แม้คำว่าพูดเกินจริงอาจฟังดูเป็นสิ่งไม่ดี เพราะชวนให้คิดว่ามีเจตนาหลอกลวงให้อีกฝ่ายเชื่อสิ่งที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป เนื่องจากบางครั้งเราก็พูดเกินจริงเพียงเพื่อช่วยเน้นความหรือเพื่อสื่ออารมณ์ความรู้สึกให้ได้เต็มที่แซบซุยยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราไปเดินห้างฯ ในวันศุกร์ที่เงินเดือนออกแล้วรู้สึกว่าคนแน่นห้างฯ มาก เราก็อาจพูดว่าคนเป็นล้านทั้งที่จริงๆ คนก็ไม่น่าถึงหนึ่งล้าน (และเราก็ไม่รู้ด้วยเพราะคงไม่มีใครว่างมานั่งนับ) เพื่อเน้นว่าคนเยอะมากจริงๆ 

การใช้ภาษาเกินจริงเพื่อเน้นความ ไม่ได้หมายความตามตัวอักษรเป๊ะๆ ในลักษณะนี้ มีชื่อเรียกว่า hyperbole (อ่านว่า ไฮเพอร์บะลี) หรืออติพจน์ ตัวอย่างในภาษาไทยก็เช่น รวยล้นฟ้า (คงไม่มีใครที่นำทรัพย์สินเงินทองมากองพะเนินแล้วสูงถึงฟ้าจริงๆ) หรือ ที่เท่าแมวดิ้นตาย (พื้นที่ที่พูดถึงอาจจะแคบก็จริง แต่อาจจะกว้างกว่าที่ที่แมวใช้ในการดิ้นตายจริงๆ ก็ได้)

แน่นอนว่า ภาษาภาพพจน์แบบนี้ไม่ได้พบแต่ในภาษาไทย แต่ยังมีให้เห็นในสำนวนต่างๆ ในภาษาอังกฤษเช่นกัน

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่ามีสำนวนอะไรบ้างในภาษาอังกฤษที่นำใช้ hyperbole มาเพื่อเน้นความให้แซบซุยได้อารมณ์ยิ่งขึ้น

[1]

หิวเหลือเกิน

รู้สึกเหมือนไส้จะขาด

โหยเหมือนไม่มีข้าวตกถึงท้องมานานปี

พูดเรียบๆ แค่ hungry กลัวคนจะไม่เข้าใจ

พูดให้ใหญ่ว่าหิวขนาดกินม้าได้ทั้งตัวก็แล้วกัน

I could eat a horse.

หิวไส้จะขาด

 

[2]

มีความสุขเหลือเกิน

ดีใจดั่งได้โสฬส

ฟินกว่าเห็นคู่จิ้นคบกันในชีวิตจริง

พูดเรียบๆ แค่ happy เดี๋ยวคนจะไม่เห็นภาพ

งั้นขอเล่นใหญ่แบบรัชดาลัยเธียเตอร์

ว่าความสุขล้นปรี่จนแทบสำลักความสุขตายก็แล้วกัน

So happy I could die

มีความสุขเปี่ยมล้น

[3]

จนเหลือเกิน

กรอบ ถังแตก บ่จี๊ หมดตัว

กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจนไตร้องขอชีวิตแล้ว

พูดเรียบๆ แค่ poor เกรงว่าจะไม่ซาบซึ้งถึงความแร้นแค้น

มันต้องพูดให้เว่อร์ๆ ว่าแค่จะเอาเหรียญสตางค์มากระทบกันให้มีเสียง

ก็ยังทำไม่ได้

เพราะมีไม่ครบสองเหรียญด้วยซ้ำ

Not have two pennies to rub together

ยากจน

 

[4]

รวยเหลือเกิน

เงินเหลือล้นจนไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน

ใช้ยังไงก็ไม่รู้จักพร่อง

พูดเรียบๆ แค่ rich เดี๋ยวไม่เห็นถึงความไม่เดือดร้อนด้านการเงิน

พูดแบบเคลมเว่อร์ๆ ไปเลยแล้วกันว่า

รวยพอจะเอาเงินมาปูบนพื้นแล้วนอนกลิ้งในกองเงินได้

Rolling in it

รวยอู้ฟู่

[5]

อยากได้เหลือเกิน

คนที่หมายปอง บัตรคอนเสิร์ตวงโปรด อาหารมื้ออร่อยสักมื้อ ประชาธิปไตย

เหล่านี้คือสิ่งที่อยากได้อย่างสุดซึ้ง

พูดเรียบๆ แค่ want คงไม่พอพรรณนาความปรารถนาแรงกล้า

งั้นขอพูดแบบเล่นใหญ่ไปเลยว่า

ให้แลกด้วยแขนขวาก็ยอม

Give your right arm for something

ปรารถนาอย่างยิ่ง

[6]

ร้อนเหลือเกิน

แสงแดดแผดเผาเหมือนกลัวเสียชื่อว่าเป็นประเทศเมืองร้อน

ระอุเหมือนให้คนซ้อมลงนรกยังไงยังงั้น

พูดเรียบๆ แค่ hot มันยังสัมผัสไม่ได้ถึงความร้อนปรอทแตก

ขอเพิ่มความเว่อร์ให้เห็นภาพ

ด้วยการพรรณนาว่าร้อนจนตอกไข่ลงบนทางเท้าก็ทำไข่ดาวได้

So hot you could fry an egg on the sidewalk

ร้อนตับแลบ

[7]

ขายดีเหลือเกิน

สินค้าวางปุ๊บ ลูกค้าหยิบปั๊บ

คนรอคิวยาวกว่าท่ารถตู้เย็นวันศุกร์ที่ฝนตก

พูดเรียบๆ ว่า sell quickly มันยังไม่เห็นภาพความป๊อปปูลาร์

แบบนี้มันต้องพูดแบบเล่นใหญ่ว่า

สินค้ามันแทบจะโบยบินออกจากชั้นวาง 

Fly off the shelves

ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

 

[8]

แพงเหลือเกิน

กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาฝังเพชร ค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติ 

น้ำอัดลมในโรงหนัง 

เห็นป้ายราคาแล้วกุมขมับเพราะลมจะจับ

อยากถามว่ารับชำระเป็นอวัยวะไหม

ควักเงินจ่ายไปแล้วรู้สึกตัวเบาในบัดดล

พูดเรียบๆ ว่า expensive เดี๋ยวไม่ถึงพริกถึงขิง

มันต้องบอกว่า ราคาอย่างกับต้องตัดแขนขาอย่างละข้างมาจ่าย

Cost an arm and a leg

แพงหูฉี่

 

บรรณานุกรม

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษไทย. ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2545.

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary