พนักงานออฟฟิศอย่างเราๆ คงพอรู้อยู่แล้วว่า ‘การสื่อสาร’ ในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในระดับไหนก็ตาม เพราะมันเกี่ยวข้องกับ ‘ความเข้าใจ’ ที่ส่งผลต่อความราบรื่นของการทำงาน 

แต่บางครั้งปัญหาเรื่องการสื่อสารอาจซับซ้อนขึ้นไปอีก หากพนักงานหนุ่มสาวต้องทำงานร่วมกับคนมีอายุ ในทางกลับกัน คนมีอายุก็อาจเกิดความไม่เข้าใจในเรื่องต่างๆ ของการทำงานร่วมกับคนหนุ่มสาว ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ เพราะ ‘ช่องว่าง’ อาจกว้างขึ้นจนกลายเป็น ‘ความหงุดหงิดรำคาญใจ’ หากไม่มีคนรุ่นไหนที่พร้อมจะทำความเข้าใจคนอีกรุ่นเลย

แท้จริงแล้วประโยชน์ของการทำงานกับ ‘คนต่างรุ่น’ มีมากมาย ลองคิดดูดีๆ คนรุ่นใหม่อาจมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในขณะที่คนรุ่นเก๋าเองก็มีประสบการณ์ ถ้าสองสิ่งนี้มาบรรจบกันได้ ย่อมส่งผลต่อการทำงานและผลลัพธ์ของการทำงานที่ดี การเติบโตในการทำงาน การเติบโตในแง่ความคิด แน่นอนว่ารวมไปถึง ‘มิตรภาพระหว่างรุ่น’ ที่อาจกลมเกลียวกันมากขึ้นด้วย

แล้วเราจะมีวิธีคิดและปฏิบัติอย่างไรดี ที่จะทำให้การทำงาน ‘ระหว่างรุ่น’ ภายในองค์กรราบรื่นเรียบร้อย

1. ทำความเข้าใจและไม่เหมารวม

‘งงการทำงานของพี่แผนกนั้น’ หรือ ‘เด็กเดี๋ยวนี้ทำไมมีความคิดแบบนี้’ เราน่าจะเคยได้ยินประโยคทำนองนี้มาบ้างระหว่างทำงาน ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องง่ายมากที่จะทำให้เรา ‘เหมารวม’ กลุ่มคนวัยหนึ่งในที่ทำงานว่ามีความคิดเหมือนกันหมด

ฉะนั้นต้องกลับไปทำความเข้าใจในพื้นฐานเบื้องต้นเสียก่อนว่า ‘แต่ละคน’ ใน ‘แต่ละรุ่น’ ล้วนมีประสบการณ์ ความคิด ความเชื่อที่แตกต่างกันไป ดังนั้น จะนำชุดประสบการณ์ที่เราเจอจากคนคนเดียวในแต่ละรุ่นไปตัดสินทุกคนในรุ่นนั้นไม่ได้ และต้องปฏิบัติต่อทุกคนในฐานะ ‘ปัจเจกบุคคล’ เสมอ

2. การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ

ความเข้าใจผิดส่วนใหญ่มักเกิดจาก ‘การสื่อสาร’ ขณะที่คนรุ่นใหม่ชอบการสนทนาผ่านแอปพลิเคชัน แต่คนรุ่นเก๋าอาจชื่นชอบการพูดคุยแบบเห็นหน้ากัน ดังนั้น องค์กรควรสร้างกลยุทธ์การสื่อสารแบบผสมสาน เช่น ผสานการประชุมแบบเดิมๆ เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือจัดเวิร์กช็อปให้คนทุกรุ่นมา ‘แนะนำ’ วิธีการสื่อสารของแต่ละคนเพื่อสร้างความเข้าใจและเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากกันได้

3. ลองขอคำปรึกษาและเป็นคนให้คำปรึกษา

บางครั้งเรามักมองว่า ‘การให้คำปรึกษา’ ต้องเกิดจากคนรุ่นใหญ่ไปสู่คนรุ่นใหม่ แต่นั่นไม่จำเป็นเสมอไป แม้ว่าพนักงานรุ่นใหญ่อาจให้คำปรึกษาหรือข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์ได้ แต่คนรุ่นใหม่ก็เติบโตมากับโอกาสของการเข้าถึงเทรนด์ใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่

จะดีกว่าไหม หากเราสามารถขอคำปรึกษาและเป็นคนให้คำปรึกษาได้ และทำให้ความรู้ต่างๆ ไหลมาได้จากทั้งสองทาง

4. ชื่นชมในความแตกต่างมากกว่าปฏิเสธ

การ ‘มองข้าม’ ความแตกต่างระหว่างรุ่นนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่หากเราต้องการทำความเข้าใจกันและกัน การโอบรับ ชื่นชม หรือสนุกไปพร้อมกับความต่างนั้นบ้างก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างดนตรี แฟชั่น หรือเทคโนโลยีก็ได้ ลองคิดสนุกๆ ว่าคนแต่ละรุ่นย่อมมีรสนิยมบางอย่างที่ถูกหมักบ่มมาจาก ‘ยุคสมัย’ ของตนที่น่าสนใจ ไม่แน่ว่าเราอาจพบเจอคนต่างวัยที่ฟังเพลงหรือดูหนังในแนวเดียวกันจากที่ทำงานก็ได้

5. หาคุณค่าและเป้าหมายร่วมในการทำงาน

อย่าลืมว่า ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็ย่อมอยากรู้สึกว่าตนเองมี ‘คุณค่า’ หรือมีคน ‘เข้าใจ’ รวมถึงอยากรู้สึก ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ ของสิ่งที่ใหญ่กว่าตน ซึ่งอาจหมายถึงเรื่องของการทำงาน ดังนั้น การค้นหา ‘จุดร่วม’ ของทีมเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายของการทำงาน โปรเจกต์ที่น่าสนใจ และมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน จะช่วยลด Generation Gap ของการทำงานระหว่างวัยลงได้

อ้างอิง

https://www.linkedin.com/pulse/managing-multigenerational-workforce-bridging-generation

https://www.griswoldhomecare.com/blog/2023/october/the-benefits-of-working-with-elderly-people/

Tags: , , ,