จำได้ว่า ปลาทอดธรรมดาๆ จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ได้ลิ้มชิมรสในเมืองอเล็กซานเดรียจานนั้น เป็นปลาทอดที่สดอร่อย วางตัวอยู่ในบรรยากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนจนเผลอนึกไปว่าอยู่บนหมู่เกาะในกรีซ

แต่ไม่ใช่เลย อเล็กซานเดรียอาจเป็นเมืองสวยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่นี่ไม่ใช่เมืองของกรีซ อิตาลี หรือสเปน เมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ทางเหนือสุดของประเทศอียิปต์ ที่เพียงลงใต้ไปไม่เท่าไหร่ก็จะพบกับทะเลทรายอันเวิ้งว้างแล้งไร้ ทว่า อเล็กซานเดรียไม่ได้เป็นอย่างนั้น ที่นี่เขียวชอุ่ม มีน้ำ มีอาหาร มีความรื่นรมย์ริมฝั่ง และที่สำคัญที่สุดก็คือ – มีสติปัญญาในห้องสมุด

ใช่ – ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียนั้นขึ้นชื่อลือชามาแต่ยุคโบราณกาลว่าเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เรื่องราวของห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียเกี่ยวพันกับกษัตริย์องค์หนึ่ง กษัตริย์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ ‘รัก’ ใน ‘ความรู้’ จนเลือกที่จะเก็บสะสมความรู้ต่างๆ ในรูปของตัวหนังสือที่ในยุคนั้นจารึกกันในรูปของ scroll หรือม้วนตำรา โดยอาจเขียนไว้บนแผ่นหนังหรือแผ่นกระดาษแล้วม้วนเก็บไว้

กษัตริย์องค์นี้มีชื่อว่า ปโตเลมีที่หนึ่ง (Ptolemy I) ผู้เป็นปฐมบรมฟาโรห์ของราชวงศ์ปโตเลมีแห่งอียิปต์

ก่อนเป็นกษัตริย์ ปโตเลมีที่หนึ่งเป็นลูกของขุนนางชาวมาซิโดเนียคนหนึ่ง เขาทำงานเป็นเด็กรับใช้ในราชสำนักมาซิโดเนียหรือกรีก จึงได้ใกล้ชิดกับอเล็กซานเดอร์ก่อนหน้าอเล็กซานเดอร์ขึ้นครองบัลลังก์ และต่อมากลายเป็น ‘อเล็กซานเดอร์มหาราช’ ผู้ยิ่งใหญ่

ปโตเลมีสนิทสนมกับอเล็กซานเดอร์มาเนิ่นนานในระดับที่ได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์ส่วนพระองค์ เขาร่วมรบร่วมเป็นร่วมตายกับอเล็กซานเดอร์ และเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดในการวางกลยุทธ์ต่างๆ จึงมีหลายอย่างคล้ายกัน

อเล็กซานเดอร์เป็นลูกศิษย์โดยตรงของอริสโตเติล – นักปราชญ์กรีกคนสำคัญของโลก อริสโตเติลสอนอเล็กซานเดอร์จนถึงอายุสิบหกปี หลังจากนั้นเขาต้องขึ้นครองบัลลังก์แทนบิดาที่ถูกลอบสังหาร แต่อิทธิพลของความเป็นนักปรัชญาที่อริสโตเติลปลูกฝังไว้ยังอยู่ และอิทธิพลนี้ – ซึ่งก็คือการเป็นผู้ที่ ‘รักในความรู้’ จึงน่าจะถ่ายทอดจากอริสโตเติลสู่อเล็กซานเดอร์ แล้วมาสู่ปโตเลมีในที่สุด

ปโตเลมีไม่ได้เก่งแค่เรื่องการรบและเป็นผู้ที่อเล็กซานเดอร์สามารถไว้วางใจได้เท่านั้น แต่เขายังพิสูจน์ตัวเองให้เห็นด้วยว่าเป็นนักการเมืองและนักการทูตที่เก่งกาจด้วย ดังนั้น หลังอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว และเกิดการประชุมเพื่อแบ่งผู้ปกครองดินแดนอันกว้างขวางไพศาลที่อเล็กซานเดอร์เคยครอบครอง (เรียกว่า Satrapies หรือจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่) โดยแบ่งเป็น Satrap หรือแว่นแคว้นต่างๆ ปโตเลมีจึงได้เป็น Satrap หรือผู้ปกครองอียิปต์

