ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศไทย ปัจจุบัน ตัวเลขหนี้ครัวเรือนขยายตัวเป็นอย่างาก โดยมีมูลค่ารวมกว่า 16 ล้านล้านบาท เป็นการเพิ่มกว่า 3.6% ของปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น 90-91% ต่อจีดีพีเลยทีเดียว

ในเชิงระบบ หนี้ครัวเรือนคือการที่บั่นทอนไม่ให้ประชาชนสามารถลงทุน สั่งสมทรัพย์สิน ลืมตาอ้าปาก หรือทำให้ฐานของเศรษฐกิจโตกว่านี้ได้ เพราะต้องหาเงินเพื่อจ่ายดอกเบี้ยและใช้หนี้ ขณะเดียวกัน ที่น่าเป็นห่วงกว่าก็คือ ‘รายรับ’ และ ‘รายได้’ ของคนไทยแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยตลอด10 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้น เมื่อต้องทั้ง ‘ใช้หนี้’ และ ‘ใช้ชีวิต’ ไปด้วย ย่อมเป็นเรื่องยากลำบาก

เมื่อหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับวิกฤต เศรษฐกิจยังคง ‘โตต่ำ’ ในระดับ 2-3% ต่อปี สิ่งหนึ่งที่หลายคนหวังคือขอให้ ‘ลูก’ ขอให้ ‘บุตรหลาน’ ช่วยใช้หนี้ 

“ช่วยๆ แม่หน่อย” เป็นคำพูดติดปากของหลายครอบครัว บทสนทนาประมาณว่า แม่ส่งมาเรียนจนขนาดนี้ ทำไมช่วยแม่นิดหน่อยไม่ได้ พ่อส่งจนโต ทำไมถึงช่วยแบ่งเบาภาระไม่ได้เลยหรือ กลายเป็นบทสนทนาประจำของหลายครอบครัว ทั้งที่เด็กหลายคนเพิ่งจบใหม่ และก็มี ‘รายจ่าย’ ของตัวเองเช่นเดียวกัน

คำถามก็คือหากเจอปัญหาแบบนี้ จะมีวิธีใดที่จะจัดการโดยละมุนละม่อมที่สุด?

1. ลองทำความเข้าใจวงจรของหนี้

การเกิดหนี้อาจเป็นได้สองอย่าง หนี้ที่เกิดจากการลงทุน ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต และหนี้จากการใช้จ่ายเกินตัว ลองพิจารณาดูว่าหนี้ที่คุณต้องใช้แทน เป็นหนี้ประเภทไหน อัตราดอกเบี้ยสมเหตุสมผลหรือไม่ และมีโอกาสที่ดอกเบี้ยอาจแพงกว่าเงินต้นได้หรือไม่ในอนาคต

การเกิดหนี้ของพ่อแม่ ณ วันนี้ อาจเป็นได้ทั้งจากความผิดพลาดในการวางแผนการเงินในอดีต ถูกหลอกหรือถูกโกงจากคนใกล้ตัว การลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ล้มเหลว หรือความต้องการที่มากเกินตัวอย่างหนี้บัตรเครดิต ขณะเดียวกัน ก็อาจมีหนี้ในทางดีเช่น การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีอนาคต 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องประเมิน ‘ความเสี่ยง’ ให้ดี

การพินิจพิเคราะห์ต้นทางของหนี้จะทำให้คุณเข้าใจได้ว่าต้นทางเกิดจากอะไร บิดามารดาของคุณมีโอกาสก่อหนี้ได้อีกไหม เพราะถ้าหากเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ อาจทำให้คุณมีลู่ทางในอนาคต เป็นการลงทุนที่อาจทำให้คุณมีรายได้เพิ่มเติม

2. คำนวณรายรับ-รายจ่ายที่พอไหว

หลักการสำคัญคือควรมีหนี้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และจำต้องมีเงินเก็บไว้ส่วนหนึ่งราว 20%ของรายได้ต่อเดือน ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรายจ่ายตาม ‘อัตราเงินเฟ้อ’ ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน

แต่เรื่องที่ยากกว่านั้นก็คือการออมเงินในวัยเกษียณ เป็นที่รู้กันว่าสวัสดิการรัฐยามแก่เฒ่านั้นมีปัญหา มีการคำนวณเล่นๆ ว่าหากต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสบายใจ อาจต้องมีเงินเก็บไว้ถึง 15 ล้านบาท โดยมีที่มาจาก หากวันนี้ ต้องใช้จ่ายเดือนละ 3 หมื่นบาท และต้องใช้ชีวิตยาวนานอีก 30 ปี อาจต้องเตรียมเงินเผื่อไว้รองรับอัตราเงินเฟ้ออีก 1 เท่าตัว จาก 3 หมื่นบาท เป็น 6 หมื่นบาท ในประเทศที่ไม่มีสวัสดิการผู้สูงอายุเช่นนี้ การตัดสินใจเริ่มต้นออมเองอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ฉะนั้น เรื่องน่าเศร้าก็คือวัยทำงานในประเทศนี้แทบไม่เหลือ ‘พื้นที่’ ไว้สำหรับการดูแลคนเจเนอเรชันก่อนหน้าอีก และเรื่องน่าเศร้ากว่าก็คือหากไม่สามารถบริหารจัดการเงินในส่วนนี้เพื่อมีชีวิตต่อไปในภายภาคหน้า เราก็อาจเป็นภาระ เป็น ‘หนี้’ ให้คนรุ่นต่อไปต้องร่วมใช้จ่าย

