หลังจากที่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาเคยแนะให้ชาวบ้านปลูกมะนาวไว้กินที่บ้านเองแล้วเมื่อคราวมะนาวแพงในปี 2558 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้แนะนำให้ประชาชนรับมือกับราคามะนาวที่กำลังปรับตัวขึ้นด้วยการหันไปใช้มะม่วงหรือมะขามเปียกแทนไปก่อน (อ่านเรื่องมะขามเพิ่มได้ทาง https://themomentum.co/wordodyssey-food-from-city/)
สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอเกาะกระแสมะนาวแพงและคำแนะนำสุดแสนมีประโยชน์จากรัฐบาลด้วยการพาดูคำศัพท์เกี่ยวกับความเปรี้ยวในภาษาอังกฤษ ตั้งแต่คำที่ใช้อธิบายความเปรี้ยวลักษณะต่างๆ ไปจนถึงสำนวนเปรี้ยวเข็ดฟัน
เปรี้ยวแบบไหน
ภาษาอังกฤษมีคำที่นำมาใช้พูดถึงความเปรี้ยวได้หลายคำ คำแรกเลยที่ทุกคนน่าจะนึกถึงก็คือคำว่า sour ซึ่งเป็นคำกว้างๆ ใช้ได้กับแทบทุกอย่างที่เปรี้ยว ไม่ว่าจะเป็นผลไม้รสเปรี้ยวต่างๆ ตั้งแต่เปรี้ยวจี๊ดอย่างมะนาวหรือมะยมไปจนถึงเปรี้ยวอมหวานอย่างส้ม หรือแม้แต่ของหมักดองที่มีรสเปรี้ยวอย่างแตงกวาดอง กิมจิ ครีมเปรี้ยว (sour cream) หรือขนมปังซาวร์โด (sourdough) รวมไปถึงเปรี้ยวเพราะบูดแบบนมก็ได้ (sour milk)
อีกคำกว้างๆ ที่ใช้พูดถึงความเปรี้ยวได้ก็คือ acidic มาจากคำว่า acid ที่แปลว่า กรด คำนี้จะต่างจาก sour หน่อยตรงที่จะพบได้บ่อยหน่อยในบริบทวิทยาศาสตร์หรือความรู้เฉพาะทาง แต่ก็ใช้ได้กับของเปรี้ยวหลายชนิด เช่น acidic coffee ก็คือ กาแฟที่รสออกเปรี้ยว หรือถ้าบอกว่า Fluoride gel has an acidic taste. ก็คือ เจลฟลูออไรด์มีรสเปรี้ยว นั่นเอง หรือแม้แต่ดินเปรี้ยว เราก็เรียกว่า acidic soil
แต่ถ้าเจาะจงหน่อยว่าเป็นความเปรี้ยวในผลไม้ โดยเฉพาะเมื่อมีรสหวานประกอบ รวมๆ แล้วรสดี ไม่ใช่เปรี้ยวแบบหน้าเหย๋เก๋ อารมณ์ผลไม้จำพวกแอปเปิ้ลเขียว ส้ม สับปะรด เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ แบบนี้อีกคำที่เราจะหยิบมาใช้ได้ก็คือ tart เช่น หากเราพูดถึงแกงเผ็ดเป็ดย่างใส่สับปะรดกับมะเขือเทศ เราก็อาจจะบอกว่า Pineapple and tomatoes add a nice tartness to the curry. เป็นต้น (คำว่า tang ที่เป็นคำนามของ tangy ยังถูกนำมาใช้เป็นชื่อยี่ห้อผงเครื่องดื่มรสส้มที่แสนโด่งดังในอเมริกาด้วย)
อีกคำหนึ่งที่จริงๆ แล้วความหมายกว้างกว่าแค่เปรี้ยว แต่มักใช้กับของเปรี้ยวอยู่บ่อยครั้งก็คือ tangy คำนี้ความหมายจริงๆ แล้วคือ รสจัด รสฉุน แต่ไม่ต้องเปรี้ยวก็ได้ แต่เนื่องจากของเปรี้ยวก็มักมีรสเช่นนี้ คำนี้จึงมักนำมาใช้พูดถึงของเปรี้ยว เช่น ชีสที่มีกลิ่นเปรี้ยวหรือซอสเปรี้ยวๆ ตัวอย่างเช่น a tangy vinaigrette ก็คือ น้ำสลัดวินิเกรตต์รสออกเปรี้ยว
ส่วนคำว่า vinegary นี้เจาะจงเลยว่าเปรี้ยวเพราะใส่น้ำส้มสายชูหรือเปรี้ยวแบบที่ชวนให้นึกถึงน้ำส้มสายชู เช่น หากเรากินหมูสะเต๊ะแล้วรู้สึกน้ำจิ้มอาจาดเจ้านี้เปรี้ยวน้ำส้มสายชูชัดเจน เราก็อาจจะพูดว่า The acar is very vinegary.
