ในขณะที่ภาษาไทยยืมคำจากภาษาอังกฤษมาจำนวนไม่น้อย เช่น วัคซีน เฮลิคอปเตอร์ และ ฟิสิกส์ แล้วภาษาอังกฤษล่ะยืมคำอะไรไปจากภาษาไทยบ้างหรือเปล่า
คำตอบของเราน่าจะอยู่ใน Oxford English Dictionary (OED) ซึ่งเริ่มจัดทำในปี 1857 และนับได้ว่าเป็นพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ครบถ้วนและละเอียดที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะนอกจากจะเก็บคำไว้จำนวนมหาศาลแล้ว ยังบันทึกหลักฐานการใช้คำแต่ละคำไล่ตามเวลาเพื่อให้เห็นพัฒนาการทางความหมายด้วย ด้วยความละเอียดแบบสุดติ่งกระดิ่งแมวของ OED นี้ทำให้เวอร์ชั่นแรกที่พิมพ์จำหน่ายในปี 1928 ต้องแบ่งออกเป็น 10 เล่ม ส่วนในสองที่ตีพิมพ์ในปี 1989 มีความหนาถึง 21,730 หน้าและต้องแบ่งออกเป็น 20 เล่ม
นอกจากนี้ อภิมหาโปรเจ็กต์ OED ยังมีการอัปเดตและปรับปรุงมาจนถึงทุกวันนี้ ล่าสุด ณ เดือนกันยายน 2021 มีคำราว 600,000 คำ และประโยคตัวอย่างจากงานต่างๆ ราว 3.5 ล้านประโยคเลยทีเดียว
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า OED บันทึกคำที่มีต้นกำเนิดจากภาษาไทยไว้ทั้งหมด 22 คำ มีทั้งคำที่เราอาจนึกไม่ถึงว่ามีการบันทึกไว้ด้วย และคำที่หลายคนอาจไม่เคยรู้เลยว่ามาจากภาษาไทย (อย่างไรก็ตาม คำที่ได้รับการบันทึกไว้ไม่ได้แปลว่าผู้คนใช้กันแพร่หลาย ถามชาวต่างชาติคนไหนจะต้องรู้จัก เพราะหลายคำในที่นี้มีความถี่ในการใช้ต่ำมากๆ)
สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาทุกคนไปกระโจนลงไป Oxford English Dictionary (OED) และดูกันว่าคำจากประเทศไทยที่ภาษาอังกฤษหยิบยืมไปเหล่านี้มีคำว่าอะไรบ้าง
คำจากไทยใน OED กว่า 1 ใน 4 เป็นชื่ออาหาร
จากคำที่มีต้นกำเนิดจากภาษาไทย 22 คำที่ OED บันทึกไว้ มีคำที่เป็นชื่ออาหารไปแล้วถึง 6 คำ ได้แก่ mee krob (หมี่กรอบ), nam pla (น้ำปลา), nam prik (น้ำพริก), phad thai (ผัดไทย: OED ใช้ตัวสะกดนี้ แต่ในตัวอย่างการใช้มีตัวสะกด pad thai อย่างที่นิยมในปัจจุบันด้วย), tom yum (ต้มยำ) และ tom yum kung (ต้มยำกุ้ง)
ที่น่าสนใจก็คือ แม้มัสมั่นจะได้รับการจัดอันดับเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกโดย CNN Travel และแม้คนไทยหลายคนจะคิดว่าส้มตำเป็นอาหารดังที่ชาวต่างชาติน่าจะรู้จักกันกว้างขวาง แต่ชื่ออาหารทั้งสองยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าไปใน OED
ส่วนหมวดที่มีจำนวนคำรองลงมาคือยานพาหนะ มีอยู่ 3 คำ ได้แก่ samlor (สามล้อ), songthaew (สองแถว) และ tuk-tuk (ตุ๊กตุ๊ก) และหน่วยเงิน มีอยู่ 3 คำเช่นกัน ได้แก่ baht (บาท), satang (สตางค์) และ kip (กีบ: OED ระบุว่ามาจากภาษาไทย)
สงกรานต์ปรากฏก่อนเพื่อน
คำที่ปรากฏบันทึกย้อนกลับไปเก่าที่สุดคือคำว่า Songkran (สงกรานต์) โดยพบในหนังสือประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น (The History of Japan) ที่เขียนโดยแพทย์และนักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน Engelbert Kaempfer ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 และต้นศตวรรษที่ 18 ต้นฉบับของหนังสือนี้ถูกค้นพบหลังจากที่ Kaempfer เสียชีวิตแล้วและได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย John Gaspar Scheuchzer ในปี 1727 ในหนังสือนี้ตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า “They [sc. the Siamites] have besides several yearly solemn festivals, as for instance, at the beginning of the year, call’d Songkran.” (นอกจากนั้น ชาวสยามยังมีเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ประจำปี เช่นเทศกาลต้นปีเรียกว่าสงกรานต์)
