หนึ่งในเทศกาลจากโลกตะวันตกที่แผ่อิทธิพลมาถึงประเทศไทยก็คือเทศกาลคริสต์มาส ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหารในเมืองที่ไหนในช่วงเดือนธันวาคม เราก็มักจะได้เห็นต้นคริสต์มาสประดับไฟ หุ่นซานต้าคลอสชุดแดงเคราเฟิ้ม กวางเรนเดียร์ และกล่องของขวัญ ตกแต่งอยู่ตามจุดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม นอกจากสิ่งประดับเหล่านี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หากขาดไปแล้วเทศกาลคริสต์มาสคงไม่สมบูรณ์ก็คือเพลงคริสต์มาสต่างๆ นั่นเอง ตั้งแต่เพลงคลาสสิกที่มีเนื้อหาโยงกับการประสูติของพระเยซูอย่าง O Holy Night หรือ Silent Night ไปจนถึงเพลงร่วมสมัยอย่าง All I Want for Christmas Is You ของ Mariah Carey หรือ Last Christmas ของวง Wham!

จริงอยู่ที่เราอาจคุ้นหูกับเพลงเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กๆ แต่หากมาลองฟังดูดีๆ ก็อาจจะพบว่ามีเนื้อเพลงหลายท่อนที่แม้ตอนนี้เราจะพอเข้าใจภาษาอังกฤษดีแล้ว แต่ก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดีว่าตัวเองเข้าใจทะลุปรุโปร่งหรือเปล่า ไวยากรณ์และความหมายของเพลงท่อนนี้คือยังไงกันแน่ (ซึ่งไม่ต้องประหลาดใจไป เพราะเจ้าของภาษาหลายคนก็ยังงงเองเลย)

ดังนั้น สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูเนื้อเพลงจากเพลงคริสต์มาสต่างๆ ที่มีไวยากรณ์แปลกประหลาดชวนฉงน พร้อมไขปริศนาว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เนื้อเพลงต้องการสื่อคืออะไร

“The Lord is come.” จากเพลง Joy to the World

Joy to the world! the Lord is come;

Let Earth receive her King.

หลายคนที่เคยได้ยินท่อนเพลงนี้อาจติดใจสงสัยว่าท่อนนี้ผิดไวยากรณ์หรือเปล่า กริยา come ปกติไม่ต้องการกรรมนี่ ทำไมถึงมาปรากฏในโครงสร้างที่หน้าตาคล้าย passive voice ที่ปกติใช้แต่กับกริยาต้องการกรรมแบบนี้ จริงๆ แล้วต้องใช้ present perfect และพูดว่า The Lord has come. หรือเปล่า

แม้เนื้อเพลงท่อนนี้อาจฟังดูผิดหรือแปลกหูในปัจจุบัน แต่จะบอกว่าผิดไวยากรณ์ก็คงพูดไม่ได้เต็มปาก เพราะในศตวรรษที่ 18 ที่เพลงนี้แต่งขึ้น ประโยคแบบนี้ถือว่าถูกไวยากรณ์ตามปกติดี

แม้ว่าในปัจจุบันภาษาอังกฤษจะใช้กริยา have กับ past participle (ที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ เวิร์บช่องสาม) ประกอบกันเพื่อสร้าง perfect tense แต่จริงๆ ในอดีตสามารถใช้ be กับ past participle ได้ด้วยกับกริยาบางตัวที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนแปลง เช่น come เป็นต้น ดังนั้น The Lord is come. ในเพลงนี้ก็คือวิธีการพูดว่า The Lord has come. ในสมัยนั้นนั่นเอง

กริยาตัวอื่นๆ ที่ในสมัยก่อนทำเป็น perfect tense ด้วยวิธีแบบนี้ได้ก็เช่น rise (“And the glory of the Lord is risen upon thee.” จาก คัมภีร์ไบเบิล อิสยาห์ 60:1), fall (“And the man whose hair is fallen off his head, he is bald; yet he is clean.” จาก คัมภีร์ไบเบิล เลวีนิติ 13:40) และ arrive (“Ill news from Tripoly is arrived here.”)

แต่เมื่อเวลาผ่านไป วิธีการสร้าง perfect tense แบบใช้ be นี้ก็เสื่อมความนิยมไป จนเหลือแต่แบบใช้ have กับ past participle อย่างเช่นในปัจจุบัน

“Round yon virgin mother and child” จากเพลง Silent Night

Silent night! Holy night!

