“ดูจากบรรยากาศเศรษฐกิจ 1-2 ปีต่อจากนี้ บอกเลยว่าใครยังทำงานชิล Work-Life Balance Slow Life อยู่ไม่รอดแน่นอน ตอนนี้ต้องกลับเข้าสู่บรรยากาศ Work Hard To Survive แล้ว”

วิวาทะเรื่อง Work Hard ที่ รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของพอดแคสต์ Mission to the Moon เป็นผู้เริ่มต้นยิงขึ้นมา สร้างข้อถกเถียงต่อเป็นวงกว้าง

ข้อหนึ่งคือ การตั้งคำถามว่าประโยคสั้นๆ ดังกล่าวคือเรื่องจริงหรือไม่ บ้างก็บอกว่า Work Hard เป็นข้อคิดที่บรรดา ‘นายทุน’ ต้องการจากลูกจ้างเท่านั้น ขณะที่บางคนบอกว่า ต่อให้ Work Hard แต่ไม่ Work Smart ก็ไม่รอด 

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ หากเป็น 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ‘ทัวร์’ จะลงไปยัง ‘รวิศ’ อย่างหนักหน่วง เพราะในเวลานั้นที่เศรษฐกิจยังดูรุ่งโรจน์กว่านี้ บรรดาผู้คนในโลกออนไลน์ล้วนสมาทานแนวคิดแบบ Work-Life Balance 

แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นอีกเรื่อง กลับกลายเป็นคนเห็นด้วยกับข้อเขียนว่าด้วยการ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ อย่างหนักหน่วงเสียมากกว่า 

คำถามก็คือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไม ณ วันนี้ กระแสเปลี่ยนไปสู่การสนับสนุนการทำงานหนัก เอาเข้าจริงแล้ว การทำงานหนักช่วยได้จริงหรือ แล้วทางรอดในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ควรเป็นอย่างไร เราจะ ‘แบ่งสมดุล’ การทำงานหนัก และการทำงานแบบ Work-Life Balance ได้อย่างไร

Work Tips สัปดาห์นี้พาไปสำรวจก้นบึ้งของการทำงานหนัก และพยายามตอบคำถามยอดฮิตว่า ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ มนุษย์เงินเดือน คนทำงานทั้งหลายจะเอาตัวรอด จะ ‘บาลานซ์’ ตัวเองอย่างไร ให้ได้งาน และได้พักผ่อนไปด้วยกัน

1. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของ Work-Life Balance ในไทย

แม้คำว่า Work-Life Balance จะเกิดขึ้นทั่วโลกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970-1980 แต่ข้อสำคัญก็คือ ในประเทศไทยเพิ่งพูดเรื่องนี้ คำนี้เพิ่งได้รับความนิยมในประเทศไทยไม่ถึง 10 ปีที่แล้วนี่เอง เพราะเดิมประเทศไทยอยู่ภายใต้วัฒนธรรมการ ‘ทำงานหนัก’ แบบเอเชีย ที่เน้นทำงานหามรุ่งหามค่ำ ยิ่งกลับจากออฟฟิศดึกยิ่งดี กลับบ้านก่อนหัวหน้าถือว่ากลับบ้านเร็ว และหากจะต้องทำงานวันหยุด ก็พร้อมทำงานถวายหัวให้กับองค์กร

ส่วนหนึ่งก็เพราะในช่วงเวลาหนึ่ง การทำงานหนักมาพร้อมกับเศรษฐกิจที่รุ่งโรจน์ มาพร้อมกับจีดีพีที่เจริญงอกเงย ทำงานหนักแล้ว ‘เห็นผล’ ประกอบกับประเทศไทยในยุคหนึ่งคือประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่พร้อมรองรับการเติบโตของอาชีพ หน้าที่การงานตำแหน่งใหม่ๆ 

