เคยได้ยินไหมว่า ทุกองค์กรจะต้องมีทีม ‘ลูกรัก’ อยู่ข้างกายบอสอยู่เสมอ บางที่อาจมีมาก บางที่อาจมีน้อย บางที่ ‘บอส’ อาจเลือกคนที่ประจบประแจงเก่ง บางที่บอสอาจเลือกคนสวยๆ บางที่บอสอาจเลือกคนที่การศึกษาดี ขณะที่บางที่บอสอาจเลือกคนที่ ‘เอนเตอร์เทน’ ตนเองได้เท่านั้น

คำถามก็คือแล้วทำไมทุกองค์กร เจ้านายถึงต้องมีลูกรัก ทำไมลูกรักถึงได้สิทธิพิเศษเสมอ แล้วถ้าไม่ได้เป็นลูกรัก หากเป็น ‘ลูกชัง’ จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรให้อยู่ในสายตาเจ้านายบ้าง

ก่อนอื่นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ก็คือการที่ทุกองค์กรมีลูกรักเจ้านายไม่ได้เป็นเรื่องประหลาด ธรรมชาติของ ‘เจ้านาย’ ซึ่งอยู่บนห่วงโซ่และบางครั้งก็โดดเดี่ยว ย่อมต้องการมือไม้ที่ไว้ใจได้ ปรึกษาได้ และในองค์กรที่มีการแข่งขันกับภายนอกสูง แล้วอะไรหลายๆ อย่างก็ไม่ได้เป็นไปดั่งใจ เจ้านายย่อมต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ การมีลูกรัก มี ‘ทีมเจ้านาย’ จึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ บางครั้งก็ไม่ได้ตั้งใจ ในภาษาอังกฤษเรียกบรรดาบริวารห้อมล้อมเจ้านายโดยไม่มีเหตุผลว่าเป็น ‘สัตว์เลี้ยงของเจ้านาย’ หรือเป็น Boss’s Pet แต่การมีสัตว์เลี้ยงมากๆ ย่อมทำให้เกิดการเมืองในองค์กรโดยไม่จำเป็น สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจทำเกินหน้าเกินตาเจ้านาย ขณะที่บางตัวอาจข่มขู่คนที่วิจารณ์เจ้านาย ปั่นข่าว ใส่ไข่ ไปทั่ว รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นความแตกระแหง เป็นดราม่าออฟฟิศประเภทเจ้านาย-ลูกน้องไปเสียแล้ว

เพราะฉะนั้น คำแนะนำเรื่องนี้จึงมี 3 ระดับ นั่นคือทำอย่างไร เมื่อคุณตกอยู่ในวังวนของการเป็นลูกรัก ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็น ‘เจ้านาย’ ที่มีลูกน้องห้อมล้อม และหากอยู่นอกวงนี้ เห็นสถานการณ์ไม่ดี กลิ่นไม่ดี ควรต้องเสนอตัวอย่างไร

1. เมื่อตกเป็น ‘ลูกรัก’ – สิ่งสำคัญคืออย่า ‘หลง’ ในสิ่งนั้น อำนาจ วาสนา บางทีก็มาโดยไม่ได้ตั้งใจ และบางครั้งบทจะไป ก็หายไปอย่างรวดเร็ว เหมือนคำโบราณว่า “ยามบุญมากาไก่กลายเป็นหงส์  ยามบุญลงหงส์เป็นกาน่าฉงน  ยามบุญมาหมาหมูกลายเป็นคน ยามบุญหล่นคนเป็นหมาน่าอัศจรรย์” 

ขณะเดียวกัน ถ้ารัก ‘บอส’ จริง ก็จงอย่าลืมว่ายิ่งสูง ควรต้องดูแล ‘เจ้านาย’ ไม่ให้หลงกับอำนาจเหล่านั้น… หากบางเรื่องไม่อยู่ในรูปในรอย ก็ต้องตักเตือน ต้องวิจารณ์ตรงๆ และถ้าวิจารณ์ตรงๆ แล้วหัวหน้ารับไม่ได้ นั่นก็เป็นเรื่องดีอีกเช่นกัน หากคุณจะถอยห่างจากหัวหน้า เพราะหากยิ่งอยู่ไปนานๆ ก็เป็นได้ที่จะเข้ารกเข้าพงไปด้วยกัน โดน ‘เกลียด’ ไปด้วยกัน 

