หลายเดือนก่อน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) บรรยายปฐมนิเทศให้กับนักศึกษาฝึกงานของ กทม. ตอนหนึ่งว่า หนึ่งในคติเตือนใจของเขาเสมอมา คือต้องอย่าเอาตัวเองไปค้างบน ‘ยอดเขาแห่งความโง่’ หรือ Mount Stupid ซึ่งเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ภายใต้ทฤษฎี ‘Dunning–Kruger Effects’

ชัชชาติบอกว่า ภูเขาแห่งความโง่คือการอธิบายว่า หากเพิ่งเริ่มทำงาน ความมั่นใจจะเป็นศูนย์ แต่พอมีประสบการณ์เพิ่มขึ้น ความมั่นใจจะพุ่งกระฉูด และพุ่งจนมั่นใจมากจนหยุดที่จะเรียนรู้ต่อ แล้วสุดท้าย คนนั้นก็จะค้างบนภูเขาแห่งความโง่

“รู้น้อยแต่มั่นใจเยอะ อาจไม่ใช่คุณหรอก อาจเป็นหัวหน้าคุณ คนที่มีตำแหน่งเยอะ จะค้างอยู่บนภูเขาแห่งความโง่ เพราะหยุด และคิดเสมอว่าตัวเองเจ๋งแล้ว

“อย่างผมอยู่ตรงนี้เอง ยอมรับว่าโง่ในหลายเรื่อง ต้องถามเขา ต้องถามให้มากที่สุด อย่าไปค้างอยู่บนภูเขาแห่งความโง่ คือรู้น้อยแต่มั่นใจเยอะ ต้องถาม ต้องพัฒนาตัวเองตลอด แล้วสุดท้ายเราจะรู้จริง”

คำถามก็คือ แล้ว Dunning–Kruger Effects คืออะไร แล้วจะทำอย่างไร ให้ไม่ไปค้างเติ่งอยู่บนภูเขาแห่งความโง่ หรือเป็นผู้นำประเภทที่มั่นใจว่า ‘รู้แล้ว’ ทุกอย่าง แต่พูดอะไรออกมาทุกครั้ง ก็จะสำรอกความโง่ออกมาจนคนรอบข้างเกิดอาการขำขัน

ก่อนอื่น ต้องทำความรู้จัก Dunning–Kruger Effects ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นโดย จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) และเดวิน อลัน ดันนิง (David Alan Dunning) จนกลายเป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง

หลักการนั้นมีอยู่ว่า ยิ่ง ‘มั่นใจ’ และ ‘มั่นหน้า’ คิดว่าตัวเองมีประสบการณ์ มีความรู้มากเท่าไร ถึงจุดหนึ่ง ระดับความเชื่อมั่นในตัวเองจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ในความจริงแล้ว อาจไม่รู้จริง เป็นเพียงการฟังบรรยายสรุป ฟังเขาเล่ามา หรืออ่านเอกสารที่มีคนเขียนให้ แต่ไม่ได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ในที่สุดก็จะไปค้างเติ่งอยู่บน Mount Stupid แล้วก็จะพูดอะไรโง่ๆ ออกมา

ยิ่งหากมีคนคอยสนับสนุน คอยปรบมือ หรือยกนิ้วให้กับเรื่องแบบนี้ แน่นอนว่ามีโอกาสจะค้างอยู่บนนั้นนานขึ้น ทำให้ไม่ตระหนักรู้ถึง ‘ความโง่’ เหล่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง ความโง่นั้นได้สร้างความเสียหาย อาจเป็นความเสียหายต่อตัวเอง ความเสียหายต่อโอกาสทางธุรกิจ หรือความเสียหายต่อประเทศชาติ จนถึงวันหนึ่งก็จะเกิด ‘เรียนรู้’

หากวาดเป็นกราฟจะพบว่า Mount Stupid นั้น คือจุดที่ความรู้เป็น 0 แต่ความมั่นใจเป็น 100 จนผู้คนรอบข้างจะเอือมระอากับความ ‘อวดฉลาด’ เหล่านั้น และเมื่อถึงจุดพีก หากรู้ตัวว่าตัวเองไม่ได้เจ๋งจริง กราฟก็จะดิ่งลงอย่างรวดเร็วไปสู่ด้านท้าย ภายใต้ ‘หุบเขาแห่งความสิ้นหวัง’ หรือ Valley of Despair

และเมื่อถึงจุดต่ำสุด Dunning–Kruger บอกว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิด ‘ปัญญา’ ซึ่งจะทำให้กราฟค่อยๆ เชิดขึ้นอีกครั้ง โดยหากเรียนรู้ได้ในระยะยาว ก็จะเปิดประตูไปสู่ Plateau of Sustainability หรือลานแห่งความยั่งยืน และบุคคลผู้นั้นก็จะกลายเป็น ‘กูรู’