กล่าวได้ว่า เมื่อ 2-3 ทศวรรษที่แล้ว การทำงานหนักให้ภาพของการเติบโตที่ชัดเจน การทำงานหนักหมายความว่า คุณอาจได้เป็นหัวหน้าเร็วขึ้น สักวันหนึ่งหากองค์กรเติบโต องค์กรขยับขยาย คุณก็จะได้ตำแหน่งที่สูงกว่าในที่ใหม่ในทันที และการทำงานหนัก แม้จะได้โอทีเพียงน้อยนิดหรือไม่ได้เลย แต่ปลายปีคุณก็มีโอกาสลุ้น ‘โบนัส’ ในที่สุด ชนะการทำงานหนักจึงมีเหตุผลรองรับอยู่

แต่เมื่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานภาพเซื่องซึม ทำดีเสมอตัว ทำชั่วก็เสมอตัว เด็กรุ่นใหม่เริ่มเติบโตเข้าสู่โลกการทำงานจริง โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่สนทนาหลักแทนโลกจริง ปรัชญาว่าด้วย Work-Life Balance จึงแพร่หลายมากขึ้น เมื่อนั้นการทำงานจึงเริ่มคงที่อยู่ที่ชั่วโมงปกติ ไม่มีใครทำงานดึกดื่นอีกต่อไป และ ‘วันหยุด’ ก็คือ ‘วันหยุด’ ห้ามคุยเรื่องงาน ห้ามติดต่องาน พร้อมกับยึดวัฒนธรรมนี้อย่างเคร่งครัดในองค์กรรุ่นใหม่ 

องค์กรที่ยึด Work-Life Balance เป็นจุดศูนย์กลาง จึงเป็นองค์กรในฝันของคนรุ่นใหม่ แต่ก็มีหลายองค์กรที่ไม่สนใจค่านิยมนี้ โดยเฉพาะบรรดาเอเจนซีโฆษณาที่ยึดการ ‘ทำงานหนัก’ เป็นสรณะ

2. องค์กรไทย Work-Life Balance ในขณะที่หลายประเทศทำงานหนัก (จริงเหรอ?) 

ในแง่หนึ่งก็จริง ในภูมิภาคนี้มีหลายประเทศที่เป็น ‘ตลาดเกิดใหม่’ เป็น Emerging Market ที่เต็มไปด้วยเด็กรุ่นใหม่ คนเจนใหม่ๆ ที่ ‘ขยัน’ และบูชาค่านิยมทำงานหนัก บรรดาคนรุ่นใหม่ในจีนเน้นการทำงานหนัก ตั้งเป้าด้านยอดขายให้สูง และส่งต่อเป้านั้นไปยังมนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ ยิ่งทำงานหนัก ยิ่งเติบโตในหน้าที่การงานเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี และ ‘เงิน’ ก็ได้ง่ายขึ้น

ขณะที่เวียดนาม อีกหนึ่งประเทศข้างเคียงก็มีสถานะไม่ต่างกัน เวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก มีการแข่งขันสูง ฉะนั้นยิ่งทำงานหนัก ก็ยิ่งทำให้หัวหน้าหรือคนรอบข้างเห็นประสิทธิภาพ และมีโอกาสเติบโต 

ขณะเดียวกัน ด้วยค่าแรงที่ไม่แพง ระบบที่เอื้อต่อการลงทุนใหม่ๆ ก็ทำให้เวียดนามเป็นประเทศเนื้อหอม มีโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เติบโตได้อีก ปัจจุบันเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ราว 5.5-6.5% ในปีนี้

กลับมาที่ไทย สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ‘คุ้ม’ หรือไม่ กับการทำงานหนัก หากทำงานหนักแล้วมีผลตอบแทนกลับมา ย่อมเป็นเรื่องที่หลายคนคุ้มที่จะแลก เหมือนกับญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หากยังทำงานหนัก โดยที่ไม่มีอะไรแลกเปลี่ยนนอกจาก ‘คำชม’ ก็อาจต้องมานั่ง ‘ยิ้มอ่อน’ กันต่อไป

