ว่ากันว่าเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐาของควีนเอลิซาเบธที่สอง (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) มีกิจวัตรยามเช้าคือการกินอาหารเช้าบนเตียง จากนั้นก็นอนฟังวิทยุและสูบบุหรี่อยู่นานราวสองชั่วโมง ก่อนที่จะลุกขึ้นอาบน้ำนานถึงหนึ่งชั่วโมง

ฟังดูสะอาดสะอ้านอย่างยิ่ง จนหลายคนอาจคิดว่า เหล่าราชวงศ์น่าจะมีชีวิตที่ ‘สะอาดสะอ้าน’ เช่นนั้นมาแต่โบราณ

แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อย้อนกลับไปในยุคทิวดอร์ ต่อให้ตัวราชินีเอง พระนางก็ไม่อาจมีวิถีปฏิบัติที่สะอาดสะอ้านได้ถึงเพียงนั้น

มีบทความและหนังสือมากมายที่บอกเราว่า ควีนเอลิซาเบธที่หนึ่งแห่งราชวงศ์ทิวดอร์นั้นอาบน้ำน้อยมาก คำพูดที่เราได้ยินบ่อยครั้งก็คือ ทรงอาบน้ำเพียงเดือนละครั้งไม่ว่าจะจำเป็นต้องอาบหรือไม่ก็ตาม นั่นคือต่อให้สกปรกอย่างไร ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่จะอาบก็จะไม่อาบ

คำพูดนี้ปรากฏอยู่ในรายงานของทูตชาวเวนิสคนหนึ่งที่เขียนส่งกลับไปยังผู้ปกครองของตน แม้จะไม่มีหลักฐานอื่นมายืนยันการตรวจสอบ แต่ข้อความนี้กลายเป็นความเชื่อที่แพร่หลายมากว่า ราชวงศ์ในยุคทิวดอร์นั้นไม่นิยมการอาบน้ำ

ที่จริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในหมู่ราชวงศ์เท่านั้น เพราะมีหลักฐานบ่งชี้ว่า การอาบน้ำของคนทั่วไปในยุคทิวดอร์ของอังกฤษและยุคกลางของยุโรปเป็นเรื่องที่ออกจะ ‘ต้องห้าม’ เสียด้วยซ้ำไป

สำหรับคนไทยแท้แต่โบราณ การอาบน้ำคือเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก เพราะเราเป็นคนเมืองร้อนที่อยู่ริมคลอง การอาบน้ำจึงหมายถึงการกระโดดลงไปในคลอง ขัดสีฉวีวรรณ แล้วก็ขึ้นมาจากคลองอย่างสะอาดเอี่ยม (เพราะคลองในสมัยโบราณสะอาดมาก) ดังนั้น การอาบน้ำจึงไม่ใช่เรื่องยากอะไร ใครๆ ก็สามารถอาบน้ำได้ บางคนอาบน้ำวันละหลายๆ ครั้งด้วยซ้ำในยามที่อากาศร้อน

แต่สำหรับยุโรปยุคกลางแล้ว การอาบน้ำไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น

ในยุคโรมันเคยมีการสร้างท่อส่งน้ำที่เรียกว่า Aqueduct อย่างแพร่หลาย ทำให้การอาบน้ำเกิดขึ้นได้ง่าย คนทั่วไปจึงนิยมการอาบน้ำกันมาก แต่เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลง ท่อส่งน้ำก็ถูกทำลายและผุพังไปตามกาลเวลา การหา ‘น้ำ’ เพื่อมาอาบจึงไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย

ที่สำคัญก็คือ อากาศที่หนาวทำให้คนยุโรปต้องอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน โดยนิยามของการอาบน้ำหรือ Bathing ก็คือต้อง ‘จุ่มตัว’ ลงไปในน้ำร้อนทั้งตัว ซึ่งจะทำให้รูขุมขนเปิดออก ในปัจจุบัน เราพยายามเปิดรูขุมขนเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกต่างๆ ออกไปจากผิว แต่สำหรับคนในยุคกลางที่น้ำหายาก และไม่ได้สะอาดสะอ้านมากนัก การที่รูขุมขนเปิดออกจึงอาจกลายเป็นการเปิดโอกาสให้สิ่งสกปรกจากน้ำหลุดเข้าไปในร่างกายและทำให้ป่วยได้

ในลอนดอนยุคนั้นมีสถานที่อาบน้ำสาธารณะหรือ Public Bathhouse อยู่แพร่หลาย เพราะสมัยโน้นไม่มีท่อประปาที่จะนำน้ำเข้าสู่บ้านแต่ละบ้าน สถานที่อาบน้ำสาธารณะจึงเกิดขึ้นโดยมีการนำน้ำเข้ามาให้ความร้อนเป็นบ่อใหญ่ๆ เพื่อให้คนเข้ามาแช่คราวละสองถึงสามคน