ว่าด้วยมะนาว
เมื่อพูดถึงผลไม้คู่ครัวที่ใช้ปรุงให้อาหารมีรสเปรี้ยวแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะนึกถึงมะนาวลูกเขียวๆ แบบที่เสิร์ฟมาคู่กับผัดไทหรือที่แม่นากยื่นมือลงไปเก็บจากใต้ถุนบ้าน (ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า lime) แต่ในโลกตะวันตก หน้าที่นี้เป็นของเลมอน (lemon) ซึ่งปกติมีผิวสีเหลืองและมีขนาดใหญ่กว่ามะนาวไทย แบบที่มักเสิร์ฟมาคู่กับฟิชแอนด์ชิปส์หรือหอยนางรมเวลาไปร้านอาหารฝรั่ง
คำว่า lemon นี้ใช้เป็นสแลงในภาษาอังกฤษได้ด้วย หมายถึง สิ่งที่ห่วยแตก ใช้การไม่ได้ เช่น สมมติเราซื้อรถมือสองมา แต่รถดันอาการกระปอดกระแปด ขับไปได้นิดเดียวก็พัง แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า The car I bought is a total lemon.
นอกจากนั้น คำว่า lemon ยังไปโผล่ในสำนวน When life gives you lemons, make lemonade. ซึ่งไม่ได้ใช้ในความหมายตรงตัวว่าให้เราไปคั้นน้ำมะนาวแต่อย่างใด แต่ใช้เพื่อแนะนำให้คนฟังมองโลกในแง่ดี พยายามมองหาสิ่งๆ ดีท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย ทำนองว่า แม้เราได้มะนาวที่ได้ไร้ประโยชน์หรือไร้คุณค่ามา แต่เราก็ยังมาคั้นเป็นน้ำมะนาว สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลประเทศหนึ่งอาจรู้สึกซวยหนักที่ต้องบริหารบ้านเมืองในช่วงที่มีโรคระบาดทั่วโลก แต่ก็อุตส่าห์พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยใช้โรคระบาดเป็นข้ออ้างต่ออายุประกาศพรก. ฉุกเฉินไปเรื่อยๆ เพื่อปราบการชุมนุมและปกป้องตำแหน่งของตัวเองต่อไป แบบนี้ฝ่ายรัฐบาลก็อาจจะพูดว่า When life gives you lemons, make lemonade.
สำนวนเปรี้ยวๆ
เนื่องจากรสเปรี้ยวบางครั้งก็เป็นรสไม่พึงประสงค์ (เช่น ในของที่ทิ้งไว้จนบูดเปรี้ยว) คำว่า sour จึงถูกนำไปใช้ในเชิงเปรียบเปรยในแง่ลบด้วย ตัวอย่างเช่น สำนวน go sour หรือ turn sour หมายถึง ดำเนินไปในทางที่ไม่ดี ทำให้เจื่อน เช่น The relations between the two countries turned sour following a jewelry heist. ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ดิ่งเหวหลังเกิดการจารกรรมเครื่องเพชร หรือสำนวน leave a sour taste in someone’s mouth อันนี้ก็คือ ทำให้ใครรู้สึกไม่ปลื้ม ใช้เมื่อเหตุการณ์จบลงไปแล้ว เช่น His comment on my weight really left a sour taste in my mouth. ก็คือ ไม่ปลื้มเลยที่เขามาทักเรื่องน้ำหนัก หรืออีกสำนวนที่คล้ายๆ กันก็คือ a sour note เช่น Her Russian joke struck a sour note with her followers. ก็คือ บรรดาแฟนคลับไม่ปลื้มที่เธอเล่นมุกเรื่องประเทศรัสเซีย
นอกจากนั้น ยังมีสำนวน sour grapes ที่ภาษาไทยนำมาใช้แบบแปลตรงตัวว่า องุ่นเปรี้ยว หมายถึง การว่าสิ่งๆ หนึ่งเพราะตนเองไม่มีสิ่งๆ นั้น ตัวอย่างเช่น เราเห็นคนใช้รถแพงๆ ที่เราไม่มีปัญญาซื้อ ก็เลยขุดข้อเสียมาพูดสารพัด ทำนองว่ารถแบบนี้เปลืองน้ำมัน สวยก็ไม่เห็นจะสวย ทั้งที่จริงๆ เราอาจจะอยากมีรถแบบนี้บ้างก็ได้ แบบนี้เพื่อนเราก็อาจจะพูดว่า Sour grapes much? ก็คือ องุ่นเปรี้ยวมากไหมเอ็งเนี่ย สำนวนนี้มาจากนิทานอีสปเรื่อง หมาจิ้งจอกกับองุ่น ในเรื่องนี้ หมาจิ้งจอกพยายามเด็ดพวงองุ่นจากเถาลงมากิน แต่พอทำอย่างไรก็เอื้อมไม่ถึง ก็เลยพูดรักษาหน้ากึ่งปลอบใจตัวเองว่าองุ่นเปรี้ยว ตัวเองไม่ได้อยากกินหรอก
บรรณานุกรม
http://oed.com/
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shorter Oxford English Dictionary
Tags: Word Odyssey, สำนวนภาษาอังกฤษ, คำศัพท์ภาษาอังกฤษ, เปรี้ยว, มะนาวแพง