ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความอัดอั้นและความไม่พอใจของผู้คนต่อการบริหารวัคซีนของรัฐบาลปะทุรุนแรงมาก เพราะนอกจากจะมีข่าวผู้ติดเชื้อที่หาเตียงไม่ได้จนเสียชีวิตรายวัน ก็ยังมีเรื่องความสับสนเรื่องการฉีดวัคซีนไขว้เข็มและความคลุมเครือเกี่ยวกับวัคซีน mRNA จนทำให้แฮชแท็ก #รัฐบาลฆาตกร ทะยานขึ้นติดเทรนด์ในทวิตภพ

เรื่องราวของแฮชแท็กนี้ยังไม่จบแค่นั้น เพราะพรรคไทยสร้างชาติของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ผุดแคมเปญ #ฟ้องรัฐบาลฆาตกร จนทำให้ เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสานเดินทางไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเอาผิดกับคุณหญิงสุดารัตน์ในความผิดมาตรา 116 และ 328 คือ ยุยงปลุกปั่น และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

หลังจากที่เคยได้พาไปสำรวจศัพท์ที่เกี่ยวกับการฆ่าสมาชิกในครอบครัวแล้ว สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอโหนกระแสแฮชแท็กร้อนนี้และพาไปดูศัพท์ในภาษาอังกฤษที่ใช้พูดถึงการฆ่าคนด้วยวิธีต่างๆ กัน 

ฆ่าด้วยการทำให้ขาดอากาศหายใจตาย

ภาษาอังกฤษมีคำที่ใช้เรียกการฆ่าด้วยการทำให้ขาดอากาศหายใจอยู่เยอะมาก (จนชวนให้สงสัยว่าวิธีนี้เป็นวิธียอดฮิตหรือเปล่า) คำพื้นฐานที่สุดที่ใช้พูดถึงการทำให้ขาดอากาศหายใจตายแบบกว้างๆ ก็คือ suffocate (คำนี้เกี่ยวข้องกับกาแฟอย่างไร อ่านเพิ่มเติมได้ทาง https://themomentum.co/coffee-word-odyssey/

ยกตัวอย่างเช่น The victim was suffocated with a plastic bag over his head. (เหยื่อถูกสวมถุงพลาสติกครอบหัวจนขาดอากาศหายใจตาย) คำนี้ถ้าใช้ในเชิงเปรียบเปรยก็จะหมายถึง ทำให้อึดอัดเหมือนไม่มีอากาศหายใจ เช่น She felt suffocated by her girlfriend’s constant presence. (เธอรู้สึกอึดอัดเพราะแฟนเธออยู่ด้วยตลอดเวลา)

ส่วนถ้าจะให้ฟังดูเป็นทางการและมีความเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาหน่อย ก็จะใช้คำว่า asphyxiate เช่น The couple were asphyxiated by carbon dioxide. ก็คือ ขาดอากาศหายใจเพราะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์

แต่หากเป็นกรณีที่เจาะจงขึ้นมาอีก คือทำให้ขาดอากาศหายใจด้วยการอุดจมูกอุดปาก แบบนี้เราก็อาจจะใช้คำว่า smother เช่น The murderer smothered him with a pillow. (ฆาตกรใช้หมอนกดทับหน้าเขาจนขาดอากาศหายใจตาย) ทั้งนี้ คำนี้จะใช้ในเชิงเปรียบเปรยก็ได้ ทั้งในความหมายที่แปลว่า ทำให้อึดอัด เช่น He smothered his children with attention. (เขาให้ความสนใจลูกไปเสียทุกเรื่องจนลูกอึดอัด) หรือดับไฟด้วยการทำให้ไม่มีอากาศ เช่น She tried to smother the flames with a blanket. (เธอพยายามดับไฟโดยเอาผ้าห่มคลุมทับ) หรือแม้แต่การราด โรย หรือชโลมจนชุ่มปกคลุมพื้นผิวทั้งหมด เช่น ถ้าร้านพิซซ่าโฆษณาว่า Our pizza is smothered in cheese. ก็คือใส่ชีสแบบไม่ยั้งจนแทบจะไม่เหลือส่วนที่ไม่มีชีสปกคลุม