3. บุญคุณไม่มีทางชดใช้ได้ และเงินก็ไม่อาจทดแทนบุญคุณได้

คอนเซปต์ว่าด้วย ‘บุญคุณ’ กลายเป็นค่านิยมของสังคมไทยให้ลูกต้อง ‘กตัญญูกตเวที’ ถ้ามีพ่อแม่ ต้องชดใช้บุญคุณพ่อแม่ ถ้าอยู่ในประเทศไหน ก็ต้องชดใช้บุญคุณประเทศนั้น 

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแนวคิดอย่างแรกก็คือ ‘บุญคุณ’ เป็นนามธรรม ไม่ได้มีอยู่จริง การชดใช้บุญคุณก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดไว้ว่าเป็นสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ ลูกไม่ได้ขอพ่อแม่มาเกิด และพ่อแม่มีหน้าที่สำคัญในการเลี้ยงดูให้ลูกได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

คำถามต่อไปก็คือแล้ว ‘บุญคุณ’ ต้องชดใช้หรือไม่ และถ้าชดใช้ ต้องชดใช้มากขนาดไหน? 

ทั้งหมดนี้เกิดจากการ ‘ตกลงกัน’ ระหว่างสองฝ่าย บางที่อาจจะอยู่ที่ 2,000-5,000 บาทต่อเดือน บางที่อาจมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น ขณะที่บางที่พ่อแม่อาจไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการที่ลูกพาไปกินอาหารดีๆ สักเดือนละครั้ง

ขณะที่การชดใช้ที่ไม่ใช่ตัวเงินก็อาจช่วยได้ เป็นต้นว่า การช่วยเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อลดดอกเบี้ย หรือการนำภาระหนี้มากองแล้วช่วยหาทางออก

แต่ก่อนอื่น หากคำขอว่าด้วยการ ‘ใช้หนี้’ แทนครอบครัวเกิดขึ้น สิ่งที่จำเป็นอันดับแรกเลยก็คือเริ่มเปิด Excel คำนวณยอดหนี้ คำนวณรายรับ-รายจ่าย และความเป็นไปได้ในการใช้หนี้ว่า ‘ไหว’ กันทั้งสองฝ่ายแค่ไหน

ขณะเดียวกัน ต้องตกลงกันให้ได้ว่าพ่อแม่จะไม่ก่อหนี้เพิ่ม และหากก่อหนี้เพิ่มจะไม่ยุ่งกับเงินออม-รายได้ของลูก ไม่ว่าจะในทางใดก็แล้วแต่

ด้วยเหตุนี้ บุญคุณจึงควรว่ากันด้วยเรื่องตัวเลข มากกว่าเรื่องทางจิตใจ…

4. อย่าลืมว่าทุกคนมีความฝันของตัวเอง มีชีวิตของตัวเอง

สิ่งสำคัญก็คือเราทุกคนล้วนมี ‘ชีวิต’ เป็นของตัวเอง และบุพการีต่างก็มี ‘ชีวิต’ ของตัวเองเช่นกัน… หากมีหนี้ในช่วงบั้นปลาย ก็หมายความว่าพวกเขามีปัญหาในการใช้ชีวิตบางประการ ไม่ว่าจะเป็นหนี้กู้สร้างบ้านใหม่ ซื้อบ้านให้ญาติ นำบ้านไปจำนองแล้วต้องจ่ายแบงก์ ก็แปลว่าพวกเขาต้องทำงานหาเงินเพื่อใช้หนี้นั้น และก็แปลว่าพวกเขาต้องทำงานเพิ่มหลังจากเกษียณอายุ นั่นเป็นหลักปฏิบัติที่ควรรู้โดยทั่วกัน

หากจะให้ลูกที่อยู่ในวัยทำงาน ‘แบก’ เพิ่ม ก็ควรต้องพินิจพิเคราะห์ว่าเด็กรุ่นนี้เติบโตมาอย่างยากลำบากกว่าคนรุ่นก่อนมาก จีดีพีไทยโตต่ำในระดับ 3–3.5% มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอย่างกระเบียดกระเสียร เช่นเดียวกับรายได้ที่แทบไม่ได้ปรับ หรือปรับก็ไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ 

ลองเทียบอัตราเงินเดือนแรกเข้าของเด็กปริญญาตรียุคนี้ เทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ก็คงอยู่ที่ระดับ 2 หมื่นบาท หรือบางที่อาจน้อยกว่า 10 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ ขณะที่ค่าเดินทาง-ค่ารถไฟฟ้าจากนอกเมืองไป-กลับ อาจอยู่ที่ 200 บาทต่อวัน ค่าหอพักในเมืองอาจเพิ่มขึ้นจากรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จาก 4,000 บาทต่อเดือน เป็น 7,000 บาท ต่อเดือน ลำพังเลี้ยงตัวเองก็ยากลำบากอยู่แล้ว

ฉะนั้น การให้เด็กจบใหม่-เริ่มทำงานแล้วต้องแบก ‘หนี้’ จากคนรุ่นก่อนหน้าจึงเป็นเรื่องที่โหดร้ายใช่เล่น

เหตุและปัจจัยทั้งหมด จึงเป็นการดีหากคุณพ่อคุณแม่ลองคิดถึงหัวอกคุณลูก และคุณลูกมีโอกาสได้ช่วยคุณพ่อคุณแม่นั่งหามูลเหตุแห่งหนี้ ช่วยกันหาทางออกอย่าง ‘สันติวิธี’

ข้อเสนอเหล่านี้ อาจฟังดู ‘โลกสวย’ แต่เชื่อเถอะว่าเป็นทางเลือกที่ประนีประนอมที่สุด ยุติธรรมกับทุกคนที่สุด และสร้างภาระกับคุณน้อยที่สุดแล้ว

Tags: , ,