ว่ากันว่าภาพของการเมืองไทยไม่ต่างจากภาพของการทำธุรกิจ ก่อนหน้านี้ หลายคนใช้คำว่า ‘ธนกิจการเมือง’ หรือ Money Politics มาอธิบายการเมืองไทย ภาพการเมือง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดขึ้นถึงความพยายามในการ ‘เปลี่ยนขั้ว’ หรือ ‘ถูกบีบให้เปลี่ยนขั้ว’ ทางการเมือง แล้วแต่นิยามและมุมมองของใครหลายคน

อันที่จริงเรื่อง ‘เปลี่ยนขั้ว’ ในทางธุรกิจนั้นเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง หลายครั้งเกิดจากการ ‘ควบรวม’ ในธุรกิจประเภทใกล้เคียงกัน บางครั้งเกิดจากการ ‘เทกโอเวอร์’ ประเภทปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่การเป็นพรรคการเมืองนั้นมีต้นทุนที่ทั้งคำนวณได้ และคำนวณไม่ได้อีกมาก

เพราะฉะนั้น ภาพของ ‘ช็อกมินต์’ เชื่อมสัมพันธ์ ที่พรรคเพื่อไทย ระหว่างพรรคขั้วอำนาจเดิมและพรรคเพื่อไทย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จึงกลายเป็นภาพอันพังพินาศ… พังแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และถูกผูกโยงจนเห็นตอนจบว่าด้วยการ ‘เปลี่ยนขั้ว’ ไปแล้วเรียบร้อย

บทเรียนจากกรณีช็อกมินต์ก็คือ การเชื่อมสัมพันธ์ การจัดการธุรกิจแบบดีล ‘ข้ามขั้ว’ นั้นมีต้นทุนอะไรให้ต้องพิจารณาที่ต้องคำนึงถึงบ้าง และการตัดสินใจที่ผิดพลาดจะกระทบกับภาพลักษณ์ในระยะยาวอย่างไรบ้าง เราหาคำตอบมาให้ใน Work Tips สัปดาห์นี้

1. ต้นทุนขององค์กร เนื้อแท้คือความเชื่อใจจากประชาชน

องค์กรธุรกิจทั้งใหญ่ น้อย มักอยู่ได้ด้วยความเชื่อถือจากประชาชน ไม่ว่าจะในเรื่องคุณภาพของสินค้า บริการ องค์กรบางแห่งอาจเคยได้รับความเชื่อถืออย่างสูงในการส่งมอบสินค้า และบริการจนถูกใจลูกค้า ถูกใจประชาชน แต่ทุกอย่างอาจแปรผันตามกาลเวลา การได้รับความนิยมในห้วงเวลาหนึ่งถึงจุดสูงสุด วันหนึ่งก็อาจมีเวลาที่ความนิยมอาจลดลง

เมื่อความนิยมลดลง สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ เพราะอะไร เพราะสินค้า บริการ นั้นมีคุณภาพลดลง เพราะพนักงานอาจไม่ได้เป็นมิตรเหมือนเดิม หรือองค์กรแห่งนี้ คุณภาพไม่ได้คงเส้นคงวาเหมือนเดิม ก็มีสิทธิ์ที่ลูกค้าจะเปลี่ยนใจไปใช้แบรนด์อื่น

ฉากว่าด้วยการชนแก้วช็อกมินต์ด้วยความชื่นมื่นกับศัตรูในทางการเมือง จึงทำให้ภาพความน่าเชื่อถือติดลบไปไม่น้อย และในทางการเมือง เมื่อ ‘ลูกค้า’ รู้สึกติดลบแล้ว การจะกลับมาใหม่ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

2. จุดยืนขององค์กรอยู่ตรงไหน

ต่อเนื่องจากข้อแรก องค์กรทุกแห่งมักจะกำหนด ‘ค่านิยมหลัก’ ไว้เสมอ ในยุคที่ความเท่าเทียม ความหลากหลายเบ่งบาน การ ‘ทำดี’ ผ่านการทำ CSR อาจไม่พอ แต่องค์กรอาจต้องมีจุดยืนที่มากไปกว่านั้น

ยกตัวอย่างในเดือน Pride Month ที่ผ่านมา หลายองค์กรประกาศสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ออกมาสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลากองค์กรออกมาจริงจังกับเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติก

ขณะเดียวกัน บางที่อาจมีจุดยืนเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งต้องยึดไว้ให้แน่น ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความเพียง ‘สู้มาก่อน’ หรือโดนกระทำมาก่อนในทางประวัติศาสตร์ แล้วจะมีความเป็นประชาธิปไตยกว่าคนอื่น หากแต่หมายรวมถึงการเคารพหลักการ ฟังเสียงของประชาชน และไม่ไปจับกับขั้วที่เป็นเผด็จการ ไม่ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจประชาชน หรือทิ้งจุดยืนเพื่อแสวงหาอำนาจ ผ่านๆ ไปก่อน เดี๋ยวนานไปทุกอย่างก็ดีขึ้น

หากองค์กรหรือพรรคการเมืองใดก็แล้วแต่ไม่สามารถรักษาค่านิยมหลักเหล่านี้ไว้ได้ เกิดยอม ‘ข้ามขั้ว’ โดยอ้างอิงเหตุผล ความจำเป็น ชักแม่น้ำทั้งห้าให้สาธารณชนเห็นใจ สักวันองค์กรก็จะเป็นเพียง ‘ไม้หลักปักขี้เลน’ ที่พร้อมจะล้มเมื่อใดก็ได้เสมอ

3. คำนวณข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ ระยะยาวให้ดี

หากเปรียบ ‘พรรคการเมือง’ เท่ากับ ‘องค์กร’ พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา อาจเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด

ในปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงเพียง 54 เสียง เป็นความล้มเหลวอันเกิดจากการมีพรรค ‘ขวากว่า’ เข้ามาใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐ และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา การประกาศไม่เอาพลเอกประยุทธ์ของหัวหน้าพรรคได้กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ ที่ทำให้ลูกค้าหันเหไปเลือกพรรคอื่น… แต่นั่นยังไม่ใช่จุดตกต่ำที่สุด

วันนั้น ด้วยเสียงปริ่มน้ำ พรรคประชาธิปัตย์เลือกไปอยู่ข้างพลเอกประยุทธ์ เคียงข้างกับฝั่งอำนาจนิยม โดยหวังว่าพรรคจะกลับมายิ่งใหญ่ตามเดิม หากเศรษฐกิจดี รัฐนาวาประยุทธ์ไปรอด พร้อมกับต่อรองขอสามตำแหน่งใหญ่ ไม่ว่าจะประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ว่าจะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และมีข้ออ้างสวยหรูเท่ๆ ว่าประชาธิปัตย์จะเข้าไป ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญ’

รัฐบาลประยุทธ์ไปรอดครบ 4 ปีก็จริง แต่การ ‘ลากยาว’ โดยไม่สนเรื่องคะแนนนิยม สนแต่การปกป้องอำนาจพิเศษที่อยู่เบื้องหลัง ได้พาฝั่งอำนาจนิยมไปในจุดตกต่ำที่สุด ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จากพรรคที่เคยมี ส.ส. 159 คน ในปี 2554 คงเหลือเพียง 25 คน ในปัจจุบัน และจนถึงวันนี้ ยังไม่สามารถหาหัวหน้าพรรค หากรรมการบริหารพรรคคนใหม่ได้ จากความขัดแย้งที่ยังอุดมอยู่เต็มเปี่ยม

การคำนวณของพรรคประชาธิปัตย์คือ เกมสั้นก็แพ้ เกมยาวก็แพ้ และในระยะยาวก็ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร

4. อย่าลืมว่าถ้าดีลพลาดหลายรอบ ความน่าเชื่อถือจะติดลบไปเรื่อยๆ

ในอดีต พรรคการเมืองบางพรรคเกิดความ ‘วู่วาม’ คิดว่าในทางการเมืองจะเต็มไปด้วยนักการเมืองที่เป็น ‘เพื่อน’ มีข้าราชการทุกระดับเป็น ‘ลูกน้อง’ และหากคุยกับเบื้องบนได้แล้วทุกอย่างก็เป็นอันจบ เพราะคิดว่ามีอำนาจรัฐ มีเสียงประชาชนอยู่ในมือที่มากพอจะนำไปใช้ต่อรองได้

หากใช้มุมมองทางประวัติศาสตร์มอง เมื่อหลายคนเตือนให้เปลี่ยนกฎหมายสภากลาโหมก็ไม่มีใครฟัง เมื่อบางคนแนะให้เปลี่ยนผู้บัญชาการทหารบกก็ไม่เชื่อ รอยด่างยังตามมาหลอกหลอนเมื่อเกิดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ กปปส. หรือการเสนอชื่อบางคนเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกฯ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยจนเกิดเหตุยุบพรรค ต่อเวลา ยืดอายุให้ฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจมากขึ้นอย่างเต็มล้น

การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและการต่อรอง แต่มิติทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ล้วนเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีความอันตรายเสมอ หากองค์กรไปดีลอะไรแปลกๆ ลับๆ ล่อๆ

ส่วนผสมทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง หากต้องดีลธุรกิจข้ามขั้ว ด้วยเงื่อนไขแปลกๆ

องค์กรใดก็ตามที่ตัดสินใจข้ามขั้วเช่นนี้ ก็ควรพึงระลึกไว้เสมอว่า ในโลกการเมืองและโลกธุรกิจนั้นไม่ได้แตกต่างกัน ไม่ได้มีมิตรแท้ ไม่ได้มีศัตรูถาวร ทุกองค์กรย่อมแสวงหาลูกค้า หาผลกำไร หาอำนาจที่เพิ่มขึ้น

และหากเขาตัดสินใจข้ามขั้วมาหาเราได้ สักวันก็เป็นไปได้ที่ ‘เขา’ อาจจะจัดการเราอย่างเบ็ดเสร็จได้สักวันเช่นกัน

Tags: , ,