แม้จะไม่ใช่สถานที่แรก หาก The Factory บนชั้น 5 ของอพาร์ทเมนต์เลขที่ 231 East 47th Street ในย่าน Midtown แมนฮัตตัน นิวยอร์ก ที่ซึ่ง Andy Warhol ใช้เป็นสตูดิโอทำงานศิลปะในช่วงทศวรรษ 60s ก็สร้างภาพคุ้นเคยของสตูดิโอศิลปะที่มักเป็นโถงกว้าง ดิบ เปลือย และไม่ต่างอะไรจากโกดังหรือโถงภายในโรงงานอุตสาหกรรมเท่าไหร่ แอนดีย้าย The Factory อีกสองครั้ง โดยสองโลเคชั่นหลัง ก็ล้วนเป็นการนำโกดังที่เจ้าของเดิมเลิกใช้งานแล้วมาปรับเป็นสตูดิโอศิลปะ

แม้ผลงานศิลปะจะมีชื่อเรียกเทคนิคหรือวิธีคิดมาแบ่งกลุ่มชัดเจน กระนั้นกับสตูดิโอหรือสถานที่สร้างสรรค์ผลงานของศิลปะไม่เคยมีแบบฉบับ หรือนิยามที่ใช้เรียกสไตล์แบบตายตัว

ยุคหนึ่งศิลปินส่วนใหญ่เคยทำงานรับใช้พระเจ้าอยู่ในโบสถ์ ต่อมาศิลปินบางท่านอาจมีที่ทำงานอยู่ในคฤหาสน์ของเศรษฐีผู้อุปถัมภ์ ขณะที่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนำมาซึ่งเทคโนโลยีอันหลากหลายที่ทำให้ศิลปินไม่ต้องจำกัดตัวเองสร้างงานอยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใด และเพราะยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนี่เอง ที่ก่อให้เกิดการแผ่ขยายของโรงงานอุตสาหกรรมตามเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่ซึ่งในเวลาต่อมา โรงงานบางแห่งที่อาจประสบปัญหาเศรษฐกิจและไม่ได้ไปต่อ ก็กลับกลายมาเป็นพื้นที่ใหม่ให้แก่ศิลปินในการทำงานสร้างสรรค์ รวมไปถึงการเป็นที่จัดแสดงผลงาน

โถงภายในอันสูงโปร่งเหมาะแก่การทำงานขนาดใหญ่ ไม่ต้องกลัวพื้นหรือผนังเลอะสี (เพราะมันเปรอะอยู่แล้ว) และไม่ต้องใส่ใจในการตบแต่งอันยิบย่อย เพราะมันแทบไม่มีรายละเอียดให้ใส่ใจอะไรนัก – ไม่มีพื้นที่ไหนจะตอบโจทย์การทำงานศิลปะได้ดีเท่าโกดังหรือโรงงานร้างอีกแล้ว และนั่นจึงไม่น่าแปลกที่เมื่อโรงงานหรือโกดังในชุมชนบางแห่งปิดตัว กลับกลายเป็นการเปิดโอกาสใหม่ให้แก่ศิลปินในการทำงานด้วยราคาค่าเช่าพื้นที่ที่ย่อมเยา ซึ่งเป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20

สไตล์การตบแต่งแบบ Loft เกิดขึ้นในช่วงนั้น การตบแต่งที่ไม่ต้องตบแต่งอะไร และปล่อยให้โครงสร้างเดิมของอาคารได้เฉิดฉาย ที่ซึ่งแม้จะไม่เคยมีศิลปินคนไหนนิยามสไตล์การตบแต่งของสตูดิโอตัวเอง แต่สไตล์ที่ไม่ถูกนิยามนี้ก็กลับแพร่หลายออกนอกสตูดิโอไปสู่พื้นที่อื่น จนเกิดเป็นสุนทรียศาสตร์ของการออกแบบในที่สุด

นิวยอร์กไม่ใช่เมืองเดียวที่ศิลปะเบ่งบานอยู่ในโกดังร้าง – 798 Art Zone คือชุมชนศิลปะและไลฟ์สไตล์รุ่นใหม่ที่กำลังมาแรงในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงโรงงานอุตสาหกรรมเก่าของรัฐบาลคอมมิวนิสต์, อาคารของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ชั้นนำของโลกในกรุงลอนดอนอย่าง Tate Modern เคยเป็นโรงไฟฟ้าเก่า หรือ Museum of Contemporary Art Toronto จุติอยู่ในโรงงานอลูมิเนียมร้างกลางเมืองโตรอนโต แคนาดา ฯลฯ

เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของจำนวนมากจนยากนับของโครงการชุบชีวิตโกดังเก่าเป็นพื้นที่ศิลปะ ไม่เว้นกระทั่งในเมืองไทย ที่แม้ยังไม่ปรากฏนิคมศิลปะขนาดใหญ่ แต่พื้นที่ศิลปะที่เปลี่ยนผ่านมาจากโรงงานเก่าต่อจากนี้ ก็ฉายภาพอันแสนคึกคักและมีชีวิตชีวาของแวดวงศิลปะในบ้านเราได้อย่างน่าสนใจ

1. The Jam Factory / Warehouse 30

The Jam Factory ไม่เพียงจุดประกายให้ย่านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างธนบุรี กลายมาเป็นย่านสุดชิคในทุกวันนี้ หากที่นี่ยังถือเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนโรงงานเก่าให้กลายเป็น art space หลากฟังก์ชั่น ที่ผสมผสานไปกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์อันครบครันในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

ถัดจากท่าเรือคลองสาน แต่เดิมนี่คือพื้นที่ขนาด 4 ไร่ของโกดังเก่าของผู้ผลิตถ่านไฟฉายตรากบ, โรงน้ำแข็ง และโรงงานยา ภายหลังกิจการได้ปิดตัวลง โกดังที่ถูกทิ้งร้างแห่งนี้ไปต้องตาดวงฤทธิ์ บุนนาค เขาจึงชวนเพื่อนฝูงนักธุรกิจหลากหลายเข้ามาพัฒนาพื้นที่

The Jam Factory แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือโซนแรกที่เป็นร้านค้า คาเฟ่ และแกลเลอรี่ศิลปะ โดยตั้งอยู่ภายในโกดังส่วนหน้า (ติดกับตลาดคลองสาน) คั่นด้วยสนามหญ้า โซนถัดมาคือโกดังส่วนที่สอง ซึ่งถูกปรับให้เป็นสำนักงานสถาปนิกของดวงฤทธิ์ และโซนสุดท้ายคือโกดังที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กลายมาเป็นที่ตั้งของร้านอาหาร

ทันทีที่เปิดตัว The Jam Factory ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก และนั่นทำให้ดวงฤทธิ์เห็นถึงศักยภาพของการปรับปรุงโกดังร้างในย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งสอดรับไปกับโครงการพัฒนาย่านคลองสานและเจริญกรุงให้เป็น creative district ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เขาจึงพัฒนาโกดังร้างที่อยู่ติดกัน 8 หลังในซอยเจริญกรุง 30 ให้กลายเป็น Warehouse 30 ซึ่งเป็นทั้งที่ให้นักออกแบบมาจำหน่ายสินค้า, โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก, บาร์, คาเฟ่, ร้านอาหาร และแกลเลอรี่ศิลปะ กลายมาเป็นอีกแลนด์มาร์คทางวัฒนธรรมอีกแห่งที่แม้แต่คนที่ไม่สนใจอะไรเลยกับศิลปะ ยังต้องไม่พลาดมาเช็คอิน

2. Yelo House

ตั้งอยู่ในซอยเกษมสันต์ 1 ในระยะเดินเท้าไม่ไกลจากหอศิลป์กรุงเทพฯ Yelo House คือโครงการปรับปรุงโกดังเก็บอุปกรณ์การพิมพ์อายุกว่า 40 ปี ให้กลายเป็นทั้งสตูดิโอ แกลเลอรี่ และ co-working space ของ 4 หุ้นส่วนที่ทำงานในสายครีเอทีฟหลากสาขา ทั้งสถาปนิก, นักออกแบบ และศิลปินภาพถ่าย

พ้องไปกับคำว่า yellow ซึ่งเป็นสีที่ติดมากับโครงสร้างเก่าของโกดังแห่งนี้ Yelo House ย่อมาจาก ‘You Only Live Once’ โถงภายในที่มีความสูงจากพื้นถึงเพดานถึง 7 เมตร บนพื้นที่ใช้สอย 480 ตารางเมตร ที่เจ้าของโครงการตั้งใจปลุกชีวิตพื้นที่ให้รองรับกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาพื้นที่แรงบันดาลใจพร้อมไปกับพื้นที่แสดงผลงานสร้างสรรค์

