ช่วงนี้ดูเหมือนว่าชาวไทยคงจะกระเป๋าแห้งเล็กน้อย เมื่อเหล่าศิลปินนักร้องทุกแนวเพลงจากหลากหลายประเทศพากันมาแวะเวียนจัดคอนเสิร์ตกันทุกเดือนตลอดปียาวไปยันปีหน้าเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะศิลปินระดับบิ๊กเบิ้มอย่าง Coldplay หรือ Britney Spears ที่เพิ่งจะมาสร้างความตื่นเต้นให้แฟนๆ ชาวไทยหมาดๆ ในขณะที่ Ed Sheeran ก็เตรียมจะมาบุกบ้านเราตอนสิ้นปีนี้ รวมถึง Harry Styles ที่จองบัตรปีนี้มาเล่นปีหน้า คอนเสิร์ตของศิลปิน indie/alternative ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ไม่ว่าจะเป็น Cigarettes After Sex, Phoenix หรือ HYUKOH เราชาวไทยก็เลยบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าทำไมถึงขยันมาจัดคอนเสิร์ตกันขนาดนี้ ไม่เกรงใจเงินในกระเป๋ากันบ้างเลย
จริงอยู่ว่าช่วงนี้มีศิลปินที่เรียกว่า active ในวงการ ต่างก็ขยันจัดทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกกันทันทีเมื่อปล่อยเพลง ต่อคิวกันติดๆ ไม่ทันให้เหล่าแฟนคลับได้พัก แต่ศิลปินที่ไม่ได้ออกเพลงใหม่ในช่วงหนึ่งถึงสองปีนี้ก็ยังหันมาจัดทัวร์คอนเสิร์ตกันด้วย เพราะว่าอะไรกันนะ?
ทุกคนคงพอจะทราบกันอยู่แล้วว่าการเล่นคอนเสิร์ตหรือจัดโชว์เพลงเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตอัลบั้ม และที่สำคัญ… ศิลปินเองก็ทำรายได้มากที่สุดจากการเล่นคอนเสิร์ตนี่แหละ
สมัยก่อน สักสิบปีที่แล้ว เพลงเป็นหนึ่งในรายได้หลัก ไม่ว่าจะในรูปแบบแผ่นเสียง คาสเซต หรือซีดี แต่สมัยนี้จะมีสักกี่คนที่ซื้อซีดีมาเปิดฟัง ในเมื่อสตีฟ จอบส์ นำสิ่งที่เรียกว่า iPod มาให้ทั่วโลกได้รู้จัก หรือเพียงแค่เปิด YouTube ก็สามารถฟังเพลงและดูเอ็มวีได้แบบไม่เสียเงิน
พฤติกรรมการเสพดนตรีที่เปลี่ยนไปและตัวเลือกที่มากขึ้นของผู้บริโภค ทำให้ศิลปินต้องปรับตัวตามไปด้วย จากที่อาจจะพักหายใจรอรายได้จากการขายอัลบั้ม ก็ต้องลุกขึ้นมาหารายได้ทางอื่น ไม่ว่าจะเป็นรับงานอีเวนต์ งานโฆษณา รวมถึงการจัดทัวร์คอนเสิร์ตให้เยอะขึ้น บ่อยขึ้น เพื่อให้ตัวเองยังคงมีรายได้
สมัยก่อน การที่ศิลปินระดับโลกมียอดขายซีดีมากกว่า 10 ล้านแผ่นนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่สมัยนี้ วิดีโอเกมยังอาจจะขายได้มากกว่าเพลงเสียอีก ถึงแม้จะมีคนแย้งว่า อ้าว! ไม่ได้ซื้อซีดี แต่คนก็ยังซื้อเพลงผ่านระบบดิจิทัลอยู่นะ ไม่ใช่ฟังฟรีเสมอไป แต่การซื้อเพลงผ่านระบบดิจิทัลก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้นมาอีกว่าเราสามารถเลือกซื้อแต่เพลงที่เราชอบจริงๆ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเหมาทั้งอัลบั้ม แทนที่จะได้เงินมาเหนาะๆ ก็กลายเป็นว่าแตกแยกย่อยเป็นรายเพลงไปเสียอีก