ส่วนการทำให้ขาดอากาศหายใจด้วยการรัดคอ เราจะใช้คำว่า strangle ใช้ได้ทั้งในกรณีที่บีบคอด้วยมือ เช่น In a fit of rage, he strangled his boyfriend to death. (เขาบันดาลโทสะบีบคอแฟนจนตายในกรณีนี้ ใช้คำว่า throttle แทนได้ด้วย) และกรณีที่ใช้อุปกรณ์อย่างอื่น เช่น She was strangled with a belt. (เธอถูกรัดคอด้วยเข็มขัด) แต่หากใช้เส้นลวดรัดคอแล้วดึง คำที่เฉพาะเจาะจงคือ garrote นอกจากนั้น คำนี้ยังใช้ในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง ยับยั้งไม่ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งพัฒนาไปได้เท่าที่ควร เช่น Thailand’s economy is being strangled by a series of ineffective pandemic control measures. (เศรษฐกิจไทยกำลังถูกบีบให้ชะงักโดยมาตรการควบคุมโรคระบาดที่ไม่ได้ผล)

ส่วนถ้าเป็นการฆ่าด้วยการจับแขวนคอ ซึ่งอาจจะตายเพราะขาดอากาศหายใจหรือคอหักก็ได้ แบบนี้จะใช้คำว่า hang และมักใช้รูปอดีตเป็น hanged มากกว่า hung ด้วย เช่น He was hanged for treason. (เขาถูกแขวนคอข้อหากบฏ) แต่หากเป็นการจับแขวนคอโดยฝูงชน ไม่ได้มีการตัดสินคดีใดๆ แบบนี้จะใช้คำว่า lynch เช่น Her great grandfather was a victim of mob lynching. (ปู่ทวดของเธอถูกจับแขวนคอโดยฝูงชน)

ฆ่าด้วยการทำให้จมน้ำตาย

แม้ว่าจริงๆ แล้ว การทำให้จมน้ำตายจะเรียกได้ว่าเป็นการทำให้ขาดอากาศหายใจชนิดหนึ่ง แต่ก็มีความจำเพาะมากจนทำให้น่าแยกออกมาต่างหากเป็นอีกหนึ่งหัวข้อ

เมื่อพูดถึงการฆ่าด้วยการจับกดน้ำหรือทำให้จมน้ำตาย คำที่พื้นฐานและครอบจักรวาลที่สุด ก็คือคำว่า drown นั่นเอง เช่น The woman was drowned by her husband in a toilet. (ผู้หญิงคนนั้นถูกสามีจับกดหัวลงในชักโครกจนตาย) หรือ The man was drowned by his wife in the lake. (ผู้ชายคนนั้นถูกภรรยาฆ่าด้วยการทำให้จมน้ำตายในทะเลสาบ)

แต่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำนี้ก็คือ มีความหมายถึงจมน้ำตายเองได้ด้วย เช่น The girl fell into the pond and drowned. ก็คือ เด็กหญิงตกลงไปในบ่อน้ำและจมน้ำตาย นอกจากนั้น คำนี้ยังใช้ในเชิงเปรียบเปรยได้ด้วย เช่น He drowned his fries in ketchup. ก็จะเห็นภาพราดซอสมะเขือเทศลงบนเฟรนช์ฟรายจนท่วม หรือ Our country is drowning in debt. ก็คือ ประเทศเราหนี้ท่วม

ศัพท์เก๋ๆ อีกคำที่เราอาจพบเห็น เมื่อพูดถึงเรื่องการฆ่าด้วยการทำให้จมน้ำตายได้ ก็คือ noyade ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกการประหารชีวิตด้วยการจับโยนลงน้ำ มีที่มาจากยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror) ในฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 18

