกแบบชั้นนำของไทยอย่าง ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์, สันติ ลอรัชวี, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, เมธี น้อยจินดา, สุรชัย มะวรคนอง, กำศักดิ์ อติพิบูลย์สิน, เต็มใจ ชลศิริ และ อดิวัศว์ อังศธรรมรัตน์ เชื่ออย่างหมดใจว่าผลงานศิลปะร่วมสมัยสามารถสื่อสารและผสานกลมกลืนกับการใช้ชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบันได้อย่างลึกซึ้งจนถึงแก่น
‘BANGKOK JOURNEY READYMADE’ โซนสุดท้ายของนิทรรศการที่ตีความหมายของความงามทางศิลปะจากสิ่งใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้ามอย่าง ‘เฟอร์นิเจอร์’ มานำเสนอเป็นผลงานศิลปะรูปแบบใหม่ เล่าถึงการเดินทางของเก้าอี้จากประเทศสเปนแบรนด์ WURKON ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังเมืองไทย ความแตกต่างหลายด้านก่อให้สิ่งที่มาจากต่างแดนต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย การใช้ชีวิตของคนไทย และความสร้างสรรค์แบบไทย ๆ ผ่านมุมมองของคู่หูดีไซเนอร์ ปิติ อัมมะรงค์ และ จุฑามาส บูรณะเจตน์ แห่ง o-d-a (object design alliance)
BANGKOK JOURNEY READYMADE สร้างสรรค์ศิลปะออกมาในสามรูปแบบ คือ Bangkok (Coloring) ที่ใช้สีสันฉูดฉาดบนท้องถนนอันเป็นเอกลักษณ์อย่าง สีสันของรถแท็กซี่ทั้ง แท็กซี่เหลือง-เขียว, เขียว-ขาว, เหลือง-ฟ้า, ชมพู-ขาว, แดง-ฟ้า, ส้ม-เหลือง ควบรวมกลายเป็นงานที่สะดุดตาแต่ยังคงความสะดวกสบาย และสามารถต่อไปยังศิลปะแบบจัดวาง
นอกจากนี้ Journey (Rocking) การดัดแปลงเก้าอี้ด้วยการเติมวงล้อที่ขา เปลี่ยนเก้าอี้ธรรมดาที่เหล่าพนักงานออฟฟิศใช้นั่งอยู่ทุกวันให้เป็นเก้าอี้โยก ล้อไอเดียการต่อเติมดัดแปลงแบบ D.I.Y ของคนไทย ก่อนปิดท้ายด้วย Readymade (Stacking) จับเอาวิถีการใช้ชีวิตของคนไทยบางกลุ่มมาผสมผสานกับเก้าอี้อเนกประสงค์ Wing ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบใหม่ ตามแบบการสุมข้าวของต่าง ๆ ที่เรามักเห็นผ่านตาตามริมฝั่งถนน
ผลงานศิลปะทั้งหมดจะถูกจัดขึ้น ณ อาคาร XSPACE Art Gallery ที่เกิดขึ้นจากแนวความคิดและความใส่ใจศิลปะ สะท้อนสู่การดีไซน์อาคารที่ออกแบบโดย จูน เซคิโน สถาปนิกแห่ง JUNSEKINO Architecture + Design ที่สร้างสรรค์ให้ตัวอาคารมีรูปลักษณ์ของบานเกล็ด เป็นสัญลักษณ์แห่งการเปิดรับแสงสว่างและสายลมแห่งความคิดสร้างสรรค์ให้สาดส่องและพัดพาเข้ามา ซ้ำยังสะท้อนถึงฟังก์ชันการใช้งานที่เปี่ยมประโยชน์ใช้สอย ประหยัดพลังงาน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ผู้ใช้งาน
แต่งเติมความคิดสร้างสรรค์ให้โลดแล่นและผสานความแตกต่างจากศาสตร์และศิลป์ต่าง ๆ ไปด้วยกันกับ XSPACE: Multiple Possibilities of Space ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2020 ณ อาคาร XSPACE Art Gallery ซอยปรีดี พนมยงค์ 14 ถนนสุขุมวิท 71 และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง contact@xspacegallery.com หรือติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะและงานสร้างสรรค์น่าสนใจได้ที่ Facebook: Xspace
Fact Box
XSPACE: Multiple Possibilities of Space จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 นี้ ณ อาคาร XSPACE Art Gallery ซอยปรีดี พนมยงค์ 14 ถนนสุขุมวิท 71 กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง contact@xspacegallery.com หรือติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะและงานสร้างสรรค์น่าสนใจได้ที่ Facebook: Xspace