1

คำถามที่คนอังกฤษในศตวรรษที่ 18 น่าจะถามกันให้แซ่ดไปหมดก็คือ เพราะเหตุใดเจ้าชายที่ได้ชื่อว่า ‘เพลย์บอย’ อย่างเจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งก็คือเจ้าชายจอร์จ (ผู้ต่อมาจะเป็นกษัตริย์จอร์จที่สี่) ถึงได้ยอมแต่งงานกับเจ้าหญิงที่ไม่สวย แถมยังเจ้าเนื้อ และไม่เจรจาพาทีสนุกสนานชาญฉลาดเหมือนใครเขา อย่างเจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งบรันสวิคได้

คำตอบที่คนสมัยนั้นเดากันก็คือ อาจทรงแต่งงานเพื่อเงิน!

เจ้าชายจอร์จ (ที่คนเรียกกันว่า ‘พรินนี’ มาจาก Prinny หรือ Prince of Wales) ขึ้นชื่อว่าเป็นเพลย์บอยและเสือผู้หญิงมาตั้งแต่ยังหนุ่ม แค่อายุ 17 ปี ก็ไปมีสัมพันธ์กับนักแสดงสาวชื่อ แมรี โรบินสัน แต่ที่ถือกันว่าไม่เป็นไปตามโบราณราชประเพณีที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกันอย่างยิ่งนั่นคือ ทรงไปมีสัมพันธ์รักอย่างเหนียวแน่นเข้ากับ มาเรีย ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต (Maria Fitzherbert) ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และสองนิกายนี้มีเรื่องขัดแย้งกันยาวนาน ทั้งในระดับผู้คนทั่วไปจนกระทั่งถึงระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่เพียงแต่นับถือศาสนาต่างนิกายกันก็มีเรื่องราวในประวัติศาสตร์ถึงขั้นฆ่าฟันและยกทัพรบพุ่งกันมาก่อน

ดังนั้น เจ้าชายจอร์จของเราจึงต้องปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับ!

ที่จริง มาเรีย ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต เคยแต่งงานมาก่อนแล้วด้วย เธอแต่งงานกับ เอ็ดเวิร์ด เวลด์ (Edward Weld) ซึ่งเป็นคาทอลิกเหมือนกัน และแก่กว่าตัวเธอถึง 16 ปี แต่แต่งงานได้สามเดือน เวลด์ก็ตายเพราะตกม้า ถัดมาอีกสามปี เธอก็แต่งงานครั้งที่สองกับ โธมัส ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต (ถึงได้นามสกุลนี้มา) แต่แล้วสามีคนที่สองก็มาตายจากไปอีก ทว่าทิ้งเงินและบ้านหรูในย่านเมย์แฟร์ของลอนดอนเอาไว้ให้ นั่นทำให้เธอได้เข้ามาสู่แวดวงสังคมชั้นสูงของลอนดอน และสุดท้ายก็ได้มาพบกับเจ้าชายจอร์จผู้ยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว แถมยังเป็นเสือผู้หญิงด้วย

พอพบกันเท่านั้น พระองค์ก็ติดพันเธอไม่ยอมเลิกรา และทรงทำถึงขั้นขอเธอแต่งงาน แต่การแต่งงานของทั้งคู่นั้นเป็นไปอย่างลับๆ เพราะการแต่งงานนี้ไม่ผ่านการรับรู้ของกษัตริย์จอร์จที่สามซึ่งเป็นพระบิดา และสภาองคมนตรีก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวด้วยเช่นกัน แต่กฎหมายว่าด้วยการแต่งงานของราชวงศ์ชั้นสูงฉบับปี 1772 กำหนดไว้อย่างนั้น ทั้งคู่จึงต้องแต่งงานกันอย่างลับๆ โดยร่ำลือกันว่า เจ้าชายจอร์จใช้เงินมากถึง 500 ปอนด์ ในการว่าจ้างพระในนิกายแองกลิกันให้มาทำพิธีให้

