ผ่านปี 2023 มาแล้วครึ่งปี เหล่ามนุษย์ทำงานจำนวนไม่น้อยคงสะบักสะบอมไปตามๆ กัน ทั้งความตึงเครียดในที่ทำงาน การดีลความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานไปจนถึงหัวหน้า หรือความกังวลจากข่าวสารบ้านเมืองต่างๆ โดยเฉพาะข่าวการเมือง เพราะปีนี้เป็นปีเลือกตั้งใหญ่

แต่จนบัดนี้ผ่านมาแล้วเดือนกว่า เราก็ยังต้อง ‘รอ’ รัฐบาล (ที่ไม่รู้เมื่อไรจะเริ่มงานเป็นทางการได้สักที) เพราะยังติดปัญหาหลายอย่าง ทั้งการตกลงผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ข้อกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามในบางประเด็น ไปจนถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกในสภา

ในระดับการเมืองก็ว่ากันไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้การเมืองนั้นไปอยู่ในบทสนทนาของทุกโต๊ะกินข้าวแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ในที่ทำงาน 

บางคนเป็น ‘ส้ม’ บางคนเป็น ‘แดง’ บางคนเป็น ‘สลิ่ม’ หลายครั้งบทสนทนาเลยเถิดจนกลายเป็นความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท บทสนทนาเต็มไปด้วยการจิกกัด แซะ ข้ามเส้นไปถึงการทำงานในชีวิตประจำวัน

ระหว่างสุญญากาศทางการเมืองในตอนนี้เอง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายบทสนทนาเกี่ยวกับมุมมอง ‘ความคิดเห็นทางการเมือง’ ในที่ทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีความหลากหลายระหว่างเพื่อนร่วมงาน เป็นนัยว่า บางคนสนับสนุนพรรคนั้น บางคนสนับสนุนพรรคนี้ บางคนชอบคนนั้น บางคนเกลียดคนนี้ ตามแต่ความคิด ความเชื่อ หรือกระทั่งช่วงวัย

มีการสำรวจของ Society for Human Resource Management ที่ระบุว่า การสนทนาทางการเมืองจำนวนมากเหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้งในที่ทำงาน โดยคนอเมริกันช่วงวัยทำงาน 42% ระบุว่า พวกเขามีประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันทางการเมืองในที่ทำงาน และ 44% ระบุว่า พวกเขาได้เห็นความไม่ลงรอยกันเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ในที่ทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจของ Society for Human Resource Management เพิ่มเติมว่า มีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ระบุว่าพวกเขาเคยถูก ‘เลือกปฏิบัติ’ เนื่องจากความคิดเห็นทางการเมืองของพวกเขา

แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติที่การสนทนาทางการเมืองจะเกิดขึ้นในที่ทำงาน เนื่องจากเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง และต้องเข้าใจว่าทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง แต่เพื่อป้องกันไม่ให้มุมมองที่แตกต่างนี้บานปลายกลายเป็นการโต้เถียงอันเผ็ดร้อน เราจะทำอย่างไรดี?

1. เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น

เมื่อต้องอยู่ในสนทนาทางการเมืองในที่ทำงาน สิ่งสำคัญคือต้อง ‘เคารพความคิดเห็น’ ของผู้อื่น และปฏิบัติต่อการสนทนาให้เหมือนกับการพูดคุยหัวข้ออื่นๆ ในที่ทำงาน 

อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือใช้แนวทาง ‘ความหลากหลาย’ กับบทสนทนาทางการเมืองเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ นั่นเอง ดังนั้น หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานของคุณ มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างออกไปได้ ตราบใดที่สิ่งนั้นไม่นำไปสู่การคุกคาม การตอบโต้ที่รุนแรง หรือความเป็นปรปักษ์ในที่ทำงาน

นอกจากนี้ ในกรณีที่คุณรู้ว่าในที่ทำงานของคุณมีความคิดทางการเมืองที่หลากหลายมาก วิธีหลีกเลี่ยงการปะทะกันที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงการฉลองอย่างออกนอกหน้าในที่ทำงาน แต่เก็บไว้เป็นส่วนตัว เช่น หากคนที่คุณเชียร์กลายเป็นผู้ชนะ ก็จะช่วยไม่ให้เพื่อนร่วมงานที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามมองว่าคุณตั้งใจยั่วโมโห ในทางกลับกัน หากคนที่คุณเชียร์เป็นฝ่ายแพ้ คุณก็จะรู้สึกว่าได้รับการเคารพจากเพื่อนร่วมงานอีกฝ่ายจากสิ่งที่คุณเลือก

2. กำหนดขอบเขตที่พอดี

ในยุคที่การเมืองเป็นเรื่องเข้มข้น เพราะนั่นหมายถึงทั้งเรื่องปัจเจกอย่างความเชื่อส่วนตัว ไปจนถึงเรื่องส่วมรวม อย่างเช่น นโยบาย ปัญหาปากท้อง และเศรษฐกิจที่ส่งผลถึงทุกคน การพยายามขีดเส้นที่พอดีจึงมีความสำคัญ 

ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในบทสนทนาทางการเมืองทุกครั้ง คุณควรถามตัวเองก่อนว่า คุณมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นทางการเมืองของคนอื่นที่อาจแตกต่างจากของคุณหรือไม่

เพราะในหลายครั้ง บทสนทนาทางการเมืองมักเป็นการโต้ไปมาว่า ‘ฝั่งที่เราเชื่อ ถูก ฝั่งที่คุณเชื่อ ผิด’ จึงจำเป็นต้องคอยตรวจสอบกับตัวเองเสมอว่า คุณจะสร้างขอบเขตที่ดีที่สุดสำหรับคุณได้อย่างไร ซึ่งในหลายสถานการณ์ อาจหมายถึงการไม่เข้าร่วมการสนทนาทางการเมืองเลยก็เป็นไปได้

หรือแม้กระทั่ง หากจู่ๆ ในบทสนทนาเรื่องอื่นถูกลากเข้าไปสู่ประเด็นการเมือง การกล่าวอย่างสุภาพว่า “คุณเคารพความเห็นของคนอื่น แต่ก็อยากให้บทสนทนากลับสู่เรื่องงานอีกครั้ง” ก็สามารถทำได้เช่นกัน

แม้กระทั่งในระดับฝ่ายบริหาร วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้คือ การสร้างขอบเขตที่ไม่ทำให้พนักงานล้ำเส้นซึ่งกันและกัน เช่น การกำหนดนโยบายและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการคุยเรื่องการเมืองในที่ทำงานให้ชัดเจน

3. จับสัญญาณว่าตอนไหนที่บทสนทนากำลังเริ่มรุนแรงขึ้น

แน่นอนว่าเมื่อการเมืองเป็นเรื่องเข้มข้น บทสนทนาเกี่ยวกับการเมืองก็ย่อมมี ‘พลัง’ บางอย่างแฝงอยู่ในตัวของคนที่พูด การตระหนักถึงพลังดังกล่าวเพื่อที่จะไม่ให้พลังนั้นไปเผาผลาญบทสนทนาฝ่ายตรงข้ามจึงจำเป็น

วิธีหนึ่งในการรับรู้ถึงพลังดังกล่าว คือการสังเกตอาการทางจิตวิทยาร่างกายของตัวเอง หากบทสนทนาการเมืองนั้นทำให้คุณเริ่มรู้สึกหัวใจเต้นแรง เหงื่อซึม หรือท้องไส้ปั่นป่วน นั่นหมายถึงร่างกายคุณกำลังรับรู้ถึง ‘อันตราย’ โดยอัตโนมัติ และเมื่อเป็นเช่นนั้น คุณอาจเริ่มหมดความอดทนกับคู่สนทนาและอยากตอบโต้อย่างรุนแรงได้

ในสถานการณ์เช่นนั้น สิ่งสำคัญคือพยายามตั้งสติ สงบอารมณ์ลง หรือจะสามารถจบการสนทนาไปเลยก็ได้ แต่การจบสนทนาควรเป็นไปในทางที่ว่า คุณไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว มากกว่าการตอบโต้ไปว่าอีกฝ่าย ‘โง่เง่าที่เชื่อแบบนั้น’ เพราะมันอาจจะบานปลายไปสู่สถานการณ์เชิงลบแทน

ดังนั้น แม้ว่าบทสนทนาทางการเมืองจะเป็นหัวข้อที่ทำให้เกิด ‘อารมณ์’ ได้ง่าย แต่ก็อย่าตกหลุมพรางของมัน ในขณะเดียวกัน ก็จงจำไว้ว่า ‘การพูดคุยและอธิบาย’ ด้วยสติเป็นสิ่งที่ดีเสมอ และรู้ไว้ว่าคุณมี ‘อำนาจในการตัดสินใจ’ ว่าจะเข้าร่วมบทสนทนาทางการเมืองในที่ทำงานของคุณหรือไม่

Tags: , , ,