ส่วนถ้าเป็นการจับคนปิดตา มัดมือ แล้วบังคับให้เดินไปบนไม้กระดานที่ยื่นออกจากเรือเพื่อให้ตกน้ำตายแบบที่เห็นในหนังโจรสลัด แบบนี้จะเรียกว่า walk the plank ซึ่งในปัจจุบันนำมาใช้เป็นสำนวนหมายถึง ถูกบีบให้ออกจากงานหรือตำแหน่ง ได้ด้วย เช่น Maybe, the Minister of Public Health will finally be made to walk the plank for all his blunders. ก็คือ รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข อาจจะโดนบีบให้ออกจากตำแหน่งเพื่อสังเวยข้อผิดพลาดต่างๆ ก็ได้ในท้ายที่สุด

ฆ่าด้วยการเผาทั้งเป็น

การฆ่าด้วยการเผาไฟ นอกจากจะพูดอย่างง่ายๆ ว่า burn someone alive แล้ว เช่น He was burned alive. (เขาถูกเผาทั้งเป็น) ก็ยังมีคำที่เป็นทางการขึ้นมาอีกหน่อย คือ immolate คำนี้มาจากคำว่า immolare ในภาษาละตินที่แปลว่า โปรยธัญพืชบดในการบวงสรวงบูชายัญ (เป็นญาติกับคำที่เกี่ยวกับการบดหลายคำ เช่น molar ที่แปลว่า ฟันกราม mill ที่แปลว่า เครื่องสีหรือเครื่องบด และ meal ที่หมายถึง ธัญพืชบด) เนื่องจากการบูชายัญส่วนใหญ่มักทำโดยนำสัตว์หรือเครื่องบูชายัญมาเผาไฟ พอคำนี้เข้ามาในภาษาอังกฤษ ความหมายจึงพัฒนาเป็นเผาหรือทำลายด้วยไฟ ฆ่าด้วยไฟ ตัวอย่างเช่น The innocent victim was immolated by a group of terrorists. (เหยื่อผู้บริสุทธิ์ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายจับเผา) หรือหากเป็นการเผาตัวเองเช่นในพิธีสตี ซึ่งผู้หญิงที่เป็นหม้ายจะต้องเผาตนเองตายตามสามีไป เราก็จะเรียกว่าเป็น self-immolation 

ทั้งนี้ การเผาทั้งเป็นยังมีศัพท์คำอื่นอีก ถ้าหากเผาทั้งเป็นโดยจับมัดเสาแบบสมัยล่าแม่มด ก็จะเรียกว่า burn at the stake แต่ถ้าเป็นการนำยางรถมาแขวนรอบคอแล้วเผาแบบในแอฟริกาใต้ คล้ายๆ กับเผานั่งยาง ก็จะเรียกว่า necklacing ส่วนศัพท์หรูที่ใช้เรียกการเผาทั้งเป็นแบบรวมๆ ก็คือ vivicremation มาจาก vivus ในภาษาละตินที่แปลว่า มีชีวิต และกริยา cremare ในภาษาละตินที่แปลว่า เผา (แบบที่เจอในคำว่า cremation หรือฌาปนกิจ)

ฆ่าด้วยการฝังทั้งเป็น

การฝังคนทั้งเป็น พูดอย่างง่ายๆ ในภาษาอังกฤษว่า to bury someone alive เช่น The dirt under his nails suggested that he was buried alive. (ดินตามซอกเล็บทำให้น่าเชื่อได้ว่าเขาถูกฝังทั้งเป็น) แต่หากอยากให้ศัพท์หรูหราหมาเห่า ก็สามารถใช้คำว่า vivisepulture มาจาก vivus ในภาษาละตินที่แปลว่า มีชีวิต รวมกับ sepulture ที่แปลว่า การฝัง หรือ โลงศพ

