ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) ประจำปี 2022 หรือที่มีชื่อย่อที่เราเรียกติดปากกันว่า เอเปค (APEC)

ทั้งนี้ หากเราดูชื่อองค์กรต่างๆ จะสังเกตว่า นอกเหนือจากเอเปคแล้ว ยังมีหลายองค์กรที่ชื่อย่อเกิดจากตัวอักษรต้นในชื่อและนำมาเรียงแล้วอ่านออกเสียงเป็นคำได้ หรือที่เรียกว่า acronym เช่น นาซา (National Aeronautics and Space Administration: NASA) นาโต้ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) หรือแม้แต่ อาเซียน (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN)

แต่ที่หลายคนอาจไม่ทราบก็คือ คำศัพท์ภาษาอังกฤษหลายๆ คำก็เกิดจากการนำคำเต็มมาย่อแบบ acronym เหมือนกัน ดังนั้น หลังจากที่เคยได้นำเสนอคำย่อจากแวดวงทหารไปแล้ว สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูคำในภาษาอังกฤษที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นคำย่อ


Zip code

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มักเรียก รหัสไปรษณีย์ ว่า postal code หรือ postcode แต่ในสหรัฐอเมริกาจะใช้คำว่า zip code (เขียนด้วยตัวใหญ่ว่า ZIP code ก็ได้) ซึ่งเป็นระบบที่ไปรษณีย์สหรัฐอเมริกา (United States Postal Service: USPS) ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ในช่วงทศวรรษ 1960 ประกอบด้วยเลข 5 ตัว (ในบางเขตอาจเพิ่มตัวเลขเข้ามาอีก 4 ตัว)

คำว่า ZIP ในที่นี้ย่อมาจากคำว่า Zone Improvement Plan หรือ แผนปรับปรุงการแบ่งเขต ซึ่งว่ากันว่าที่เลือกใช้ชื่อนี้มาเรียกรหัสไปรษณีย์ก็เพราะพอย่อเป็นคำว่า ZIP แล้ว จะไปตรงกับคำว่า zip ที่แปลว่า เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว (เช่น The car zipped past us. ก็คือ รถวิ่งฉิวผ่านพวกเราไป) ได้ยินแล้วให้ความรู้สึกว่าไปรษณีย์จะเดินทางไปถึงที่หมายอย่างรวดเร็วว่องไวนั่นเอง

Scuba

Scuba diving หรือการดำน้ำลึกเป็นการดำน้ำที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยหายใจใต้น้ำ เช่น ถังอากาศ เป็นต้น ต่างจากการดำน้ำที่ผิวน้ำแบบ snorkeling ที่มีแค่หน้ากากและท่อหายใจก็ดำน้ำได้แล้ว

ทั้งนี้ ชื่อการดำน้ำแบบนี้ มาจากชื่ออุปกรณ์ scuba อีกทอดหนึ่ง ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่าเป็นตัวย่อที่มาจากตัวอักษรตัวแรกของชื่อเต็มๆ ของอุปกรณ์นี้ นั่นก็คือ Self-Contained Underwater Breathing Apparatus (อุปกรณ์หายใจใต้น้ำแบบพร้อมใช้ในตัว) ซึ่งเป็นชื่อผู้ประดิษฐ์ Christian J. Lambertsen ตั้งขึ้นและปรากฏในสิทธิบัตรที่ยื่นใน 1952


Radar

แม้ว่าในปัจจุบันเราจะเขียนคำว่า radar ด้วยตัวเล็กทั้งหมด แต่ในยุคหนึ่งคำนี้เคยเขียนด้วยตัวใหญ่ทั้งหมดว่า RADAR เหมือนคำย่อทั่วไป นั่นก็เพราะคำนี้ย่อมาจาก radio detection and ranging หรือ การตรวจจับและวัดระยะด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่งเป็นคำที่กองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาคิดค้นขึ้นเชื่อใช้เรียกเทคโนโลยีใหม่ในช่วงสงครามโลกในปี 1940