ก่อนหน้านั้น อเล็กซานเดอร์เคยยกทัพเกรียงไกรมาตีอียิปต์ เขามีดำริจะสร้างเมืองใหญ่ขึ้นบนชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนของอียิปต์ โดยตั้งชื่อเมืองนี้ตามชื่อเขา เมืองอเล็กซานเดรียจึงถือกำเนิดขึ้นในเดือนเมษายน 331 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยเขามุ่งหมายให้อเล็กซานเดรียเป็นเหมือนเมืองเชื่อมระหว่างกรีกและดินแดนในลุ่มแม่น้ำไนล์อันอุดมสมบูรณ์

อเล็กซานเดรียได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นกริด (Grid) ตามหลักการออกแบบของฮิปโปดามุสแห่งมิเลตุส (Hippodamus of Miletus) ผู้เป็นสถาปนิกกรีกโบราณ อริสโตเติลถือว่าฮิปโปดามุสคือ ‘นักออกแบบผังเมือง’ หรือ Urban Planner คนแรกของโลกที่คิดการออกแบบเมืองโดยจัดการเมืองเป็นส่วนๆ เช่นจัดการให้ตลาดใหญ่หรืออะกอรา (Agora) ของเอเธนส์เป็นศูนย์กลางเมือง แล้วสร้างถนนขนาดใหญ่เป็นแฉกๆ แยกออกมา วิธีการสร้างเมืองแบบนี้จึงได้ชื่อว่า ฮิปโปดาเมีย (Hippodameia) เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ดังนั้น อเล็กซานเดรียจึงเป็นเมืองที่ได้รับการออกแบบมาด้วยหลักการทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เมืองแห่งนี้จึงเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมกรีกและวัฒนธรรมอื่นๆ กลายเป็นชุมทางการค้าขาย รวมถึงยังเป็นเมืองที่มีชุมชนชาวยิวที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

เมื่ออเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ ร่างของเขาบรรจุอยู่ในโลงทองคำแช่อาบด้วยน้ำผึ้งจนเต็มโลง ปโตเลมีพาร่างของอเล็กซานเดอร์ในโลงทองคำกลับไปยังเมืองเมมฟิสในอียิปต์กับเขาด้วย ในตอนแรก เมืองหลวงของอียิปต์ยุคปโตเลมีคือเมืองเมมฟิส แต่ในราว 305 ปีก่อนคริสตกาล ปโตเลมีสลัดทิ้งตำแหน่ง Starup แล้วตั้งตัวขึ้นเป็นฟาโรห์ จากนั้นเขาก็เลือกที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อเล็กซานเดรียแทน

เป็นที่นี่เอง – ที่ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียอันยิ่งใหญ่ได้ถือกำเนิดขึ้น!

ในหนังสือ A Place for Everything ของ Judith Flanders ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าถึงกระบวนการ Alphabetisation หรือประวัติการเรียงตัวอักษรจาก A ถึง Z ผู้เขียนเล่าว่า ห้องสมุดอเล็กซานเดรียเกิดขึ้นในราว 300 ปีก่อนคริสตกาล และเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในยุคสมัยของราชวงศ์ปโตเลมี เพราะปโตเลมีที่หนึ่งเป็นผู้ ‘รักในความรู้’ อย่างมาก เขาจึงปลูกฝังความรักนี้ให้กับโอรสที่สืบทอดราชวงศ์ต่อเนื่องมาอีกหลายรัชกาล

ที่จริงแล้วห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ‘สถาบันวิจัย’ ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Mouseion ซึ่งมีเจตนาจะตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Muse หรือเทพธิดาแห่งสรรพความรู้ทั้งหลายทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่นี่เป็นบ้านของดนตรี บทกวี และที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นที่ตั้งของ ‘โรงเรียนปรัชญา’ ตามแบบของเพลโต (Plato’s Academy) ด้วย

แต่จะมี ‘ความรู้’ เหล่านั้นได้ ก็ต้องมี ‘ที่เก็บตำรา’ เสียก่อน

ความรักในความรู้ของปโตเลมีเห็นได้ชัดเจนจากการที่เขาตั้งตัวเป็นนักสะสมชั้นยอด แต่เขาไม่ได้สะสมทรัพย์สมบัติเพชรพลอย สิ่งที่เขาสะสมก็คือ ‘ตำรา’ ทั้งหลาย เขาไม่เพียงร้องขอไปยังผู้ปกครองดินแดนอื่นๆ ให้ช่วยส่งหนังสือ ตำรับตำรา หรือม้วนหนังสือทั้งหลายเอามาเก็บไว้ในห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียเท่านั้น แต่ยังออกคำสั่งสำคัญในเมืองด้วยว่า – ใครก็ตามที่เดินทางผ่านเข้ามาในอเล็กซานเดรีย ไม่ว่าจะทางบกหรือทางน้ำ จะต้องส่งหนังสือหรือตำราทั้งหลายที่พกติดตัวมาด้วยให้กับทางการเป็นการชั่วคราวทั้งหมด

ไม่ – เขาไม่ได้จะ ‘ยึด’ หนังสือเหล่านั้นเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว นั่นเป็นวิสัยเผด็จการที่ชอบยึดครองความรู้ของผู้อื่น แต่ปโตเลมีไม่ได้ทำอย่างนั้น เขาขอหนังสือเหล่านั้นมาเพื่อให้คนคัดลอกทำเล่มสำเนาเก็บเอาไว้ในห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย ด้วยมุ่งหมายจะให้ที่นี่เป็นห้องสมุดที่เก็บรวบรวมสรรพความรู้ทั้งปวงเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

ยุคสมัยนั้น ภูมิปัญญาของผู้คนแทบเรียกได้ว่ามาถึงขีดสุด นักปราชญ์ นักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ และนักคิดทั้งหลาย คล้ายมากระจุกรวมตัวกันอยู่ในยุคสมัยเดียว เชื่อกันว่า ชื่ออย่างเพลโต อาร์คีมีดิส หรือยูคลิด ล้วนเกิดทันกันและอยู่ร่วมยุคร่วมสมัยกัน เพลโตเคยไปเยือนบ้านเกิดของอาร์คีมีดิส และอาร์คีมีดิสก็เคยเขียนถึงยูคลิด คนแรกเป็นนักปรัชญาต้นธารความคิดในโลกตะวันตกแทบทั้งหมด คนที่สองคือผู้ร้องตะโกนว่า ‘ยูเรก้า’ อันลือลั่น ส่วนคนที่สามคือผู้คิดค้นวิชา ‘เรขาคณิต’ (Geometry) ที่ทำให้โลกเจริญก้าวหน้าต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ตำราเล่มสำคัญของยูคลิด คือตำราชื่อ Elements ซึ่งปโตเลมีคงอ่านแล้วรู้สึกว่าเข้าใจได้ยาก เขาจึงเอ่ยถามยูคลิดไปว่า มีวิธีที่จะเข้าใจเรขาคณิตให้ง่ายกว่านี้หรือเปล่า

ในฐานะนักปราชญ์หรือนักคิดคนหนึ่ง ยูคลิดตอบคำถามผู้ยิ่งใหญ่ระดับกษัตริย์เหนือกษัตริย์อย่างฟาโรห์ปโตเลมีที่หนึ่งไปว่า – There is no royal road to geometry นั่นคือไม่มีหนทางพิเศษสำหรับกษัตริย์ที่จะเข้าถึงเรขาคณิตได้ นัยของเขาก็คือ ต่อให้เป็นกษัตริย์ ถ้าจะเข้าใจเรื่องยากๆ อย่างเรขาคณิต ก็ต้องใช้เวลาศึกษาให้ถ่องแท้เหมือนกับมนุษย์เดินดินคนอื่นๆ การเป็นกษัตริย์ไม่ได้ได้ทำให้คนคนหนึ่งมีสิทธิพิเศษเข้าถึง ‘ความรู้’ ได้มากกว่าคนทั่วไป

แน่นอน ตำราอย่าง Elements ย่อมมีที่ทางวางอยู่ในห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียด้วย และปโตเลมีก็น่าจะพยายามศึกษาเรขาคณิตของยูคลิดอย่างคร่ำเคร่ง เราไม่รู้ว่าเขาเชี่ยวชาญเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ปโตเลมีได้วางรากฐานของศาสตร์แห่งห้องสมุดหรือบรรณรักษศาสตร์เอาไว้โดยที่เขาอาจไม่รู้ตัว

ม้วนหนังสือ หรือ scroll นั้น ไม่เหมือนหนังสือหรือตำรายุคปัจจุบัน เพราะแต่ละม้วนไม่ได้มีขนาดเล็กๆ เลย ถ้าจะให้มีเนื้อหาเทียบเท่าหนังสือหนา 500 หน้าสักเล่ม อาจต้องใช้ม้วนหนังสือนับสิบนับร้อยม้วน ดังนั้น ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียจึงต้อง ‘ใหญ่’ มากๆ เพราะนั่นคือครั้งแรกที่โลกได้เห็นการชุมนุมขนาดมโหฬารของม้วนหนังสือที่มารวมตัวกันในที่เดียวนับหมื่นนับแสนชิ้น

เมื่อมีจำนวนของม้วนหนังสือมหาศาลขนาดนั้น จึงต้องเกิดการ ‘จัดระเบียบ’ ม้วนหนังสือต่างๆ ซึ่งก็คือการจัดระบบห้องสมุดขึ้นมา

ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจะสามารถจดจำตำราต่างๆ ในสาขาวิชาของตัวเองได้ขึ้นใจมากที่สุดราวๆ สองถึงสามร้อยเล่มเท่านั้น หากจำนวนตำรามากไปกว่านั้น ต้องใช้ตัวช่วยกระตุ้นความทรงจำ เช่นการจดบันทึก ถึงจะรู้ว่าตำราเล่มไหนเก็บไว้ตรงไหน

ดังนั้น วิธีจัดเรียงม้วนหนังสือในห้องสมุดอเล็กซานเดรียที่มีนับหมื่นนับแสนชิ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ มีการเขียน ‘แค็ตตาล็อก’ ว่าอะไรเก็บอยู่ตรงไหนบ้าง เรียกว่า Pinakes ถือกันว่าเป็นแค็ตตาล็อกหนังสือในห้องสมุดฉบับแรกของโลก โดยเชื่อกันว่าแรกทีเดียวมีการแบ่งกลุ่มตามเนื้อหา เช่น เป็นบทกวีโศกนาฏกรรม เป็นบทกวีตลก เป็นเรื่องราวมหากาพย์ หรือเป็นคำร้องประกอบดนตรี เป็นประวัติศาสตร์ ปรัชญา การแพทย์ กฎหมาย ฯลฯ แต่ไม่นานนักก็เกิดวิวัฒนาการสำคัญขึ้นมา – นั่นคือการเรียงลำดับตำราต่างๆ ตามตัวอักษรของชื่อผู้แต่ง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการเรียงลำดับโดยมี Alphabetical Order

แต่กระนั้น นี่ก็ยังเป็นการเรียงตามตัวอักษรตัวแรกเท่านั้น เช่น Aristotle อาจจะมาก่อน Alcestis ก็ได้ ขอเพียงเป็น A ก็จับไปรวมๆ กันไว้ มนุษย์ยังต้องใช้เวลาเรียนรู้อีกหลายร้อยปีกว่าเทคโนโลยีการเรียงตามตัวอักษรจะพัฒนาซับซ้อนขึ้น จนเกิดการเรียงตามตัวอักษรที่สองและสามด้วย นั่นทำให้ Alcestis มาก่อน Aristotle แต่ถึงจะใช้เวลาอีกยาวนานกว่าศาสตร์ห้องสมุดจะเป็นระบบ ก็ต้องบอกว่าห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียมีคุณูปการสำคัญในการจัดระเบียบและสร้างความเป็น ‘ห้องสมุด’ ให้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อสองพันสามร้อยปีก่อ

ปโตเลมีที่หนึ่งถ่ายทอดความรักในความรู้และห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ให้แก่ปโตเลมีที่สองผู้เป็นบุตรชาย และปโตเลมีที่สองก็ส่งต่อมรดกนี้ให้ผู้สืบทอดถัดๆ ไป ห้องสมุดแห่งนี้จึงอัดแน่นไปด้วยม้วนกระดาษปาปิรุสมหาศาล เพราะทั้งน้ำพระทัยแน่วแน่และการพระราชทานทุนส่วนพระองค์มาสร้าง ‘สาธารณูปโภคทางปัญญา’ ให้กับแผ่นดิน จึงทำให้ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียรุ่งเรืองเฟื่องฟู เชื่อกันว่า ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด มีม้วนตำราอยู่ราว 40,000 ถึง 400,000 เล่มเลยทีเดียว

แต่ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียก็เหมือนทุกสิ่ง นั่นคือมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปตามกาลสมัย ในราวปีที่ 48 ก่อนคริสต์ศักราช โลกปั่นป่วนวุ่นวาย เซเนก้าบันทึกเอาไว้ว่า จูเลียส ซีซาร์ ผู้ถูกล้อมอยู่ที่อเล็กซานเดรีย ได้จุดไฟเผาท่าเรือ แต่ไฟลามเข้ามายังห้องสมุด และทำลายม้วนหนังสือไปมากกว่า 40,000 เล่ม ถือเป็นความเสียหายมหาศาลมาก แล้วหลังจากนั้นห้องสมุดอเล็กซานเดรียก็ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิมอีก ประกอบกับเกิดการสู้รบกับทั้งชาวโรมันและชาวอาหรับ ความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของความรักในความรู้จึงลับสูญไปอย่างน่าเศร้า

แต่ถึงกระนั้น – ก็อาจพูดได้เต็มปากว่าห้องสมุดแสนมหัศจรรย์แห่งนี้จะไม่มีวันถือกำเนิดขึ้นมาได้เลย ถ้าหากปราศจากกษัตริย์ผู้รักในความรู้คนหนึ่ง

คนที่เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา

Tags: , ,