สุภาษิตโบราณเคยกล่าวไว้ว่า “คำพูดแม้จะไม่มีขา แต่สามารถไปไกลได้ถึงพันลี้” แต่สำหรับทุกวันนี้ที่โซเชียลมีเดียทำลายพรมแดนของโลก และมีอิทธิพลต่อชีวิตเรามากกว่าที่เราคิด ทำให้การแสดงความคิดเห็นหรือการสื่อสารลงบนโลกออนไลน์ต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม เพราะอินเทอร์เน็ตมีส่วนช่วยให้คำพูดของเรา ไปได้ไกลมากกว่าพันลี้เสียอีก
โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ทุกคนสามารถจะแสดงความคิดเห็นและเป็นสื่อได้ สิ่งที่ควรระวังในการสื่อสารคือ ‘การโจรกรรมความคิด (Plagiarism)’ หรือการที่เรานำความคิดของผู้อื่นมาสื่อสารโดยไม่มีการอ้างถึงบุคคลผู้เป็นเจ้าของความคิดนั้น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เพราะข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่มีให้คนหาอย่างมหาศาล จึงทำให้ในบางครั้งมีการนำข้อมูลที่พบเจอในอินเทอร์เน็ตไปสื่อสารต่อโดยที่ไม่ได้มีการบอกถึงที่มาของข้อมูลดังกล่าวว่าข้อมูลนั้นมาจากที่ใด
สำหรับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) ได้นิยาม ‘โจรกรรมความคิด’ (Plagiarism) ไว้ว่า “การนำเสนอชุดความคิดที่ได้รับมาจากผู้อื่นโดยไม่มีการอ้างอิงว่าชุดข้อมูลดังกล่าวมาจากที่ใด และไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของบทความมาก่อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้”
จากการเก็บสถิติของสำนักข่าว The Independent ผ่านข้อมูลของสถาบันการศึกษาภายในสหราชอาณาจักรปี 2014-2016 พบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายการโจรกรรมความคิดมากถึง 50,000 เคส
โดยกุญแจสำคัญในการป้องกันการคัดลอกข้อมูลที่เข้าข่ายการโจรกรรมความคิด คืออ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างเหมาะสม ซึ่งในแง่การนำเสนอรายงานวิชาการหากผู้เขียนคัดลอกคำจากต้นฉบับมาเกิน 4 คำ โดยไม่มีการใช้สัญลักษณ์อัญประกาศ หรือเครื่องหมายคำพูดจะเสมือนว่าประโยคดังกล่าวเป็นผลงานของตัวผู้เขียนเอง ซึ่งนั่นยังรวมไปถึงการดัดแปลงรูปประโยคให้มีความแตกต่างจากต้นฉบับอีกด้วย (Paraphase)
การรู้หลักการอ้างอิงแหล่งมาที่ถูกต้อง นอกจากจะเป็นการช่วยให้บทความทางวิชาการมีความสมบูรณ์มากขึ้นในการสื่อสาร ยังช่วยเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าของความคิดที่ผู้เขียนได้ทำการหยิบยืมมา ถึงแม้ว่านอกเหนือจากแวดวงวิชาการ หรือการศึกษาของมหาลัย การเขียนบทความโดยมีการอ้างอิงอย่างถูกต้องนั้น เรียกได้ว่ามีความจำเป็นต้องทำอยู่ไม่น้อย ยิ่งในยุคที่ทุกคนสามารถเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด การนำข้อมูลของผู้อื่นมาพูดโดยไม่มีการอ้างอิงถึงจึงไม่ต่างอะไรจากการขโมย โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างไปไกลได้เกินกว่าพันลี้ คงไม่มีใครอยากโดนขโมยความคิด หรือถูกตีตราว่าเป็นผู้ลอกความคิดผู้อื่นมาอย่างแน่นอน
ที่มา
– https://www.siuk-thailand.com/study-guide/guidance-plagiarism-students/
– https://www.ox.ac.uk/students/academic/guidance/skills/plagiarism
– https://www.plagiarism.org/article/what-is-plagiarism
Tags: Plagiarism, Work Tips, Reference, Copying