ส่วนคำอื่นๆ ที่พบในบันทึกตามหลังมาในศตวรรษที่ 19 ได้แก่ Thai (ไทย), baht (บาท), wat (วัด), farang (ฝรั่ง), panung (ผ้านุ่ง), nam prik (น้ำพริก), chedi (เจดีย์) และ klong (คลอง)
ที่น่าสังเกตคือ OED ไม่ได้นับว่าคำว่า Siamese (ชาวสยาม เกี่ยวกับสยาม) และ Siamite (ชาวสยาม) ว่ามาจากภาษาไทย (และไม่ได้บันทึกคำว่า Siam ไว้ด้วย) อาจเป็นเพราะคำนี้เป็นคำที่ชาวโปรตุเกสใช้เรียกคนไทยก่อนที่ภาษาอังกฤษจะรับคำนี้ต่อไปอีกทอดหนึ่ง (เรียกอีกอย่างว่าเป็น exonym หรือคำที่คนภายนอกใช้เรียกคนเชื้อชาติหนึ่งๆ) แต่ทั้งสองคำนี้ปรากฏในบันทึกลายลักษณ์อักษรเก่ากว่า Songkran เสียอีก นั่นคือ คำว่า Siamese พบตั้งแต่ปี 1693 และคำว่า Siamite พบตั้งแต่ปี 1601
บ้องมาจากไทย
คำหนึ่งที่เราอาจเคยได้ยินในหนังหรือซีรีส์ตะวันตกโดยไม่เอะใจเลยว่ามีต้นตอมาจากประเทศไทย ก็คือคำว่า bong ซึ่งหมายถึง บ้องกัญชา คำนี้ว่ากันว่าดัดแปลงมาจากคำว่า บ้อง ในภาษาไทย และเริ่มใช้กันในสหรัฐอเมริกาก่อนที่จะแพร่หลายไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษ
ความผ่าเหล่าของคำว่า bong ก็คือเป็นคำยืมจากภาษาไทยคำเดียวในจำนวน 22 คำนี้ที่ใช้เรียกสิ่งของทั่วไป ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราเชื่อมโยงกับความเป็นไทยชัดเจนเป็นพิเศษอย่าง wai (ไหว้), wat (วัด), chedi (เจดีย์) หรือชื่ออาหารต่างๆแฝดสยาม
สิ่งหนึ่งที่ทำให้สยามเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตกในสมัยศตวรรษที่ 19 ก็คือ แฝดสยามอิน-จัน ซึ่งเป็นคู่แฝดที่มีส่วนอกเชื่อมติดกันและใช้ตับร่วมกัน
ในสมัยที่ฝาแฝดอิน-จัน เดินทางทัวร์แสดงด้วยตนเอง ทั้งสองใช้ชื่อว่า Siamese twins ทำให้คำนี้เป็นที่แพร่หลายขึ้นและถูกนำไปใช้เรียกคู่แฝดที่เกิดมาโดยมีส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายติดกัน (ปัจจุบันนี้ไม่นิยมใช้คำว่า Siamese twins แล้ว มักใช้คำว่า conjoined twins มากกว่า)
ด้วยเหตุนี้ คำว่า Siamese ที่แต่เดิมเคยใช้แต่กับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสยามก็เริ่มถูกนำไปใช้ในเชิงเปรียบเปรยเพื่อเรียกสิ่งที่เชื่อมติดกันและมาเป็นคู่ด้วย เช่น คนที่ตัวติดกัน ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด
ทั้งนี้ หากใครที่สังเกตหัวดับเพลิงตามสถานที่ต่างๆ ก็อาจเคยเห็นคำว่า Siamese connection ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกหัวท่อดับเพลิงที่แยกออกมาเป็นสองหัวคล้ายรูปตัว Y ด้วย เพราะรูปร่างคล้ายท่อสองท่อที่มีส่วนหนึ่งเชื่อมกันนั่นเอง
ของขึ้นชื่อของไทย
คำย่อยที่ OED บันทึกไว้ใต้คำหลักคำว่า Thai (คนไทย ภาษาไทย เกี่ยวกับประเทศไทย) มีอยู่ด้วยกันสองคำ คำแรกคือ Thai silk (ไหมไทย) ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไรเพราะผ้าไหมไทยมีคุณภาพเป็นที่เลื่องลืออยู่พอสมควร แต่คำที่สองทำให้เห็นภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ต่างกับคำแรกราวฟ้ากับเหว เพราะคำนั้นคือคำว่า Thai stick ซึ่งหมายถึง กัญชาที่ม้วนเป็นมวนแบบบุหรี่ (หากดูเฉพาะคำที่ยืม จะเห็นเลยว่าคนไทยเสพกัญชาครบทั้งแบบบ้องและมวน)
ทั้งนี้ แม้หลายคนอาจรู้สึกว่ามวยไทยเป็นกีฬาชื่อก้องโลก แต่พจนานุกรม OED ไม่ได้เก็บคำว่า Muay Thai ไว้แต่อย่างใด
บรรณานุกรม
https://archive.org/details/historyofjapangi01kaem/page/n501/mode/1up?view=theater
Tags: thai, Word Odyssey, loanwords, OED, Oxford English Dictionary