คำถามสำคัญมีอยู่ 3 ข้อ นั่นคือ

1. ทำอย่างไรจึงจะ ‘รู้ตัว’ ว่าตัวเอง ‘โง่’

2. ทำอย่างไร จึงจะไม่พาตัวเองไปถึงจุด Mount Stupid

3. หากค้างเติ่งอยู่บนนั้นแล้ว จะลงมาได้อย่างไร

ตอบคำถามข้อแรก บทความในเว็บไซต์ Psychology Today บอกว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเรื่องนี้ก็คือการ ‘ประเมินตัวเอง’ จนสูงเกินไป การศึกษาของ Dunning และ Kruger พบว่า คนที่อยู่บนยอดเขามักจะประเมินตัวเองสูงเกินไป ทั้งในด้านความฉลาด ด้านอารมณ์ขัน (ไม่มีคนตลกคนไหน ที่บอกว่าตัวเองตลก) และการมีทักษะที่หลากหลาย

จุดร่วมอีกอย่างหนึ่งก็คือคนพวกนี้มักจะขาดทักษะทางอภิปัญญา หรือ Metacognition ในการประเมินตัวเอง และขาดทักษะในการถอยหลังมาวิเคราะห์ตัวเอง ซึ่งทำให้การตัดสินใจหลายอย่างนั้น Overestimate หรือเป็นการตัดสินใจแบบประเมินตัวเองดีเกินไป สูงเกินไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้ มักจะเกิดในคนที่เคยประสบความสำเร็จในบางเรื่อง ในบางอย่างมาก่อน ในขณะที่คนที่ไม่เคยประสบความสำเร็จจะมีปัญหาด้านนี้น้อยกว่า

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลบอกว่า หากคุณไม่สามารถอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้คนอื่นเข้าใจแบบเรียบง่ายได้ นั่นแปลว่าคุณยังไม่เข้าใจเรื่องนั้นแบบถ่องแท้… สิ่งนี้ อาจทำให้คุณตระหนักคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอีกครั้งได้ดี

ส่วนข้อที่ 2 วิธีที่จะไม่พาตัวเองไปสู่จุดนั้น ก็คือต้อง ‘ทวนซ้ำ’ บ่อยๆ ว่าตัวเอง ‘รู้’ ในเรื่องนั้นๆ อย่างช่ำชองหรือไม่ และหากรู้แล้ว คิดว่าตัวเองเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ แล้ว ก็จำเป็นต้องหาความรู้ให้ช่ำชองยิ่งขึ้น พัฒนาตัวเองไปสู่ผู้ที่มีบุคลิกเรียนรู้อย่างยั่งยืนให้ได้ ในเวลาเดียวกันก็ต้องสอบทานจากทั้งเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ให้วิพากษ์ตัวคุณตรงๆ ว่ามีโอกาส หรือมีแนวโน้มจะไปสู่จุดนั้นหรือไม่ และที่สำคัญก็คือ ต้องคอยถามตัวเอง ประเมินตัวเองให้บ่อยที่สุด ว่าเรากำลังยืนอยู่บนภูเขาลูกนั้นหรือเปล่า

และเพื่อตอบข้อสุดท้าย หากค้างเติ่งอยู่บนนั้นแล้ว ต้องทำอย่างไรในการไต่ลงมาให้เร็วที่สุด คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือการเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนจากคำว่า ‘ฉันรู้ทุกเรื่อง’ ไปสู่ ‘เรื่องนี้ มันซับซ้อนกว่าที่ฉันเคยรู้’ หรือเรื่องนี้ยังมี ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ ที่อยู่ข้างหลัง รวมถึงสุดท้ายต้องยอมรับตัวเอง ยอมรับกับทุกคนว่าเราโง่ในบางเรื่อง และเราไม่มีทางฉลาดได้ในทุกเรื่อง

หากยอมรับได้เช่นนี้ หากหมั่นตรวจทานตัวเอง วิเคราะห์ตัวเองอยู่เสมอ ก็จะมีอันหลุดพ้นภาระนี้ได้ แต่หากยังมั่นหน้าต่อไป ถูกรายล้อมด้วยคนที่คอยชื่นชม คอยแสวงหาผลประโยชน์ พร้อมกับปรบมือ พยักหน้าไปกับเราทุกเรื่อง

ถึงเวลานั้น คุณอาจอยู่บนภูเขาแห่งความโง่ลูกนั้นไปตลอดกาล

ที่มา:

https://kristianmagnus.com/dunning-kruger-effect/

https://www.psychologytoday.com/us/basics/dunning-kruger-effect

Tags: , ,