1

ถ้าคุณเดินเข้าไปในศาลาว่าการเมืองคอร์ก (Cork) เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไอร์แลนด์รองลงมาจากดับลิน คุณจะพบรูปปั้นของชายผู้หนึ่ง

เขามีชื่อว่า เทอร์เรนซ์ แม็คสไวนีย์ (Terrence MacSwiney)

ชื่อนี้อาจไม่สลักสำคัญอะไรเลยกับเรา คนตะวันออกที่ข้ามโลกมาครึ่งหนึ่ง เพื่อมาเยือนเมืองอันเป็นต้นกำเนิดไอริชวิสกี้แห่งนี้

แต่ที่จริงแล้วต้องบอกว่า ชื่อของแม็คสไวนีย์นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อกำเนิด ‘ประเทศไอร์แลนด์’ ในฐานะดินแดนที่มีเอกราช และปลดแอกตัวเองออกจากประเทศอังกฤษ

แต่นั่นก็เกิดขึ้นหลังแม็คสไวนีย์จากดินแดนไอร์แลนด์และโลกไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ

2

แม็คสไวนีย์เป็นชาวคอร์กแท้ๆ เขาเกิดในบ้านบนถนนสายหลักของเมือง และถือได้ว่าเขาอยู่ในสายเลือดนักสู้เพื่อความเชื่อของตัวเองโดยแท้

ในตอนนั้น ไอร์แลนด์อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ แต่ความแตกต่างของคนสองเกาะนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์เท่านั้น อีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างอย่างเหลือเกินก็คือเรื่องศาสนา

คนไอริชจำนวนมากนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และยังยึดมั่นอยู่กับศาสนจักรที่มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข ทว่าอังกฤษเปลี่ยนผันไปเป็นศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากพระเจ้าเฮนรีที่แปด ผู้ต้องการเลิกร้างหย่าขาดจากคู่สมรส อันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในสายตาของศาสนจักร

ความขัดแย้งนี้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมา จนกระทั่งกลายเป็นสงครามระหว่างอังกฤษกับไอริช เรียกว่า Anglo-Irish War หรือ The Irish War of Independence ซึ่งก็คือสงครามเพื่อเรียกร้องอิสรภาพของไอร์แลนด์ โดยมีกองกำลังสำคัญชื่อ Irish Republican Army หรือ IRA เป็นหัวหอก

เราอาจคุ้นชื่อของขบวนการ IRA กันดี โดยเฉพาะในทศวรรษ 80-90 ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ลอบวางระเบิด ลักพาตัว และทำอะไรร้ายกาจอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะในกรุงเบลฟาสต์ที่อยู่ในไอร์แลนด์เหนือ แต่ต้องบอกกันก่อนว่า IRA ที่ว่านั้น ไม่ใช่ IRA เดียวกันกับ IRA ที่เรากำลังพูดถึง เพราะนี่คือ IRA ในช่วงต้นศตวรรษ (หลายคนเรียกว่า Old IRA) คือในช่วงปี 1919-1921 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการลุกฮือในช่วงอีสเตอร์ (Easter Rising) ในปี 1916 เพื่อแยกดินแดนและปลดแอกตัวเองออกมาเป็น ‘สาธารณรัฐไอร์แลนด์’ ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก คือไม่ขึ้นกับราชวงศ์อังกฤษและศาสนจักรแองกลิกันอีกต่อไป

แม็คสไวนีย์เกิดในปี 1879 เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดการลุกฮือช่วงอีสเตอร์ เขามีอายุ 36 ปี อยู่ในวัยที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่มนุษย์จะเป็นได้

พ่อของเขา จอห์น แม็คสไวนีย์ เป็นชาวโรมันคาทอลิกที่แข็งขันครัดเคร่ง จอห์นเคยอาสาไปเป็นองครักษ์พิทักษ์พระสันตะปาปา ในคราวที่เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนจักรกับการรวมนครรัฐต่างๆ เข้าเป็นประเทศอิตาลีโดยฝีมือของ จูเซปเป การีบัลดี (Guiseppe Garibaldi) รายละเอียดเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่นั่นทำให้เห็นว่า แม็คสไวนีย์เกิดในตระกูลที่ยอมอุทิศตนเพื่อศาสนจักรมากกว่ารัฐที่ไม่ได้มีศรัทธาในศาสนจักรแบบเดียวกัน และจะว่าไป ชาวไอริชแทบทั้งหมดก็เป็นแบบนั้นด้วย

