หลังจากที่อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการได้หนึ่งเดือน สิ่งหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกันก็คือ อาจารย์แลดูจะทำงานทุกชั่วขณะจิตจริงๆ วันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่หยุดทำงาน แม้แต่ช่วงที่ลางานไปร่วมงานรับปริญญาของลูกที่สหรัฐอเมริกา ก็ยังอุตส่าห์เข้าร่วมประชุมทางไกล เรียกได้ว่าได้ทำตามสโลแกน ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ที่อาจารย์เคยให้ไว้โดยแท้ (แม้จะโดนบางฝ่ายแขวะว่าทำงานโชว์หน้ากล้องก็ตาม)

ดังนั้น สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอโหนกระแสเรื่องงาน และพาไปดู 5 คำในภาษาอังกฤษ ที่มี ‘งาน’ พรางตัวอยู่ข้างในอย่างแนบเนียน

 

Manure

แม้ว่าดูเผินๆ แล้ว ปุ๋ยคอกไม่น่าเกี่ยวอะไรกับเรื่องงานได้เลย แต่เมื่อสืบสาวกลับไปถึงที่มาของคำนี้แล้ว จะพบว่ามาจากคำว่า manuoperare ที่แปลว่า ทำงานด้วยมือ ในภาษาละติน ซึ่งประกอบขึ้นจาก manus ในภาษาละตินที่แปลว่า มือ (แบบที่เจอในคำว่า manual ที่หมายถึง คู่มือ หรือ manacles ที่หมายถึง กุญแจมือ) รวมกับกริยา operari ในภาษาละตินที่หมายถึง ทำงาน (เป็นที่มาของคำว่า operate ที่หมายถึง ทำงาน ปฏิบัติงาน ด้วย)

เมื่อคำนี้ถูกยืมเข้าไปในภาษาฝรั่งเศส เสียง p ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นเสียง v ส่วนเสียงสระต่างๆ ก็กร่อนไป ท้ายที่สุดเหลือเพียง manovrer และกลายมาเป็น manure ในภาษาอังกฤษในท้ายที่สุด 

ส่วนที่การทำงานด้วยมือมาเกี่ยวกับปุ๋ยคอกได้นั้น เป็นเพราะการทำงานด้วยมือที่ว่านี้หมายถึงการใช้แรงงานในการทำไร่ทำนา แต่เนื่องจากส่วนหนึ่งของการทำไร่ไถนาก็คือการนำมูลสัตว์มาใส่เป็นปุ๋ยให้พืชงอกงาม เมื่อเวลาผ่านไป ความหมายของคำๆ นี้จึงค่อยๆ เปลี่ยนไปหมายถึง มูลสัตว์ที่นำมาใช้เป็นปุ๋ยหรือปุ๋ยคอกนั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า manuoperare ที่หมายถึง ทำงานด้วยมือ ที่พูดถึงไปข้างบนนี้ ยังกลายร่างไปเป็นคำว่า maneuver ด้วย แต่เดิมหมายถึง ทำงานด้วยมือ แต่ในเวลาต่อมา ความหมายก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปหมายถึง บังคับทิศทาง (ซึ่งก็ต้องใช้มือบังคับ) จนกลายมาหมายถึง ขยับเข้าตำแหน่ง ตะล่อม อย่างในปัจจุบัน

 

Office

คำนี้เกี่ยวข้องกับงานแน่นอนด้วยความหมาย แต่หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าในตัวคำเองก็มีงานแฝงอยู่ด้วย

คำว่า office นี้มาจากคำว่า officium ในภาษาละติน หมายถึง ตำแหน่ง หน้าที่ (ทุกวันนี้ office ก็ใช้หมายถึง ตำแหน่งได้ เช่น He held office as health minister.) ซึ่งเป็นคำที่ย่อมาจาก opificium ที่หมายถึง การทำงาน อีกทอด ประกอบขึ้นจาก opus ที่แปลว่า งาน (ในภาษาอังกฤษก็นำมาใช้ในความหมายนี้) รวมกับกริยา facere ที่แปลว่า ทำ

แรกเริ่มเดิมที คำว่า office ในภาษาอังกฤษหมายถึง การประกอบพิธีทางศาสนา (ทำนองว่าเป็นงานของนักบวช) หรือตำแหน่ง ก่อนที่จะค่อยๆ กลายมาหมายถึงสถานที่ที่คนมีตำแหน่งไปทำงาน หรือ ออฟฟิศ อย่างในปัจจุบันด้วย

 

Surgery

คำว่า surgery เป็นอีกคำหนึ่งที่ผ่านการเปลี่ยนโฉมจนรูปปัจจุบันต่างจากรูปต้นทางจนแทบไม่เห็นความเชื่อมโยง หากลองสืบกลับไปแล้ว จะพบว่ามาจาก kheirourgia ในภาษากรีก ซึ่งถูกยืมไปเป็นคำว่า chirurgia ในภาษาละตินและกร่อนเหลือ surgerie ในภาษาฝรั่งเศส ก่อนจะกลายมาเป็น surgery ในภาษาอังกฤษอย่างในปัจจุบัน

ส่วนที่ surgery เกี่ยวกับงานได้อย่างไรนั้น ก็เพราะคำว่า kheirourgia ในภาษากรีกต้นทางนั้น ประกอบขึ้นจาก kheir ที่แปลว่า มือ (แบบที่เจอในคำว่า chiropractor ที่แปลว่า นักจัดกระดูก) รวมกับ ergon ที่แปลว่า งาน (เช่นที่เจอในคำว่า ergonomics ที่หมายถึง การยศาสตร์) รวมความหมายได้ว่า งานที่ทำด้วยมือ หรือ ศัลยกรรม (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หมอต้องใช้มือทำ ต่างจากแค่จ่ายยาให้ไปกินนั่นเอง)

 

George

แม้แต่ชื่อคนอย่าง George ก็ยังอุตส่าห์มีงานแฝงอยู่ข้างใน ชื่อนี้มาจากชื่อกรีก Georgos หมายถึง ชาวนา ผู้ไถพรวนดิน มาจาก ge ที่แปลว่า พื้นดิน (เป็นญาติกับคำที่ขึ้นด้วย geo- ทั้งหลาย เช่น geology ธรณีวิทยา และ geography ภูมิศาสตร์) รวมกับ ergos ที่แปลว่า งาน นั่นเอง

ส่วนที่ชื่อนี้ที่เป็นที่นิยมขึ้นมาในภาษาอังกฤษ ว่ากันว่าเป็นเพราะนักบุญจอร์จ ที่มีตำนานว่าเป็นผู้ฆ่ามังกรและถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะไม่ยอมละทิ้งความเชื่อในคริสต์ศาสนา นอกจากนั้น ชื่อนี้ยังถูกนำไปเป็นพระนามของกษัตริย์อังกฤษหลายพระองค์ และเป็นที่มาของชื่อรัฐจอร์เจีย (Georgia) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งเป็นเกียรติให้แก่กษัตริย์จอร์จที่ 2 (King George II) ด้วย

 

Boulevard

คำนี้แต่เดิมใช้เรียกพื้นทางเดินเรียบๆ ด้านบนกำแพงปราการ แต่เมื่อมีการทำลายกำแพงปราการ คำว่า boulevard ก็ถูกนำมาใช้เรียกถนนที่เป็นที่ตั้งเดิมของกำแพงปราการแบบนี้ ซึ่งกลายสภาพเป็นถนนขนาดใหญ่ที่มีต้นไม้เรียงรายสองข้างทาง

คำว่า boulevard นี้ ภาษาอังกฤษรับมาจากภาษาฝรั่งเศส แต่ภาษาฝรั่งเศสเองนั้นรับมาจากคำว่า bollwerk ในภาษาเยอรมันอีกทอด ซึ่งคำนี้หมายถึง กำแพงปราการ และเป็นที่มาของคำว่า bulwark ในภาษาอังกฤษในปัจจุบันที่หมายถึง ป้อมปราการ เขื่อนกั้นน้ำ ด้วย

ส่วนที่คำว่า boulevard ไปเกี่ยวกับงานได้ ก็เพราะคำว่า bollwerk ที่ว่าไปนี้ นักวิชาการว่ากันว่ามาจากคำว่า bole หมายถึง ลำต้นของต้นไม้ ซุง รวมกับคำว่า work ที่หมายถึง งาน รวมความหมายได้ว่า งานที่ก่อสร้างจากท่อนซุง นั่นเอง

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Hanks, Patrick., Kate Hardcastle, and Flavia Hodges. Oxford Dictionary of First Names. OUP: New York, 2006.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

 

Tags: , , , ,