นี่คือสารคดีที่ติดตามเวิร์กช็อปสี่วันในเรือนจำฟอลซัม (Folsom Prison) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เวิร์กช็อปที่มีมาต่อเนื่องหลายปี ว่าด้วยการนำคนนอกเข้าไปในเรือนจำแล้วทำเวิร์กช็อปกับนักโทษ ซึ่งหลายคนเป็นชาวแกงค์ เป็นฆาตกร เป็นคนที่โดนตัดสินจำคุกหลายสิบปีในข้อหาค้ายา ฆ่าคนตาย บางคนติดคุกตลอดชีวิต บรรดาคนที่สังคมมองเห็นว่าต้องกีดกันออกไป ไม่มีคุณค่าพอจะมีชีวิตอยู่  พวกเขาได้พบกับคนนอก บาร์เทนเดอร์ คนนำชมพิพิธภัณฑ์ ผู้ช่วยครู คนที่มีปมในใจอยากเข้ามาสังเกตการณ์โดยไม่มีส่วนร่วม คนที่มาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่งลังเลสงสัยต่อกระบวนการนี้

พวกเขาถูกจับกลุ่มคละกันระหว่างนักโทษกับคนนอก สนทนาแลกเปลี่ยนชีวิตกันแล้วแต่ละคนก็ค่อยๆเปิดใจ นักโทษบางคนเข้าร่วมเวิร์กช็อปนี้มามากกว่าหนึ่งครั้ง บางคนก็พ้นโทษออกไปเป็นผู้ช่วยประสานประจำกลุ่ม บางคนอาจจะเปิดใจ บางคนไม่เปิดใจ บางคนดีดตัวออกห่าง แต่ชีิวิตค่อยๆ ถูกคลี่ออกผ่านการพูดคุย ทั้งตั้งป้อม ทั้งทลายกำแพง สี่วันที่ดูเหมือนทุกอย่างจะไม่มีหัวหางตามลำดับเมื่อคนหนึ่งเริ่มพูดเราก็ค่อยๆ เห็นชีวิตของเขาไหลออกมา เห็นว่าไม่ว่าจะนักโทษโฉดร้าย หรือคนธรรมดาทุกคนก็มีค่า และมีบาดแผลเป็นหนึ่งหน่วยเท่าๆกัน

หนังติดตามกลุ่มคนกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียวที่มี บาร์เทนเดอร์ที่พ่อติดคุกตัวเองเลยกลัวมาตลอดว่าจะติดคุก มีชาวแกงค์อินเดียนแดงที่แทงคนด้วยมีดพร้า มีนักโทษที่นับโทษแล้วอาจจะต้องตายแล้วเกิดใหม่ถึงจะพ้นโทษ คนคุกที่เรียนรู้จนแทบจะเป็นหมอสอนศาสนาในคุก มีหนุ่มผู้ช่วยครูผู้ไม่เปิดใจที่มาเพื่อวิจารณ์คนอื่นๆ มีหนุ่มคนนำชมพิพิธภัณฑ์ที่พยายามจะสังเกตการณ์แต่เพียงอย่างเดียว ทุกคนล้อมวงมาจับเข่าคุยคล้ายกลุ่มบำบัด เพื่อเปิดแผลในใจออกมา ก้าวข้ามปมบางอย่างที่ผลักให้คนเหล่านี้ปิดตัวเอง

หลายคนอาจจะเคยได้ยินรายการทางแสนโด่งดังทาง Netflix อย่าง Queer Eye ว่าด้วยเกย์ห้าคนที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงชีวิตอับเฉาของคนหนุ่มในที่ต่างๆ แต่ละคนก็จะรอบรู้กันคนละแบบทั้งแฟชั่น อาหาร การตกแต่งบ้าน การเข้าสังคม และเรื่องผมเผ้าหน้าตา ด้วย ‘สายตา’ แบบ ‘เควียร์’ ซึ่งไม่ได้หมายความแค่สายตาของเกย์ หรือโฮโมเซ็กชวล แต่เป็นสายตาของคนนอกที่ไม่ได้อยู่ในวิถีของรักต่างเพศ สายตาอารีอารอบละเอียดลออจะส่องสะท้อนด้่านที่คนในไม่เคยรู้ เปิดเผยด้านที่อ่อนโยนน่ารัก ด้านที่อ่อนไหวและโดดเด่นของพวกผู้ชายที่แข็งทื่อ ซึมเศร้า ไม่ดูแลตัวเอง สายตาแบบคนนอกเท่านั้นจึงจะส่องสะท้อนด้านอื่นๆ เหล่านี้ออกมาได้

