พลาสติกกลายเป็นประเด็นฮอตฮิตสำหรับสังคมไทยกับความพยายาม “ลด ละ เลิก” โดยภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสัญญาณดีสำหรับประเทศซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งทิ้งขยะลงมหาสมุทรอันดับต้นๆ ของโลก
ขอทวนความรู้กันสักนิด พลาสติกคือสารประกอบโพลีเมอร์ซึ่งสกัดโดยใช้กระบวนการทางเคมีแตกต่างหลากหลายซึ่งจะให้ผลลัพธ์เป็นพลาสติกที่ต่างชนิดกัน แต่พลาสติกซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันจะทำจากไฮโดรคาร์บอนซึ่งพบได้ทั่วไปในแก๊สธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหิน กล่าวแบบกำปั้นทุบดิน พลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ได้จากการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นเอง
พลาสติกเป็นวัสดุราคาถูกที่ยืดหยุ่นและคงทน แต่คุณสมบัติดังกล่าวกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อมันถูกปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ เนื่องจากการย่อยสลายที่จำเป็นต้องใช้เวลาหลายสิบปี เช่น ขวดน้ำพลาสติกซึ่งผลิตจากพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (polyethylene terepthalate) หรือที่มีชื่อเล่นว่า ขวด PET นั้นจำเป็นต้องใช้เวลาย่อยสลายราว 450 ปี ส่วนถุงพลาสติกที่ใช้กันอยู่ทุกวัน ก็ใช้เวลาในการย่อยสลายตั้งแต่ 10 ถึง 1,000 ปีขึ้นอยู่กับประเภทพลาสติก
ด้วยความที่เป็นวัสดุราคาถูก ทำให้พลาสติกได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและถูกใช้แบบทิ้งขว้าง นำไปสู่ปัญหาขยะพลาสติกที่เริ่มถมเต็มพื้นที่ทิ้งขยะ บางส่วนหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมและปนเปื้อนในสัตว์ป่า บ้างย่อยสลายกลายเป็นพลาสติกจิ๋วที่มองไม่เห็นและวนกลับมาสู่ร่างกายมนุษย์ตามห่วงโซ่อาหาร แถมการรีไซเคิลก็ยุ่งยากและต้นทุนสูง ส่วนการเผาทำลายก็อาจแก้ไขปัญหาเดิมแต่เพิ่มเติมปัญหาใหม่เพราะจะเติมมลสารอันตรายสู่ชั้นบรรยากาศ
เมื่อไม่กี่ปีก่อน ผู้เขียนได้เห็นข่าวดีเรื่องพลาสติกย่อยสลายได้ซึ่งเปรียบเสมือนแสงสว่างแห่งความหวัง แต่ไม่นานนักกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปกลับออกกฎหมายห้ามไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ดังกล่าว หันกลับมาดูในปัจจุบัน พลาสติกย่อยสลายได้กลับกลายมามีพื้นที่สื่ออีกครั้งในประเทศไทย โดยภาคธุรกิจอวดโอ่อย่างภูมิใจว่าใช้พลาสติกย่อยสลายได้ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก
ความย้อนแย้งนี้ทำให้เราเองก็สับสน ว่าตกลงพลาสติกย่อยสลายได้เป็นฮีโร่หรือผู้ร้ายกันแน่?
หลากระดับและปัจจัยต่อการย่อยสลาย
จากการศึกษาข้อมูลให้ลึกขึ้นก็พบว่าความงุนงงดังกล่าวเกิดจากการใช้คำว่า “ย่อยสลายได้ (degradable)” กันจนเฝือโดยไม่ได้ใส่หมายเหตุไว้ว่าย่อยสลายได้โดยใช้เวลาเท่าไหร่ ย่อยสลายแบบใด และในสภาวะแวดล้อมใด เพราะหากใช้แค่คำว่าย่อยสลายได้ พลาสติกทั่วไปก็ย่อยสลายได้เช่นกันแต่อาจจะใช้เวลานานหน่อย เช่น 1,000 ปี
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐสภานิวซีแลนด์ได้จัดทำอินโฟกราฟฟิกซึ่งอธิบายหลากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการย่อยสลายของพลาสติกได้อย่างเห็นภาพ
ประการแรกคือประเภทของพลาสติก ซึ่งแบ่งเป็นกว้างๆ ว่าย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือไม่ พลาสติกบางประเภทอาจเป็นพลาสติกทั่วไปแต่เติมสารบางอย่างทำให้ย่อยสลายในภาวะตามธรรมชาติได้ ประการที่สองคือลักษณะ รูปร่าง และความหนาของพลาสติก แน่นอนว่าพลาสติกที่หนาและมีการเคลือบสารเคมีย่อมย่อยสลายได้ยากกว่า ประการที่สามคือสภาวะของการย่อยสลาย เช่น สภาวะเหมาะสมอย่างโรงหมักปุ๋ยเชิงอุตสาหกรรมที่มีทั้งระดับความชื้น อุณหภูมิ และแบคทีเรียที่เหมาะสม หรือสภาวะที่ไม่เอื้อต่อการย่อยสลายเช่นใต้ทะเลที่อุณหภูมิต่ำ ไม่มีแบคทีเรียมากนัก และแสงสว่างอาจส่องไม่ถึง และสุดท้าย การย่อยสลายนั้นจะใช้เวลามากน้อยเพียงใด
ผลลัพธ์จากทั้ง 4 ปัจจัยจะนำไปสู่ปลายทางคือระดับการย่อยสลาย 3 รูปแบบ ตั้งแต่การเสื่อมสภาพ (Degradation) แตกสลาย (Fragmentation) และย่อยสลายเป็นสารชีวภาพ (Biodegradation) ซึ่งระดับการย่อยสลายมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก การย่อยสลายที่ดีที่สุดคือการย่อยสลายเป็นสารชีวภาพ กล่าวคือบรรจุภัณฑ์นั้นจะไม่ทิ้งร่องรอยหรือปล่อยสารเคมีอันตรายใดๆ สู่ธรรมชาติ ส่วนการย่อยสลายที่ดูจะสร้างปัญหาใหม่คือการแตกสลาย ที่ทำให้พลาสติกชิ้นใหญ่กลายเป็นพลาสติกจิ๋ว (Microplastics) ซึ่งปนเปื้อนในธรรมชาติได้ง่ายขึ้นและขจัดได้ยากขึ้น
ย่อยสลายด้วยการเติมสารเคมี vs ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
เพื่อให้เข้าใจง่าย ผู้เขียนจะแบ่งประเภทพลาสติกย่อยสลายได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ก็จะสามารถแบ่งเป็นกลุ่มพลาสติกทั่วไปที่เติมสารเคมีพิเศษซึ่งกระตุ้นให้เกิดกระบวนการย่อยสลายเลียนแบบกระบวนการทางธรรมชาติ และกลุ่มพลาสติกมวลชีวภาพ (bio-based plastics) ซึ่งจะผลิตโดยใช้วัตถุดิบ เช่น แป้งหรือน้ำมันจากพืช ที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายพอลิเมอร์
สำหรับกลุ่มแรก พลาสติกชนิดที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือพลาสติกย่อยสลายได้ชนิดอ๊อกโซ (Oxo-Degradable Plastics) ซึ่งจะใช้ปฏิกิริยาเคมีทางธรรมชาติคือแสงแดด ความร้อน และออกซิเจน ทำให้พลาสติกแตกตัว อย่างไรก็ดีมีการศึกษาพบว่าพลาสติกดังกล่าวจะแตกสลายกลายเป็นพลาสติกจิ๋วที่ปนเปื้อนในระบบนิเวศได้ง่ายขึ้นและกำจัดได้ยากขึ้น ผลเสียที่มากกว่าผลได้ทำให้หลายประเทศอย่าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรปห้ามใช้ถุงพลาสติกลักษณะดังกล่าว
ที่สำคัญ พลาสติกในกลุ่มนี้มักจะไม่ได้การันตีระยะเวลาในการย่อยสลาย โดยมักมีดอกจันทร์ตัวโตว่าระยะเวลาที่ใช้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของขยะพลาสติกเหล่านั้น
สำหรับกลุ่มที่สองคือพลาสติกมวลชีวภาพ (Bio-based Plastics) ซึ่งจะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable) เพราะเป็นสารอินทรีย์โดยจะไม่ทิ้งพลาสติกจิ๋วไว้ให้เป็นเรื่องน่ากังวลใจ โดยจะมีพลาสติกซึ่งถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในปัจจุบันคือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Compostable Plastic) โดยมีมาตรฐานรับรองคือ ASTM D6400 ในสหรัฐอเมริกาและ EN 13432 ในสหภาพยุโรป ซึ่งพลาสติกที่ได้รับการรับรองจะต้องแตกสลายภายใน 12 สัปดาห์ และย่อยสลายลงร้อยละ 90 ภายใน 180 วันในพื้นที่หมักปุ๋ยเชิงอุตสาหกรรม (industrial composting facility) นอกจากนี้ สสารที่หลงเหลืออยู่จะต้องไม่มีสารเคมีอันตรายที่จะส่งให้เกิดความเสียหายหากมีการขายปุ๋ยเหล่านั้นเพื่อใช้สำหรับการเกษตร
สิ่งที่หลายคนสับสนคือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจัดอยู่ในกลุ่มพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติทุกชนิดจะสามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วเท่ากับพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพนะครับ (กรุณาดูแผนภาพประกอบเพื่อความเข้าใจ)
แล้วชีวิตเราเอาไงดี?
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยการทิ้งขยะลงมหาสมุทรสากล (International Marine Litter Research Unit) มหาวิทยาลัยพลิมัธ (University of Plymouth) ได้ทดสอบนำพลาสติก 5 ชนิดคือ ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Compostable Plastic) ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable Plastic) สองชนิด พลาสติกย่อยสลายได้ชนิดอ๊อกโซ (Oxo-Degradable Plastics) และถุงพลาสติกทั่วไป ไปทิ้งไว้ในสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติทั้งในดินและในน้ำ และคอยเฝ้าสังเกตการย่อยสลายของถุงพลาสติกแต่ละชนิด
ผลลัพธ์ที่ได้คือถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพซึ่งทิ้งไว้ในน้ำจะย่อยสลายภายใน 3 เดือน ส่วนที่ทิ้งไว้ในดินยังคงมีซากหลงเหลืออยู่หลังผ่านไป 27 เดือนแต่ก็ไม่สามารถรับน้ำหนักสิ่งของได้อีกต่อไป ส่วนถุงพลาสติกอีก 4 ชนิดที่เหลือยังคงสามารถนำมาใช้งานได้ตามปกติแม้ว่าจะผ่านไปแล้ว 3 ปี ข้อค้นพบดังกล่าวทำให้เราต้องกลับมาทบทวนว่าพลาสติกย่อยสลายได้อาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างที่หลายคนคิด
ข้อมูลเชิงประจักษ์ดังกล่าวทำให้ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราสงสัยว่าแล้วเอายังไงดี?
คำตอบก็ง่ายๆ ครับ เมื่อพลาสติกที่อวดโอ่โฆษณากันว่าย่อยสลายได้อาจไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราคิด ทางเลือกเดียวที่เราดูเหมือนจะมีก็คือการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหยิบถุงพลาสติกที่มีอยู่ในบ้านมาใช้ซ้ำให้บ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกัน เราก็ควรผลักดันให้ภาครัฐมีระบบจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม
เอกสารประกอบการเขียน
A straightforward explanation of biodegradable vs. compostable vs. oxo-degradable plastics
Biodegradable versus compostable – knowing your eco-plastics
The Good, the bad and the ugly: Bio plastics
Biodegradable plastic ‘false solution’ for ocean waste problem
‘Biodegradable’ plastic bags survive three years in soil and sea
When biodegradable plastic is not biodegradable
Tags: พลาสติกแบบย่อยสลายได้, สิ่งแวดล้อม, ขยะพลาสติก, Biodegradable Plastic, ปัญหาสิ่งแวดล้อม