ข่าว ส.ต.ท. หญิงทุบตีทหารรับใช้ที่ปะทุขึ้นเมื่อราว 2 สัปดาห์ที่แล้ว นับได้ว่าเป็นข่าวที่สะเทือนที่หลายวงการอย่างใหญ่หลวงในคราวเดียว ทั้งวงการตำรวจ ทหาร และวุฒิสภา เพราะทันทีที่กระแสความช็อกกับวิธีการอันเหี้ยมโหดที่ ส.ต.ท. หญิงใช้ทารุณกรรมทหารรับใช้เริ่มซาลงไป ก็เริ่มมีการขุดคุ้ยประวัติ ส.ต.ท. หญิงคนนี้และพบว่าความฉาวโฉ่ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องการทารุณกรรมเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ ส.ต.ท. หญิงคนนี้ยังอาจเข้ารับราชการเป็นตำรวจได้ (แม้อายุเกิน) และได้มีชื่ออยู่ในสังกัด กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า รับเงินพิเศษจากการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ทั้งที่ตัวอยู่คนละจังหวัด) เพราะอาศัยความสนิทสนมกับสว. คนหนึ่ง

และเมื่อยิ่งสืบสาวกันลงไปอีก ก็พบว่าสตท. หญิงคนนี้ เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วย สว. และได้ทำหน้าที่ในกมธ. กฎหมายกระบวนการยุติธรรม ด้วย

แม้คงไม่มีใครช็อกว่ามีการใช้ระบบอุปถัมภ์และเส้นสายเล่นพรรคเล่นพวกในประเทศไทย แต่หากในท้ายที่สุดพบว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบในการบรรจุแต่งตั้ง ส.ต.ท. หญิงคนนี้จริง กรณีนี้น่าจะเป็นการแฉความฟอนเฟะของวงการอุปถัมภ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในเมืองไทย และน่าจะเป็นตัวอย่างคลาสสิกให้รุ่นลูกหลานได้พูดถึงกันไปอีกนาน

สัปดาห์นี้ Word Odyssey จึงโหนกระแสข่าวนี้ด้วยการพาไปดูศัพท์ 3 คำในภาษาอังกฤษที่ใช้พูดถึงการใช้ระบบอุปถัมภ์แต่งตั้งพวกพ้อง

Cronyism

คำนี้ประกอบจากคำว่า crony ที่หมายถึง พรรคพวก พวกพ้อง (มีความหมายเชิงลบ) รวมกับส่วนเติมท้าย -ism ที่สร้างคำที่เป็นชื่อแนวคิดหรือระบบความเชื่อต่างๆ จึงได้ความหมายรวมว่า ระบบพวกพ้อง การเล่นพรรคเล่นพวก ใช้ในบริบทที่ผู้มีอำนาจ ใช้อำนาจหน้าที่ของตนแต่งตั้งเพื่อนผองคนสนิทให้ได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น Cronyism is rampant in Thailand. ก็คือ การแต่งตั้งพวกพ้องเป็นเรื่องที่เจอได้ทุกหัวระแหงในเมืองไทย

ย้อนกลับไปดูคำว่า crony สักนิด ว่ากันว่าคำนี้มาจาก khronos ในภาษากรีกที่แปลว่า เวลา (แบบที่เจอในคำว่า chronology ที่หมายถึง ลำดับเวลา และ synchronize ที่แปลว่า ทำให้พร้อมเพรียงกัน) และเป็นสแลงที่นักศึกษาเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 เอาไว้ใช้เรียกเพื่อนฝูงที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ต่อมาภายหลัง คำนี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนความหมายไปหมายถึง เพื่อน มิตร ด้วยเหตุนี้ คำว่า cronyism ในยุคหนึ่งซึ่งเคยมีความหมายว่า มิตรภาพ ความรักใครฉันมิตร ด้วย

แต่คงด้วยความที่เพื่อนก็มักเอื้อประโยชน์ให้แก่กันจนเกินขอบเขตที่เหมาะที่ควร เอาแต่รักษาประโยชน์ของกันและกัน คำว่า crony จึงกลายมามีความหมายในเชิงลบและทำให้เกิดคำว่า cronyism ในความหมายที่เราใช้กันทุกวันนี้

Nepotism

คำนี้ใช้หมายถึงการเอื้อประโยชน์ให้ญาติโกโหติกาหรือคนใกล้ชิดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งคน(เคย)สนิทให้มาดำรงตำแหน่งต่างๆ การดึงลูกดึงคู่สมรสมารับเงินเดือนเป็นผู้ช่วยตนเอง หรือการฮั้วให้ลูกหลานตัวเองชนะการประมูลงานของภาครัฐ แม้ทุนจดทะเบียนบริษัทเพียงน้อยนิด

คำนี้สืบสาวกลับไปได้ถึง nepotismo ในภาษาอิตาเลียน ซึ่งมาจากคำว่า nepote (มาจาก nepos ในภาษาละติน) ที่หมายถึง หลานชาย ซึ่งในที่นี้คือ หลานชายแบบลูกของพี่น้อง (nephew) ไม่ใช่หลานแบบลูกชายของลูก (grandson)

ส่วนที่การอุปถัมภ์หรือเอื้อประโยชน์ต้องเจาะจงว่าเป็นหลานนั้น ก็เพราะคำนี้มาจากแวดวงนักบวชและพระสันตปาปา (นี่เป็นสาเหตุที่คำนี้มาจากภาษาอิตาเลียนด้วย) เนื่องจากบิชอปและพระสันตะปาปาไม่ได้แต่งงานมีลูก ก็เลยมักแต่งตั้งหลานชายให้ดำรงตำแหน่งนู่นนี่แทน เพราะก็ยังถือว่าอยู่ในวงเครือญาตินั่นเอง

แต่ในเวลาต่อมา ความหมายคำนี้ก็ขยายกว้างขึ้น ไม่ได้เจาะจงแต่แค่หลานชายเท่านั้น แต่จะเป็นวงศาคณาญาติหรือเพื่อนฝูงใกล้ชิดก็ได้เช่นกัน

ที่น่าสนใจอีกอย่างเกี่ยวกับคำนี้ก็คือ ครั้งหนึ่งเคยใช้หมายถึง ความรักหลานชาย ได้ด้วย (และที่น่าสนใจพอกันก็คือ ไม่ยักมีคำหมายถึง ความรักหลานสาว)

Favoritism

คำนี้แค่เห็นหน้าก็ดูออกแล้วว่ามาจากคำว่า favorite ที่ใช้เรียกสิ่งที่เป็นรักหรือโปรดปรานเป็นพิเศษ คำนี้จึงมีความหมายกว้างกว่าทั้งสองคำที่ผ่านมา คือไม่ต้องเป็นญาติหรือคนสนิทก็ได้ ขอให้แค่เลือกเอื้อประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษเหนืออีกฝ่ายก็พอ เช่น ถ้าเจ้านายมักมอบหมายงานเบาๆ สวยๆ ให้เพื่อนร่วมงานของเรา แต่จ่ายงานหนักงานแบกให้เราตลอด แถมเวลาปรับขึ้นเงินเดือนและพิจารณาโบนัสยังให้เพื่อนร่วมงานเรามากกว่าเราแบบน่าเกลียด แบบนี้เราก็อาจพูดว่า The blatant favoritism has to stop.

ที่น่าสนใจก็คือ คำนี้ใช้หมายถึง การเลือกที่รักมักที่ชัง ได้ด้วย เช่น parental favoritism ก็คือการที่พ่อแม่ลำเอียง รักลูกบางคนมากกว่าบางคน

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: , , , ,