ทั้งคู่อยู่ด้วยกันอย่างลับๆ แต่มีความสุขยาวนานถึง 8 ปี ก่อนที่เจ้าชายจอร์จจะพบว่า ความสุขของพระองค์แลกมาด้วยหนี้สินล้นพ้นตัวมากถึง 630,000 ปอนด์ ซึ่งถ้าคิดเป็นเงินในปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 66 ล้านปอนด์

แล้วจะทำอย่างไรดีถึงจะหาเงินมาจ่ายหนี้ได้

2

แคโรไลน์เกิดมาในฐานะเจ้าหญิง พระนางเป็นเจ้าหญิงเยอรมันแห่ง Braunschweig ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘บรันสวิค’ (Brunswick) โดยเป็นลูกของชาร์ลส์ วิลเลียม เฟอร์ดินานด์ (Charles William Ferdinand) ดยุคแห่งบรันสวิค และเจ้าหญิงออกุสตา (Augusta) แห่งเกรตบริเตน ผู้เป็นลูกสาวคนโตของพระเจ้าจอร์จที่สาม ซึ่งหากจะนับญาติกันจริงๆ แคโรไลน์ถือเป็นลูกพี่ลูกน้องของเจ้าชายจอร์จนั่นเอง

ถึงจะเกิดมาเป็นเจ้าหญิง แต่แคโรไลน์ถือได้ว่าเป็น ‘เด็กบ้านแตก’ คนหนึ่ง เพราะทั้งพ่อและแม่แยกทางกัน โดยต้นเหตุมาจากพ่อของเธอไปมีสัมพันธ์รักอยู่กับบารอนเนสคนหนึ่งอย่างเปิดเผย แถมยังตั้งให้บารอนเนสดังกล่าวเป็น ‘อนุฯ’ (Mistress) อย่างเป็นทางการด้วย แคโรไลน์จึงต้องไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านพ่อกับบ้านแม่ และตกอยู่ในความขัดแย้งดังกล่าวตลอดช่วงวัยเด็ก จนอาจถือได้ว่าเป็นความทุกข์ทรมาน (Trauma) อย่างหนึ่งในชีวิตของเธอ

แม่ของแคโรไลน์ให้เธอเรียนภาษาอังกฤษ เพราะมุ่งหวังว่าจะให้เธอได้แต่งงานกับเจ้าชายจอร์จหรือพรินนี เพื่อจะได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นราชินีแห่งอังกฤษในอนาคต เธอจึงแทบจะถูกขังอยู่ในแวดวงของผู้หญิง ริ้นไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม เธอแทบไม่รู้จักเพศตรงข้ามเลยแม้จะใช้มาตรฐานของยุคสมัยนั้นก็ตาม ชีวิตของเธอต้องอยู่แต่ในห้อง อยู่กับพี่เลี้ยงและนางสนมสูงวัยเท่านั้น ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปร่วมงานเลี้ยงใดๆ ทั้งสิ้น จนเมื่อเริ่มโตแล้วสามารถเข้าร่วมงานได้ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เต้นรำ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ทำไมแคโรไลน์ถึงไม่ค่อยเป็นที่ต้อนรับในวงสังคมเท่าไรนัก เพราะเธอไม่ได้ถูกฝึกให้เข้าสังคมมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง

แคโรไลน์ไม่เคยพบหน้าเจ้าชายจอร์จมาก่อน แต่ในปี 1794 พระนางก็ได้หมั้นหมายกับจอร์จเอาไว้ ก่อนจะได้เดินทางมาพบหน้ากันในปีถัดมา เมื่อเดินทางมาถึงอังกฤษ มีผู้บรรยายรูปร่างของแคโรไลน์เอาไว้ว่า ‘เตี้ย อ้วน อัปลักษณ์ ไม่เคยเปลี่ยนชุดชั้นใน และแทบไม่เคยอาบน้ำ’ 

เล่ากันว่า เมื่อพบกัน จอร์จต้องกอดแคโรไลน์ตามธรรมเนียม เมื่อกอดเสร็จ เขารีบหนีออกไปอยู่ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ แล้วบอกกับเอิร์ลแห่งมัล์มสบิวรี (Earl of Malmesbury) ว่ารู้สึกคลื่นไส้ ให้เอิร์ลไปเอาบรั่นดีมาให้จิบ 

