ช่วงแรกเริ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนงานผู้ผันตัวจากเกษตรกรมาเข้าสู่สายพานการผลิต ‘สมัยใหม่’ ได้ริเริ่มวัฒนธรรมการทำงานแบบไม่มีวันหยุดพัก เฉลี่ยทำงานสัปดาห์ละกว่า 100 ชั่วโมง ภาวะการทำงานที่โหดหินนี้ทำให้เกิดการเรียกร้องจากสหภาพแรงงานเพื่อปรับลดวันและชั่วโมงการทำงาน

ราวต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เสียงดังกล่าวได้รับการตอบสนองโดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) ในสหรัฐอเมริกาที่ลดวันทำงานเหลือ 5 วันและเวลาทำงานปกติ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ใน ค.ศ. 1914 ก่อนจะออกเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานในท้ายที่สุด ใน ค.ศ. 1950 แรงงานในสหรัฐอเมริกาทำงานเฉลี่ย 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตัวเลขดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 2015 แรงงานในสหรัฐอเมริกาทำงานเฉลี่ย 34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

กราฟแสดงช่วงโมงทำงานต่อสัปดาห์ของแรงงานในสหรัฐอเมริกา (เขียวอ่อน) เยอรมนี (ส้ม) เบลเยียม (น้ำเงิน) ฝรั่งเศส (เขียว) และเนเธอร์แลนด์ (แดง) ตั้งแต่ ค.ศ. 1870 ถึง ค.ศ. 2000 ภาพจาก ourworldindata.org

นักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานอย่างจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ทำนายไว้เมื่อ ค.ศ. 1928 ว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะทำให้ชั่วโมงทำงานในแต่ละสัปดาห์ของเราลดลงเหลือ 15 ชั่วโมงในอีก 100 ปีข้างหน้า ตัวเลขดังกล่าวถือว่าทำนายมาถูกทางแต่อาจจะพยากรณ์สุดขั้วเกินไปสักหน่อย

หลายบริษัทโดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีได้ทดลองลดชั่วโมงการทำงาน โดยผลการทดลองครั้งล่าสุดของบริษัทไมโครซอฟท์ในประเทศญี่ปุ่นที่จะลดการทำงานลงเหลือ 4 วันเป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์กับพนักงาน 2,300 คนโดยไม่ปรับลดเงินเดือนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Work-Life Choice Challenge’

ผลลัพธ์ที่ได้คือผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์!

นอกจากผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทยังพบว่าพนักงานใช้วันลาน้อยลง 25 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้ไฟฟ้าลดลง 23 เปอร์เซ็นต์ พนักงานปรินต์เอกสารลดลง 59 เปอร์เซ็นต์ โดยพนักงาน 92 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าชื่นชอบการมีวันทำงานที่น้อยลง

“ทำงานให้น้อยลง พักผ่อนให้เพียงพอ และเรียนรู้ให้มาก ผมอยากให้พนักงานทุกคนคิดว่าจะบรรลุผลลัพธ์เท่าเดิมได้อย่างไรหากมีเวลาทำงานน้อยลง 20 เปอร์เซ็นต์” นี่คือบางส่วนของแถลงการณ์จากทาคูยะ ฮิราโน (Takuya Hirano) ประธานและผู้บริหารไมโครซอฟท์ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์

ปัญหาในโลกการทำงานสมัยใหม่

เคล็ดลับส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทไมโครซอฟท์ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการทดลองดังกล่าวคือจำกัดเวลาการประชุมไม่ให้เกิน 30 นาที และสนับสนุนให้ติดต่อสื่อสารแบบไม่ต้องพบหน้า ประโยคดังกล่าวชวนให้ผู้เขียนนึกถึงช่วงเวลาที่ยังเป็นมนุษย์เงินเดือนในบริษัทข้ามชาติที่ตารางงานในหนึ่งวันอัดแน่นด้วยการประชุม การพูดคุย และการอธิบายทั้งวงใหญ่และวงย่อยจนต้องกลับบ้านดึกดื่นเนื่องจากอาศัยช่วง ‘นอกเวลางาน’ สะสางงานที่ควรจะเสร็จใน ‘เวลางาน’ แต่กลับถูกเบียดบังจากสารพัดการประชุม

ผู้เขียนชวนมาลองทบทวนดูว่าในแต่ละวันเราใช้เวลาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพกี่ชั่วโมง หากตัดการประชุมที่ไร้จุดหมาย อีเมลที่ไม่สร้างผลิตภาพ โทรศัพท์ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว การพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน เวลาทานอาหารกลางวันและของว่าง ดื่มน้ำ จิบกาแฟ ไถโซเชียลมีเดีย ฯลฯ

นึกไม่ออกไม่เป็นไรครับ เพราะมีการสำรวจพนักงานออฟฟิศในสหราชอาณาจักรพบว่าใน 8 ชั่วโมงของหนึ่งวัน พวกเขาและเธอมีช่วงเวลาที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพียง 2 ชั่วโมง 53 นาที นั่นหมายความว่าการลดเวลาทำงานเหลือสัปดาห์ละ 32 ชั่วโมงนั้นไม่ไกลเกินฝันหากเวลาเหล่านั้นถูกใช้ไปอย่างเต็มสมรรถภาพ การสำรวจในลักษณะคล้ายคลึงกันโดย The Workforce Institute ยังพบว่าพนักงานทั่วโลกราว 45 เปอร์เซ็นต์คิดว่าสามารถทำงานในแต่ละวันเสร็จภายใน 5 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า

