ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เสนอกระทรวงสาธารณสุขแก้กฎหมาย ให้สามารถนำเอาพลาสติกรีไซเคิล Recycled PET (rPET) มาใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลาสติกใหม่ ส่งเสริมการรีไซเคิล และแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน 

การไม่อนุญาตให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทยเกิดจาก ความไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค สืบเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปอย่างเป็นระบบ และผู้บริโภคส่วนหนึ่งนำเอาขวดเครื่องดื่มที่ใช้แล้วไปบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food products)  ทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะเกิดการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ 

ในการนี้มีการเปิดเผยผลวิจัยโดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งบ่งชี้ว่าพฤติกรรมการใช้ขวด PET ซ้ำของคนไทยว่าไม่ได้น่าเป็นห่วงอย่างที่คิดพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ 70% มักนำขวด PET มาใช้ซ้ำ โดยเติมน้ำดื่มหรือเครื่องดื่ม (69%) สำหรับประเด็นสารอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ที่อาจปนเปื้อนในขวด PET ที่จะถูกนำไปรีไซเคิลนั้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดสารปนเปื้อนเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับการนำกลับมารีไซเคิลให้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต่อไป 

รายงานฉบับนี้ ได้มีการแนะนำแนวทางการกำหนดค่าประเมินความปลอดภัยไว้แล้วว่าในเบื้องต้นผู้ผลิตรีไซเคิลพลาสติก (rPET) ควรมีการควบคุมแหล่งที่มา (Feedstock) และประเภทของพลาสติกที่จะนำมารีไซเคิล เพื่อผลิตเป็นขวดเครื่องดื่ม และภาชนะบรรจุอาหาร โดยจะต้องสามารถแสดงที่มาของพลาสติก ผลการทดสอบการกำจัดสารปนเปื้อนในกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งอ้างอิงแนวทางการประเมินความปลอดภัยและการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก rPET ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) หรือหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority – EFSA)

ขณะนี้ทางสถาบันฯ ได้นำเสนอข้อเสนอ (ร่าง) แนวทางการประเมินความปลอดภัย และการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกสำหรับประเทศไทยให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะทำงานของ อยเพื่อใช้เป็นแนวทางพิจารณาแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 ..2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่าห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือกเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้สามารถใช้ขวดบรรจุเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ได้

 ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573  ที่ต้องการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ภายในปี 2570 โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy  ไปปรับใช้ มุ่งเน้น ‘Reduce-Reuse-Recycle’ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งการรีไซเคิล ถือเป็นหัวใจหลัก 

ดังนั้นหากมีการผลักดันให้เกิดการนำพลาสติกรีไซเคิลกลับมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่มได้ ก็จะเป็นการลดขยะพลาสติกได้  เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีการใช้พลาสติกประเภท PET เป็นจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วน 80-90% ของปริมาณการใช้พลาสติก PET ทั้งหมด ซึ่งในหลายๆ ประเทศได้มีการนำพลาสติกรีไซเคิล (rPET) มาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้สำเร็จแล้ว 

 

Tags: , , , ,