ว่ากันว่า จอร์จยอมแต่งงานกับแคโรไลน์ซึ่งเป็น ‘เจ้าหญิง’ ที่ถูกต้องตามกฎหมายและความประสงค์ของผู้เป็นบิดาของเขานั้น เหตุผลมีอยู่เรื่องเดียวคือเมื่อแต่งงานแล้ว สภาจะอนุมัติเงินก้อนใหญ่ให้จอร์จเพื่อนำไปใช้หนี้ได้ แต่กระนั้น เขาก็คงรู้สึกพิพักพิพ่วนอยู่ไม่น้อย เพราะก่อนถึงวันแต่งงาน จอร์จดื่มเหล้าเมามายอยู่สามวันสามคืน ครั้นถึงเวลาส่งตัวก็เมาแประหมดสติอยู่หน้าห้องนอนนั่นเอง แต่กระนั้น สุดท้ายทั้งคู่ก็มีลูกด้วยกันหนึ่งคนคือเจ้าหญิงชาร์ล็อต

จอร์จเห็นว่าแคโรไลน์นั้นน่าขยะแขยงมาก เมื่อแต่งงานมาได้หนึ่งปี เขาทนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว จึงแจ้งกับเธอว่าจะไปทำอะไรก็ได้ตามแต่ต้องการเลย เพราะเขาไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ใดๆ กับเธออีกแล้ว ด้วยความคับแค้น แคโรไลน์จึงย้ายไปอยู่ที่แบล็กฮีธ (Blackheath) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอน แล้วใช้ชีวิตอิสระในแบบที่เธอไม่เคยใช้มาก่อน

ร่ำลือกันว่า ในห้องของเธอ เธอมีนาฬิกาเป็นตุ๊กตาจีนที่จะแสดงท่าทางร่วมเพศต่างๆ ยามตีบอกเวลา เธอยังชอบออกมาเต้นรำและเปิดเผยเนื้อตัวด้วย นั่นทำให้เกิดข่าวลือในปี 1806 ว่า แคโรไลน์มีชู้รักเป็นพลทหาร และมีลูกกับเขาหนึ่งคน แม้จะมีการสืบสวนและหาหลักฐานอะไรไม่พบตามข่าวลือ ทว่าสุดท้ายแคโรไลน์ก็ถูกลงโทษ ด้วยการไม่ให้เธอได้พบหน้าลูกสาวคือเจ้าหญิงชาร์ล็อตอีกต่อไป

ในปี 1814 แคโรไลน์ตัดสินใจไม่อยู่อังกฤษต่อแล้ว เธอย้ายไปอิตาลี ที่นั่นมีข่าวร่ำลืออีกว่า เธอว่าจ้างชายหนุ่มชาวอิตาเลียนคนหนึ่งมาคอยดูแลรับใช้ หลายคนจึงเดาว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกัน แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้อีก 

3

ข่าวร้ายที่สุดในชีวิตของแคโรไลน์เดินทางมาถึงเธอในปี 1817 เมื่อเธอรับรู้ว่า เจ้าหญิงชาร์ล็อต – ลูกสาวคนเดียวของเธอเสียชีวิตลงขณะคลอดบุตร แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือข่าวนี้ไม่ได้มาถึงเธอเพราะผู้เป็นสามีและพ่อของชาร์ล็อตแจ้งให้เธอทราบ เธอรู้ข่าวนี้โดยบังเอิญจากคนอื่นๆ นั่นเพราะจอร์จไม่ยอมให้ใครเขียนมาแจ้งเธอ การที่เจ้าหญิงชาร์ล็อตจากไปทำให้เส้นด้ายบางๆ ที่ยึดโยงจอร์จกับแคโรไลน์ขาดสะบั้นลง เขามุ่งมั่นจะหย่าขาดจากแคโรไลน์ พร้อมทั้งสั่งให้คนหาหลักฐานการคบชู้ของแคโรไลน์มาใช้ประกอบการหย่าร้างด้วย 

อย่างไรก็ตาม จอร์จเป็นวัวสันหลังหวะ มีข่าวลือมากมายว่าเขามีสัมพันธ์กับผู้หญิงนับไม่ถ้วน และน่าจะมีลูกนอกกฎหมายหลายคน (จอร์จเองเคยยอมรับด้วยว่าเขามีลูกนอกกฎหมายอย่างน้อยก็หนึ่งคน) นั่นทำให้ที่ปรึกษาแจ้งกับจอร์จว่า การพยายามฟ้องหย่ากับแคโรไลน์ด้วยการกล่าวหาว่าเธอคบชู้ จะนำมาสู่การสาวไส้ให้กากินด้วยเรื่องของจอร์จเอง 

สิ่งที่จอร์จพยายามทำก็คือการพยายาม ‘อยู่เหนือกฎหมาย’ ด้วยการสั่งให้สภาร่างกฎหมายที่เรียกว่า Pains and Penalties Bill ขึ้นมา กฎหมายนี้คือการมอบอำนาจให้ศาลสามารถลงโทษคนได้โดยไม่ต้องไต่สวน โดยมีจุดมุ่งหมายจะใช้ลงโทษแคโรไลน์โดยไม่ต้องสอบอะไรทั้งนั้น เรื่องฉาวโฉ่จะได้ไม่เข้าตัว แต่ปรากฏว่าประชาชนทั่วไปไม่ยอมรับกฎหมายนี้ เพราะมันไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมใดๆ ทั้งสิ้น สุดท้ายกฎหมายนี้จึงต้องถอนออกจากสภา และจากที่คนไม่ค่อยชอบหน้าอยู่แล้ว จอร์จยิ่งกลายเป็นกษัตริย์ที่คนรังเกียจมากขึ้นไปอีก

แต่แคโรไลน์นั้นกลับกัน กฎหมายเหนือกฎหมายนี้กลับทำให้ผู้คนเห็นใจพระนาง แคโรไลน์ถึงขั้นพูดติดตลกกับสาธารณชนว่า พระนางคบชู้สู่ชายจริง แต่พระนางคบชู้กับสามีของ มาเรีย ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต ซึ่งก็คือเจ้าชายจอร์จผู้กลายมาเป็นกษัตริย์นั่นเอง

แม้จะถูกไต่สวน แต่คนก็ยิ่งนิยมชมชอบพระนางมากขึ้นเรื่อยๆ มีคนเขียนคำร้องเข้ามามากกว่า 800 ฉบับ เพื่อให้เลิกไต่สวนพระนาง และมีการลงชื่อมากถึงเกือบหนึ่งล้านรายชื่อเพื่อสนับสนุนแคโรไลน์ เรื่องนี้ยิ่งทำให้จอร์จขัดเคืองเข้าไปใหญ่

กษัตริย์จอร์จที่สามสิ้นพระชนม์ในปี 1820 จอร์จจึงได้ขึ้นครองราชย์โดยมีพิธีราชาภิเษกในเดือนกรกฎาคม 1821 ซึ่งโดยปกติทั่วไป แคโรไลน์ควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชินีด้วย แต่กษัตริย์จอร์จที่สี่ไม่ยอมให้พระนางเข้าร่วมพิธี แต่พระนางยืนยันว่า ไม่ – พระนางจะไป

แล้วแคโรไลน์ก็ไปจริงๆ โดยพยายามเข้าทางประตูด้านนั้นด้านนี้ของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แต่ก็ถูกทหารกั้นเอาไว้ทุกทาง จนในที่สุดก็เกิดภาพราวกับมินิซีรีส์ เมื่อแคโรไลน์เปิดประตูใหญ่ผางออก พลางยืนอยู่ตรงช่องประตูนั้นด้วยสีหน้าเกรี้ยวโกรธอย่างที่สุด แต่มีทหารใช้ดาบปลายปืนจ่อเข้าที่คางของพระนาง และสุดท้าย ลอร์ดเชมเบอร์เลนก็ปิดประตูโครมใส่หน้าของพระนาง