เช่นกัน สายตาแบบ queer ในหนังสารคดีเรื่องนี้ ก็เป็นสายตาของคนในคุกที่มองกลับไปคนนอก และคนนอกคุกที่มองเข้าไปข้างใน สายตาจากคนที่อยู่ในสังคมกับคนที่ถูกกันออกจากสังคมโดยการจับกุมคุมขัง ได้ส่องสะท้อนอีกด้านของอีกฝั่ง เราอาจจะบอกว่า The Work เป็น Queer Eye ของผู้ชายที่ถูกกดทับ ครอบงำด้วยความเป็นชาย และความเป็นชายที่กดทับผลักพวกเขาไปสู่ด้านสุดโต่งของความเป็นชายเมื่อพวกเขาลงมือใช้อำนาจประกอบอาชญากรรม

จึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจที่เกือบทั้งหมด ปมของผู้คนที่หนังจ้องมองล้วนเป็นปมของ ‘พ่อกับลูกชาย’ หนึ่งในซับเจคต์เป็นแกงค์เม็กซิกันที่ฆ่าคนไม่เลือก ตอนนี้เมียหอบลูกหนี ไม่เหลือใครในชีวิต เมื่อเขาเปิดแผลของตัวเอง เขาบอกว่าสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือเขาไม่รู้สึกอะไรอีกแล้ว เขาไม่สามารถที่จะรู้สึก ไม่สามารถที่จะร้องไห้ เพราะถูกสอนว่าผู้ชายไม่ร้องไห้ การปิดกั้นของเขาขยับขยายไปถึงขนาดที่เขาไม่มีความรู้สึก ไม่มีอารมณ์ และแน่นอนไม่มีความสำนึกบาป หรือการที่อีกคนเล่าว่าในใจของเขาหวนกลับไปยังวันที่เขาอยากจะช่วยพ่อในอู่แล้วโดนปฏิเสธให้กลับเข้าบ้านไปหาแม่ ความรู้สึกถูกตำหนิทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกไม่สมบูรณ์ได้ พ่อทำให้ลูกชายมีตำหนิผ่านการทำให้เป็นลูกผู้ชาย หรือความเป็นชายที่ล้นเกินของพ่อ

มันจึงจับใจอย่างยิ่งที่วิธีการคลี่คลายของเวิร์กช็อปคือการพยายามใช้ความเป็นชายมาหักล้างความเป็นชาย การจ้องตาและท้าให้ก้าวข้ามตนเองออกมา และเมื่อพวกเขาก้าวข้ามมาผู้คนจะใช้สิ่งที่ตรงข้ามความเป็นชายอย่างเช่นการสัมผัสทางกาย การโอบกอด การดึงรั้ง การทำให้ร้องให้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำลายสิ่งของหรือผู้คนอีก การใช้ร่างก่ายทับกันเอาไว้ สัมผัสทางกายอันไม่แมนกลายเป็นเครื่องเยียวยาที่สุดขอบความแมน

ความเป็นชายจึงเป็นบาปไม่แพ้ความเป็นหญิง หนังตีแผ่ทุกข์ของผู้ชายในโลกชายเป็นใหญ่ซึ่งไม่ได้มีแต่เกย์หรือชายที่ไม่เป็นชายเท่านั้นที่ทนทุกข์ แต่ผู้ชายจริงก็ล้วนต่างถูกกดทับด้วยความเป็นชาย อภิสิทธิ์ และอำนาจที่มาพร้อมกับการควบคุม ถึงที่สุดความเบี่ยงเบนอาจจะมาทั้งในรูปของการปฏิเสธสุดขั้วและการโอบรับสุดขีด

เลยพ้นไปจากประเด็นนั้นมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยกำลังถกกันในประเด็นของการสมควรมีหรือไม่มีโทษประหาร  มีหลายข้อโต้แย้งทั้งจากฝั่งที่สนับสนุนและคัดค้าน หากหนึ่งในข้อโต้แย้งของฝ่ายสนับสนุนโทษประหารที่น่าสนใจคือการที่พวกเขามองว่า อาชญากรเป็นคนเลวโดยสันดาน เป็นคนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ สังคมนั้นปกติสุขดี แต่คนเลวในสันดานเหล่านี้ต้องถูกกำจัดออกไปเพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำ และทำลายคนอื่นๆ ในสังคม ดูเป็นข้อเสนอที่ฟังขึ้น แต่ดูเหมือนสารคดีเรื่องนี้จะสามารถโต้แย้งข้อโต้แย้งดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน  

อย่างที่เล่าไปแล้วว่ามีนักโทษหลายคนในกลุ่มบำบัดที่จะไม่ได้ออกไปข้างนอกตลอดกาลแม้ในชาติหน้าถ้าชาติหน้ามีจริง แต่สิ่งที่กลุ่มบำบัดนี้ตั้งธงคือการไม่ได้มองอาชญากรในฐานะคนเลวโดยสันดานที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เวิร์กช็อปนี้วางอยู่บนฐานคิดที่ว่าคนทุกคนเป็นคนเท่ากัน ความชั่วร้ายหรืออาชญากรรมใดๆ ที่พวกเขากระทำไม่ได้มาจากสันดานชั่วร้ายแต่เพียวอย่างเดียว หรือกระทั่งสันดานชั่วร้ายก็มีปมที่มาที่ไปที่แก้ไขได้และพัฒนาได้

