เชื่อว่าเด็กจบใหม่ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาใกล้เคียงกันก็คือ ต่อให้ยื่นสมัครงานไปกี่ที่ ก็มีคนเรียกสัมภาษณ์น้อยมาก บางคนอาจไม่ได้ถูกเรียกเลย ขณะเดียวกันระยะเวลาก็กดดัน เพื่อนเริ่มได้งานกันหลายคนแล้ว ขณะที่ยังต้องขอเงินพ่อแม่ต่อไปไม่รู้จบ ครั้นจะไปเรียนต่อ ก็ยังไม่รู้จะเรียนสาขาไหน ซ้ำยังเป็นภาระผู้ปกครองอีก
คำถามสำคัญก็คือแล้วจะทำอย่างไรต่อ ปัญหาของการ ‘ว่างงาน’ นั้นอยู่ตรงไหน แล้วจะมีโอกาสหรือไม่ ที่จะรีบหางานแล้วได้งานในสภาวะเช่นนี้
1. พื้นฐานเศรษฐกิจไทย ‘โงหัวไม่ขึ้น’
สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ คนไทยอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ ‘สิ้นหวัง’ การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2-3% มาเนิ่นนาน นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และการปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ทันตลาดโลก ทำให้พื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยต่ำเตี้ยเรี่ยดินที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
เอาง่ายๆ ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เคยเป็นตัวชูโรงเศรษฐกิจไทย สร้างงาน-สร้างรายได้ ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วน ดีลเลอร์ขายรถ งานเอเจนซี การตลาด งานโฆษณา กลายเป็นว่าปิดตัวกลับญี่ปุ่นไปหลายราย และแม้แบรนด์รถจะเข้ามาทำตลาดมากขึ้น แต่จีนแตกต่างจากญี่ปุ่น จีนทำเองเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ชิ้นส่วนยานยนต์ ลดงบประมาณทุกอย่างเท่าที่ทำได้ และสงครามราคากำลังจะทำให้รถไฟฟ้าจากจีน อาจพังทั้งตลาดภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทั้งที่ยังไม่มีเวลา ‘รุ่งเรือง’ เป็นของตัวเอง
ที่ยกตัวอย่างเรื่องภาคยานยนต์ เพราะไทยมีแรงงานในภาคนี้กว่า 8.5 แสนคน สูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน แต่หากปรับตามโครงสร้างตลาดไม่ทัน การจ้างงานในภาคนี้อาจสร้างปัญหาตามมา ทำให้แรงงานว่างงานล้นตลาดมากขึ้นไปอีก
เรายังมีอุตสาหกรรมที่โลกลืมอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สินค้าเกษตรที่ไม่ได้แปรรูป รวมถึงฝั่งอุตสาหกรรม ‘สีเขียว’ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของโลก ก็ยังไม่ได้โตอย่างที่คิด
ทั้งหมดเป็นผลพวงจากสถานการณ์การเมืองที่ ‘ไม่นิ่ง’ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ที่สร้างปัญหารุงรังตามมาไม่รู้จบ
2. ระบบการศึกษาไม่เชื่อมโยงกับความต้องการตลาด
ต่อเนื่องจากวิกฤตการเมือง สิ่งที่พัฒนาน้อยมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คือระบบการศึกษาไทยที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของตลาด
จริงอยู่ แม้มีคนว่างงานกว่า 4.1 แสนตำแหน่ง แต่ในภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักร และยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตัวเลขเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศเราขาดแคลนแรงงานกว่า 1.2 หมื่นตำแหน่ง ปัญหาสำคัญคือ คะแนนของเด็กไทยที่เกี่ยวข้องกับภาคนี้ ทั้งหมวดวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึง ‘การอ่าน’ ล้วนตกหมด และตกต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
เป็นความจริงที่ว่า ระบบการศึกษาไม่ได้ ‘กระตุ้น’ ให้เด็กไทยเรียนในภาคนี้อย่างเพียงพอตั้งแต่ชั้นประถม-มัธยม ขณะที่คุณภาพครูก็เป็นปัจจัยสำคัญส่งต่อกันเป็นลูกโซ่ ทำให้เมื่อถึงปลายทาง ต้องเลือกเรียนสายสามัญ-สายวิชาชีพ หรือถึงเวลาเข้ามหาวิทยาลัย เราต่างไม่ได้คนที่ตลาดต้องการ