ถ้าดูสถิติยอดขายอัลบั้มของ Coldplay อย่างอัลบั้ม A Rush of Blood to the Head ที่ออกสู่ท้องตลาดในปี 2002 มียอดขายทั่วโลกถึง 20 ล้านแผ่น (ทั้งแบบซีดี คาสเซต และแผ่นเสียง) และจัดทัวร์สำหรับอัลบั้มนี้ถึง 70 คอนเสิร์ตทั่วโลกในปี 2003 (ถ้ารวมที่แสดงยิบย่อยแบบไม่ใช่ทัวร์ทางการก็จะเป็น 126 ครั้งเลยทีเดียว) แต่ยอดขายของอัลบั้ม A Head Full Of Dreams ที่ออกจำหน่ายเมื่อปี 2015 (ในรูปแบบซีดี แผ่นเสียง และดิจิทัลดาวน์โหลด) นั้นตกลงถึงสี่เท่า เหลือเพียง 5 ล้านแผ่น ทั้งๆ ที่ความนิยมก็ไม่ได้ลดลงเสียหน่อย เพราะมีการวางแผนจัดคอนเสิร์ตถึง 117 ครั้งทั่วโลกไปจนถึงเดือนตุลาคม 2017 และถ้าคอนเสิร์ตที่เหลืออยู่มีผู้ชมเต็มทุกรอบทุกที่นั่งตามเป้าหมาย ก็คาดว่าจะทำรายได้ถึง 307 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!
ทางด้านควีนบี Beyoncé ก็อดไม่ได้ที่จะบ่นว่าอัลบั้มของเธอคงจะไม่ได้ทำเงินมากนัก และเธอก็คงจะต้องทำงานเข้า 9 ออก 5 เหมือนกับคนอื่นๆ เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด เพราะเมื่อดูจากยอดขายอัลบั้มของ Beyoncé อัลบั้มแรกของเธอ Dangerously in Love ที่ออกจำหน่ายในปี 2003 ทำยอดขายทั่วโลกถึง 11 ล้านแผ่น แต่อัลบั้ม Beyoncé ที่ปล่อยออกมาในปี 2013 กลับมียอดขายเพียง 5 ล้านแผ่น และอัลบั้มล่าสุด Lemonade ที่ปล่อยในปี 2016 มียอดขายทั่วโลกเพียงแค่ 2.5 ล้านแผ่นเท่านั้น หลายคนอาจจะคิดว่าความนิยมในตัวควีนบีลดลง แต่ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม เพราะคอนเสิร์ต ‘I Am…World Tour’ ในปี 2009 และ 2010 ก็ยังทำรายได้ทัดเทียมกับทัวร์คอนเสิร์ต ‘The Beyoncé Experience’ ในปี 2007 ซึ่งทำรายได้กว่า 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับศิลปินป็อปคนอื่นที่ไม่ได้ทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลกบ่อยๆ นอกจากจะขยันออกงานแล้ว ก็ยังต้องหารายได้ด้วยวิธีอื่น ดนตรีของพวกเขาและเธอกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสินค้าหลากหลายชิ้น อย่าง Taylor Swift ก็มีน้ำหอมในชื่อของเธอ หรือ Pharrell Williams กับ Daft Punk ที่นอกจากจะออกเพลงฮิต ‘Get Lucky’ ก็ยังมีถุงยางอนามัยออกมาพร้อมกันอีกด้วย
ไม่ใช่แค่ในวงการเพลงฝั่งตะวันตกที่เกิดการกระเสือกกระสนเอาตัวรอดในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป วงการเพลงฝั่งเอเชียอย่างเหล่าศิลปิน K-pop ก็มีรูปแบบคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องรายได้หลักที่มาจากการเล่นคอนเสิร์ต โดยปกติเราอาจคิดว่าศิลปินที่อยู่ในกระแสเป็นที่พูดถึงของเหล่าแฟนคลับ K-pop จะเป็นศิลปินที่ทำรายได้มากมายในแต่ละปี แต่ความเป็นจริงนั้นสวนทางกับสิ่งที่เราคิดโดยสิ้นเชิง เพราะค่ายเพลงแต่ละค่ายจะดันศิลปินหน้าใหม่ขึ้นมาอยู่ตลอด และศิลปินเหล่านั้นมักจะเป็นที่พูดถึง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าศิลปินหน้าใหม่จะมีฐานแฟนคลับมากพอที่จะจัดคอนเสิร์ตหนึ่งครั้ง รายได้จากศิลปินหน้าใหม่อาจจะไม่ได้มากเท่ากับกระแสความนิยม