3. มีอีกหลายอาชีพที่ทำงานหนัก แล้วไม่ได้อะไรในสังคมอันเหลื่อมล้ำ

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ต้องควบกะจนดึกดื่น เป็นอาชีพที่ทำงานหนัก ‘พยาบาล’ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ทำงานหนัก เช่นเดียวกับ ‘นักข่าว’ พวกเขาต้องอยู่ภายใต้ชั่วโมงการทำงานอันยาวนาน บางอาชีพมีแรงกดดันสูงลิบ โดยที่ได้ค่าตอบแทนไม่มากเท่าไรนัก คำถามก็คือ แล้วมีอะไรที่ช่วยคนเหล่านี้ไม่ให้ต้องทำงานหนักเกินจริงได้บ้าง
ในระบบไทยๆ ไม่ได้มีอะไรปกป้องมากนัก ทุกคนต้องทำงานหนักตามๆ กัน และหากใครเริ่มประท้วง ยกมือบอกว่า ‘เกินเวลา’ คนนั้นย่อมถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ

ด้วยค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ว่านานกี่ปีก็อยู่ที่ 300 บาทเศษๆ ด้วยเงินเดือนนักศึกษาจบใหม่ที่อยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท ด้วยอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องเศร้าก็คือ อาชีพเหล่านี้สร้างตัวได้ยาก เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ที่ทำงานรายชั่วโมงก็ผ่อนบ้าน ผ่อนรถได้ แต่ด้วยสภาพเช่นนี้ ผ่อนมอเตอร์ไซค์สักคันยังเป็นเรื่องยาก

4. ‘ทำงานหนัก’ ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น

อย่างที่รู้กัน เศรษฐกิจไทยอยู่ใน ‘หลุมดำ’ มาเป็นระยะเวลานาน เราอยู่ในภาวะที่เติบโตต่ำ จีดีพีปี 2023 โตไม่ถึง 2% และยังไม่มีการปรับโครงสร้างใดๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นได้ ในเวลาเดียวกัน ภูมิรัฐศาสตร์โลกก็เปลี่ยนไป การแข่งขันกับนานาชาติทำให้ไทยต้องหาจุดเด่นมากขึ้น (แต่ก็ยังหาไม่เจอ) เพราะฉะนั้น ถ้าทำงานหนัก แต่อยู่ไม่ถูกที่ ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร รังแต่จะเป็นเครื่องมือให้ ‘นายทุน’ ได้ใช้ประโยชน์ต่อจากการทำงานหนักของคุณเท่านั้น

จริงๆ เรื่องนี้ สามารถตอบแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า คุณควรทำงานเพียงแค่ตามกฎหมายกำหนด (48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และในเวลาเดียวกัน หากทำงานนอกเวลา ก็ควรต้องได้รับโอทีที่สมน้ำสมเนื้อ ในเวลาเดียวกัน มนุษย์ก็ต้องการการพักผ่อนที่เพียงพอ ไม่มีใครจะทำงาน ทำงาน ทำงาน ได้ตลอดเวลา หากแต่ชีวิตยังมีมิติอื่นๆ ที่ต้องค้นหาต่อไป ไม่ว่าจะผ่านการท่องเที่ยว การอ่านหนังสือ การดูซีรีส์ดีๆ สักเรื่อง ฯลฯ 

สิ่งที่หลายคนปรารถนา อาจเป็นการ ‘ทำงานหนัก’ แบบไม่ต้องทำงาน คือการให้งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ง่ายนัก ยิ่งเติบโต การตัดสินใจบางเรื่องอาจยากขึ้น ยิ่งเติบโต ภาระที่ต้องรับผิดชอบยิ่งมากขึ้น และในระบบที่ ‘โครงสร้าง’ ไม่ได้มั่นคง ก็ไม่ได้มีงานใดที่มั่นคง สถิตสถาพรต่อไปตลอดเวลาเช่นกัน 

ทั้งหมด คือเรื่องที่ ‘คนทำงาน’ แบบไทยๆ ต้องทำใจรับสภาพ และอยู่อย่างนี้กันต่อไป โดยหวังลมๆ แล้งๆ ว่าสักวันหนึ่ง ทุกอย่างจะดีขึ้น

ที่มา

https://hrmasia.com/work-life-balance-a-priority-for-employees-in-thailand/

https://nnroad.com/blog/work-culture-in-china/

Tags: , , , , ,