ทั้งหมดยังไม่ต้องพูดถึงทักษะในโลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด ทักษะเรื่อง ‘ปัญญาประดิษฐ์’ อันเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมใหม่ ที่ทั่วโลกกำลังตื่นเต้น กำลังเรียนรู้ แต่เด็กไทยกำลังได้เรียนเรื่อง ‘ชาตินิยม’ และปลูกฝังความ ‘รักชาติ’ เพื่อต่อต้าน ‘ภัยคุกคาม’ ใหม่
3. ประสบการณ์ทำงานที่ไม่มากพอ
สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ หากนั่งคัดใบสมัครงานทุกวันนี้ ร้อยทั้งร้อยต้องการให้คนที่มาสมัครสามารถทำงานได้ทันที เพื่อลดขั้นตอนการสอนงาน การฝึกงาน แต่ปัญหาสำคัญก็ต้องย้อนกลับไปข้อก่อนหน้า ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจเติบโตต่ำ ที่ทำให้องค์กรไม่สามารถรับ ‘นักศึกษาฝึกงาน’ ได้มากพอ หรือไม่มีองค์กรที่พร้อมรับนักศึกษาฝึกงานมากพอ
ขณะเดียวกันการศึกษาอาจผลิตตำแหน่งงานที่ไม่มีความต้องการ หลักสูตรการศึกษาอาจ ‘ล้าสมัย’ จนตามโลกไม่ทัน และองค์กรที่รับฝึกงานก็ไม่ได้พึงใจกับนักศึกษาเหล่านี้
ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะหา ‘ประสบการณ์’ ในวันที่ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา มีปัญหา และแน่นอนว่า เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีคอนเนกชัน ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง ต้องออกแรงอย่างหนักเพื่อสร้างผลงาน หาที่ฝึกงาน หาคอนเนกชัน และได้งานอย่างที่ตัวเองอยากทำ
4. ต้องอดทนและ ‘แกร่ง’ กว่านี้
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เด็กเจเนอเรชัน Z (18-26 ปี) ที่จะเป็น ‘แรงงาน’ สำคัญของโลกอนาคต และเป็นวัยที่กำลังหางานอยู่นั้น โดนปรามาสจากคนวัยก่อนหน้าว่า เป็นเจเนอเรชัน ‘เปราะบาง’ เอาแต่ใจตัวเอง เหลาะแหละ ทำงานไม่เป็น และกลายเป็นเรื่องในวงสนทนาจนแทบจะเหมารวม Stereotype ของคนวัยนี้ไปในแบบเดียวกัน
พวกเขาเติบโตมากับโลกยุคดิจิทัลกับโซเชียลมีเดีย และในเวลาเดียวกันพวกเขาเรียนมัธยม เรียนมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19 และสภาพการเมืองที่ไม่มีอนาคต ถ้าฐานะทางบ้านพวกเขาไม่ดีจริง พวกเขาจะเติบโตมาอย่างง่อนแง่น และแทบไม่เคยได้เห็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจบูม ช่วงเวลาที่คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
โซเชียลมีเดียทำให้พวกเขาเห็นคนที่ ‘ประสบความสำเร็จ’ ด้วยตัวเอง มากขึ้น มีตัวเปรียบเทียบมากขึ้น และในเวลาเดียวกัน ความรู้สึก ‘พ่ายแพ้’ เมื่อไม่สามารถหางานดีๆ ได้ ก็กลายเป็นเงาตามตัว ฉะนั้นคอนเทนต์ประเภท ‘ฮีลใจ’ ช่วยอยู่เคียงข้างบรรดาคนเปราะบาง จึงได้รับความนิยม
ข้อสำคัญคือ คนเจเนอเรชันนี้จำเป็นต้อง ‘แข็งแกร่ง’ มากขึ้น พวกเขาต้องอดทนในวันที่ไม่มีใครอยู่เคียงข้าง ต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมในทักษะที่ตลาดต้องการ เช่นเดียวกัน สิ่งที่พวกเขาไม่ชอบนักอย่างการหา ‘คอนเนกชัน’ หรือการ ‘ทำงานหนัก’ จนไม่มี Work-Life Balance ก็อาจเป็นเรื่องอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากต้องแข่งขันในตลาดแรงงานนี้
การเติบโตในสถานการณ์เช่นนี้ ในวันที่ไม่ได้มีทักษะ ไม่ได้มีประสบการณ์เรื่องอะไรชัดแจ้ง จึงเป็นเรื่องยากและเจ็บปวด ทั้งยังไม่มีวี่แววจะผ่านไปได้ง่ายๆ
แต่สภาพแบบนี้ ไม่ว่าวัยไหนก็ต้องสู้ไปด้วยกัน ด้วยความหวังว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันที่ดีขึ้น
Tags: หางาน, ตกงาน, เด็กจบใหม่, Work Tips