กรณีนี้เห็นได้ชัดจากศิลปินค่าย JYP Entertainment ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่พอสมควร เพราะกระแสความโด่งดังเป็นขวัญใจของสาวน้อยวง Twice ที่ส่งเพลงฮิตติดหูออกมาให้ได้ยินอยู่ตลอด ทำให้หลายคนคิดว่ารายได้หลักของค่าย JYP Entertainment น่าจะมาจากสาวน้อยวงนี้แน่ๆ ทว่าในความเป็นจริง ศิลปินที่สร้างรายได้เป็นอันดับหนึ่งของค่าย JYP Entertainment หลายปีซ้อน ก็คือศิลปินรุ่นพี่วง 2PM ที่หายหน้าไปจากวงการเพลงเกาหลีพอสมควร ทั้งๆ ที่ไม่ได้ออกเพลงใหม่ รวมถึงไม่ได้ปรากฏตัวในรายการวิทยุหรือสื่อโทรทัศน์ในเกาหลีมากนัก แต่ทำไมจึงทำรายได้ได้มากที่สุดหลายปีติดต่อกัน นั่นก็เป็นเพราะหนุ่มๆ วง 2PM จัดทัวร์คอนเสิร์ตครั้งแล้วครั้งเล่ามากมายนับแทบไม่ไหว โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น
ศิลปินรุ่นพี่หลายวงจากหลายค่ายต่างก็จัดทัวร์คอนเสิร์ตอยู่ตลอดทั้งในและต่างประเทศ แม้จะไม่ได้ปล่อยเพลงใหม่ออกมา และสิ่งนี้เองที่เป็นหนึ่งในรายได้หลักของพวกเขา ไม่ต่างจากศิลปินฝั่งตะวันตก รวมถึงสินค้ามากมายที่วางจำหน่ายในแต่ละคอนเสิร์ต หรือแม้แต่ธุรกิจส่วนตัวของศิลปินแต่ละคนที่แฟนคลับพร้อมจะช่วยสนับสนุน
สิ่งเหล่านี้ทำให้เราตระหนักได้ว่าการทำดนตรีขายนั้นไม่ใช่รายได้หลักของศิลปินนักร้องในยุคนี้อีกต่อไป จึงไม่แปลกที่ศิลปิน K-pop พากันมาแลนดิ้งที่ประเทศไทยราวกับเป็นบ้านหลังที่สอง สมัยก่อน แฟนคลับได้แต่อ้อนวอนขอให้มา แต่ตอนนี้กลับต้องถอนหายใจว่าหยุดมาเสียบ้างเถิด
ทั้งนี้ทั้งนั้น ของแบบนี้ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง เพราะประสบการณ์ในการดูคอนเสิร์ตนั้นหาที่ไหนไม่ได้ การเป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ต นอกจากจะได้เจอคนที่ใช่ ได้ฟังเพลงที่ชอบ ก็ยังได้ชมแสงสีที่ตระการตา มันก็คงจะดีกว่าการซื้อเพลงมานั่งฟังเหงาๆ ที่บ้านคนเดียวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่าย การเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น ศิลปินสามารถเข้าถึงแฟนเพลงได้ง่ายขึ้น และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ให้คุณค่ากับประสบการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้ผู้บริโภคหันมาลงทุนกับการแสดงสดมากขึ้นกว่าเดิม ข้อมูลจากเว็บไซต์ Pollstar ในรายงานปี 2016 ระบุว่ามีตั๋วคอนเสิร์ตถูกจำหน่ายถึง 1 ล้านใบในอเมริกาเหนือในปี 2015 และคอนเสิร์ตรอบโลกของ 50 ศิลปินตัวท็อปก็ทำรายได้มากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2016 ยังไม่นับเทศกาลดนตรีต่างๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม มีเทศกาลใหม่ๆ ถือกำเนิดแยกย่อยราวกับดอกเห็ด ทำให้ในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมากลายเป็นช่วงเวลาทองของการแสดงดนตรีสดอย่างแท้จริง และดูเหมือนว่านี่เพิ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น