All is calm, all is bright

Round yon virgin mother and child!

เพลงท่อนนี้อาจทำให้หลายคนงงมาแล้วว่า round ในที่นี้ใครล้อมอะไรหรือเปล่า และ yon ในที่นี้หมายถึงอะไร

อันที่จริงแล้ว คำว่า round ในที่นี้คือรูปย่นย่อของ around ที่หมายถึง รอบๆ อย่างที่เราใช้ในปัจจุบัน อย่างใน around the tree (รอบๆ ต้นไม้) 

ส่วน yon เป็นคำโบราณที่ใช้พูดถึงของที่ไกลจากตัวผู้พูดออกไป ความหมายทำนองว่า ทางโน้น ปัจจุบันคำนี้ไม่ใช้กันแล้ว แต่ยังมีญาติหลงเหลืออยู่ในภาษาอังกฤษคือคำว่า beyond ที่หมายถึง ข้ามโพ้น อีกฟากหนึ่ง และ yonder (ซึ่งก็เป็นคำที่ฟังดูโบราณมากๆ แล้ว) ที่หมายถึง ทางโน้น คล้ายๆ yon

ดังนั้น เมื่อลองดูเนื้อเพลงเต็มๆ ทั้งท่อนแล้ว ความหมายที่ได้ก็คือ ทุกสิ่งสงบและสุกสกาวรอบๆ พระแม่มารีย์ผู้เป็นพรหมจารีและพระบุตรทางด้านโน้น

“Long lay the world in sin and error pining” จากเพลง O Holy Night

O holy night, the stars are brightly shining,

It is the night of the dear Saviour’s birth;

Long lay the world in sin and error pining,

‘Till he appeared and the soul felt its worth.

เพลง O Holy Night ที่เราได้ยินกันทั่วไปทุกวันนี้เป็นเพลงที่แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสชื่อ Cantique de Noël มาเป็นภาษาอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะมีเนื้อเพลงหลายท่อนที่คนยุคเราๆ ฟังแล้วรู้สึกว่าแปลกหูหรือไม่เข้าใจโดยสมบูรณ์

ท่อนที่น่าจะสร้างความงวยงงให้แก่คนฟังมากที่สุดก็น่าจะเป็น Long lay the world in sin and error pining เพราะมีการสลับลำดับคำคล้ายแบบที่พบในกาพย์กลอน เล่นเอาหลายคนหาประธานและกริยาในประโยคไม่เจอทีเดียว

หากเราจับประโยคนี้มาคลี่และจัดเรียงใหม่ให้เป็นลำดับตามที่เราพูดกันในปัจจุบัน ก็จะได้ทำนองว่า The world lay pining in sin and error for a long time. โดย pine ในที่นี้เป็นกริยา หมายถึง ทุกข์ทน ตรอมตรม ทำให้เนื้อเพลงท่อนนี้มีความหมายรวมทำนองว่า โลกทุกข์ทนตรอมตรมกับบาปและความไขว้เขวออกนอกลู่นอกทางที่ถูกต้องมาแสนนาน (ก่อนที่พระผู้เป็นเจ้าจะมาถึง)

“You better watch out. You better not cry.” จากเพลง Santa Claus Is Coming to Town

You better watch out.

You better not cry.

You better not pout. 

I’m telling you why: Santa Claus is coming to town!

แม้เนื้อเพลงท่อนนี้อาจไม่ได้เข้าใจยากอะไร แต่หลายคนก็อาจตะขิดตะขวงว่าการใช้ better แบบนี้ถูกต้องหรือไม่หรือมีที่มาจากไหน

อันที่จริงแล้ว การใช้ better เพื่อแนะนำบอกใครว่าควรทำอะไรแบบในเนื้อเพลงนี้มีอยู่ในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยภาษาอังกฤษเก่าแล้ว แต่หน้าตาต่างไปจากปัจจุบันค่อนข้างมาก เช่นถ้าปัจจุบันพูดว่า He had better go. ในสมัยอังกฤษเก่านั้น ก็จะพูดว่า Him were better to go. (คือใช้ better ร่วมกับกริยา be ที่เป็น subjunctive และคำนามหรือสรรพนามที่อยู่ในรูปกรรมหรือในการก dative) ได้ความหมายประมาณว่า It would be better for him to go. นั่นเอง