แต่หากการฝังนี้คือการฝังในกำแพง ก็จะเรียกว่า immure มาจากส่วนเติมหน้า in- ที่แปลว่า ด้านใน และ murus ในภาษาละตินที่แปลว่า กำแพง (แบบที่เจอในคำว่า mural ที่แปลว่า จิตรกรรมฝาผนัง) เช่น The priest was immured alive in the mausoleum. (นักบวชถูกฝังในผนังสุสาน)

ทั้งนี้ เนื่องจากชาวตะวันทำพิธีศพด้วยการฝังเป็นหลัก จึงไม่แปลกเลยที่จะกลัวการถูกฝังทั้งเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดที่มีคำใช้เรียกอาการกลัวนี้ว่า taphophobia มาจาก taphos ในภาษากรีกที่แปลว่า หลุมศพ (แบบที่พบในคำว่า epitaph ป้ายหลุมศพ) รวมกับ phobia ที่ใช้เรียกอาการกลัวนั่นเอง

ฆ่าด้วยการปล่อยอดอาหารตาย

คำพื้นฐานที่สุดที่ใช้พูดถึงการทำให้คนตายจากการขาดอาหาร คือคำว่า starve แรกเริ่มเดิมทีในยุคภาษาอังกฤษเก่า คำนี้แปลว่า ตาย เฉยๆ แต่ในเวลาต่อมา ความหมายก็เริ่มบีบแคบและเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น เช่น ตายจากความหนาวเย็น ตายจากความโศกเศร้า และตายจากความหิว จนในที่สุด คำว่า starve เวลาที่ใช้พูดถึงความตาย ก็จะเหลือแค่ความหมายที่ว่า หิวตาย เช่น The poor dog was left to starve to death. (เจ้าหมาน้อยที่น่าสงสารโดนทิ้งให้หิวตาย) หรือถูกฆ่าให้ตายโดยการให้อดอาหาร เช่น The captives who did not cooperate were starved to death. (เชลยที่ไม่ให้ความร่วมมือถูกปล่อยให้อดอาหารตาย)

ทั้งนี้ คำว่า starve ยังมีความหมายเชิงเปรียบเปรยด้วย เช่น เวลาเราหิวมากๆ เราก็อาจจะพูดว่า I’m starving. เพื่อเล่นใหญ่ แม้ว่าเราไม่ได้กำลังจะหิวตายจริง (อ่านสำนวนอื่นๆ ที่ใช้พูดเกินจริงได้ทาง https://themomentum.co/word-odyssey-eat-a-horse/) หรือถ้ามีคนคนหนึ่งดูขาดความรัก โหยหาความรักมากๆ เราก็อาจพูดว่า That person is starved for affection.

อีกคำที่ใช้พูดถึงการฆ่าด้วยการปล่อยให้อดอาหารตายได้ แต่อาจพบได้น้อยหน่อยก็คือ famish to death เช่น The prince was famished to death by rebels. (เจ้าชายถูกกลุ่มกบฏบังคับให้อดอาหารจนเสียชีวิต) คำนี้นอกจากจะเกี่ยวโยงกับคำว่า famine ที่แปลว่า ทุพภิกขภัย แล้ว ยังเป็นญาติใกล้ชิดกับศัพท์ยากอีกคำที่ในอดีตใช้พูดถึงการอดอาหารตายด้วย นั่นก็คือ enfamishment นั่นเอง

ฆ่าด้วยการตัดหัว

วิธีการหนึ่งที่รับประกันว่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายตายสนิทแน่นอน ก็คือการตัดหัว คำหลักๆ ในภาษาอังกฤษที่ใช้พูดถึงการตัดหัวก็คือ decapitate และ behead เช่น The victim was brutally decapitated/beheaded. (เหยื่อถูกตัดหัวอย่างโหดเหี้ยมทารุณ) หรือถ้าพูดว่าพบ a decapitated body ก็คือ พบศพไร้ศีรษะนั่นเอง 

แต่ถ้าเจาะจงว่าเป็นการตัดหัวด้วยกิโยติน ก็สามารถนำคำว่า guillotine มาใช้เป็นกริยาได้เลย เช่น Many people were guillotined during the French revolution. (ผู้คนจำนวนมากถูกตัดหัวด้วยเครื่องกิโยตินในการปฏิวัติฝรั่งเศส