เม็ดเงินที่สะพัดไปตามคอนเสิร์ตต่างๆ ทั่วโลกเป็นสิ่งที่น่าจับตามองมากทีเดียว รวมไปถึงบรรดาบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการจัดคอนเสิร์ตต่างก็มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก เช่น เหล่าออแกไนเซอร์ทั้งหลาย ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็กที่เพิ่งเกิด ทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง รวมถึงการแข่งขันทางด้านการออกแบบเวที ไฟ และ Visual Effect ต่างๆ ภายในคอนเสิร์ตที่ใครทำได้ดีก็จะถูกพูดถึงชื่นชมกันตลอดทั้งปี
สุดท้ายแล้ว มันไม่ใช่เพียงแค่ว่าศิลปินขยันทำงานเพื่อหารายได้และเพื่อโปรโมตเพลงของตน แต่ผู้ชมเองก็ยินดีที่จะลงทุนกับประสบการณ์ในคอนเสิร์ตของศิลปินเหล่านั้น เมื่อเป็นแบบนี้ มันก็คงไม่ใช่ธุรกิจที่มีฝ่ายใดเสียเปรียบอย่างที่คิด เพราะกลายเป็นว่าเธอกล้ามา ฉันก็กล้าจ่ายเงินไปดูนั่นแหละ
ส่วนในอนาคต เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าทิศทางของวงการเพลงจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใด
อย่างไรก็ดี เห็นลิสต์คอนเสิร์ตที่จะเกิดขึ้นในบ้านเราปีนี้และปีหน้าแล้ว ทุกคนอาจจะต้องวางแผนการเงินดีๆ อย่าให้ถึงขั้นต้องขายไตเพื่อไปดูคอนเสิร์ตกันเลยนะ!
FACT BOX:
- Beyoncé เป็นศิลปินที่ Forbes จัดอันดับให้เป็นเซเลปที่ทำรายได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ด้วยรายได้รวม 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการทัวร์คอนเสิร์ต ‘Beyonce’s Formation World Tour’ ที่จบไปในปี 2016
- Coldplay เป็นศิลปินที่ Forbes จัดอันดับให้เป็นเซเลปที่ทำรายได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 และรายได้จากทัวร์คอนเสิร์ต ‘A Head Full Of Dreams’ จำนวน 88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ถือเป็นรายได้ที่ดีที่สุดในอาชีพศิลปินของพวกเขา
- พัคจินยอง หรือ JYP นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ และผู้ก่อตั้ง JYP Entertainment เคยกล่าวในรายการ Radio Star เมื่อปี 2013 ว่า 2PM นั้นทำรายได้มากเป็นสองเท่าของศิลปินรุ่นน้องร่วมค่ายอย่าง เบซูจี อดีตนักร้องวง Miss A ที่ผันตัวเป็นนักแสดงโด่งดัง และมีรายได้จากการเล่นละครและโฆษณาถึง 10,000 ล้านวอน (9.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยสัดส่วนรายได้ของ 2PM เทียบกับรายได้ทั้งหมดของทั้งบริษัท คิดเป็น 79.1% เลยทีเดียว
Tags: Harry Styles, Cigarettes After Sex, ทัวร์คอนเสิร์ต, Beyoncé, Taylor Swift, Coldplay, Pharrell Williams, Ed Sheeran, Daft Punk, K-Pop, JYP Entertainment, Phoenix, 2PM, Britney Spears, TWICE, HYUKOH