ความคิดนี้สำคัญมากๆ เพราะแนวคิดพื้นฐานอันหนึ่งของคุกและการประหารชีวิตคือการลงโทษ  การลงโทษเป็นสิ่งที่มีปัญหาในตัวมันเอง เพราะมันพ่วงมาด้วยความรู้สึกอันจับต้องไม่ได้ของความสาแก่ใจที่เห็นคนอื่นถูกลงโทษ การลงโทษจึงมีตั้งแต่การริดรอนอิสรภาพของมนุษย์ เช่นการคุมขังไปจนถึงความตาย แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือการลดลทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นการทำให้ความเป็นอยู่ในคุกเป็นเรื่องเลวร้าย ปล่อยให้การละเมิดสิทธิ์ใดๆ ในคุกเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับได้ (จนกว่าลูกหลานตัวเองจะเป็นคนที่เข้าไปนอนในคุก) การเพิกเฉยต่อความเป็นไปในคุก ยืนอยู่บนพื้นฐานของความสาแก่ใจที่อาชญากรได้รับการลงโทษแบบล้นเกินจากกฏหมาย คล้ายๆ กฎแห่งกรรมจะตามทัน

อย่างไรก็ดี ความคิดเช่นนี้เองที่ปิดกั้นตั้งแต่ต้นที่จะทำให้คนที่เพียงผิดพลาด สามารถปรับปรุงแก้ไขตนเองได้  การเรียกร้อง ‘ความหลาบจำ’ จึงเป็นเรื่องย้อนแย้งแบบเดียวกับการลงโทษบุตรหลานด้วยการเฆี่ยนตี เพราะแทนที่ผู้ถูกลงโทษจะหลาบจำ และสำนึกในสิ่งที่ตัวเองพลาด มันกลับกลายเป็นการตอกย้ำให้พวกเขาเห็นว่าโลกนั้นชั่วร้ายมากขึ้น การเรียกร้องให้อดีตนักโทษกลับตัวเป็นคนดี โดยลงโทษแบบไม่ให้โอกาสมองกลับไปทบทวน ก็เป็นเพียงการเรียกร้องที่เป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้น เพราะมันคือการเรียกร้องการพัฒนาตนเองด้วยการปิดทุกประตูของการพัฒนา ปลายทางของมันจึงนำไปสู่การสนับสนุนโทษประหารเพราะคนจะไม่เปลี่ยน แต่การเปลี่ยนไม่ได้อยู่แต่ที่คน หากอยู่ที่สังคมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย มันจึงไม่ใช่อะไรอกจากการปัดสวะให้พ้นตัวหลังจากเสพสมการลงโทษผู้อื่นจนสาแก่ใจแล้ว

ย้อนกลับมาที่หนัง ด้วยแนวคิดที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงในสารคดีเรื่องนี้ การที่มีคนเชื่อว่าต่อให้นักโทษเหล่านี้ทำชั่วช้ามามากขนาดไหน ลึกๆ แล้วเราสามารถปรับปรุงเขาได้ เราสามารถคืนคนดีออกสู่สังคมได้ สภาพแวดล้อมที่ไม่เลวร้าย การให้โอกาสกลับมาทบทวนตัวเอง ซึ่งไม่สามารถทำได้สมบูรณ์หากเป็นเพียงการมองกันเองในหมู่คนต้องโทษด้วยกัน การเอาคนนอกเข้ามาสะท้อนปัญหาของกันและกันจึงกลายเป็นการเยียวยา การเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพพอที่จะก้าวพ้นอดีตของตน ในขณะที่ยังต้องรับโทษต่อไป ความคิดในที่ยืนอยู่บนคนละพื้นฐานนำมาสู่หลักปฏิบัติคนละหนทางและเป้าหมายที่แตกต่างกันซึ่งหลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ชมที่จะต้องครุ่นคิดต่อไปเองว่าภายใต้ถ้อยแถลงที่เราเชื่อถือเป็นอุดมการณ์นั้นมันสืบทอดมาจากความคิดแบบไหนกันแน่

หนังจึงตั้งชื่อว่า ‘งาน’ งานซึ่งไม่ใช่การทำงานจักรสานงานแบบผู้ต้องขังกรมกราชทัณฑ์ แต่งานคือการมีชีวิต การเรียนรู้ชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้ง

งานของการเป็นมนุษย์

Fact Box

The Work หนังสารคดีโดยผู้กำกับ แจย์รัส แม็คลารี (Jairus McLeary) ร่วมกับ เกธิน อัลดัส (Gethin Aldous) ออกฉายครั้งแรกอเมริกาเมื่อเดือนกันยายน 2017 และถูกนำมาฉายที่ Bangkok Screening Room เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

Tags: , , , , , , , , ,