ในปี ค.ศ. 1872 ลีวายส์ สเตราส์ จับมือกับเจคอบ เดวิส ช่างเย็บเสื้อผ้าให้กับเหล่ากรรมกร ณ เมืองเรโน่ รัฐเนวาดา นำเอาผ้าฝ้ายและหมุดสีขาวมาสร้างสรรค์เป็นกางเกงสำหรับผู้ใช้แรงงาน ก่อนจะเกิดเป็นกางเกงยีนส์ในเวลาต่อมา

ลีวายส์ไม่ได้เป็นแบรนด์เดียวเท่านั้นที่ทำเสื้อผ้าขึ้นมาเพื่อชนชั้นผู้ใช้แรงงาน แบรนด์ที่ผลิตเสื้อผ้าในสไตล์เวิร์กแวร์ (workwear) หรือเสื้อผ้าที่ได้แรงบันดาลใจมาจากยูนิฟอร์มของคนทำงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่วนมากมักเป็นยูนิฟอร์มของชนชั้นแรงงานมีตั้งแต่แบรนด์ Carhartt ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1889 หรือ Dickies ในปี ค.ศ.1922 ซึ่งทั้งหมดเกิดจากผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ที่ก่อให้เกิดอาชีพแรงงานในโรงงานและอุตสาหกรรมต่างๆ มากมายที่ต้องใช้เสื้อผ้ารูปแบบพิเศษในการทำงาน

Overalls Take It All

ฝรั่งเรียก Overalls หรือ Bib Overalls หรือ Dungarees คนไทยเรียกตั้งแต่ชุดคนงาน ชุดหมี ไปจนถึงชุดเอี๊ยม น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการหยิบยืมเอายูนิฟอร์มของชนชั้นแรงงานมาใช้ในการสร้างสรรค์เป็นแฟชั่นไอเท็ม

ชุดหมีหรือชุดเอี๊ยมนี้ปรากฏให้เห็นในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 ทำด้วยผ้าแคนวาสหรือหนัง สวมใส่เพื่อใช้ป้องกันร่างกายจากสิ่งต่างๆ ในเวลาทำงาน ซึ่งเป็นชุดที่วิวัฒนาการมาจากสิ่งที่เรียกว่า Spatterdashes หรือผ้ากันเปื้อน ในขณะที่ Spatterdashes นั้นคลุมแค่ช่วงล่างลงไป แต่ Overalls นั้นคลุมเลยขึ้นมาจนถึงท้อง และจากยูนิฟอร์มของคนงานชุดเอี๊ยมนี้ก็เริ่มแพร่กระจายสู่แวดวงทหารในช่วงสงครามปฏิวัติอเมริกา

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 พลเมืองทั้งอังกฤษและอเมริกาเริ่มจะใส่ชุดเอี๊ยมกันแล้ว ก่อนที่ชุดเอี๊ยมจะถูกแยกประเภทโดยสีในช่วงยุค 1850s สีขาวสำหรับจิตรกร ลายทางสำหรับคนงานทำถนน และสีน้ำเงินสำหรับชาวนา และในยุค 1870s สายเอี๊ยมที่แต่ก่อนเป็นกระดุมก็ถูกแทนที่ด้วยสายคาดในแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ โดยการสร้างสรรค์ของแบรนด์ Levi’s ซึ่งถือว่า ‘Cult’ มากในยุคนั้น

แต่หากจะกล่าวถึงชุดเอี๊ยม แบรนด์ที่กลายเป็น ‘เจ้าของ’ ชุดเอี๊ยมที่ได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบันก็คือ Dickies ก่อตั้งโดย E.E. Colonel Dickie และ C.N. Williamson ในนามบริษัท Williamson-Dickie Mfg Co. ในเมืองฟอร์ทเวิร์ธ เท็กซัส เริ่มต้นจากการทำชุดเอี๊ยมขายให้กับชาวไร่ชาวนาและผู้ใช้แรงงานทางใต้ และได้รับสัมปทานในการทำยูนิฟอร์มให้กับทหารอเมริกาจำนวน 9 ล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์ Dickies ในฐานะแบรนด์ผลิตเสื้อผ้าเวิร์กแวร์เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกที่สหรัฐฯ กำลังสร้างบ้านแปลงเมือง WPA หรือ Work Progress Administration มีการจ้างแรงงานสูงถึง 8.5 ล้านคนเพื่อมาทำถนน สวน สะพาน และสิ่งก่อสร้างสาธารณะต่างๆ อันเป็นตัวจุดประกายให้เสื้อผ้าที่เรียกว่าเวิร์กแวร์ได้รับความนิยมสูงขึ้น