เชื่อเถิดว่าไม่สนุกหรอก ถ้าคุณกลายเป็นลูกรักโดยที่ไม่ได้มาด้วยความสามารถ หากแต่มาด้วยเส้นทางแห่งการประจบประแจง เพราะนอกจากหัวหน้าคุณจะเป็นเป้าแล้ว สักวันหนึ่ง คุณก็จะกลายเป็นเป้าแทน 

2. วิธีปฏิบัติตัวในฐานะ ‘เจ้านาย’ ที่มีลูกน้องห้อมล้อม – เอาจริงๆ บารมีย่อมเป็นส่วนสำคัญในตัว ‘หัวหน้า’ ทุกคน เพราะตำแหน่งหัวหน้า สิ่งสำคัญคือเมื่อคุณพูด ทุกคนต้องฟัง เมื่อคุณสั่ง ทุกคนต้องทำตาม ในเวลาเดียวกัน หัวหน้ามีภารกิจมากมายตั้งแต่การบริหาร คน เงิน ของ กำหนดเป้าหมาย เดินตามวิสัยทัศน์ ซ้ำยังต้องทำหน้าที่ต่อรอง-เจรจาภายนอกและภายใน ขณะเดียวกัน ส่วนสำคัญก็คือต้อง ‘เล่นการเมือง’ ภายในออฟฟิศให้เป็น เพราะถ้าคุณเล่นการเมืองไม่เป็น สักวันการเมืองภายในจะ ‘เล่น’ คุณ

สิ่งสำคัญเลยก็คือ อย่าพยายามสร้าง และอย่าพยายามมี ‘ลูกรัก’ หรือหากเลี่ยงไม่ได้ ก็ลองพยายามจำกัด ‘อำนาจ’ ของพวกเขา จัดสรรอำนาจของบรรดาคนที่ถูกเรียกว่า ‘ลูกรัก’ ให้ดี ไม่ให้ไปให้คุณให้โทษคนอื่นได้ อย่าลืมว่าหลายครั้ง หลายองค์กรมีปัญหาเพราะบรรดาลูกรักทั้งหลายมีอำนาจมากเกินไป ทั้งที่ความสามารถไม่ได้มากถึงขนาดนั้น

ขณะเดียวกัน ลองสร้างระบบ ‘ฟีดแบ็ก’ ฟังเสียงจากคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกรัก แต่เป็นพนักงานทุกระดับชั้นก็ดี ฟังเสียงพวกเขาหน่อยว่า เขาคิดอย่างไรกับคุณ คิดอย่างไรกับลูกรักคุณ และเพื่อให้เห็นว่าทุกคนต่างก็มีความสำคัญเสมอหน้ากัน คุณปฏิบัติตัวกับคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน

3. หากสถานการณ์ไม่ดี คุณควรทำตัวอย่างไรเมื่อเป็นลูกชัง – อันดับแรก ทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่ใครทุกคนที่จะเป็นลูกรักได้ และก็ไม่ใช่ว่าเขาที่เป็นลูกรัก จะเป็นลูกรักได้ตลอดไป หากเวลาและโอกาสเอื้ออำนวย สักวันหนึ่ง คุณก็อาจเป็นลูกรักได้เช่นเดียวกัน

ในแง่หนึ่ง ลองใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่เก่งยิ่งขึ้น ดียิ่งขึ้น ให้เป็นหนึ่งในลูกรักที่จะได้รับการโปรโมตในเวลาต่อไป และหากยังไม่เข้าตา ยังไม่ใช่ลูกรัก ก็อาจเปลี่ยนงาน ไปใช้ทักษะที่เพิ่มความสามารถนี้ในองค์กรอื่นที่เห็นคุณค่าเรามากขึ้นได้

ขณะเดียวกัน หากทุกอย่างไม่สามารถแก้ได้ด้วยเหตุผล ไม่สามารถใช้ขั้นตอนธรรมดา ก็ลองพินิจพิเคราะห์ดูว่าตัวเองยังมีคุณค่ากับองค์กรอยู่หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วองค์กรอื่นอาจมีคุณค่ากับเรามากกว่า ส่วนบรรดาหัวหน้าและลูกรักนั้น ก็ขอให้พวกเขาจงมีความสุขต่อไปชั่วกาลนาน ก่อนออกก็อย่าลืมบอกกับหัวหน้าและบริวารด้วยว่า “ไม่มีใครดีเท่าคุณอีกแล้ว”

อ้างอิง

https://turningpointexecsearch.com/blog/career-development/how-to-be-the-bosss-pet/

https://hbr.org/2021/05/the-hazards-of-being-the-bosss-favorite

Tags: , , ,