โกดังที่มีหลังคาฟันเลื่อยและมีการต่อเติมชั้นลอยเป็นพื้นที่ double space ประกอบด้วยโถงแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ ซึ่งมีชั้นลอยสำหรับรองรับกิจกรรมพิเศษและการจัดเวิร์คช็อป ตรงข้ามแกลเลอรี่ถูกปรับเป็นห้องประชุมและห้องสำนักงานให้เช่า ต่อเนื่องไปยังพื้นที่ด้านหลังซึ่งอยู่ติดกับทางเดินริมคลองแสนแสบ เป็นที่ตั้งของร้านอาหารและคาเฟ่

จุดเด่นของโครงการนี้คือการซ้อนชั้นของพื้นที่ที่รองรับกิจกรรมอันหลากหลาย ทั้งพื้นที่สำหรับทำงาน แสดงงาน และการพักผ่อน ก่อให้เกิดความลื่นไหลและชีวิตชีวา ขณะที่การคงไว้ซึ่งหลังคาแบบ sky light ที่ติดมากับโกดังแต่แรกเริ่มซึ่งผิดวิสัยของการเป็นโกดังเก็บสินค้า ก็ก่อให้เกิดเฉดแสงอันนุ่มนวลเข้ามาตัดความแข็งกร้าวของโครงสร้างอาคาร สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อผู้เข้ามาใช้บริการได้มากทีเดียว

3. N22

N22 มาจาก Narathiwat 22 ซึ่งเป็นชื่อซอย (นราธิวาส 22) ในเขตยานนาวา ที่ตั้งของชุมชนศิลปะร่วมสมัยที่กำลังเป็นที่จับตามากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

N22 เกิดจากการปรับปรุงโกดังเก่าของกลุ่มศิลปินร่วมสมัยที่มองหาสตูดิโอผลิตผลงานและสถานที่แสดงงานภายใต้หลังคาเดียวกัน ประกอบด้วย Gallery VER, Cartel Artspace, Tentacles Gallery, Artist+Run Gallery, Richard Koh Fine Arts, La Lanta Fine Arts และที่เพิ่งเปิดตัวใหม่อย่าง V.S. Gallery พ่วงด้วย 3 สตูดิโอของศิลปิน ได้แก่ Studio Be Takerng Pattanopas ของบี-เถกิง พัฒโนภาษ, Doxza ของกมล เผ่าสวัสดิ์ และ Mads Box ของเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

แกลเลอรี่และสตูดิโอทั้งหมดถูกจัดวางให้เรียงต่อกันขนาบไปกับทางเดินหลักซึ่งเป็นผังเดิมของโกดัง ทั้งนี้ทางเดินตรงกลางยังถูกปรับให้กลายเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ไปด้วย ทั้งพื้นที่แสดงดนตรีสด พื้นที่สำหรับสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นของผู้ชม และที่บ่อยที่สุด คือพื้นที่จัดเลี้ยงสำหรับงานเปิดนิทรรศการของแกลเลอรี่แห่งหนึ่งแห่งใดในนี้ ซึ่งก็จะมีพิธีเปิดกันทุกเดือน

แม้แกลเลอรี่แต่ละแห่งจะมีคาแรกเตอร์และรสนิยมในการคัดเลือกผลงานมาจัดแสดงชัดเจนเป็นของตัวเอง หากผลงานศิลปะที่จัดแสดงส่วนใหญ่ มักเป็นงานคอนเซปชวลของศิลปินไทยทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ ซึ่งในทุกแกลเลอรี่ก็จะมีนิทรรศการหมุนเวียนมาแสดงทุกๆ เดือน ควบคู่ไปกับงานไฟน์อาร์ตในรูปแบบที่หลายคนคุ้นเคยอยู่แล้ว การมาที่นี่จึงเหมือนได้มาอัพเดตภาพรวมของศิลปะร่วมสมัยในบ้านเราอย่างคุ้มค่าในเที่ยวเดียว

4. หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

ไม่เฉพาะภาคเอกชนที่ปรับอาคารเก่าให้เป็น art space แต่ภาครัฐที่นำโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ก็มีหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน แกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัยที่เกิดจากการปรับปรุงอาคารเก่าเหมือนเขาเช่นกัน

หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินตั้งอยู่ในตึกแถวสูง 4 ชั้น ริมถนนราชดำเนิน (เยื้องกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ซึ่งสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2480-2491 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อนจะมีการรีโนเวทภายในให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้การรีโนเวทเน้นพื้นที่ใช้สอยอันสูงโปร่งเพื่อรองรับการแสดงงานศิลปะที่หลากหลาย ทั้งงานจิตรกรรมหรืองานประติมากรรมขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากพื้นที่แสดงนิทรรศการหมุนเวียนซึ่งเป็นพื้นที่หลัง ภายในอาคารที่สะท้อนการตบแต่งแบบ loft อย่างชัดเจนหลังนี้ ยังมีห้อง auditorium, ห้องสมุด และศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ชั้นบนของอาคาร

กล่าวได้ว่านอกเหนือจากผลงานศิลปะจากนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดแสดง การมาเยือนที่นี่เพื่อรับชมสถาปัตยกรรม การจัดการพื้นที่ว่าง และช่องแสงภายใน รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ยังถือเป็นโบนัสอันยอดเยี่ยมที่ซ่อนอยู่ในอาคารเก่าแก่กลางใจเมือง

5. Weave Artisan Society

ปิดท้ายที่เชียงใหม่กับ creative space ที่กำลังมาแรงที่สุดแห่งนี้ เดิมอาคารของ Weave Artisan Society เป็นโรงน้ำแข็งร้างอายุกว่า 40 ปีในย่านวัวลาย ก่อนที่ จูเลี่ยน – ซีเลียง ฮวง สถาปนิกและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาพบเข้าและเกิดไอเดียชุบชีวิตโรงน้ำแข็งแห่งนี้ให้เป็นสำนักงานและพื้นที่กลางของเหล่านักสร้างสรรค์ในเชียงใหม่

ทั้งนี้แต่เดิมย่านวัวลายที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองเก่าเชียงใหม่ ก็เป็นย่านของศิลปินและช่างหัตถกรรมท้องถิ่นอยู่แล้ว การเกิดขึ้นของ Weave Artisan Society จึงคล้ายการต่อยอดต้นทุนทางด้านชื่อเสียงของย่านสู่ชุมชนนักออกแบบและศิลปินร่วมสมัยของเมืองอย่างสร้างสรรค์

Weave Artisan Society ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 5 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ร้านกาแฟ, ร้านขายดอกไม้, พื้นที่จัดเวิร์คช็อป, พื้นที่แสดงงานศิลปะ และออฟฟิศ ยกเว้นส่วนออฟฟิศที่อยู่โกดังด้านหลัง พื้นที่ส่วนอื่นๆ ล้วนอยู่ภายในโถงอันโล่งกว้างไม่มีผนังกั้น (มีเพียงมุ้งสีขาวขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็น partition บางๆ สำหรับพื้นที่จัดเวิร์คช็อป) ส่วนโครงสร้างอาคารถูกปรับปรุงให้เปิดรับแสงธรรมชาติและการถ่ายเทอากาศอย่างดีเยี่ยม เพราะแม้แต่ในบ่ายที่อากาศร้อน เราก็สามารถจิบกาแฟ หรือเดินชมงานศิลปะได้อย่างรื่นรมย์ โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศแต่อย่างใด

ที่นี่นับเป็นหนึ่งในที่แฮงค์เอาท์ใหม่ล่าสุดของเมืองเชียงใหม่ ที่คนรักศิลปะและบรรยากาศเจริญหูเจริญตาต้องไม่พลาด

 The Making of Loft

Loft คือคำที่ใช้เรียกห้องใต้หลังคาหรือห้องภายในโกดังเก็บของ จากจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงโกดังร้างสู่พื้นที่สร้างสรรค์ในนิวยอร์กช่วงทศวรรษ 40s การคงไว้ซึ่งความดั้งเดิมของโครงสร้างอาคารอย่างปูนเปลือย, อิฐ, โครงเหล็ก และโทนสีเทาและดำ Loft ถูกพัฒนาให้กลายมาเป็นสไตล์การตบแต่งร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่เฉพาะกับสตูดิโอศิลปินหรือแกลเลอรี่ศิลปะ แต่ยังรวมถึงสำนักงาน ร้านอาหาร ไปจนถึงที่พักอาศัย

TOA Loft คือปูนฉาบขัดมันสำเร็จรูปที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อการตบแต่งสไตล์ลอฟท์ได้ง่ายๆ มีด้วยกัน 5 สี ได้แก่ สีเทาอ่อน เทากลาง เทาเข้ม เหลือง และแดง เป็นสูตรน้ำ ปลอดภัย ไร้กลิ่นฉุน พร้อมกับตัวเคลือบสูตรพิเศษในเซ็ต ที่จะช่วยปกป้องผนังลอฟท์ให้มีความทนทานเสมือนการเคลือบแก้ว อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเช็ดล้างง่าย ไม่อมฝุ่น ตอบโจทย์ทั้งการบูรณะอาคารเก่า หรือการตบแต่งพื้นที่ใหม่ด้วยสไตล์ลอฟท์อย่างเรียบเนียน

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.toagroup.com/product/

Tags: , , , , , , , , ,