แต่พอมาถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 คนก็เริ่มตีความ him ใน Him were better to go. ใหม่ว่า ตรงนี้ควรจะอยู่ในรูปประธานสิ จากที่เคยพูดว่า Him were better to go. ก็เลยเริ่มเปลี่ยนเป็น He were better to go. แทน

แต่ในช่วงเดียวกันนั้นเอง ก็เริ่มมีคนใช้ had แทน be ในรูป subjunctive ขนานกันมาอยู่เรื่อยๆ ด้วย คือแทนที่จะพูดว่า He were better to go. ก็พูดว่า He had better (to) go. จนในท้ายที่สุด ก็เหลือแต่รูป had better รูปเดียวที่เป็นที่นิยมอย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน

แต่กระนั้น ไม่ได้แปลว่าการเดินทางของโครงสร้างนี้จบลงแต่อย่างใด เพราะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มมีคนในอเมริกาบางส่วนละ had เหลือเพียงแค่ better เฉยๆ เลยในบริบทที่ไม่เป็นทางการ จึงเป็นที่มาว่าทำไมในเพลง Santa Claus Is Coming to Town จึงร้องว่า “You better watch out. You better not cry.” นั่นเอง

“Once bitten and twice shy” จากเพลง Last Christmas

Once bitten and twice shy
I keep my distance, but you still catch my eye

หลายคนที่เคยได้ยินเนื้อเพลงท่อนนี้อาจงงว่าคนร้องโดนตัวอะไรกัดหรือเปล่า โดนกัดแล้วเขินอายทำไมสองครั้ง แต่อันที่จริงแล้ว once bitten, twice shy ไม่ได้ใช้เวลาโดนแมลงสัตว์กัดต่อยและคำว่า shy ในที่นี้ก็ไม่เกี่ยวกับความขวยเขินพูดน้อยด้วย

once bitten, twice shy เป็นสำนวน หมายถึง เมื่อเคยประสบเรื่องไม่ดีมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งต่อไปเราก็จะเข็ดขยาด (ในเพลงนี้คือ มอบใจให้อีกฝ่ายหนึ่งไป แต่อีกฝ่ายดันไม่ได้ใส่ใจทะนุถนอม)

เหตุที่สำนวนนี้มีคำว่า bitten อยู่ด้วยก็เพราะใช้ภาพเปรียบว่าเมื่อถูกสัตว์กัดเข้า รอบต่อไปเราก็จะระวังตัว พยายามออกห่างจากสัตว์ชนิดนั้น

ส่วน twice ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง สองครั้ง แต่หมายถึง ครั้งที่สอง และ shy ในที่นี่ก็ไม่ได้หมายถึงเหนียมอายแบบเด็กที่ไม่กล้าพูดหน้าชั้นเรียน แต่หมายถึง กลัว พยายามหนีให้ห่าง เมื่อรวมทั้งหมดแล้วจึงได้ความหมายว่า เมื่อเคยเจอประสบการณ์ไม่ดีมาครั้งหนึ่ง ก็จะเกิดอาการเข็ดขยาดในครั้งถัดไป

ทั้งนี้ once bitten, twice shy ไม่ได้เจอเฉพาะในเพลงนี้ แต่เป็นสำนวนที่ใช้แพร่หลาย นอกจากนั้น ในภาษาอังกฤษยังมีสำนวนอื่นที่ลักษณะคล้ายกันด้วย เช่น once burned, twice shy. หรือ A burnt child dreads the fire.

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Algeo, John, and Thomas Pyles. The Origins and Development of the English Language. 5th ed. Thomson Wadsworth: Massachusetts, 2005.

American Heritage Dictionary of the English Language

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Crystal, David. The Stories of English. Penguin Books: London, 2005.

Fischer, Olga, Hendrik de Smet, Wim Van der Wurff. A Brief History of English Syntax. Cambridge UP: Cambridge, 2017.

Freeborn, Dennis. From Old English to Standard English: A Course Book in Language Variation across Time. Palgrave Macmillan: London, 2006. 

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Lerer, Seth. Inventing English: A Portable History of the Language. Columbia University Press: New York, 2007.

Longman Dictionary of Contemporary English

Los, Bettelou. A Historical Syntax of English. Edinburgh Textbooks on the English Language – Advanced. Edinburgh: Edinburgh University Press, 2015.

Merriam-Webster Dictionary

Millard, C.M., A Biography of the English Language. 2nd ed. Thomson Heinle: Boston, 1996.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , , , ,