ตั้งแต่ที่วัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย และรัฐบาลประกาศว่าจะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็น ‘ด่านหน้า’ ก่อน ประชาชนชาวไทยต่างก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องว่าวัคซีนนี้จะไปถึงหัวไหล่ของบุคลากรด่านหน้าครบถ้วนไหม เพราะต่างก็รู้ดีว่า ณ ละติจูดลองจิจูดนี้ แม้จะชอบประกาศตัวเป็นคนดีและท่องศีลข้อสองกันได้ขึ้นใจ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมีการใช้อำนาจและอภิสิทธิ์เพื่อ ‘ขโมย’ วัคซีนจากบุคลากรด่านหน้าที่ทำงานจริงไปให้กลุ่มคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวีไอพี พวกพ้อง หรือญาติโกโหติกา
จากการที่คนไทยช่วยกันเปิดโหมดตาสับปะรดในช่วงที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นข่าวเหตุการณ์ที่มีกลิ่นตุๆ เช่น รายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ซ้ำซ้อนจนแลดูเหมือนจะเปิดทางให้เกิดการสวมสิทธิ์ได้โดยง่าย ไปจนถึงข่าวผู้ที่ใช้อำนาจในทางมิชอบนำวัคซีนไปฉีดให้คนใกล้ตัวที่ไม่ได้มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนไฟเซอร์
เนื่องจากการนำวัคซีนไปฉีดให้กับคนที่ไม่ได้มีสิทธิ์เช่นนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการขโมยวัคซีนไปจากบุคลากรด่านหน้า ครั้วนี้คอลัมน์ Word Odyssey จึงขอพาทุกคนไปสำรวจกันว่า นอกจากคำพื้นฐานครอบจักรวาลอย่าง steal ที่ใช้ได้กับแทบทุกสิ่งตั้งแต่ข้าวของเงินทองไปจนถึงหัวใจและจูบแล้ว ในภาษาอังกฤษมีศัพท์สำนวนเฉพาะเจาะจงอะไรที่เราจะหยิบมาใช้พูดถึงการขโมยสิ่งต่างๆ ได้บ้าง
[1]
ขโมยเงิน
หากเป็นการขโมยหรือยักยอกเงินที่เราได้รับมอบหมายให้ดูแล คำที่เราจะใช้กันโดยทั่วไปก็คือ embezzle เช่น He’s been embezzling funds from the company for years. ก็คือ เขายักยอกเงินบริษัทมานานหลายปี
อีกคำหนึ่งที่ใช้ได้เช่นกันก็คือ misappropriate มาจากคำว่า appropriate ที่เป็นกริยา หมายถึง นำไปใช้เป็นของตน (แบบในคำว่า cultural appropriation หรือการฉกฉวยทางวัฒนธรรม) แล้วเติมส่วนเติมหน้า mis- ที่แปลว่า ‘ในทางที่ผิด’ เข้าไป ได้ความหมายรวมว่า ยักยอกทรัพย์สินไปใช้ส่วนตนโดยมิชอบ เช่น The chief district officer admitted that she had misappropriated half a million baht of district funds. ก็คือ นายอำเภอยอมรับว่ายักยอกงบอำเภอไปใช้กว่าครึ่งล้าน
แต่หากอยากใช้เป็นสำนวน ฝั่งอเมริกันก็อาจจะพูดว่า with one’s hand in the cookie jar ให้ภาพว่าเงินของนายจ้างเป็นคุกกี้ที่แสนยั่วยวนใจในไห แล้วเราแอบเอามือล้วงลงไปหยิบคุกกี้ขึ้นมา ปกติแล้วมักจะใช้ในกรณีที่ถูกจับได้กรณีที่โดนจับได้คาหนังคาเขา เช่น The manager was caught with his hand in the cookie jar. ก็คือ ผู้จัดการโดนจับได้คาหนังคาเขาระหว่างขโมยเงิน ส่วนทางฝั่งอังกฤษ เราอาจจะได้ยินสำนวน have your fingers in the till ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ‘แหย่นิ้วลงไปในเครื่องแคชเชียร์’ แต่เอามาใช้เชิงเปรียบเปรยว่า ขโมยเงินจากที่ทำงาน เช่น The boss knew his own son had his fingers in the till but chose to turn a blind eye. ก็คือ เจ้านายก็รู้อยู่ว่าลูกชายตัวเองแอบจิ๊กเงินของบริษัทแต่ก็เลือกทำไม่รู้ไม่เห็น
[2]
ขโมยของซื้อของขาย
หากพูดถึงการขโมยของซื้อของขาย ฉกฉวยไปโดยไม่ได้จ่ายเงิน แบบนี้ปกติเราจะใช้คำว่า shoplifting เช่น Many people have resorted to shoplifting to feed themselves during the pandemic. ก็คือ หลายคนต้องหันไปขโมยของตามร้านเพื่อให้มีอาหารกินในช่วงโควิด
แต่ถ้าอยากพูดเลี่ยงๆ ให้ติดตลกหน่อย ก็อาจจะใช้สำนวน five-finger discount ซึ่งแปลตรงๆ ได้ว่า ‘ส่วนลดห้านิ้วมือ’ ทำนองว่าส่วนไหนที่ฉวยคว้าไปได้ด้วยนิ้วมือทั้งห้าก็ถือเป็นส่วนลดแล้วกัน เช่น I used my five-finger discount to get that necklace. หมายถึง ฉันจิ๊กสร้อยคอมาจากร้าน นั่นเอง
[3]
ขโมยคน
หากพูดถึงการขโมยคน เช่น ขโมยพนักงานหรือลูกค้าจากคู่แข่ง คำที่เราจะเจอได้บ่อยๆ ก็คือ poach คำนี้แม้หลักๆ แล้วจะใช้พูดถึงการลักลอบล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย แต่ก็ถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยเวลาที่เราไปแย่งคนมาจากคนอื่นได้ด้วย เช่น Our best chef has just been poached by another restaurant. หมายถึง เชฟที่เก่งที่สุดของเราโดนร้านอาหารอีกร้านขโมยตัวไป
[4]
ขโมยผลงานหรือไอเดีย
หากสิ่งที่ขโมยคือผลงานหรือไอเดีย คือไปเอาสิ่งที่คนอื่นคิดหรือผลิตไว้มาใช้ราวกับเป็นของตน แบบนี้เราจะใช้คำว่า plagiarize (รูปคำนามคือ plagiarism) เช่น His degree was revoked over plagiarism. หมายถึง เขาถูกมหาวิทยาลัยยึดวุฒิการศึกษาเพราะคัดลอกหรือขโมยผลงานคนอื่น
นอกจากนั้น คำพื้นๆ อย่าง lift ก็ยังสามารถนำมาใช้ หมายถึง ขโมยมาทั้งดุ้น ขโมยมาดื้อๆ แบบไม่ดัดแปลงอะไร ได้ด้วย เช่น This paragraph was lifted from another book. ก็คือ ย่อหน้านี้ขโมยมาจากหนังสืออีกเล่ม
อีกคำที่ใช้ได้ก็คือคำว่า poach แบบที่เห็นไปก่อนหน้านี้แล้วนั่นเอง เช่น The plot of the novel was obviously poached from fan fiction in the internet. หมายถึง โครงเรื่องนี่ขโมยมาจากแฟนฟิคในเน็ตชัดๆ
[5]
ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา
หากเป็นการขโมยด้วยการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ดาวน์โหลดไฟล์ภาพยนตร์หรือเพลงผิดกฎหมายจากอินเทอร์เน็ต คำที่เราจะใช้กันก็คือ pirate ที่ปกติหมายถึง โจรสลัด นั่นเอง เช่น pirated movies ก็คือ หนังที่ลักลอบนำมาเผยแพร่โดยผิดกฎหมาย หรือ online piracy ก็คือ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในโลกออนไลน์ นั่นเอง
[6]
ขโมยรถ
หากพูดถึงการขโมยหรือปล้นรถ ในภาษาอังกฤษมีคำให้เลือกใช้หลายคำขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าพูดถึงการขโมยรถโดยทั่วไป เราก็จะเรียกว่า auto theft หรือ grand theft auto (แบบที่นำไปใช้ตั้งชื่อเกมที่แสนโด่งดัง)
ส่วนการปล้นจี้คนเพื่อขโมยรถกันแบบซึ่งหน้า เราจะใช้คำว่า carjacking ซึ่งมาจากการนำคำว่า car มารวมร่างกับคำว่า hijack ที่ใช้พูดถึงการจี้ยานพาหนะต่างๆ นั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเจ้าหน้าที่ทางการมาฉวยรถเราไปใช้ในเหตุฉุกเฉิน เช่นในกรณีไล่ตามคนร้ายแบบที่เห็นในหนัง แบบนี้ไม่นับเป็น carjacking เพราะไม่ใช่การขโมย แต่จะใช้คำว่า commandeer แทน เช่น Police officers may commandeer civilian cars in an emergency. หมายถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจยึดรถของพลเรือนไปใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน
แต่ถ้าหากเป็นการขโมยรถไปขับเล่นเพื่อความสนุกสนานหรือตื่นเต้นเร้าใจโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเสร็จแล้วก็อาจนำรถมาคืน แบบนี้เราจะเรียกว่า joyriding (น่าสนใจมากที่การขโมยแบบนี้แพร่หลายจนมีการสร้างคำขึ้นมาใช้ในภาษาอังกฤษ) เช่น Joyriding is most common among teenagers and young adults. หมายถึง กลุ่มคนที่ขโมยรถไปขับเล่นบ่อยที่สุดก็คือวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว
[7]
ขโมยศพ
หากเป็นการขโมยศพมนุษย์จากหลุมฝังศพ แบบที่โจรมักทำกันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อนำศพร่างขายให้แก่นักวิทยาศาสตร์และหมอที่ศึกษากายวิภาค ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า body snatching เช่น Body snatching was a big business back in the 19th century. ก็คือ การขโมยศพเคยเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19
แต่ถ้าเป็นการขโมยของต่างๆ จากหลุมศพหรือสุสาน เราก็จะใช้คำว่า grave robbery หรือ tomb raiding (ซึ่งหลายคนอาจคุ้นจากชื่อเกม Tomb Raider) ตัวอย่างเช่น หากเราจะพูดว่าสุสานในอียิปต์ส่วนใหญ่ต้องเคยถูกโจรปล้นสุสานบุกเข้าไปขโมยของมาแล้วไม่ตอนใดก็ตอนหนึ่ง ก็อาจจะพูดว่า Most Egyptian tombs have been raided by grave robbers at some point.
[8]
ขโมยวัคซีนไปฉีดให้ VIP หรือญาติพี่น้อง
ภาษาอังกฤษยังไม่มีคำที่คิดขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
บรรณานุกรม
http://oed.com/
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Tags: Word Odyssey