Burnout หรือภาวะ ‘หมดไฟ’ ในการทำงาน ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าการ Burnout นั้นจะมาจากไหน แต่การพูดถึงล้วนเกี่ยวพันกับความเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่อง ความไม่ลงรอยกันในที่ทำงาน ความภาคภูมิใจในตัวเองที่ต่ำลง และแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ทรมานจากการ Burnout แต่ไม่ว่าวิธีการนั้นจะมีความหมายที่ดีเท่าไร ทว่าทั้งหมดก็เป็น ‘ปลายเหตุ’ และหาใช่ต้นทางที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟนี้

แล้วทำอย่างไรจึงจะป้องกันการ Burnout? ในหนังสือเล่มใหม่ของ คริสตินา มาสลาช (Christina Maslash) ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และไมเคิล พี. เลเตอร์ (Michael P. Leiter) นักจิตวิทยาองค์กรและที่ปรึกษา ร่วมกันเขียนหนังสือเล่มใหม่ชื่อ The Burnout Challenge ในการวิเคราะห์สาเหตุของการ Burnout โดยเริ่มต้น ‘นิยาม’ คำนี้ใหม่ ด้วยการบอกว่า Burnout คือความเครียดขั้นเบื้องต้นต่อแรงกดดันจากเงิน ที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังและไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ภาวะทางการแพทย์หรือความเจ็บป่วยทางจิตแต่อย่างใด

หนังสือเล่มนี้ยังแสดงให้เห็นความผิดพลาดขั้นต้น ซึ่งเป็นบ่อเกิดของภาวะหมดไฟใน 6 ประเด็น ได้แก่

1. ความไม่สมดุลใน ‘ภาระงาน’ ซึ่งมีความต้องการสูง (ไม่ว่าจะจากผู้บริหาร ลูกค้า หรือตัวเอง) แต่มีทรัพยากรจำกัด ทั้งเวลา คน และเครื่องมือ

2. ความไม่สมดุลใน ‘การควบคุม’ ซึ่งหมายความว่าบรรดาพนักงานไม่มี ‘อิสระ’ ในการตัดสินใจเลือกทำงานนั้นๆ ให้ได้ดีที่สุด

3. ความไม่สมดุลใน ‘ผลตอบรับ’ และ ‘รางวัล’ หากพนักงานเหล่านั้นทำงานได้ดี ทว่าถึงที่สุดกลับไม่มีผลตอบรับในเชิงบวก

4. พื้นที่ของ ‘สังคมออฟฟิศ’ และการสร้างวัฒนธรรมการทำงาน ที่ควรเป็นวัฒนธรรมแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และการเคารพซึ่งกันและกัน แต่ในบางที่กลับกลายเป็นภาวะ Toxic

5. พื้นที่ของความเป็นธรรม ซึ่งบางครั้งอาจกลายเป็นการ ‘เลือกปฏิบัติ’ ต่อพนักงานอย่างไม่เท่าเทียม

6. พื้นที่ของ ‘คุณค่า’ ในงาน ที่พนักงานอาจต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางจริยธรรม และอาจต้องค้นหาความหมายในงานของตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นทำไปเพื่ออะไร

หนังสือเล่มนี้เน้นย้ำถึงคุณค่าของการใช้โมเดลที่ไม่ตรงกันด้านบนเพื่อประเมินปัญหาในสถานที่ทำงานและเพื่อออกแบบวิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ทั้งยังได้พัฒนาข้อสรุปใหม่ที่เน้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับ ‘งาน’ ของพวกเขา

มิติใหม่แห่งความพอดีระหว่าง ‘คน’ กับ ‘งาน’

ใช่ เราเคยรู้กันก่อนหน้านี้ว่าการออกแบบพื้นที่ในการทำงาน (โต๊ะทำงาน การจัดวางคอมพิวเตอร์ และเก้าอี้ Ergonomics) ให้เหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ เพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปวดเมื่อย หรือการเจ็บป่วยจากการทำงาน

สำหรับในเรื่องนี้ ผู้เขียนได้ขยายเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมทั้งในเชิง ‘สังคม’ และในเชิง ‘จิตวิทยา’ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในการทำงานอย่างดี และหลีกเลี่ยงอารมณ์โมโห หงุดหงิด และท้อแท้ โดยการทำงานเชิงจิตวิทยาต้องหมายรวมถึงคนทุกคนที่แวดล้อม ไม่ว่าจะในเชิงความเป็นอิสระ ความรู้สึกร่วมกันเป็นเจ้าของ และความรู้สึก ’มั่นคง’ ในการทำงาน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการจับคู่ระหว่างคนกับงานให้ดีขึ้น

แนวทาง ‘ทวิภาคี’

การจับคู่ที่ดี หาได้เกิดจากกลยุทธ์ของใครคนใดคนหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของงาน หรือการคิดค้นกฎใหม่ให้กับพนักงาน ในข้อนี้ ทั้งตัวพนักงานและตัวเนื้องานควรได้รับการพิจารณาร่วมกันทั้งออฟฟิศ เพื่อให้ได้ข้อยุติ และได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจทั้งในเชิงประสิทธิภาพของการทำงาน และความพึงพอใจขั้นสุดของพนักงาน

เปลี่ยนโฟกัส

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะ Burnout คือ ‘ใครกำลัง Burnout บ้าง’ แล้วค่อยๆ จัดการกับผู้ที่หมดไฟเป็นรายบุคคล ทว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือกลยุทธ์ในการจัดการระหว่างบุคคลกับงาน เพราะฉะนั้นอาจต้องเลิกโฟกัสไปที่ ‘ใคร’ แต่ต้องโฟกัสไปว่า ‘ทำไม’ คนเหล่านั้นถึงหมดไฟ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำกับคนอื่นๆ ในระยะยาว

ภาษาที่เข้าใจร่วมกัน

6 ประเด็นข้างต้น ควรเป็นภาษาที่ใช้ร่วมกันในพนักงานทุกคน รวมถึงผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูง โดยภาษาทั่วไปนี้จะช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานร่วมกัน และช่วยให้สามารถจับคู่คนและงานได้ดีขึ้น

“กระบวนการจัดการกับความเหนื่อยหน่ายและภาวะหมดไฟ เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้ดีขึ้นนั้น ควรเป็นความพยายามร่วมกันของทุกคน ทุกฝ่าย” ผู้เขียนระบุ

ด้วยเหตุนี้ทั้งหมดจึงเป็นหนทางไปสู่การทำงานที่ดีขึ้น และสร้างโลกแห่งการทำงานได้ดีขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายวิน-วินร่วมกัน มากกว่าที่จะมีใครพ่ายแพ้ไป

 

ที่มา

https://www.inc.com/marcel-schwantes/burnout-challenge-book-reveals-what-causing-workplace-burnout.html

https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/burnout/art-20046642

Tags: , , ,