อันที่จริงแล้ว แนวคิดที่เกริ่นไปข้างต้นว่าการตัดหัวเป็นวิธีปลิดชีพคนที่ชะงัดนักแลนี้ ยังสะท้อนอยู่ในคำว่า capital punishment ที่แปลว่าโทษประหารด้วย เพราะ capital ในที่นี้หมายถึงศีรษะและการตัดหัวเป็นวิธีการประหารชีวิตที่เป็นที่นิยมแพร่หลายนั่นเอง ทั้งนี้ แม้ในปัจจุบันจะมีวิธีการประหารชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การช็อร์ตไฟฟ้าหรือฉีดยาพิษ แต่คำว่า capital punishment ก็ยังคงใช้กันอยู่ หรือจะใช้คำว่า death sentence ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีสำนวน shorten by the head ด้วย ซึ่งหากแปลความหมายก็คือ ทำให้เตี้ยลงหนึ่งหัวด้วยการบั่นคอ นั่นเอง

ฆ่าด้วยการปาหิน

การปาหินเป็นวิธีฆ่าหรือประหารคนที่พบได้ในหลายวัฒนธรรมในอดีตและยังมีใช้อยู่ในบางประเทศในปัจจุบัน หากใช้เป็นคำนามก็เรียกอย่างง่ายๆ ได้ว่า stoning หรือหากจะเขียนเป็นกริยา ก็จะพูดว่า stone someone to death เช่น Adulterers were stoned to death in certain cultures in the past. (ในบางวัฒนธรรมในอดีต คนที่คบชู้จะถูกประหารด้วยการปาหิน)

แต่ถ้าอยากได้คำที่หรูหน่อย ก็สามารถใช้คำว่า lapidation (n.) หรือ lapidate (v.) ได้ (เป็นญาติกับคำว่า dilapidated ที่แปลว่า ซอมซ่อ และ lapis lazuli ที่เป็นหินอัญมณีชนิดหนึ่ง) เช่น Lapidation is a form of capital punishment still in use in several countries. (หลายประเทศยังใช้การปาหินเป็นวิธีการประหารชีวิต

ฆ่าด้วยของมีคม

คำที่ใช้เรียกการฆ่าด้วยของมีคมมีอยู่หลายคำ จะเลือกใช้คำไหนก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการฆ่า ถ้าเป็นการแทงก็อาจจะใช้คำว่า stab to death เช่น A man was stabbed to death in my neighborhood yesterday. (เมื่อวานมีผู้ชายแถวบ้านคนหนึ่งถูกแทงตาย) แต่หากฆ่าด้วยดาบแบบในสงครามสมัยก่อน ก็จะเรียกว่า put to the sword เช่น The ruthless knight had no qualms about putting his enemies to the sword. (อัศวินจอมโหดไม่กระดากใจที่จะฆ่าศัตรู

แต่ถ้าต้องการเจาะจงว่าใช้มีการคว้านไส้คว้านพุง ก็จะใช้คำว่า disembowel (มาจากส่วนเติมหน้า dis- ที่แปลว่า นำออก รวมกับ bowel ที่แปลว่า ลำไส้) หรือ eviscerate (ประกอบจากส่วนเติมหน้า ex- ที่แปลว่า ออก รวมกับ viscera ที่แปลว่า ตับไตไส้พุง) เช่น The serial murderer always disemboweled his victims. (ฆาตกรต่อเนื่องรายนี้คว้านไส้เหยื่อทุกครั้ง) แต่ถ้าอยากพูดให้ดูนักเลง ก็อาจจะใช้คำว่า gut ซึ่งปกติใช้กับการคว้านไส้สัตว์ที่นำมาทำอาหารแทน เช่น I’ll gut you like a fish. (เดี๋ยวคว้านไส้แม่งเลย)