ในตอนนั้น แคโรไลน์เพิ่งจะอายุ 53 ปี สุขภาพทั่วไปดีไม่มีปัญหา แต่เป็นคืนนั้นเอง – หลังถูกปฏิเสธการเข้าร่วมพิธีราชาภิเษก พระนางก็ล้มป่วยลง พระนางดื่มนมแมกนีเซีย (Milk Magnesia) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยาคลายประสาท ร่วมกับยาเลาดานุม (Laudanum) ซึ่งเป็นยาเข้าฝิ่นที่ช่วยกล่อมประสาทอีกเช่นกัน แล้วจากนั้นก็เข้านอน

ตลอดสามสัปดาห์ถัดมานับตั้งแต่วันราชาภิเษก แคโรไลน์ล้มป่วยหนักขึ้นและหนักขึ้น พระนางรู้ว่าตัวเองกำลังก้าวเข้าใกล้ความตาย จึงรีบจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเผาเอกสาร จดหมาย และบันทึกต่างๆ จนหมด ก่อนจะเขียนพินัยกรรมใหม่ และจัดการงานศพของตัวเอง โดยสั่งให้นำศพของพระนางกลับไปฝังที่บรันสวิคในเยอรมนี และจารึกไว้ว่า ‘นี่คือแคโรไลน์ ราชินีแห่งอังกฤษผู้บาดเจ็บ’ นั่นทำให้แคโรไลน์ได้ชื่อว่าเป็น The Injured Queen

4

แล้วแคโรไลน์ก็ตายลงจริงๆ ในวันที่ 7 สิงหาคม 1821 แพทย์เชื่อว่าเธอตายเพราะลำไส้อุดตัน แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่เธอจะเป็นมะเร็งและอาการกำเริบกะทันหัน ทว่าก็มีข่าวลือด้วยว่า แคโรไลน์ถูกวางยาพิษ

เมื่อคนระดับราชินีของประเทศตายลง ย่อมต้องมีพิธีศพและขบวนแห่ แต่ด้วยความกลัวของจอร์จ จึงมีคำสั่งห้ามแห่ศพของแคโรไลน์เข้ามาในกรุงลอนดอน มีการจัดเส้นทางแห่งศพไปทางหนึ่งนอกเมือง แต่เพราะผู้คนรักเธอ ประชาชนจึงรวมตัวกันปิดกั้นเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ เพื่อบีบให้ขบวนแห่ศพของแคโรไลน์เดินหน้าผ่านเวสต์มินสเตอร์และลอนดอนให้ได้ 

ภาพที่เกิดขึ้นก็คือ ประชาชนรุมกันขว้างก้อนหินและอิฐใส่เจ้าหน้าที่ที่พยายามจัดการขบวนแห่ให้เป็นไปตามคำสั่งของจอร์จ เหตุการณ์นั้นทำให้มีประชาชนเสียชีวิตถึงสองคน แล้วในที่สุด เซอร์โรเบิร์ต เบเคอร์ (Robert Baker) ซึ่งเป็นคล้ายๆ ผู้ว่าการเมืองในสมัยนั้นก็ยอมให้ขบวนแห่ผ่านเมืองได้ (แล้วสุดท้ายเขาก็ถูกไล่ออกจากตำแหน่ง)

ศพของแคโรไลน์จึงเดินทางจากแฮมเมอร์สมิธผ่านไปทั่วเมือง ก่อนจะไปถึงท่าเรือฮาร์วิช เพื่อส่งศพของพระนางลงเรือกลับไปสู่บรันสวิคตามที่พระนางตั้งใจเอาไว้

แคโรไลน์เกิดมาในสภาพครอบครัวแตกแยก พ่อมีเมียน้อย เมื่อแต่งงานก็พบว่าผัวมีเมียเก็บเอาไว้ก่อนหน้าแล้ว แถมยังชิงชังและเห็นว่าเธออัปลักษณ์อีกด้วย เขาทำแม้กระทั่งปฏิเสธเธอจากพิธีราชาภิเษก ชีวิตของเธอจึงมีความสุขน้อยยิ่งกว่าน้อย มันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานที่ยุ่งเหยิง

ดังนั้น คำว่า The Injured Queen ที่เธอใช้กับตัวเองบนหลุมศพ จึงเป็นคำที่บรรยายถึงชีวิตของเธอได้แจ่มชัดยิ่งนัก

Tags: , , , , ,