แม็คสไวนีย์ผู้ลูกไม่ได้สนใจแค่เรื่องศาสนาเท่านั้น แต่เรื่องใหญ่ที่เขาสนใจมากกว่าก็คือเรื่องของการเขียน งานวรรณกรรม (โดยเฉพาะงานวรรณกรรมเซลติก) และงานละคร เขามีส่วนในการก่อตั้งสมาคมวรรณกรรมเซลติก (Celtic Literary Society) และสมาคมละครแห่งเมืองคอร์ก (Cork Dramatic Society) รวมทั้งเขียนบทละครมากมายหลายเรื่อง และงานเขียนนี้เอง ที่ค่อยๆ ผลักเขาเข้าสู่อาณาแห่งการเมือง

ละครที่เขาเขียนนั้น เริ่มแรกก็เป็นละครทั่วไป แต่ไม่นานนัก กลิ่นอายการเมืองในละครก็ค่อยๆ เด่นชัดขึ้น ในปี 1915 (ก่อนเกิดการลุกฮือในช่วงอีสเตอร์หนึ่งปี) เขาเขียนละครเรื่อง The Revolutionist หรือ ‘นักปฏิวัติ’ ขึ้นมา ถือเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองที่เข้มข้น ทำให้เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในปัญญาชนชาวไอริชที่ลุกขึ้นต่อสู้ด้วยการเขียน

เขาเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ และสุดท้ายก็ลุกขึ้นก่อตั้งหนังสือพิมพ์เสียเองด้วย แต่ผ่านไปไม่นานก็ถูกสั่งปิดเพราะเนื้อหาที่รุนแรงเกินไป เมื่อเกิดการลุกฮือในช่วงอีสเตอร์นั้น เขาก็เข้าร่วมอย่างแข็งขัน เพราะเห็นว่าการแบ่งแยกประเทศเป็นเรื่องที่ควรทำ และแล้วในที่สุด แม็คสไวนีย์ก็ถูกรัฐบาลอังกฤษจับ สั่งจำคุก และเนรเทศเขา จนกระทั่งถึงปี 1917 จึงได้รับการปล่อยตัวออกมา

แน่นอน แม็คสไวนีย์ย่อมสนับสนุนขบวนการกู้ชาติไอร์แลนด์หรือ IRA และนั่นเป็นเหตุให้เขาถูกจับอีกครั้ง เพราะเขาใส่เครื่องแบบของ IRA ที่เมืองคอร์ก และมีผู้พบเห็น นั่นทำให้เขาเลือกอดอาหารประท้วง และได้รับการปล่อยตัวในอีกสามวันต่อมา

นั่นคือการอดอาหารประท้วงครั้งแรก แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

3

ชีวิตทางการเมืองของแม็คสไวนีย์เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในปี 1920 เมื่อเขาลงสมัครรับเลือกตั้ง และชนะการเลือกตั้งจนกลายเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองคอร์ก แต่เขาเข้ารับตำแหน่งได้เพียงห้าเดือนเท่านั้น เพราะถูกทางการสั่งจับด้วยข้อหา ‘ปลุกระดมมวลชน’ ผ่านทางการเขียนบทความต่างๆ ทั้งที่ในช่วงนั้นมีการประกาศกฎอัยการศึก

คราวนี้เขาถูกนำตัวขึ้นศาลซึ่งเป็นศาลทหาร มีการไต่สวนพิจารณาคดีเพียงช่วงสั้นๆ เขาถูกจับในวันที่ 12 สิงหาคม แค่สี่วันต่อมา ในวันที่ 16 สิงหาคม ศาลทหารก็ตัดสินแล้วว่าเขาต้องถูกจำคุกสองปีเต็ม การพิจารณาคดีจึงเต็มไปด้วยข้อเคลือบแคลงสงสัย เขาต้องโทษจำคุกที่เรือนจำบริกซ์ตันในอังกฤษ

แม็คสไวนีย์ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลทหาร เมื่อต้องเข้าคุก เขาจึงเลือกอดอาหารประท้วงในทันที เพราะกระบวนการตัดสินของศาลทหารนั้นไม่มีความยุติธรรม นั่นทำให้นักโทษในเรือนจำของคอร์กอีก 11 คน เลือกจะอดอาหารประท้วงตามไปด้วย ทำให้รัฐบาลอังกฤษเห็นว่าแม็คสไวนีย์เป็น ‘ตัวอันตราย’ อย่างมาก ถึงขั้นออกประกาศว่า ถ้าปล่อยตัวแม็คสไวนีย์ไป จะส่งผลให้เกิดหายนะในไอร์แลนด์ และอาจนำไปสู่การลุกฮือกันก่อกบฏได้ทั้งในหมู่ตำรวจและทหารของไอร์แลนด์ตอนใต้

การอดอาหารของแม็คสไวนีย์เป็นเรื่องใหญ่ระดับนานาชาติ หลายประเทศขู่ว่าจะคว่ำบาตรอังกฤษหากไม่ยอมปล่อยตัวเขา โดยเฉพาะประเทศในแถบอเมริกาใต้ ซึ่งมีการรวมตัวกันเรียกร้องให้พระสันตะปาปาเข้ามาแทรกแซง มีการประท้วงทั้งในเยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน และแม้กระทั่งในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ

การอดอาหารประท้วงนั้นเรียกว่า ‘Hunger Strike’ ซึ่งทางการอังกฤษได้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้แม็คสไวนีย์กินอาหาร เช่น นำอาหารไปวางไว้ใกล้ๆ เพื่อให้เขาหิวและอยากกิน แต่ความเชื่อมั่นในศาสนาและการแยกดินแดนทำให้แม็คสไวนีย์แข็งแกร่ง เขาไม่ยอมกินอะไรนอกจากน้ำ

เมื่อร่างกายของเขาอ่อนแอลง ทางการอังกฤษมีความพยายามที่จะเค้นคอให้เขากินอาหารเข้าไป แต่นั่นก็ไม่เป็นผลอะไรมากนัก อาหารอาจผ่านเข้าสู่ร่างกายของเขาได้บ้าง แต่ก็ไม่มาก เมื่อผ่านไป 69 วัน แม็คสไวนีย์ก็เข้าสู่ภาวะโคม่า เขาไม่รับรู้ยินยลอะไรอีกต่อไป แล้วหลังจากนั้นอีกห้าวัน เขาก็เสียชีวิต

ในบทกวีชื่อ Battle-Cries ที่เขาแต่งไว้ในปี 1918 มีอยู่ตอนหนึ่งที่เขียนเอาไว้ว่า

Let not the kiss of death itself by one man be denied.

We freely offer pain in death and every hope in life.

จงอย่าให้จุมพิตแห่งมรณาของชายหนึ่งได้รับการปฏิเสธ

เรามีเสรีที่จะเสนอซึ่งความเจ็บปวดแห่งความตายและทุกความหวังในชีวิต

4

ความตายของแม็คสไวนีย์ไม่ได้ทำให้อังกฤษชนะ

นี่คือหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้ความขัดแย้งยิ่งปะทุทวีขึ้น นักโทษการเมืองอีกสองคนในคุกที่คอร์ก (โจ เมอร์ฟีย์ และไมเคิล ฟิตซ์เจอรัลด์) ก็เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงด้วยในปีเดียวกัน 

ปลายปี เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นในกรุงดับลิน มีการเผาศูนย์ราชการในเมืองคอร์ก ความรุนแรงยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงปี 1921 และทำท่าจะลุกลามต่อไปในอังกฤษ ซึ่งไม่มีการประกาศกฎอัยการศึก 

แต่สุดท้าย กลางปี 1921 ก็เกิดการสงบศึกขึ้น และมีการลงนามในสนธิสัญญาที่เรียกว่า Anglo-Irish Treaty ในช่วงปลายปี ซึ่งทำให้ไอร์แลนด์เป็นอิสระ เว้นไว้แต่ไอร์แลนด์เหนือ แต่กระนั้น เหตุการณ์ก็ไม่ได้สงบจริงจัง เนื่องจากยังมีกลุ่มกองกำลังที่ไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญาที่ยังก่อความรุนแรงต่อไปอีกระยะหนึ่ง และความขัดแย้งระหว่างไอร์แลนด์ใต้และเหนือก็ค่อยๆ สั่งสมก่อตัว จนกระทั่งเกิดขบวนการ IRA ขึ้นอีกหนในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

การอดอาหารประท้วงและความตายของแม็คสไวนีย์เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้นำอีกหลายคน มหาตมะ คานธี ยอมรับว่าแม็คสไวนีย์เป็นหนึ่งในคนที่มีอิทธิพลต่อเขา ชวาหะร์ลาล เนห์รูก็เช่นเดียวกัน แม้กระทั่งโฮจิมินห์ ซึ่งทำงานอยู่ในลอนดอนช่วงที่แม็คสไวนีย์เสียชีวิต ก็ยอมรับในตัวแม็คสไวนีย์ และพูดถึงแม็คสไวนีย์เอาไว้ว่า “ประเทศที่มีประชาชนแบบนี้ จะไม่มีวันพ่ายแพ้”

และไอร์แลนด์ก็ไม่ได้พ่ายแพ้

หรือจะพูดให้ถูก ไม่เคยพ่ายแพ้

Tags: , ,