ส่วนถ้าเป็นการฆ่าปาดคอ เราก็ใช้กริยา slit เช่น Knife-wielding attackers pinned down a police officer and slitted his throat. ก็คือ กลุ่มคนถือมีดจับตำรวจกดลงบนพื้นแล้วฆ่าปาดคอ ทั้งนี้ การฆ่าปาดคอมีศัพท์หรูๆ ที่แทบจะไม่มีคนใช้จริงด้วย นั่นก็คือ jugulate (เป็นญาติกับคำว่า jugular ที่หมายถึง เกี่ยวกับลำคอ แบบที่เจอในคำว่า jugular vein ที่หมายถึง เส้นเลือดที่คอ หรือในสำนวน go for the jugular ที่หมายถึง เล่นงานที่จุดตาย)

ฆ่าด้วยการวางยา

อีกวิธีหนึ่งที่มนุษย์ใช้เข่นฆ่ากันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรก็คือการวางยา แบบนี้เราสามารถใช้คำง่ายๆ ว่า poison ได้เลย เช่น The pharmacist was accused of poisoning his own kids. (เภสัชกรคนนี้ถูกกล่าวว่าวางยาฆ่าลูกตัวเอง) แต่ถ้าเกิดเป็นการประหารด้วยการฉีดยา จะเรียกว่า lethal injection เช่น The bomber was sentenced to death by lethal injection. (มือระเบิดถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการฉีดยา)

ฆ่าด้วยการยิง

ถ้าพูดถึงการฆ่าด้วยอาวุธปืน ส่วนใหญ่ก็จะพูดง่ายๆ ว่า shoot someone dead เช่น The drug smuggler was shot dead by police. (ผู้ลักลอบขนยาเสพติดถูกตำรวจยิงเสียชีวิต) หรืออาจจะเอาคำว่า fatally มาขยายก็ได้ เช่น He was fatally shot. แบบนี้ก็จะเห็นภาพแล้วว่าไม่ใช่แค่ถูกยิง แต่เสียชีวิตด้วย หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจใช้สำนวน gun down แทน เช่น He was gunned down. (ส่วนใหญ่ถ้าใช้สำนวนนี้หมายถึงว่าถูกยิงเสียชีวิต ถ้าไม่เสียชีวิตก็คือบาดเจ็บสาหัส) แต่ถ้าอยากใช้สแลง ก็อาจใช้คำว่า smoke แทน เพราะเวลายิงปืน ก็จะเห็นควันลอยออกมาจากปลายกระบอกปืน หรือถ้าอยากให้ดูติดตลกนิดนึง ก็อาจจะใช้คำว่า ventilate ซึ่งปกติแปลว่า ระบายลม ในที่นี้ก็จะเห็นภาพคนถูกลูกกระสุนยิงทะลุจนเป็นรูให้ลมผ่านได้

ฆ่าด้วยการบริหารวัคซีนผิดพลาด

ในภาษาอังกฤษยังไม่มีคำที่คิดขึ้นมาเพื่อใช้พูดถึงการทำให้ประชาชนเสียชีวิต จากการที่รัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งบริหารวัคซีนผิดพลาดแต่อย่างใด

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

https://www.merriam-webster.com/words-at-play/hung-or-hanged

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayers, Donald M. English Words from Latin and Greek Elements. 2nd ed. The University of Arizona Press: Tuscon, 1986. 

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Bowler, Peter. The Superior Person’s Little Book of Words. Hawthorn Press: Perth, 1987.

Bowler, Peter. The Superior Person’s Second Book of Weird & Wondrous Words. David R. Godine Publisher: New Hampshire, 1992.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Elster, Charles Harrington. There’s a Word for it: A Grandiloquent Guide to Life. Pocket Books: New York, 2005.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Gates, Michael. The Word I’m Thinking of: A Devilish Dictionary of Difficult Words. Zabriskie Street Press, 2013.

Glazier, Stephen. Random House Word Menu. Random House: New York, 1992.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: ,