บทความใน Harvard Business Review ระบุว่าองค์กรสมัยใหม่ทำลายผลิตภาพจากความคาดหวังที่ว่าพนักงานจะต้องพร้อมตอบสนองตลอดเวลารวมทั้งเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งสะท้อนในงานวิจัยที่พบว่าพนักงานใช้เวลากับการอ่านและตอบอีเมลราว 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยจะเช็คอีเมลเฉลี่ยวันละ 74 ครั้ง และเช็คโทรศัพท์มือถือวันละ 2,617 ครั้ง นี่คือภาพของการไม่มีสมาธิและพยายามจะ ‘ตอบสนองอย่างรวดเร็วที่สุด’ จนทำลายประสิทธิภาพการทำงาน

นี่อาจเป็นสาเหตุที่หลายคนเลือกที่จะอยู่ทำงานหลังเลิกงาน เพราะเป็นช่วงเวลาที่แสนจะสงบสุขและไร้คนรบกวน

กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างชั่วโมงทำงานต่อคนต่อปีและผลิตภาพ (วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อชั่วโมงทำงาน) ข้อมูลปี ค.ศ. 2017 พบว่าประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานสูงมีแนวโน้มที่จะมีผลิตภาพต่ำ ภาพจาก  ourworldindata.org

ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นจริงได้หรือไม่?

ไมโครซอฟท์ไม่ใช่บริษัทแรกที่ทดลองทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา บริษัท Perpetual Guardian บริษัทจัดการสินทรัพย์ในนิวซีแลนด์ได้ทำการทดลองในลักษณะคล้ายคลึงกัน และได้ผลลัพธ์ที่ระบุว่าพนักงานมีความเครียดน้อยลง มีความสุขในการทำงานมากขึ้น และรู้สึกมีความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีผลิตภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นราว 20 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาบริษัทจึงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้แบบถาวรโดยพนักงานสามารถเลือกวันหยุดได้เอง (ไมโครซอฟท์จะบังคับหยุดในวันศุกร์) หรือเรียกว่าระบบ ‘100/80/100’ คือเงินเดือน 100 เปอร์เซ็นต์ เวลาทำงาน 80 เปอร์เซ็นต์ และผลลัพธ์ 100 เปอร์เซ็นต์

การทำงาน 4 วันยังกลายเป็นประเด็นร้อนในสหราชอาณาจักร หลังจากที่สหภาพแรงงานได้เสนอแนวคิดดังกล่าวในเดือนพฤษภาคมและได้กลายเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคแรงงาน มีการสำรวจความคิดเห็นของเหล่าธุรกิจที่นำแนวคิดทำงาน 4 วันไปปรับใช้จริงได้ผลสรุปดังนี้ บริษัท 64 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าพนักงานมีผลิตภาพสูงขึ้น และอีกราว 2 ใน 3 แจ้งว่าพนักงานมีความสุขมากขึ้น (78 เปอร์เซ็นต์) ความเครียดน้อยลง (70 เปอร์เซ็นต์) และลาป่วยน้อยลง (62 เปอร์เซ็นต์)

ที่สำคัญ กระแสการทำงาน 4 วันยังได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริหารในหลายบริษัทโดยมองว่าคือ ‘การทำงานแห่งอนาคต’ และวันหยุดที่เพิ่มขึ้นยังเปิดโอกาสให้พนักงานพัฒนาความรู้ความสามารถ ใช้เวลาทำงานอาสาสมัคร หรือออกมาจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย

แนวคิดดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้ประโยชน์แก่เฉพาะคนงานคอปกขาวหรือเหล่าพนักงานออฟฟิศ เพราะเกณฑ์การทำงานเพียง 4 วันอาจเป็นไปได้ยากอย่างยิ่งสำหรับคนงานคอปกน้ำเงิน เช่น พนักงานในร้านค้าปลีก รวมถึงเหล่าผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคการผลิตและภาคการก่อสร้าง นักวิชาการบางคนยังมองว่าการเปลี่ยนวันทำงานจาก 5 วันเป็น 4 วันก็เพียงเปลี่ยนกรอบจำกัดใหม่ภายใต้แนวคิดเดิม โดยเขานำเสนอว่าควรเปลี่ยนวิธีคิดในแง่การทำงาน แทนที่จะวัดวันและเวลาเข้างานซึ่งเปรียบเสมือนปัจจัยนำเข้า เราควรมองผลลัพธ์ของการทำงานเป็นหลักแล้วปล่อยให้พนักงานจัดการตารางชีวิตตัวเอง

 

เอกสารประกอบการเขียน

The Four-day Workweek Isn’t as Crazy as You Think

Will History Repeat Itself or Are We on the Path to a Shorter Work Week?

The Case for the 6-Hour Workday

4-Day Workweek Boosted Workers’ Productivity By 40%, Microsoft Japan Says

The many benefits of a 4-day work week

Microsoft experimented with a 4-day workweek, and productivity jumped by 40%

Economics of a four-day working week: research shows it can save businesses money

It’s time to switch to a four-day working week, economists argue

 

Tags: