เราเรียนมาตั้งแต่สมัยเด็กแล้วว่าโลกเป็นดาวเคราะห์ที่พื้นผิว 70% เป็นมหาสมุทร ที่เหลือ 30% เป็นแผ่นดิน แต่นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าโลกเราไม่ใช่สถานที่เดียวในระบบสุริยะที่นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่ามีน้ำในรูปของเหลวอยู่ เรามาดูกันดีกว่าว่าในระบบสุริยะของเรามีที่ไหนบ้างที่มีน้ำในรูปของเหลวอยู่อีก

1. ดาวอังคาร

ภาพดาวอังคารในปัจจุบัน
Photo: spacetelescope.org

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่า เคยมีน้ำปริมาณมหาศาลอยู่บนพื้นผิวเมื่อ 4,000 ล้านปีก่อน แต่เนื่องจากแก่นของดาวอังคารเย็นตัวลง ทำให้สนามแม่เหล็กที่ปกป้องลมสุริยะบนดาวอังคารอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ในที่สุดลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ก็พัดพาเอาชั้นบรรยากาศของดาวอังคารให้หลุดออกไปอย่างต่อเนื่อง

ภาพจำลองดาวอังคารเมื่อพันล้านปีก่อน
Photo: space.com

ภาพแสดงลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ที่พัดพาชั้นบรรยากาศของดาวอังคารให้หายไป
Photo: sciencenews.org

เมื่อดาวอังคารสูญเสียชั้นบรรยากาศ น้ำบนผิวดาวอังคารจึงเกิดการระเหยออกไป จนในที่สุดพื้นผิวของดาวอังคารก็มีสภาพเป็นดาวเคราะห์สีแดงแห้งแล้งอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ที่ขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวอังคารนั้นมีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ปริมาณมากจนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์จากบนโลก นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่ามีชั้นน้ำแข็งปริมาตรมากฝังตัวอยู่ใต้พื้นผิวดาวอังคารอีกด้วย

ร่องรอยการไหลซึมของน้ำบนผิวดาวอังคารที่มีการประกาศไปในปี ค.ศ. 2015
Photo: seeker.com

ในเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2015 องค์การนาซาประกาศข่าวการค้นพบน้ำในรูปของเหลวที่ไหลซึมบนผิวดาวอังคาร แม้ว่าจะไม่ใช่น้ำบริสุทธิ์แต่เป็นน้ำที่มีเกลือละลายอยู่ ก็นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่เคยพบเห็นน้ำที่ไหลอยู่บนผิวดาวดวงอื่นมาก่อน นอกจากนี้ในอนาคตที่จะมีการส่งมนุษย์ไปเยือนดาวอังคาร ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

2. ดวงจันทร์ยูโรปา

ภาพดวงจันทร์ยูโรปา
Photo: wikipedia.org

ดวงจันทร์ยูโรปาถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1610 โดยสุดยอดนักดาราศาสตร์โลกชาวอิตาลี กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) มันเป็นดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีที่มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเราเล็กน้อย พื้นผิวของดวงจันทร์ยูโรปาเป็นน้ำแข็งที่มีความเรียบมาก ความเรียบในระดับนี้บ่งชี้ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงเชิงธรณีวิทยาทำให้ร่องรอยอุกกาบาตต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นเลือนหายไป (ในขณะที่ดวงจันทร์ของโลกเราไม่มีความเปลี่ยนแปลงเชิงธรณีวิทยาใดๆทำให้รอยอุกกาบาตที่เกิดขึ้นไม่เลือนหายไป)

หลักฐานจำนวนมาก เช่น ลักษณะของเปลือกที่เป็นน้ำแข็ง, น้ำพุที่พุ่งออกมาจากผิวที่ความสูงกว่า 200 กิโลเมตรจากพื้นผิว ทำให้นักดาราศาสตร์มั่นใจมากว่าภายใต้เปลือกน้ำแข็งราวๆ 170 กิโลเมตร มีชั้นของมหาสมุทรอยู่

ภาพเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์ยูโรปา รวมทั้งน้ำที่อยู่ภายในดวงจันทร์ยูโรปา (ซ้าย) กับโลก และน้ำบนผิวโลก (ขวา)
Photo: gizmodo.com

การวิเคราะห์พบว่าน้ำในมหาสมุทรของดวงจันทร์ยูโรปานั้นมีปริมาตรมากกว่าน้ำในมหาสมุทรของโลกเราเสียอีก! หากนำน้ำในมหาสมุทรของดวงจันทร์ยูโรปามารวมเป็นหยดเดียวจะได้ทรงกลมที่มีรัศมีราวๆ 1,754 กิโลเมตร ส่วนน้ำทั้งหมดบนโลกเราเมื่อรวมกันจะเป็นทรงกลมที่มีรัศมีราวๆ 1,384 กิโลเมตร

ดวงจันทร์ดวงนี้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่องค์กรด้านอวกาศต่างๆ ให้ความสนใจและวางแผนจะส่งยานไปศึกษามันในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากมันอาจเป็นสถานที่ที่มีสิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้

3. ดวงจันทร์เอนเซลาดัส

Photo: nasa.gov

ดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) เป็นดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่พื้นผิวเป็นน้ำแข็งค่อนข้างเรียบและสะท้อนแสงได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้พื้นผิวของมันเย็นจัดถึง −198 องศาเซลเซียส เนื่องจากพลังงานถูกสะท้อนออกไป

ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ดวงนี้ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1789 โดย วิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษคนเดียวกับที่ค้นพบดาวยูเรนัส แต่ในขณะนั้นกล้องโทรทรรศน์ไม่สามารถเก็บรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับดวงจันทร์ดวงนี้มาได้มากนัก

ภาพจำลองน้ำพุที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์เอนเซลาดัส
Photo: nasa.gov

จนกระทั่งราวๆ สองร้อยปีต่อมา ในปี ค.ศ. 2005 ยานอวกาศแคสสินี (Cassini spacecraft) ได้โคจรเข้าไปใกล้ดวงจันทร์ดวงนี้แล้วทำการเก็บภาพพื้นผิวของมันได้อย่างละเอียด จนได้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือ น้ำพุ และน้ำแข็งที่พุ่งออกมาจากผิวบริเวณขั้วใต้ โดยน้ำพุนั้นมีสารประเภทเกลือละลายอยู่ ยานอวกาศแคสสินีได้เข้าใกล้ดวงจันทร์ดวงนี้อีกหลายครั้งเพื่อศึกษาโครงสร้างภายในของมัน ข้อมูลต่างๆ บ่งชี้ว่ามันมีมหาสมุทรอยู่ภายใต้เปลือกน้ำแข็ง

ล่าสุดในวันที่ 13 มีนาคม ปี ค.ศ. 2017 นักดาราศาสตร์ใช้ข้อมูลจากยานอวกาศแคสสินีที่ทำการปล่อยคลื่นไมโครเวฟไปสำรวจดวงจันทร์เอนเซลาดัสมาวิเคราะห์จนพบว่าขั้วใต้ของดวงจันทร์ดวงนี้มีอุณหภูมิสูงกว่าที่นักดาราศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ นั่นแปลว่ามหาสมุทรของมันน่าจะอยู่ลึกจากผิวลงไปเพียง 2 กิโลเมตร (จากที่เคยคิดว่าน่าจะลึก 5 กิโลเมตร) กล่าวคือ ถ้าเปลือกน้ำแข็งมีความหนามากๆ จนมหาสมุทรของมันอยู่ลึกสุดๆ ความร้อนจากภายในไม่น่าจะส่งขึ้นมาทำให้นักดาราศาสตร์ตรวจจับอุณหภูมิได้สูงเช่นนี้

4. ดวงจันทร์แกนีมีด

Photo: wikipedia commons

ดวงจันทร์แกนีมีด (Ganymede) ถูกค้นพบโดย กาลิเลโอ กาลิเลอี มันเป็นดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีและเป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ นอกจากนี้มันยังเป็นดวงจันทร์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีสนามแม่เหล็ก ซึ่งการวิเคราะห์สนามแม่เหล็กประกอบกับข้อมูลอื่นๆ ทำให้นักดาราศาสตร์พบว่าระหว่างเปลือกกับแก่นของมันมีชั้นของมหาสมุทรอยู่

5. ดวงจันทร์ไททัน

Photo: wikipedia.org

ดวงจันทร์ไททัน (Titan) เป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1655 โดยนักดาราศาสตร์ชาวดัตช์ คริสตียาน ฮายเกนส์ (Christiaan Huygens)

แบบจำลองแสดงชั้นมหาสมุทรที่อยู่ภายใต้เปลือกของดวงจันทร์ไททัน
Photo: wikipedia.org

มันเป็นดวงจันทร์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศปกคลุมหนาทึบ นักดาราศาสตร์พบว่าภายใต้เปลือกของไททันมีมหาสมุทรอยู่ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือบนผิวของดวงจันทร์ไททันมีทะเลสาบ ที่ภายในนั้นไม่ใช่น้ำ แต่เป็นสารประกอบประเภทมีเทนเหลวปริมาณมหาศาล

นอกจากที่กล่าวมานี้ ยังมีสถานที่อีกมากมายที่นักดาราศาสตร์สงสัยว่าอาจมีน้ำในรูปของเหลวอยู่ เช่น ดาวเคราะห์แคระเซเรสที่โคจรระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี, ดวงจันทร์คัลลิสโตของดาวพฤหัสบดี, ดวงจันทร์ไมมัสของดาวเสาร์ ฯลฯ แต่ยังต้องรอหลักฐานอื่นๆ ให้มากกว่านี้เสียก่อนจึงจะมั่นใจได้

แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่เคยพบเห็นชีวิตในสถานที่อื่นๆ ในเอกภพเลย แต่การพบน้ำในรูปของเหลวมากมายขนาดนี้ย่อมเป็นการยืนยันได้อย่างดีว่าน้ำเป็นสสารที่กระจายอยู่ทั่วไปในระบบสุริยะของเรา ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า

ความหวังว่าจะได้พบสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บ้าง คงไม่ได้มืดสนิทเสียทีเดียว

อ้างอิง:

Tags: ,