แต่ถึงอย่างไรชุดเอี๊ยมก็ยังคงถูกนิยามการสวมใส่ไว้ว่าเป็น ‘ชุดทำงาน’ แม้ว่าเด็กและผู้หญิงจะเริ่มสวมใส่ได้ในช่วงสงครามโลก เพราะต้องทำงานแทนผู้ชายที่ไปออกรบ และหลังจากสงครามโลกก็ยังคงใส่มาอย่างต่อเนื่องในการ ‘ทำงาน’ แต่เมื่อไม่ได้ทำงานก็ไม่มีใครใส่ชุดเอี๊ยมออกมาเดินถนนเหมือนเช่นทุกวันนี้ ชุดเอี๊ยมเริ่มเป็นสไตล์การสวมใส่ออกสู่ที่สาธารณะนอกจากสถานที่ทำงานโดยเริ่มจากผู้ชายก่อนในช่วงยุค 1970s ก่อนจะเดินทางเข้าสู่ความเป็น ‘แฟชั่น’ ในช่วงยุค  1980s

Becoming ‘Fashion’

กางเกงยีนส์กลายมาเป็นแฟชั่นสำหรับคนทั่วไปในช่วงยุค 1950s  จากอิทธิพลของดาราฮอลลีวูดมาร์ลอน แบรนโด ในภาพยนตร์เรื่อง Wild One ในปี ค.ศ. 1953 ตามมาด้วยเจมส์ ดีน ในภาพยนตร์เรื่อง Rebel Without A Cause  ในปี ค.ศ. 1955 ชนิดที่เรียกว่าเป็นผู้จุดชนวนความฮอตของยีนส์ในคนหนุ่มสาวที่อยากจะ ‘ขบถ’ ต่อพ่อแม่ สังคม ทำให้กางเกงยีนส์นอกจากจะกลายมาเป็นแฟชั่นไอเท็มแล้ว ยังเป็นตัวแทนของ ‘แนวความคิด’ ทางสังคมของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น สร้างภาพลักษณ์ของผู้สวมใส่ให้กลายเป็นคนขบถหัวรั้นต่อต้านสังคมไปโดยปริยายจนทำให้กางเกงยีนส์ถูกแบนในหลายพื้นที่ทั้งโรงเรียน ร้านอาหาร และกางเกงยีนส์ก็ถูกหยิบมาใช้อย่างต่อเนื่องในฐานะ ‘สัญลักษณ์’ แห่งการต่อต้านสังคม โดยเฉพาะในช่วงยุค 60s และ 70s ที่เหล่าหนุ่มสาวบุปผาชนทั้งหลายสวมใส่กางเกงยีนส์ออกมาเดินขบวนประท้วงสงครามจนเกิดเป็นสไตล์แฟชั่นที่เรียกว่า ‘ฮิปปี้’

จนกระทั่งเข้าสู่ยุค 80s สไตล์เวิร์กแวร์ถูกนำเข้าสู่วัฒนธรรมป็อปอีกครั้งในฐานะ ‘แฟชั่น’ ไอเท็ม ผ่านแวดวงดนตรีโดยเฉพาะฝั่งฮิปฮอปที่กำลังก่อร้างสร้างตัววัฒนธรรมย่อยของตัวเอง ทั้งแบรนด์เวิร์กแวร์ระดับโลกอย่าง Dickies แต่คงไม่มีแบรนด์ไหนจะฮอตไปกว่า Carhartt อีกแล้วในยุคนั้น

Carhartt ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1889 โดย Hamilton Carhartt ในมิชิแกน สร้างสรรค์เสื้อผ้าสำหรับคนงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมหนักอย่างเหล็ก รางรถไฟ ด้วยเนื้อผ้าที่ทนทานและมีกระเป๋ามากมาย โดยเฉพาะชุดเอี๊ยมที่ตอบโจทย์คนงานรางรถไฟอย่างมาก  

หากใครเกิดทันยุค 80s คงจะจำได้ว่าวัฒนธรรมป็อป โดยเฉพาะเพลงและมิวสิกวิดีโอกำลังได้รับความนิยม เริ่มต้นจากการก่อกำเนิดของ MTV ในปี ค.ศ. 1981 ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือชั้นดีในการเผยแพร่วัฒนธรรมป็อปไปทั่วโลก เช่นเดียวกันกับแฟชั่น ในมิวสิกวิดีโอเพลง ‘Come On Eileen’ ของวง Dexy’s Midnight Runners เพลงดังในปี ค.ศ. 1982 สมาชิกวงทุกคนสวมใส่ชุดเอี๊ยมยีนส์เป็นยูนิฟอร์มประจำวง แม้กระทั่งบอยแบนด์ระดับโลกในยุคนั้นอย่าง New Kids On The Block ก็มีชุดเอี๊ยมเป็นหนึ่งในชุดประจำของวงเช่นเดียวกัน

จนกระทั่งเข้าสู่ยุคฮิปฮอปในปลายยุค 80s ไปจนตลอดยุค 90s เราได้เห็น Tupac, Will Smith, DJ Premier, Mobb Deep, Nas, Wu-Tang สวมใส่เสื้อผ้าเวิร์กแวร์กันทั้งนั้นจนกลายเป็นเครื่องแบบประจำวัฒนธรรมฮิปฮอปก็ว่าได้ โดยเฉพาะแบรนด์ Carhartt ที่กลายเป็นแฟชั่นสุดฮิตของเหล่าแร็ปเปอร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะเจ้าพ่อของวงการทั้ง Notorious B.I.G. และ Tupac ที่สวมใส่ Carhartt เป็นประจำ ด้วยเสื้อผ้าเวิร์กแวร์นั้นมีรูปแบบ รูปทรงการตัดเย็บที่มีความเป็น ‘ผู้ชาย’ อย่างเต็มเปี่ยม โครงชุดแบบโอเวอร์ไซส์ ตัดเย็บอย่างดี ซึ่งสามารถนำเสนอภาพ ‘ความเป็นแร็ปเปอร์’ ที่ต้องแมนและมาโชได้เป็นอย่างดี ชื่อเสียงของเสื้อผ้าเวิร์กแวร์ตั้งแต่ชุดเอี๊ยม แจ็กเก็ต กางเกงทรงแบ๊กกี้ โดยเฉพาะของ Carhartt จึงกลายมาเป็นแฟชั่นไอเท็มของวัฒนธรรมย่อยอย่างกลุ่มฮิปฮอปในช่วงนั้นก่อนที่จะระบาดไปทั่วในฐานะส่วนหนึ่งของป็อปคัลเจอร์ที่ถูกนำเสนอผ่านมิวสิกวิดีโอและเอ็มทีวี

High Fashion Statement

จากความแมสของกางเกงยีนส์ที่มีแบรนด์ต่างๆ ผลิตขึ้นมากมาย ทั้ง Levi’s, Wrangler, Lee, Diesel กางเกงยีนส์ถูกยกระดับเข้าสู่ทำเนียบไฮแฟชั่นโดย Calvin Klein ที่ผนวกเข้ากับความเซ็กซี่ตั้งแต่โฆษณาของบรูค ชีลด์ส ในปี ค.ศ. 1980 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่แบรนด์เวิร์กแวร์อื่นๆ ก้าวไปสู่ความเป็นสตรีทแวร์ ทั้งการเป็นเสื้อผ้าของเด็กสเก็ตบอร์ด โดยเฉพาะ Carhartt และ Dickies ที่กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมย่อยเด็กบอร์ดในช่วงยุค 90s เป็นต้นมา ก่อนจะถูกตีตลาดด้วยแบรนด์สตรีทแวร์อื่นๆ ในช่วงยุค 90s อย่าง Supreme หรือ Stussy

 

ในขณะที่รูปแบบของเสื้อผ้าเวิร์กแวร์ก็ถูกดีไซเนอร์ของแบรนด์ไฮแฟชั่นหยิบยืมไปพัฒนาต่อ ทั้ง Helmut Lang, Dries Van Noten, Junya Watanabe, Kiko Kostadinov, Craig Green ไปจนถึง Preston Heron ในปัจจุบัน แต่นั่นก็เป็นเพียงรูปแบบของโครงสร้างของเสื้อผ้าที่นำส่วนต่างๆ ของงานเวิร์กแวร์มาปรับใช้กับรูปแบบของแฟชั่นในแบบปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของการสร้างสรรค์แฟชั่นที่มักนำแรงบันดาลใจจากตรงนั้นตรงนี้มาผสมผสานรวมกันสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหญ่ขึ้นมาเสมอ

แต่คงไม่มีใครพาสิ่งที่เรียกว่าเวิร์กแวร์ไปไกลได้มากกว่า Vetements อีกแล้ว ที่ไม่ได้นำแค่บางส่วนของประกอบของเสื้อผ้าแบบเวิร์กแวร์มาใช้ แต่นำเสื้อผ้าที่เป็น ‘ชุดทำงาน’ มาใช้เลย กับเสื้อยืดสีเหลืองโลโก้ DHL ในตำนานในคอลเล็กชั่นปี ค.ศ. 2015 ที่ทำให้โลกแฟชั่นปั่นป่วนว่าเราจะซื้อเสื้อยืดในแบบพนักงาน DHL ในราคาไฮแฟชั่นจริงๆ หรือ แต่คำถามนั้นก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเสื้อตัวนั้นระบาดทั้งของจริงและของปลอมไปทั่วโลก

แน่นอนว่า…มีคนอยากจะเป็นพนักงาน DHL ด้วยการสวมเสื้อยืดประดับโลโก้ DHL ในราคาสูงลิบลิ่ว

ประเด็นของเสื้อผ้าเวิร์กแวร์หรือเสื้อยูนิฟอร์มของพนักงานนั้น (แม้แต่ยูนิฟอร์มประเภทอื่นๆ) ถูกตั้งคำถามมานานแล้วกับการลดทอน ‘ตัวตน’ ของผู้สวมใส่ แล้วแปะป้ายสิ่งอื่นๆ ลงไปไม่ว่าจะเป็นอาชีพ สถานะทางสังคม หรือสถานะทางเศรษฐกิจ สิ่งที่ Demna Gvasalia ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Vetements ก่อนจะสละมาทำ Balenciaga ทำผ่านเสื้อยืด DHL ก็คือการสลับบทกันเล่น ทั้งการทำให้เสื้อยูนิฟอร์มหรือเสื้อผ้าที่เป็นชุดทำงานถูก ‘แปรสาร’ ไปเป็นอย่างอื่นนอกจากการงาน อาชีพ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกันผู้ที่มีสถานะทางสังคมใกล้เคียงกับพนักงานส่งของ DHL ก็จะไม่เห็นว่าเสื้อยืดตัวนี้โก้เก๋ตรงไหน และไม่คิดที่จะซื้อมาใส่ แต่ลูกค้าของ Vetements เองที่เห็นว่านี่คือความเก๋ ก็จะได้สวมบทเป็นเด็กส่งของบ้างในราคาที่พวกเขาต้องจ่าย ซึ่งก็แพงระยับอยู่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันคือความพยายามทำลายกรอบการลดทอนอัตลักษณ์และตัวตนของชุดยูนิฟอร์ม หรือแม้กระทั่งการแปะป้ายยี่ห้อแบรนด์ลงบนสิ่งของที่เรียกว่า ‘แฟชั่น’ เพราะหากป้ายยี่ห้อบริษัทส่งของอย่าง DHL กลายมาเป็นแฟชั่นแห่งปีได้ คำว่าแฟชั่นนั้นก็คงไม่มีความหมายในการกีดกันระดับชั้นของผู้คนในสังคมอีกต่อไปแล้ว

Tags: , , ,