แม้โรงอาบน้ำแบบนี้จะไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในเรื่องเพศมาตั้งแต่ต้น และหลายแห่งก็ยังดำเนินกิจการอย่างซื่อสัตย์ต่อความเป็นโรงอาบน้ำ ทว่าหลายแห่งก็ดำเนินการผิดเพี้ยนไปจากเดิม ความหมายของโรงอาบน้ำจึงเคลื่อนเข้าทาบทับกับความเป็นสถานประโลมโลกีย์หรือซ่อง และกลายเป็นแหล่งที่มาของการค้าประเวณี สุดท้ายเมื่อโรคซิฟิลิสบุกเข้าสู่ยุโรปในราวต้นศตวรรษที่ 16 ผู้คนก็เชื่อกันว่าการอาบน้ำในโรงอาบน้ำเป็นอันตราย เพราะที่นั่นคือแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค

การอาบน้ำในยุคกลางจึงมี ‘ความหมาย’ กลับข้างกับการอาบน้ำยุคใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง เพราะแทนที่การอาบน้ำจะเป็นเรื่องถูกสุขอนามัย กลับกลายเป็นเรื่องที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

หลายคนเชื่อว่าวิธีคิดแบบนี้ทำให้ราชวงศ์ในยุคกลางไม่ค่อยนิยมอาบน้ำกัน เพราะราชวงศ์ยุคนั้นต้องคอยระแวดระวังทุกเรื่อง ตั้งแต่อาหารการกินไปจนถึงสุขอนามัยส่วนตัว แม้ควีนเอลิซาเบธที่หนึ่งนั้นขึ้นชื่อเรื่องอาบน้ำเพียงเดือนละครั้ง แต่ไม่ใช่แค่พระนางเท่านั้นที่ดูเหมือนไม่ชอบการอาบน้ำ เพราะพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ถัดมาจากพระนาง (แต่ไม่ได้อยู่ในราชวงศ์ทิวดอร์แล้ว) ก็ขึ้นชื่อเรื่องไม่ชอบอาบน้ำเช่นกัน ไม่นับพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่แห่งฝรั่งเศส ที่ร่ำลือกันว่าอาบน้ำเพียงแค่สามครั้งเท่านั้นชั่วชีวิตของพระองค์

แต่เรื่องเล่าเหล่านี้หมายความว่าราชวงศ์ที่ว่ามาเป็นคนไม่รักความสะอาดจริงหรือ บางทีเราก็อาจต้องให้ความยุติธรรมกับราชวงศ์ในอดีตเหล่านี้ด้วยการพยายามตอบคำถามนี้

ไซมอน เธอร์ลีย์ (Simon Thurley) นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมชาวอังกฤษเคยบอกว่า แนวคิดที่ว่าคนสมัยก่อนสกปรกไม่ถูกสุขอนามัยนั้น เป็นแนวคิดที่อาจจะผิดก็ได้ โดยเฉพาะกับคนอังกฤษในยุคทิวดอร์ของพระนางเอลิซาเบธที่หนึ่ง

เธอร์ลีย์บอกว่า ที่จริงแล้วคนในยุคนั้นสะอาดกว่าที่เราคิดมากทีเดียว แต่ความสะอาดนั้นถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยี เพราะยุคนั้นไม่ได้มีน้ำประปา ไม่มีท่อระบายน้ำ (Sewage) แถมประชากรก็ยังเพิ่มสูงขึ้นกว่ายุคก่อนหน้า ดังนั้นการรักษาความสะอาดจึงอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านี้ปล่อยตัวให้หมักหมมจมอยู่กับความสกปรก มีบันทึกว่าคนยุคทิวดอร์ให้ความสำคัญกับชุดชั้นในมาก เพราะเป็นส่วนที่จะส่งกลิ่นเหม็นได้ง่ายที่สุด แม้คนเหล่านี้จะมีโอกาสอาบน้ำน้อย แต่กลับเปลี่ยนชุดชั้นในบ่อยครั้งเพื่อป้องกันกลิ่นและการหมักหมม

อลิสัน ซิม (Alison Sim) นักวิชาการอีกคนหนึ่งบอกว่า แม้ชาวทิวดอร์จะไม่ได้ ‘อาบน้ำ’ บ่อยเหมือนคนปัจจุบัน (โปรดอย่าลืมว่าการอาบน้ำหมายความถึงการ ‘จุ่มตัว’ ลงไปในน้ำทั้งตัว) แต่พวกเขาก็ ‘ล้างตัว’ บ่อยครั้งกว่าที่เราคิด หลักฐานก็คือ มีสูตรการทำสบู่มากมาย และมีคำแนะนำว่าให้ล้างมือหรือล้างตัวด้วยสบู่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะตำรับสบู่ที่เรียกว่า Castill Soap หรือสบู่ที่ผลิตแบบดั้งเดิมแบบเมือง Castill (ในไทยมีสบู่แบบนี้ขายที่ร้าน Sabu Sabu อันเป็นโรงงานสบู่ทำมือที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่) โดยทำจากน้ำมันมะกอกที่ถูกสุขลักษณะมากกว่าการใช้ไขมันสัตว์ที่อาจปนเปื้อนได้ง่าย

นอกจากนี้ แม้น้ำโดยทั่วไปอาจไม่สะอาด ปนเปื้อนง่าย แต่ชาวทิวดอร์ก็ฆ่าเชื้อโรคในน้ำด้วยวิธีที่สุดจะหอม นั่นคือการใส่สมุนไพรต่างๆ ลงไป ตั้งแต่ใบเสจ มาร์จอแรม คาโมมายล์ โรสแมรี หรือเปลือกส้ม โดยใส่ลงไปในน้ำร้อนๆ ให้กรุ่นหอม ด้วยความเชื่อว่าจะกำจัดความร้ายกาจได้ (ยุคนั้นยังไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่อง ‘เชื้อโรค’) แต่ก็แน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้บ่อยครั้งหรือทำได้ทุกวัน เพราะการอาบน้ำแบบนี้ต้องมีอ่างอาบน้ำ (ซึ่งในสมัยนั้นทำจากไม้) ต้องมีบ่าวไพร่บริวารคอยตักน้ำใส่ถังนำมาเติม และที่ยากเย็นที่สุดก็คือต้องนำน้ำนั้นมาต้มให้ร้อนเสียก่อนที่จะเติมลงไปในอ่าง จึงเป็นกระบวนการซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้คนจะอาบน้ำทุกวันได้

ซามูเอล เปปิส (Samuel Pepys) นักบันทึกประวัติศาสตร์คนสำคัญเคยเขียนเอาไว้ในศตวรรษที่ 17 ว่า ภรรยาของเขาชอบไปโรงอาบน้ำมาก ทั้งยังคะยั้นคะยอให้เขาไปโรงอาบน้ำด้วย แสดงให้เห็นว่าแม้จะยากลำบากหรือมีข่าวร่ำลือในแง่ลบมากแค่ไหน คนสมัยนั้นก็ยังพยายามรักษาความสะอาดกันอยู่ไม่น้อย

แต่เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สรุปว่าที่ร่ำลือกันว่าราชินีเอลิซาเบธที่หนึ่งไม่ชอบอาบน้ำนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า?

คำตอบก็คือน่าจะจริง พระนางน่าจะมีอุปนิสัยไม่ค่อยชอบอาบน้ำจริง แต่ไม่ได้แปลว่าพระนางจะไม่รักความสะอาด คาดกันว่าพระนางน่าจะปฏิบัติตามที่คนชั้นสูงในยุคทิวดอร์ทำ เช่น มีการล้างมือ ใบหน้า และใช้ผ้าลินินจุ่มน้ำเช็ดร่างกายเป็นประจำทุกวัน และเมื่อถึงวาระต้องอาบน้ำ พระนางและคนชั้นสูงทั้งหลายก็จะต้องใช้น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ที่ผุดขึ้นมาจากตาน้ำตรงต้นน้ำสดๆ ไม่ใช่น้ำจากบ่อหรือน้ำจากแม่น้ำลำธาร จากนั้นก็นำมาผสมกับสมุนไพรราคาแพงที่เชื่อว่าช่วยให้เกิดความสะอาดและให้กลิ่นหอม ซึ่งจะทำให้น้ำนั้นมีสรรพคุณบำบัดรักษามากกว่าจะทำให้ป่วย

เมื่อมองอย่างนั้น การที่ราชินีเอลิซาเบธที่หนึ่งอาบน้ำ ‘ทุกเดือน’ (หรือเดือนละครั้ง) จึงอาจเป็นสัญญาณแสดงความหรูหรายิ่งใหญ่ก็ได้ เพราะการทำอย่างนี้เดือนละครั้งต้องเป็นพิธีกรรมใหญ่ ใช้บ่าวไพร่บริวารมากมายที่ไว้วางใจได้ว่าจะไม่ใส่ยาพิษลงไปในน้ำ มารองรับการทำความสะอาดร่างกายของผู้หญิงหนึ่งคน

เมื่อมองย้อนกลับไป เราจะเห็นได้ว่า การนำสายตาของโลกปัจจุบันที่พรั่งพร้อมสะดวกสบายด้วยน้ำประปาในห้องน้ำ หรือการนำสายตาของคนตะวันออกที่อยู่กับอากาศร้อนริมคลอง ไปตัดสินคนตะวันตกยุคก่อนว่าสกปรกเพราะไม่ชอบอาบน้ำ อาจเป็นการด่วนตัดสินที่เร็วไปหน่อย เนื่องจากอาจมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้คนยุคนั้นต้องจำกัดจำเขี่ยกับการอาบน้ำก็ได้

ไม่เฉพาะกับคนยากจนเท่านั้น

เพราะแม้แต่ราชินีก็ไม่เว้น

Tags: ,