อย่างไรก็ตาม หลังจากยุคสงครามโลก คำๆ นี้ก็ได้ถูกนำไปใช้ในแวดวงต่างๆ นอกเหนือจากการทหารและกลายมาเป็นสำนวนในสังคมกระแสหลัก เช่น fly under the radar หมายถึง ไม่มีใครสังเกตเห็น เหมือนกับเรดาร์ตรวจจับไม่เห็น หรือ on the radar ก็คือ กลายเป็นที่สังเกต ทำนองว่าเรดาร์ตรวจจับเจอ นั่นเอง

นอกจากนั้น ยังมีอีกสองคำที่สร้างขึ้นมาด้วยวิธีการใกล้เคียงกัน นั่นคือ Sonar และ Lidar ซึ่งย่อมาจาก sonic/sound navigation and ranging (การนำทางและวัดระยะด้วยเสียง) และ light detection and ranging/ laser imaging, detection, and ranging (การตรวจจับและวัดระยะด้วยแสง/การสร้างภาพ ตรวจจับ และวัดระยะด้วยเลเซอร์)

Laser

เราต่างก็น่าจะคุ้นเคยกับเลเซอร์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น อาจจะเคยเห็นตัวร้ายในภาพยนตร์ยิงเลเซอร์ใส่ตัวเอก ไม่ก็เคยไปรักษาผิวหน้าด้วยเลเซอร์แบบต่างๆ แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบก็คือ laser เป็นคำย่อที่เกิดจากตัวอักษรต้นของชื่อเต็ม light amplification by stimulated emission of radiation ซึ่งหมายถึง การขยายคลื่นแสงด้วยการกระตุ้นเร้าการปล่อยรังสี

คำว่า laser นี้ยังถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยในสำนวนใหม่อย่าง laser focus ด้วย หมายถึง มีสมาธิจดจ่อไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เหมือนกับที่แสงเลเซอร์มีการรวมแสงและมีความเข้มข้น


Care package

ปัจจุบันนี้ เราใช้คำว่า care package หมายถึง ชุดข้าวของเครื่องใช้หรืออาหารที่เรานำไปมอบให้กับคนอื่นในโอกาสต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือแสดงความห่วงใยต่อผู้รับ เช่น หากเพื่อนเรากำลังป่วย เราก็อาจนำยาบรรเทาอาการเล็กๆ น้อยๆ และซุปไปมอบให้ หรือหากเพื่อนเรากำลังเรียนอยู่ต่างประเทศและบ่นว่าเครียด เราก็อาจส่งขนมขบเคี้ยว ยาดมส้มมือ และเทียนหอมไปให้ แบบนี้ล้วนเรียกว่า care package ได้ทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม คำนี้ไม่ได้มาจากแค่การนำคำว่า care ที่หมายถึง ความห่วงใย มาประกอบกับ package ที่แปลว่า บรรจุภัณฑ์ แต่อย่างใด แต่กลับมาจากตัวย่อและมีจุดกำเนิดย้อนกลับไปได้ถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง 

ในช่วงนั้น ชาวยุโรปในหลายพื้นที่ประสบภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เสี่ยงอดตายกัน จึงมีการก่อตั้งองค์กรช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในสหรัฐอเมริกาชื่อว่า Cooperative for American Remittances to Europe หรือ สหกรณ์เพื่อการส่งความช่วยเหลือจากอเมริกาสู่ยุโรป (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Cooperative for Assistance and Relief Everywhere หรือ สหกรณ์เพื่อการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ทุกแห่งหน) ซึ่งย่อได้ว่า CARE พอดิบพอดี

องค์กรนี้ได้นำข้าวสารอาหารแห้งต่างๆ เช่น ข้าวสาร น้ำตาล กาแฟ เนื้อกระป๋อง ลูกเกด ที่จะส่งไปช่วยเหลือผู้คนมาบรรจุลงกล่อง และตั้งชื่อกล่องนี้ว่า CARE Package ทำให้คำนี้ค่อยๆ กลายมาเป็นคำติดปากที่ใช้เรียกกล่องยังชีพลักษณะนี้ ต่อมาภายหลัง ผู้คนเริ่มไม่เชื่อมโยงกล่องยังชีพแบบนี้กับชื่อย่อขององค์กร CARE แล้ว และไปเชื่อมโยงกับคำว่า care ที่หมายถึง ความห่วงใย แทน ทำให้เริ่มเขียนคำนี้ด้วยตัวเล็ก และกลายมาเป็น care package แบบที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: , , ,